หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    จะพัฒนาคน กันได้อย่างไร (จบ)
    จะพัฒนาคน กันได้อย่างไร (จบ)

    คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์
    (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


    วัฒนธรรมของสังคมที่ถ่ายทอดกันมาด้วยความเคยชินจนเป็นแบบแผนนั้น เป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนมาก บางอย่างในวัฒนธรรมนั้น ที่ว่าดีในสมัยหนึ่ง เมื่อผ่านมาถึงอีกสมัยหนึ่ง อาจกลายเป็นไม่ดี หรือบางอย่างที่ดีอาจตกมาถึงปัจจุบันในรูปที่คลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนไปแล้ว หรือบางอย่างที่ว่าดีอาจเหลืออยู่เพียงรูปแบบภายนอก แต่สาระหรือความหมายที่แท้จริงสูญหายไปแล้ว หรือยิ่งกว่านั้นอาจจะมีความหมายอื่นที่เป็นโทษเข้าไปแทนที่ ดังนี้เป็นต้น

    ความคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนและโทษเหล่านี้ บางทีเราก็ไม่รู้จนกระทั่งมีผู้มีสติปัญญามาชี้ให้เห็นจุดเห็นแง่ที่จะปรับปรุงแก้ไข (บางทีสติปัญญาไม่พอดี ก็ชี้ผิดเสียอีก) จึงได้เกิดมีการเปลี่ยน แปลง และพัฒนากันต่อไป (บางทีผู้ที่ติดก็ต้านอย่างหนัก) เรื่องพฤติกรรมเคยชินของมนุษย์แม้แต่ในระดับสังคม ก็ต้องมีการแก้ไขพัฒนาอยู่เรื่อย ถ้าพูดถึงในระดับบุคคลก็ยิ่งต้องพัฒนากันตลอดเวลา

    ดังที่กล่าวมาแล้วว่า คนส่วนมากมักจะได้แค่พฤติกรรมเคยชิน จะพัฒนาเหนือกว่านั้นไปได้ยาก คนที่พัฒนาตนเองได้ดีก็คือคนที่สามารถอยู่เหนืออำนาจของความเคยชิน คนประเภทนี้จะปรับตัวพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งถือว่าเป็นความสามารถพิเศษ พฤติกรรมที่ลงตัวโดยเคยชินอย่างละเอียดอ่อน เรียกว่า วาสนา (แปลว่า การสั่งสมอบรมมา ซึ่งก็คือการสั่งสมพฤติกรรม เคยชินนั่นเอง) ได้แก่ แบบแผนพฤติกรรมที่บุคคลนั้นได้สะสมมากับตนเองจนกลายเป็นลักษณะประจำตัวของเขา เช่น จังหวะท่วงทีในการเดิน การพูด คำติดปาก เป็นต้น ซึ่งแต่ละคนจะแสดงออกแตกต่างกัน ถือเป็นวาสนาของแต่ละคน เมื่อบุคคลมีวาสนาอย่างไร

    วาสนานั้นก็จะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะนำชีวิตของเขาไปในแนวทางหนึ่งโดยเฉพาะ แม้แต่ความเคยชินทางความคิดที่เป็นพฤติกรรมทางจิต เช่น ว่าชอบอะไรไม่ชอบอะไร เป็นต้น ก็เป็นวาสนาเช่นเดียวกัน เมื่อเขามีวาสนาเกี่ยวกับอะไรในทางใด มันก็ชักจูงเขาไปในทางนั้นไปหาสิ่งนั้น วาสนาก็เลยกลายเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของเขาไป

    นอกจากนั้น วาสนายังเป็นตัวกระทบที่ทำให้คนอื่นมีปฏิกิริยาต่อเขาในรูปใดด้วย เช่น ดึงดูดหรือผลักไล่ ทำให้ชอบหรือทำให้เกลียด ในความสัมพันธ์กับคนหมู่มากหรือเป็นปฏิกิริยาเฉพาะตัวกับบางคน ดังจะเห็นได้ในลักษณะการพูดของแต่ละบุคคล บางคนพูดสละสลวยรื่นหู บางคนพูดกระโชกโฮกฮาก บางคนพูดแล้วคนชอบฟัง บางคนพูดแล้วคนรำคาญ ฯลฯ ซึ่งล้วนมีผลต่อความเป็นไปในชีวิตของเขาทั้งนั้น

    วาสนาเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็แก้ไขยาก เพราะเป็นสิ่งที่ลงร่องลึก ผู้ที่ละวาสนาได้หมดมีเพียงบุคคลเดียวคือพระพุทธเจ้า หมายความว่าพฤติกรรมเคยชินหมดไป เพราะพฤติกรรมอยู่ภายใต้การนำของสติปัญญาอย่างเดียว คือทำไปด้วยสติปัญญา ไม่ได้ทำไปโดยความเคยชิน ส่วนพระอริยบุคคลอื่นแม้แต่พระอรหันต์ ก็แก้ไขละได้แต่เฉพาะวาสนาร้ายแรงที่เป็นโทษต่อชีวิตและสังคม ส่วนวาสนาที่ไม่ร้ายแรงก็ยังคงอยู่ เช่น บางท่านพูดจาไม่เพราะหู บางท่านเดินไม่ค่อยชวนดู เป็นต้น รวมความว่า เรื่องของวาสนามีทั้งดีและไม่ดี และวาสนานั้นก็เป็นผลกรรมส่วนหนึ่ง

    ในเรื่องกรรมนั้น พอเกิดปัญญาขึ้นมาแล้ว เจตนาที่เป็นตัวกรรมก็ค่อยๆ เปลี่ยนจากการอยู่ใต้บงการของตัณหา มาอยู่ใต้การชี้นำของปัญญา จนในที่สุด เจตนาเองก็จะหมดหน้าที่ไปด้วย ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายที่ชีวิตจะเป็นอยู่ด้วยปัญญา นี่คือภาวะที่เรียกว่าสิ้นกรรม เพราะพฤติกรรมไม่ต้องอยู่ในบงการของเจตนาที่มุ่งที่เลือกว่าตัวเราจะเอาอย่างไร แต่เปลี่ยนมาเป็นอยู่และทำการต่างๆ ด้วยปัญญา ด้วยความรู้หรือปฏิบัติการด้วยความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่ปฏิบัติการด้วยความจำนงจงใจ ว่าตัวเราต้องการเอาอย่างนั้นอย่างนี้

    อย่างไรก็ตาม ในระดับของปุถุชนที่ยังไม่พ้นจากพฤติ-กรรมที่เป็นไปด้วยเจตนา เมื่อมีการศึกษาพัฒนาตนขึ้น ปัญญาก็จะเข้ามาช่วยชี้ทาง ทำให้มีการเลือกตัดสินใจที่ดีงามถูกต้อง ประกอบด้วยความรู้ความเข้าใจและความมีเหตุผลมากขึ้น และทำการต่างๆ ด้วยฉันทะ ที่จะนำไปสู่ความไร้ทุกข์ลดปัญหา ตลอดจนมีอิสรภาพและสันติสุขทั้งในชีวิตและในสังคมมากขึ้นๆ ตามระดับของการพัฒนา



    • Update : 31/8/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch