|
|
วิธีแสดงความเคารพพระ
วิธีแสดงความเคารพพระ
คอลัมน์ หน้าต่างศาสนา
พระที่ควรแก่การเคารพได้แก่ พระพุทธรูป หรือ ปูชนียวัตถุ มีพระสถูปเจดีย์ เป็นต้น และพระภิกษุผู้ทรงเพศอุดมกว่าตน การแสดงความเคารพดังกล่าวนี้มีอยู่ 3 วิธีด้วยกัน คือ การประนมมือไหว้ การไหว้ และการกราบ
ประนมมือ ตรงกับภาษาบาลีว่า อัญชลี คือการกระพุ่มมือทั้งสองขึ้นประนม ให้ฝ่ามือทั้งสองประกบกัน นิ้วมือทุกนิ้วของทั้งสองมือแนบชิดตรงกัน ไม่เหลื่อมกัน ตั้งกระพุ่มมือทั้งที่ประนมไว้ระหว่างอก ให้ตั้งตรงขึ้นข้างบนมีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม แนบศอกทั้งสองข้างชิดชายโครง เป็นการแสดงความเคารพเวลาสวดมนต์ หรือฟัง พระสงฆ์สวดมนต์ และเวลาฟังเทศน์ แสดงอย่างเดียวกันทั้งหญิง และชาย
ไหว้ ตรงกับคำบาลีว่า นมัสการ คือการยกมือที่ประนมแล้วขึ้นพร้อมกับก้มศีรษะลงเล็กน้อย ให้มือที่ประนมจดหน้าผาก นิ้วหัวแม่มือทั้งสองอยู่ระหว่างคิ้ว ใช้แสดงความเคารพพระในขณะที่นั่งเก้าอี้ หรือยืนอยู่ไม่ใช่นั่งราบกับพื้น แสดงอย่างเดียวกันทั้งชายและหญิง
กราบ ตรงกับคำบาลีว่า อภิวาท คือการแสดงอาการ กราบลงบนพื้นด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ได้แก่ การกราบทั้งองค์ห้า ให้หน้าผาก ฝ่ามือทั้งสอง และเข่าทั้งสองจดพื้น เมื่อกราบอย่างนี้พึงนั่งคุกเข่า ประนมมือไหว้ แล้วหมอบลง ทอดฝ่ามือทั้งสองที่พื้น เว้นช่องระหว่างฝ่ามือให้ห่างกันเล็กน้อย ก้มศีรษะลงตรงช่องนั้นให้หน้าผากจดพื้น เป็นอันครบองค์ห้า
การกราบแบบนี้ ชายพึงคุกเข่าตั้งฝ่าเท้าชัน ใช้นิ้วเท้ายันพื้น นั่งทับลงบนส้นเท้าทั้งคู่ ผายเข่าออกเล็กน้อยให้ได้ฉากกันเป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วประนมมือ นั่งอย่างนี้เรียกว่า นั่งท่าพรหม
เวลากราบก็ยกมือขึ้นไหว้ แล้วก้มตัวลงปล่อยมือให้ทอดกับพื้น ให้ศอกต่อกันกับเข่าตรงกันทั้งสองข้าง แล้วก้มลงให้หน้าผากจดพื้น อยู่ระหว่างฝ่ามือทั้งสอง
สำหรับหญิง พึงนั่งคุกเข่าราบ คือไม่ตั้งฝ่าเท้ายันอย่างชาย แต่เหยียดฝ่าเท้าราบไปทางหลัง ให้ปลายเท้าทั้งสองทับกันเล็กน้อย แล้วนั่งทับบนฝ่าเท้าทั้งสองนั้นให้ราบกับพื้นให้เข่าทั้งสองชิดกัน ประนมมือ นั่งอย่างนี้เรียกว่า นั่งท่าเทพธิดา
ขณะกราบก็ยกมือที่ประนมอยู่ขึ้นไหว้ แล้วก้มตัวลงปล่อยมือให้ทอดกับพื้น ให้ข้อศอกพับทั้งสองข้างขนาบเข่าพับทั้งสองไว้ ไม่ใช่ให้ศอกต่อเข่าแบบชาย แล้วก้มลงให้หน้าผากจรดพื้น อยู่ระหว่างมือทั้งสอง
เวลาก้มลงกราบอย่าให้ก้นกระดกขึ้นจึงจะงาม
|
Update : 3/9/2554
|
|