หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เที่ยวทั่วไทย-สู่อีสาน (๓)
    สู่อีสาน (๓)

                    พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน และทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา ขออย่าได้ข้ามไปเป็นอันขาด
                    เส้นทางมาตามถนน ๓๐๔ จากปักธงชัย พอมาถึง กม.๑๒๑ ให้เลี้ยวซ้ายเข้าประตูเรียกว่าประตู ๒ (ประตู ๑ อยู่เลยไปอีกไกล ริมถนน ๓๐๔ เช่นกัน)  เลี้ยวไปประมาณ ๓ กม. จะมีทางแยกซ้ายมีป้ายบอกว่า ไปพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน วัดโกรกเดือนห้า ผมนึกว่าคนละแห่งกัน จึงไม่เลี้ยวซ้ายตามป้ายไป คงวิ่งตรงไปเข้าประตูมหาวิทยาลัย ซึ่งไปเข้าใจว่าเป็นประตู ๒ ความจริงประตู ๒ อยู่ริมถนน ๓๐๔ ได้เข้ามาแล้ว ก็ดีเหมือนกันได้ขับรถเที่ยวในมหาวิทยาลัย พื้นที่กว้างขวางมาก ก่อสร้างสวย เป็นระเบียบ วนหาพิพิธภัณฑ์ไม่เจอสักที เจอแต่หอสูง แต่ผมมีเบอร์โทร ๐๔๔ ๒๑๖ ๖๑๗ ถามทางดู ปรากฎว่า ต้องเลี้ยวตั้งแต่สามแยกหนองปลิง ต้องย้อนกลับออกไปใหม่ แต่ได้กำไรได้เข้ามาเที่ยวในมหาวิทยาลัย เลี้ยวที่สามแยกหนองปลิง แล้วตามป้ายไป พิพิธภัณฑ์อยู่ทางขวามือ ใหญ่โต งดงามมาก จัดสวนสวย เป็นสวนไม้กลายเป็นหิน ไปถึงฝนตกหนัก ลงจากรถไม่ได้ มีรสบัสพาเด็กมาเที่ยว ๑ คัน ก็กลับไม่ได้ ต้องรอจนฝนหาย เข้าไปพนักงานหญิง (ทราบว่าเป็นนักศึกษา) บอกว่าปิดแล้ว เพราะฝนตกหนัก มีคนมาชมแค่ ๒ คน กับเด็ก ๆ ก็ชมกันจบแล้ว ผมก็บอกว่ามาไกล ตั้งใจมาขอชมสักหน่อย ฝ่ายชายมีคนเดียว หน้าตาดี บอกว่าผมจะพาชมเป็นพิเศษ (ไม่ทราบว่าผมเป็นใคร)  หนุ่มนักศึกษากรุณาเป็นพิเศษจริง ๆ พาเดินชมทั่วกว้างใหญ่ไพศาลมาก นึกไม่ถึงว่าจะสร้างได้ดีขนาดนี้
                    กำเนิดของพิพิภัณฑ์ ฯ เริ่มจากการประชุมสัมมนาระดับจังหวัด จัดโดยศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาของมหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๗ ได้มีการเสนอโครงการอนุรักษ์ในรูปของอุทยานและพิพิธภัณฑ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ประกาศสนับสนุนโครงการดังกล่าว และต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๘ ได้อนุมัติงบประมาณได้ ๑ ล้านบาท  เพื่อทำแผนแม่บท และออกพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน พิพิธภัณฑ์ได้ก่อสร้างในที่ดินสาธารณะของ อบต.สุรนารี ประมาณ ๘๐ ไร่ และเริ่มงานก่อสร้างเรื่อยมา
                    บุคคลสำคัญที่เป็นมิ่งขวัญของพิพิธภัณฑ์คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ซึ่งได้ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการนี้ตลอดมา
                    ปัจจุบัน สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน ฯ มีพิพิธภัณฑ์ที่ให้บริการ เพื่อการท่องเที่ยวและการศึกษาอยู่ ๓ อาคาร คือ
                        พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน  จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ซากไม้ดึกดำบรรพ์ไม้กลายเป็นหิน ขนาดใหญ่แห่งแรกของเอเชีย และเป็น ๑ ใน ๗ ของโลก มีไม้กลายเป็นหิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๓ เมตร จัดแสดงไว้ มีนิทรรศการกำเนิดโลก ไม้กลายเป็นหินอัญมณี
                        พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์  อาจเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่หนึ่งเดียวของโลก ซึ่งพบช้างดึกดำบรรพ์ถึง ๘ สกุล จาก ๔๒ สกุล ที่พบทั่วโลก และส่วนใหญ่จะมีอายุเก่าแก่กว่าช้างแมมมอธ ของไซบีเรีย และอเมริกาเหนือ มีอายุประมาณ ๑๖ - ๕ ล้านปี เช่น ช้างสี่งา ช้างงาจอบ ช้างงาเสียม เขาทำอุโมงค์ให้เดินเป็นการย้อนยุค จากยุคหินใหม่สู่ยุคช้าง
                        พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์  มีนิทรรศการ สี แสง เสียง การเคลื่อนไหวของไดโนเสาร์ "ไดโนเสาร์โคราช" ๖ สายพันธุ์ อายุ ๑๐๐ ล้านปีก่อน  ชมนิทรรศการฟันจริงของไดโนเสาร์ กินเนื้อกว่า ๑๐๐ ซี่ และรู้วิธีประเมินความยาว "โคตรทีเร็กซของโคราช"
                        ผมกลับออกมาจากพิพิธภัณฑ์ เย็นมากแล้ว เลยไม่ได้แวะชมสวนสัตว์นครราชสีมา เคยไปชมมาแล้ว อยู่ห่างจากตัวเมือง ๑๘ กม. เลี้ยวซ้ายไปจาก ๓๐๔ อีก ๑ กม. จะอยู่ทางซ้ายมือ สัตว์สำคัญที่เป็นจุดเด่น พลาดชมไม่ได้คือ สัตว์ป่าแอฟริกา ที่เรียกว่า Big Five  มีช้าง ควายป่า แรด เสือดาว และสิงโต ถ้าใครไปเที่ยวป่าแอฟริกา ได้เห็นสัตว์ทั้ง ๕ นี้ถือว่า ไปถึงป่าแอฟริกาแท้จริง แต่ผมไป "แค่โคราช ก็ได้เห็นแล้ว"

    ..................................................



                จากอำเภอวังน้ำเขียว มาด้วยความเสียดายที่มีเวลาพักน้อยไป อากาศและบรรยากาศแบบนี้ น่าจะนอนพักสัก ๒ - ๓ คืน เรียกว่าสูดอากาศที่ได้ชื่อว่า ติดอันดับโลกกันให้ชุ่มปอดไปเลย ฝากเอาไว้ก่อนผมจะกลับไปอีก จะลองไปตอนฤดูหนาวดูบ้างว่า จะหนาวขนาดไหน  เพราะขนาดเดือนเมษายน ยังเย็นขนาดนี้ ถ้าเป็นเดือนธันวาคมจะขนาดไหน จากวังน้ำเขียว ก็มุ่งหน้ามาตามถนนสาย ๓๐๔ มายังอำเภอปักธงชัย ซึ่งผมไม่ได้ผ่านมาทางนี้คงจะไม่น้อยกว่าสิบปี เห็นถนนตอนใกล้อำเภอ เห็นร้านค้า บ้านเรือนแล้วก็ตกใจ เพราะปักธงชัยวันนี้กับเมื่อร่วมสิบปีมาแล้ว เจริญเร็วมาก คนท้องถิ่นไม่มีใครเรียกกันยาวเหยียดว่า ปักธงชัย เขาจะเรียกว่า เมืองปัก สั้น ๆ แค่นี้ เมืองปักมีชื่อเสียงมากในเรื่องการทอผ้าไหม ชาวบ้านจะมีฝีมือในทางทอผ้าไหมมานานหลายชั่วคนแล้ว มีร้านจำหน่ายผ้าไหมมากมายหลายสิบร้าน อยู่ในเขตเทศบาลเมือง ลายผ้าไหมของปักธงชัย ที่เป็นเอกลักษณ์หรือเป็นที่นิยมคงได้แก่ ลายสายฝน ลายลูกฟัก ลายสก๊อต สมัยก่อนทุกครอบครัวจะมีงานทอผ้า แต่ปัจจุบันกระบวนการผลิต และเครื่องมือที่ใช้ทอพัฒนาดีขึ้น สามารถทอได้รวดเร็ว และเป็นจำนวนมาก จึงมีการทอเพื่อเป็นสินค้า ทำให้การทอผ้าในครอบครัวลดน้อยลง เพราะซื้อใช้จะเร็วกว่า ผ้าทอโคราช ส่วนใหญ่ใช้เส้นไหม บางแห่งใช้ฝ้าย ปัจจุบันนิยมใช้เส้นใยวิทยาศาสตร์ เรียกว่า "ไหมโทเร"  เพราะราคาถูก และขายง่ายกว่าผ้าทอจากไหม ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมีหลายชนิด เช่น ผ้าหางกระรอก ผ้าพื้น ผ้ามุก ผ้าขิด ผ้ามัดหมี่ ซึ่งจะสามารถใช้เป็นผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง หรือตัดเสื้อผ้าแบบต่าง ๆ ได้ แหล่งทอผ้าที่สำคัญในโคราชก็คือ ปักธงชัย นอกนั้น ก็มีอยู่ทั่วไป เช่น ที่บ้านดอนอีลุ่ม อ.ประทาย บ้านหญ้าคา ที่ อ.บัวใหญ่ ฯ
