|
|
ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม (3)
ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม (3)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
คําว่าว่างงานในความหมายของคนไทย เป็นกิจกรรมเพื่อความสนุกสนาน เพื่อความบันเทิง อย่างงานวัดก็เป็นเรื่องสนุกทั้งนั้น มีมหรสพ มีละครหนังลิเก ในงานสงกรานต์เราก็ไปสนุกกัน เอาน้ำไปอาบให้กัน ไปเล่นอะไรต่ออะไรกันครึกครื้น
แต่ความจริงงานมีความหมายที่ซ้อนอยู่ลึกกว่านั้น คือ เป็นเรื่องการทำความดี กิจกรรมที่เป็นหลักเป็นแกนของงานก็คือ การทำบุญ ทำการกุศล หรือบำเพ็ญความดีบางอย่าง โดยเฉพาะการมาร่วมกันทำประโยชน์บางอย่างเพื่อส่วนรวม แม้แต่งานสงกรานต์ ก็มีกิจกรรมที่เป็นการทำบุญทำกุศลอยู่ รวมทั้งการขนทรายเข้าวัด
ดังนั้น การทำงานจึงมีความหมายในเชิงที่เป็นกิจกรรมในการทำความดีบางอย่าง หรือเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางศาสนา แต่ส่วนหนึ่งที่ปนอยู่ด้วยก็คือความสนุกสนานบันเทิง ซึ่งเป็นส่วน ที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันในคนไทยส่วนมาก
พูดรวบรัดว่า ความหมายของงานที่เป็นไปตามวัฒนธรรมไทยนี้ เหลือมาในรูปของความสนุกสนานเป็นหลักทีนี้ ในแง่ของสังคมตะวันตก การทำงานแบบตะวันตกเข้ามาพร้อมกับวัฒนธรรมตะวันตกนั่นเอง
ตามความหมายแบบตะวันตก งานคืออะไร
งานในความหมายของตะวันตกนั้น เรียกว่า work และมีคำสำคัญที่คู่กับ work เป็นคำตรงข้ามกับ work ซึ่งช่วยให้ความหมายของ work เด่นชัดขึ้นมาด้วย คือคำว่า leisure แปลว่า การพักผ่อนหย่อนใจ งานในความหมายของฝรั่ง เป็นคู่กัน และตรงข้ามกับการพักผ่อนหย่อนใจ เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมตะวันตกจึงมองงานว่าเป็นเรื่องของความเหน็ดเหนื่อย ลำบากตรากตรำ เป็นเรื่องที่ต้องทนทำด้วยความทุกข์ยาก และก็จึงต้องมีสิ่งที่เป็นคู่กันเพื่อทดแทน คือการพักผ่อนหย่อนใจ
ตามวัฒนธรรมของฝรั่งนี้ คนเราต้องทำงาน เสร็จแล้วก็ไปพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อช่วยทดแทนชดเชยหรือผ่อนระบาย ดังนั้น งานจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดได้มาก และถ้าเราตั้งท่าไว้ไม่ดี มีท่าทีของจิตใจที่ไม่ถูกต้อง คือไม่มีความรักงาน เราก็จะทำงานด้วยความเหนื่อยหน่ายและอยากจะหนีงาน งานกลายเป็นสิ่งที่หนักหนา ต้องเผชิญ ต้องผจญ ต้องต่อสู้
เมื่อมองอย่างนี้ คนก็จึงต้องหาทางหลีกเลี่ยงไปเสียจากงาน ต้องการให้งานเลิก หรือจะหนีจากงานเพื่อไปหาการพักผ่อน อันเป็นสิ่งที่จะต้องแก้ไข ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีจริยธรรมที่เข้าชุดเป็นคู่กัน คือว่า คนในวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งทำงานแบบตะวันตก จะต้องสร้างนิสัยรักงานขึ้นมาให้ได้ พอรักงาน ก็มีใจสู้ และทนต่อความหนักความเหน็ดเหนื่อยของงานได้ เป็นอันว่า ความหนักและความเหน็ดเหนื่อย เป็นลักษณะงานแบบตะวันตก คนไทยรับเอาความหมายของคำว่า "งาน" ในแง่ที่เป็นความหนักน่าเหนื่อยมาจากตะวันตก โดยไม่ได้รับเอานิสัยรักงาน มาด้วย แต่เรามีนิสัยรักสนุก ที่สั่งสมมากับความหมายของงานในวัฒนธรรมไทยของเราเอง
ในสภาพแห่งความนุงนังและสับสนของวัฒนธรรมอย่างนี้ ถ้าปรับตัวไม่ดี เราจะเสียทั้งสองด้าน คือ ตัวเองก็รักความสนุกสนานตามความหมายของงานแบบเก่า เราจะมุ่งหาแต่ความสนุกสนาน พอเจองานแบบตะวันตกที่หนักและไม่สนุก ตัวไม่มีนิสัยรักงาน ก็อยากจะหนีงานไป แต่เมื่อต้องทำ หนีไม่ได้ ก็ต้องจำใจฝืนใจหรือสักว่าทำ
ลงท้าย ที่ว่าเสียทั้งสองด้าน คือ งานก็ไม่ได้ผล คนก็เป็นทุกข์
เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ดี ก็ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง ความหมายที่ดีของเราในวัฒนธรรมเก่าว่า งานเป็นกิจกรรมเพื่อส่วนรวม เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์อะไรสักอย่างหนึ่ง โดยมีความสนุกสนานเป็นผลพ่วงมา หรือเป็นผลพลอยได้ เราก็รักษาไว้ และในเวลาเดียวกัน งานในความหมายที่ยากที่หนัก ต้องสู้ต้องทำด้วยความเหน็ดเหนื่อยนี้ เราก็ยินดีต้อนรับไม่ถอยหนี
จะต้องแก้ปัญหาให้ได้ว่า ทำอย่างไรจึงจะให้การทำงานเป็นไปด้วยดี ทั้งยังมีน้ำใจเผื่อแผ่นึกถึงส่วนรวมไว้ แล้วก็มีนิสัยรักงานสู้งานมาช่วยสนับสนุนด้วย
ถ้าแก้ให้เป็นอย่างนี้ได้ ก็จะกลับร้ายกลายเป็นดี แทนที่ จะเสียทั้งสองด้าน ก็กลายเป็นได้ทั้งสองทาง คือ งานก็ได้ผลคนก็เป็นสุข
|
Update : 5/9/2554
|
|