|
|
ลงโบสถ์-ฟังปาฏิโมกข์
ลงโบสถ์-ฟังปาฏิโมกข์
คอลัมน์ ศาลาวัด
การลงอุโบสถ คือ การที่พระภิกษุสงฆ์ร่วมประชุมกันที่พระอุโบสถเพื่อฟังปาฏิโมกข์ตามพระวินัย เป็นการทบทวนศีล 227 ข้อ ของพระภิกษุ โดยจะมีการสวดทุก 15 วัน คือ ในวันขึ้น 15 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ ในเดือนเต็ม หรือวันแรม 14 ค่ำ ในเดือนขาด
นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ทำอุโบสถเป็นพิเศษในคราวที่ภิกษุแตกความสามัคคี เมื่อภิกษุกลับมาสามัคคีกันอีกครั้ง แม้จะยังไม่ถึงวันปาฏิโมกข์ ก็ให้สวดปาฏิโมกข์ได้ เรียกว่า สามัคคีอุโบสถ
ปาฏิโมกข์นั้นมี 2 อย่าง คือ
1.โอวาทปาฏิโมกข์ คือ หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้เป็นหลัก พระพุทธเจ้าแสดงด้วยพระองค์เอง
2.อาณาปาฏิโมกข์ คือ ข้อห้าม ข้อบัญญัติ หรือพระวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติเป็นหลัก ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์สาวกแสดง
โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นหลักการทางพระพุทธศาสนาอย่างกว้าง ที่ทรงแสดงไว้ให้พระสาวกยึดเป็นแนวทางในการสั่งสอนประชาชน
โอวาทปาฏิโมกข์นั้นพระพุทธเจ้าแสดงด้วยพระองค์ ท่ามกลางที่ประชุมพระสงฆ์สาวก 1,250 รูป ณ พระเวฬุวันวิหาร หลังตรัสรู้ได้ 9 เดือน วันนั้นเป็นวันมาฆบุรณมี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 พระจันทร์เต็มดวงเสวยมาฆฤกษ์ ภิกษุทั้ง 1,250 รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ภิกษุที่ร่วมประชุมในครั้งนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ และเป็นภิกษุที่พระพุทธเจ้าบวชให้ทุกรูป
เรียกวันนั้นว่า วันจาตุรงคสันนิบาต
ในวันนั้น พระองค์ได้ทรงแสดงหลักการแห่งพระพุทธศาสนา เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ ดังนี้
"ขันติ คือ ความอดกลั้นเป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสพระนิพพานว่าเป็นยอด ผู้ยังทำร้ายผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าบรรพชิต ผู้ยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าสมณะการไม่ทำบาปทั้งปวง 1 การทำกุศลให้ถึงพร้อม 1 ความยังจิตให้ผ่องแผ้ว 1 ธรรม 3 ประการนี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย การไม่ว่าร้าย 1 การไม่ทำร้าย 1 ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ 1 ความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ 1 การอยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด 1 การประกอบความเพียรในการพัฒนาการจิตให้ยิ่ง 1 ธรรม 6 ประการนี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"
การแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ของพระพุทธเจ้า ได้มีขึ้นครั้งนี้เพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นพระองค์ก็ไม่ได้แสดงอีก แต่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ประชุมสงฆ์กันเองทุก 15 วัน ต่อมาภายหลัง เมื่อทรงบัญญัติสิกขาบทแล้ว ทรงอนุญาตให้พระสาวกที่อยู่ร่วมกัน 4 รูปขึ้นไป นำสิกขาบท 227 ข้อมาสวดทบทวนท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ ในวันอุโบสถ จึงเกิดอาณาปาฏิโมกข์
เป็นแบบแห่งการลงอุโบสถเพื่อฟังปาฏิโมกข์ถึงปัจจุบัน
|
Update : 3/9/2554
|
|