                ร้านผ้าไหมไทย ที่น่าจะใหญ่ที่สุดในปักธงชัย ร้านอยู่ทางขวามือ ปากทางเลี้ยวเข้าชุมชน พอเลี้ยวขวา (มาจากวังน้ำเขียว) ก็เลี้ยวขวาเข้าร้านได้เลย  ที่จอดรถกว้างขวาง มีสินค้าโอท๊อป มีการทอผ้าด้วยมือ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย มีเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหญิง และชาย แต่เนื่องจากตัดเย็บด้วยผ้าไหม เข้าไปในร้านแล้วหนาว เพราะรับบัตรเครดิตด้วย กลัวเลขา ฯ หยิบไม่หยุด นอกจากผ้าไหมแล้ว ยังมี ชากฤษณา ลดไขมัน ความดัน ปวดเมื่อย บอกว่าเห็นผลภายใน ๒๔ ชั่วโมง กล่องละ ๒๐๐ บาท ซื้อมาแล้วยังไม่ได้ทดลอง เพราะความดันคงกลัวชา ความดันเลยปกติ
                    วัดหน้าพระธาตุ  ชาวบ้านเรียกว่า วัดตะคุ เป็นวัดเก่าแก่ของชาวปักธงชัย จากทางแยกที่เข้า อ.ปักธงชัย ไปตามถนน ๓๐๔ ไปทางโคราช พอถึงประมาณ กม. ๑๐๕.๓๐๐ ก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนน ๒๒๓๘ ไปอีก ๔ กม. จะผ่านวัดไผ่สีสุก แล้ววิ่งตรงเข้าประตูวัดหน้าพระธาตุไปเลย สิ่งก่อสร้างใหม่ ๆ อยู่ปะปนกับโบราณสถาน ทำให้ความเก่าโบราณดูศักดิ์สิทธิ์น้อยลง เช่น โบสถ์โบราณ ถูกโบสถ์หลังใหม่สร้างข่ม เพราะอยู่ติดกัน แต่เราไปดูแต่ของโบราณก็แล้วกัน  เมื่อเข้าไปในวัด จะมีพระพุทธรูปองค์โต ประทับนั่ง ปางมารวิชัย อยู่ริมลานด้านขวา ตรงกันข้ามคือ โบสถ์หลังเก่า เสียดายที่ไม่ได้เปิดให้เข้าไปชม ต้องไปติดต่อขอชม วัดหน้าพระธาตุ หรือวัดตะคุ เพราะตั้งอยู่ที่บ้านตะคุ ตำบลตะคุ สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา ตามพระราชนิยม ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่ง ฯ โบราณสถานสำคัญภายในวัดคือ อุโบสถหลังเก่า พระธาตุ และหอไตรกลางน้ำ อุโบสถหลังเก่า มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานกว้างและสอบด้านบน หลังคาเหลื่อม หน้าจั่ว เป็นชั้นลดหลั่น ๑ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ประดับด้วยกระเบื้องเชิงชาย หน้าบันเครื่องไม้ ด้านทิศตะวันออก สลักเป็นรูปดอกพุดตาน พื้นหลังประดับกระจกสีเขียวเข้ม หน้าบันด้านหลังจำหลักเป็นลายพรรณพฤกษา ประดับด้วยกระจกเขียว เสียดายที่ผมไม่มีโอกาส ได้เข้าไปชมจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นจิตรกรรมที่มีความงดงามมากที่สุด แห่งหนึ่งในภาคอีสาน กรรมวิธีในการเขียนภาพมีลักษณะแบบประเพณีนิยม ผสมท้องถิ่น ได้ชมแต่ภาพจิตรกรรมที่หน้าบันของอุโบสถ ซึ่งภาพเริ่มเลือนแต่ก็ยังมีความงดงามมาก ภาพที่เขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้า สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และวิถีชีวิตชาวบ้าน
                    ฐานโบสถ์มีลักษณะแอ่นโค้ง ที่ศัพท์ทางช่างเรียกว่า ตกท้องสำเภา หรือท้องช้าง หรือท้องเชือก เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรม ที่ช่างนิยมทำในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่เนื่องจากโบสถ์มีขนาดเล็ก ต้องออกไปยืนห่าง ๆ ทางด้านข้าง จึงจะเห็นความโค้งได้ชัด
                    พระธาตุ  อยู่หน้าโบสถ์หลังเก่า เป็นปูชนียสถาน ที่ชาวปักธงชัย ให้ความเคารพศรัทธา มีประวัติว่า สร้างโดยชาวลาว ที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ ได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของชุมุชน องค์พระธาตุมีรูปทางคล้ายพระธาตุเจดีย์ ที่พบเห็นในภาคอีสานคือ มีฐานเตี้ย เรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยอดธาตุเรียวสอบ เข้าหากันมีลักษณะคล้ายกลีบดอกบัว ซึ่งเรียกกันในศิลปะลาวว่า ทรงบัวเหลี่ยม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระธาตุแบบพื้นบ้านลาว
                    หอไตรกลางน้ำ  ห่างจากพระธาตุไปสัก ๒๐ เมตร มีสระน้ำ และริมขอบสระด้าน หันมาทางพระธาตุสร้างหอไตรไว้ในสระน้ำ มีลักษณะสถปัตยกรรมแบบเรือนไทย หลังคาจั่วภาคกลาง ผนังอาคารเป็นฝาปะกน บอกว่าที่ต้องสร้างกลางน้ำ เพราะหอไตรเป็นที่เก็บพระไตรปิฎก ซึ่งตำราคัมภีร์โบราณทำจากใบลานเป็นส่วนใหญ่ คนโบราณกลัวว่า มอด มด ปลวก จะมากัดกินเสียหมด เมื่อถึงเวลาจะใช้ก็จะมีสะพาน พาดไปยังบันไดทางขึ้นหอไตร เสร็จแล้วก็ยกออก ปัจจุบันหอไตรไม่ได้ใช้เก็บพระไตรปิฎกอีกแล้ว หอไตรมีภาพจิตรกรรมให้ชมแต่ลางเลือนเต็มที
                    ไหว้พระวัดพระธาตุ แล้วกลับออกมายังถนน ๓๐๔  ย้อนกลับเข้าไปยังอำเภอปักธงชัย ตระเวนหาร้านอาหาร เพราะพอดีใกล้เที่ยงแล้ว หาร้านอาหารไม่ค่อยจะถูกใจ แต่มาสะดุดตาตรงป้ายที่บอกว่า ก๋วยเตี๋ยวเรือ สูตรเด็ดใบไม้  เส้นทางเมื่อเลี้ยวเข้ามายังปักธงชัย ผ่านแยกขวาเข้าร้านผ้าไหม เลยมาอีกประมาณ ๑ กม. อยู่ทางฝั่งขวาเช่นกัน ปากทางเข้าชุมชนดำรงสุข จัดร้านสะอาด น่านั่งกิน อาหารที่ขึ้นป้ายไว้ รายการ ขนมจีนน้ำยาประโดก "หมด"  ไอศคริมกะทิสด ของหวานจานโปรด "หมด"  ได้ชิมแต่เต้าทึง ที่หน้าตาไม่เป็นเต้าทึง แต่หวานเย็นชื่นใจ
                สั่งก๋วยเตี๋ยว สูตรเด็ดใบไม้ สั่งก๋วยเตี๋ยวเนื้อ พิเศษ ราคา ๒๕ บาท ชามโต เจอเข้าชามเดียว ไม่ต้องสั่งเพิ่ม น้ำซุปวิเศษมาก หวาน หอม ลวกเส้นเก่ง เส้นเล็กเหนียวหนึบ เลขา ฯ สั่งก๋วยเตี๋ยวหมู เส้นหมี่ ลองชิมน้ำดู อร่อยจริง ๆ ก๋วยเตี๋ยวใช้ผักคะน้า เห็นบอกว่าสูตรเด็ดใบไม้ เลยถามหาใบไม้ เขาบอกว่า ต้องไปหยิบเอาเอง ใบไม้ที่ให้ไปหยิบคือ ใบโหระพา ใบโตมาก กับถั่วงอกดิบ จะกินก็ต้องเด็ดใบโหระพา ออกจากก้าน ก็แปลกดีเหมือนกัน ยอมไม่ว่าอะไร เพราะก๋วยเตี๋ยวของเขาอร่อยจริง ๆ ไม่ครบสูตรที่เคยสั่ง เพราะชามโตเกินไป เลยไม่ได้ชิมก๋วยเตี๋ยวแห้ง สั่งชามธรรมดาดีกว่าราคา ๒๐ บาท ชามเล็กหน่อย จะได้ชิมทั้งแห้งและน้ำ ไปอีสานคราวนี้สังเกตสาวอีสาน มากับหนุ่ม (แก่ ๆ) ฝรั่งหนาตาขึ้นที่ร้านก๋วยเตี๋ยว ก็มีหนุ่มฝรั่งควงสองสาว สาวหนึ่งอุ้มหมา ส่วนหนุ่มเข็นรถใส่ลูกชายมาด้วย อิ่มแล้วไปร้านผ้าไหม เจอ ๓ หนุ่ม สาวเข็นลูกมาซื้อผ้าไหมกัน

    • Update : 3/9/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch