|
|
เที่ยวทั่วไทย-เขาค้อ (๒)
เขาค้อ (๒)
ผมไปเขาค้อ ซึ่งอยู่ที่ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อไปนมัสการ พระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษก หลังจากที่ไม่ได้ไปเขาค้อมาหลายปี และหลายปีที่ไม่ได้ไปนี้ เขาค้อเจริญขึ้นอย่างผิดหู ผิดตา มีรีสอร์ทเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย รวมถึงร้านอาหารที่เกิดใหม่ๆด้วย ที่ไม่เปลี่ยนแปลงคืออากาศบนเขาค้อ ทิวทัศน์บนเขาค้อยังงดงาม เหมือนเดิม จนมีคำขวัญว่าหากใครได้มานอนเขาค้อ หนึ่งคืนอายุจะยืนไป ๑ ปี ( สงสัยผมคงอายุยืนถึง ๙๙ ปีแน่ เพราะไปนอนมาหลายสิบคืนแล้ว ) และเขาค้อยังได้ชื่อว่าเป็นสวิตเซอร์แลนด์ของเมืองไทย เพราะช่วงเช้าจะปกคลุมด้วยเมฆหมอกเกือบตลอดปี
เส้นทาง ผมไปเขาค้อจากบ้านลาดพร้าว ซึ่งเดี๋ยวนี้ทางด่วนสายเอกมัย รามอินทรานั้นต่อยาวไปจนถึงทางด่วนสายตะวันออก หรือทางด่วนกาญจนาภิเษก ขึ้นได้จากด่านใกล้ๆบ้านผม ไปลงเอาเกือบถึงด่านเก็บเงินรังสิตวิ่งกันฉิวไปเลย ไปเชื่อมกับถนนพหลโยธินที่ประมาณ กม. ๕๖ วิ่งต่อไปจนถึงสวนพฤกษศาสตร์ พุแค ก็เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย ๒๑ ถนนสายนี้จะผ่านแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญๆหลายแห่ง เช่น
ทุ่งทานตะวันของจังหวัดลพบุรี มีให้ชมเต็มทุ่งในเดือนพฤษจิกายน
สี่แยกที่เลี้ยวขวาจะไปยัง อำเภอพัฒนานิคม ไปเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ไปทลุออกมวกเหล็กได้เลย โดยจะผ่านไปทางอำเภอวังม่วง
สี่แยกที่เลี้ยวขวาไปยังชัยภูมิ ไปวัดบ้านไร่ของหลวงพ่อคูณ (เลี้ยวซ้ายไปลพบุรี)
ผ่านอำเภอ ศรีเทพ เมื่อเลยตลาดอำเภอไป จะพบสี่แยกให้เลี้ยวขวาเข้าถนน ๒๒๑๑ ไปอีกประมาณ ๙ กม.ก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์ “ ศรีเทพ “ ศรีเทพได้ชื่อว่าเป็นเมืองโบราณพันปี ค้นพบโดย กรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๗
ถึงสามแยกอำเภอวิเชียรบุรี( ตรงสามแยกคือดงไก่ย่าง ที่มีชื่อเสียงร้านที่ชิมประจำคือร้านบัวตอง ) เลี้ยวขวาไปประมาณ ๘ กม. จะถึงตัวอำเภอ แล้วเลี้ยวซ้ายจะไปยังวัดวิเชียรบำรุง วัดนี้มีพระบรมสารีริกธาตุและ พระนอนศักดิ์สิทธิ์ หากไม่เลี้ยวเข้ามายังวัดตรงต่อไปจะไปยัง ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
เลยทางแยกเข้าอำเภอวิเชียรบุรีไปแล้ว ก็จะมาถึงช่วงของอำเภอบึงสามพันและ อำเภอหนองไผ่ มีน้ำตกซับผุด เลี้ยวขวาที่สี่แยกราหุล เลยสามแยกวิเชียรบุรี วิ่งไปอีก ๓๘ กม.ตามถนนสาย ๒๒๕ ที่เที่ยวอีกแห่งคือสวนรุกขชาติซับชมพู จากวิเชียรบุรี วิ่งไปอีก ๑๔ กม. แล้วเลี้ยวซ้ายไปอีก ๘ กม. จะได้ชมสวนรุกขชาติที่งดงามและมีน้ำตกขนาดเล็กอีก ๓ แห่ง คือ น้ำตกธารงาม น้ำตกไทรงาม และน้ำตกหินงาม
วัดช้างเผือก อยู่ก่อนถึงสามแยกวังชมพู ทางขวามือ มองเห็นช้างเผือก จำลองยืนอยู่หน้าทางเข้าวัด เมื่อเข้าไปแล้วจะได้ไปนมัสการสรีระของหลวงพ่อทบ ที่นอนอยู่ในโลงแก้ว มาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๑๙ ร่างไม่เน่า ไม่เปื่อย หลวงพ่อทบ เป็นผู้ที่พัฒนาวัดช้างเผือก ตั้งแต่ยังเป็นวัดร้าง จนรุ่งเรือง เป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไป
ร้านไร่กำนัลจุล กำนันเป็นผู้บุกเบิกสวนส้มในเมืองเพชรบูรณ์เป็นคนแรก และได้ทำไร่แบบผสมผสาน เป็นผลสำเร็จ กำนัลจุลถึงแก่กรรมไปหลายปีแล้ว แต่ทายาทยังสืบทอดเจตนารมณ์ ทำไร่ สร้างผลิตผลกันต่อไป ร้านไร่กำนัลจุลอยู่ที่สามแยกวังชมพู ถึงสามแยกแล้วเลี้ยวขวา ร้านอยู่ทางซ้ายมือ ส่วนเส้นทางกลับจากเพชรบูรณ์ก็มีร้านเปิดใหม่อยู่ทางฝั่งตรงกันข้าม มีสินค้าขายเหมือนๆกัน เช่นน้ำผลไม้กระป๋อง ผลไม้สดฯ เป็นต้น ที่ผมชอบใจอีกอย่าง คือทั้ง ๒ ร้าน มีสุขาอย่างดี เป็นสากลแวะใช้บริการได้
อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อยู่ห่างจากสามแยกวังชมพูไปอีก ประมาณ ๒๐ กม. ผมออกจากกรุงเทพฯสายไปหน่อยคือประมาณ ๐๘.๓๐ แต่ตั้งใจออกสายๆเพราะกะไปกินกลางวันที่ตัวเมืองเพชรบูรณ์ เพราะเพชรบูรณ์ที่มีคำขวัญว่า เมืองมะขามหวาน อุทยานน้ำหนาว ศรีเทพเมืองเก่า เขาค้ออนุสรณ์ นครพ่อขุนผาเมือง มีอาหารประจำเมืองอยู่อย่างหนึ่ง คือขนมจีนหล่มเก่า ( อำเภอ ) แต่หากินได้ในตัวเมืองเพชรบูรณ์ และร้านที่อร่อยมาก และชาวเมืองเขากินกัน ส่วนร้านที่ผมเคยพาไปชิม ชื่อร้านขนมจีนบ้านคุณตา อยู่ริมถนน ๒๑ ก่อนถึงตำบลนางั่ว ชาวเพชรบูรณ์เขาบอกว่าไม่ใช่ร้านเก่าแก่ เ
ส้นทาง บอกละเอียดไม่ได้ เพราะวันนี้ไม่ได้ขับรถเอง และฝนตกตลอดทาง แต่ก็หาไม่ยาก เพราะมีที่หมายใหญ่ คือศาลากลาง มาตามถนนสาย ๒๑ พอเริ่มเข้าตัวเมืองถึงแยกไฟสัญญาณ เลี้ยวขวาตามป้ายบอกไปศาลากลาง เลยศาลากลางไปสัก ๑ กม.ถนนเพชรเจริญ ร้านเป็นร้านขนาด ๒ ห้องจะอยู่ทางซ้ายมือ ตั้ง โต๊ะ เก้าอี้ที่หน้าร้าน ขนมจีนสีสวย จะมี ๔ สี สีชมพูด้วยแตงโม สีเหลืองจากฟักทอง สีเขียว จากใบเตย สีม่วงจากดอกอัญชัน ไม่ใช้สีวิทยาศาสตร์เลย ใช้สีทำจากดอกไม้ทั้งสิ้น “ น้ำ “มี ๔ น้ำคือน้ำยาป่า น้ำพริก แกงเขียวหวาน และน้ำยา อร่อยทุกน้ำ ผักวางไว้ ๑ จานโตๆหากเป็นปักษ์ใต้เรียกว่าผักเหนาะ มีผักกาดดอง ถั่วฝักยาวสด โหระพา ใบแมงลัก ผักบุ้งลวก กล่ำปลี ขนมมี ขนมถ้วยวางเอาไว้บนโต๊ะ กินถึงจะคิดเงิน ขนมใส่ไส้ ตะโก้
สถานที่ท่องเที่ยวในตัวเมือง เพชรบูรณ์ ที่โดดเด่น คือ เสานครบาลเพชรบูรณ์ มาตามถนนสาย ๒๑ เลี้ยวขวาเข้าถนนสันคูเมือง ผ่านซุ้มประตูนครบาล จะมองเห็นเสานครบาลอยู่กลางถนน เสานี้มียอดเป็นกลีบบัว ที่ซุ้มและฐานมีประติมากรรมนูนต่ำจำนวน ๑๒ ภาพ บันทึกเหตุการณ์สำคัญครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ดำริที่จะย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ มาอยู่ที่เพชรบูรณ์ เสียดายที่ไม่ได้ย้ายมา คงให้กรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงรถติดกันวินาศสันตะโรในยุคปัจจุบัน ๒๕๕๓ มองไม่เห็นทางแก้ไข
วัดสำคัญ มี ๒ วัดคือ วัดไตรภูมิ ซึ่งมีหลวงพ่อ พระพุทธมหาธรรมราชา ซึ่งในวันสงกรานต์ จะมีประเพณีอุ้มพระดำน้ำโดยพ่อเมือง ( ใช้องค์จำลอง อุ้มดำน้ำ )
วัดมหาธาตุ เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย มีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีหลวงพ่อเพชรมีชัย ในพระวิหาร ส่วนหลวงพ่องาม ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ ซึ่งมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม
ศาลหงลักเมือง เป็นหลักเมืองที่เก่าแก่ที่สุด มีลักษณะเป็นใบเสมาหิน
หอวัฒนธรรม ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์จากภาพ
เขาค้อ จากตัวเมืองเพชรบูรณ์ คงไปตามถนนสาย ๒๑ มุ่งหน้าไปทางอ.หล่มสัก วิ่งไปจนถึงสามแยกมีป้ายบอกระยะทางไปอ.เขาค้อ ๓๒ กม.ที่ กม. ๒๓๖ เลี้ยวซ้ายเข้าถนน ๒๒๕๘วิ่งขึ้นเขาไปเรื่อยๆ ผ่านรีสอร์ท ผ่านตลาดชาวเขา ผ่านเนินมหัศจรรย์ (มีป้ายบอก ) ผ่านป้ายชื่อสะพาน หรือหมู่บ้านล้วนแล้วเป็นชื่อทหารกล้าที่เสียชีวิตในการปราบปราม ผกค.บนเขาค้อทั้งสิ้น วิ่งไปจนถึงสี่แยกสะเดาะพง หากตรงไปนิดเดียว ทางซ้ายมือคือทางเข้าไปยังโครงการตามพระราชดำริ บริษัทเกษตรอุตสาหกรรมเขาค้อ ซึ่งผมมีส่วนร่วมในการจัดตั้งมาตั้งแต่ต้น โดยเป็นรองประธานบริษัท มีนายตลอดกาลของผม คือ “ บิ๊กเสือ “ เป็นประธานบริษัท ทั้งนายและผมไม่มีเงินเดือน มีแต่ตำแหน่ง บริษัทตั้งขึ้นเพื่อรับซื้อผลผลิตจากไร่ของชาวเขาค้อในราคาประกัน โดยเฉพาะ”แพชั่นฟรุ๊ท “ รับซื้อหมดในราคาประกัน นำไปผลิตน้ำแพชั่นฟรุ๊ทกระป๋อง และผลิตอีกหลายอย่าง บริษัทนี้ขาดทุนมาตลอด ไม่มีกำไร แต่ด้วยพระเมตตาพระราชทานทุนทรัพย์มาให้ ไม่ต้องไปกู้จากธนาคาร บริษัทจึงตั้งอยู่ได้
จากสี่แยกสะเดาะพง หากเลี้ยวซ้ายก็จะมีเส้นทางขึ้นไปยังพระตำหนักเขาค้อ ซึ่งมีเรือนพักรับรองผู้ติดตามเสด็จ เป็นที่พักราคาถูกให้เช่าพักได้ พระตำหนักคงรักษาเอาไว้เป็นอย่างดี หน้าพระตำหนักมีสวนสวย วิวสวย น่าชม ติดต่อ๐๕๖ ๗๒๒ ๐๑๑ พระตำหนักตั้งอยู่บนเขาย่า แต่ยังไม่ถึงยอดเขา ทางขึ้นยอดเขาย่าเพื่อชมทิวทัศน์ที่แสนจะงดงามนั้นอยู่ติดกับร้านค้าสวัสดิการ แต่เส้นทางค่อนข้างชัน สถานีทดลองเกษตรที่สูงเขาค้อ มีที่พัก ที่กางเต็นท์และร้านค้า ไปสถานีแห่งนี้จะได้ชมดอกไม้เมืองหนาว และผลไม้เมืองหนาว เช่นพลับ ลิ้นจี่ และยังมีแปลงมะคาเดเมีย แปลงกาแฟ แปลงผักปลอดสารพิษ ติดต่อ ๐๕๖ ๗๒๓ ๐๖๕
มาตั้งต้นที่สี่แยกสะเดาะพงกันใหม่ ที่สี่แยกนี้มีร้านอาหาร หลายร้าน เป็นชุมชนของเขาค้อ หากมาถึงสี่แยกแล้วเลี้ยวขวาไปจะเป็นถนน ๒๑๙๖ ตรงสี่แยกคือปลายทางของถนนเส้นนี้ ต้นทางเริ่มจากแคมป์สนติดถนนสาย ๑๒ พิษณุโลก - หล่มสัก ถนนสาย ๒๑๙๖ นี้จะพาไปยังสถานที่สำคัญหลายแห่ง คือ ที่ว่าการอำเภอเขาค้อ โรงพยาบาลเขาค้อ ตรงข้ามโรงพยาบาล คือจุดที่จะไปชมหมอกยามเช้าได้ตลอดปี แต่หากเป็นฤดูหนาว ไม่ต้องมาชมตรงนี้ก็ได้ เพราะยามเช้าหมอกปกคลุมไปทั่วและหนาวจับใจ อยากสัมผัสความหนาว ไปฤดูไหนเขาค้อก็มีความหนาวให้สัมผัสตลอดปีจะมากหรือน้อยเท่านั้น มีเสื้อหนาว อยู่กรุงเทพฯมาเขาค้อ หิ้วเอามาด้วย ได้ใส่แน่นอน
กม. ๑๙ ทางขวามือคือวัดวิชมัยปุญญาราม ซึ่งมีพระครูวิชมัยปุญญารักษ์ เป็นเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสปริญญาเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พอจบปริญญาโทก็อุปสมบท เป็นเจ้าอาวาสวัดนี้มาตั้งแต่ต้นเลยทีเดียว และไม่คิดจะลาสิกขาบท เป็นวัดธรรมยุตที่เคร่งมาก ไม่มีพุทธพาณิชย์ วัดตั้งมากว่า ๒๐ ปีแล้ว ยังไม่มีปัจจัยที่จะสร้างอุโบสถ ท่านผู้ใดมีสตางค์แยะๆช่วยไปสร้างอุโบสถให้ท่านด้วย ผมจะเป็นหัวเรือใหญ่เสียเองก็กลัวจะตายก่อนที่จะสร้างโบสถ์สำเร็จ ถ้าจะทอดผ้าป่าเอาเงินมาสร้างก็คงจะต้องทอดกันหลายสิบครั้ง เลยฝากท่านที่ใจบุญและมีสตางค์ไว้ด้วย ติดต่อท่านเจ้าอาวาส ๐๘๑ ๓๐๙ ๘๗๖๕ ท่านอยากได้อุโบสถหลังเล็กๆ
พระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษก อยู่ติดกับวัดวิชมัย อยู่ในความดูแลของวัดวิชมัย โดยมีมูลนิธิพระบรมธาตุเจดีย์คอยให้การสนับสนุน มีความเป็นมาดังนี้ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุจำนวน ๙ องค์ให้ สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชฯ นำมาทางเฮลิคอปเตอร์ โดยมีพลเอก พิจิตร กุลละวณิชย์รอรับอยู่ที่เขาค้อ เมื่อรับมาแล้วก็บรรจุไว้ในเจดีย์จำลองขนาดไม่ใหญ่นัก เก็บบูชาไว้ที่วัดวิชมัย ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๓๐ ผมมาทำงานในตำแหน่งรองฯของท่านบิ๊กเสือ และงานที่ทำประการหนึ่งคือการพัฒนา ผมได้สานต่อการพัฒนาบนเขาต้อจากท่านบิ๊กเสือและมีความคุ้นเคยกับท่านเจ้าอาวาสเป็นอย่างดี จนท่านพาไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุและเปิดให้สรงน้ำได้ในบางโอกาส ผมใกล้จะเกษียณอายุราชการแล้วแต่ยังมียศพลโท จึงได้บนบานขอพรจากองค์พระบรมธาตุ ขอให้ได้เป็นพลเอกก่อนเกษียณอายุราชการ พอปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ผมก็ได้รับพระราชทานยศพลเอก ผมจึงได้เสนอแนะต่อนายบิ๊กเสือว่า เราควรสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ นำพระบรมธาตุไปบรรจุไว้ โดยผมจะหาเงินมาสร้างเอง นายก็ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมามีอยู่ด้วยกัน ๑๐ หรือ ๑๒ คนนี่แหละมีผมเป็นหัวหน้าคณะ สำรวจพื้นที่จุดที่จะสร้าง โดยเชิญอาจารย์จากศิลปากรมาร่วมพิจารณาพื้นที่ด้วย หากันจนทั่วเขาค้อ สุดท้ายพื้นที่ที่จะสร้างเหมาะใจทุกคนก็ตรงพื้นที่ที่อยู่ติดกับวัดวิชมัย เงินที่จะสร้างซึ่งต้องใช้ประมาณห้าสิบล้านบาท จะหาจากการสร้างวัตถุมงคล สมเด็จพระสังฆราชฯ ซึ่งสมเด็จประทานโอกาสให้นายของผมนำคณะทำงานเข้าเฝ้า และประทานคำแนะนำและอนุญาตให้สร้างได้ ส่วนจะสร้างเหรียญหรืออะไรบ้างให้ไปคิดกันเอง แต่ท่านจะโปรดเป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษกให้ การเตรียมการต่างๆคณะทำงานได้เตรียมการไว้หมด พอดีนายท่านได้รับการย้ายไปดำรงตำแหน่งสูงขึ้น คือเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม ลูกน้องใหม่ของท่าน ทราบเรื่องนี้(ยศพลอากาศโท ) ก็เสนอแนะว่าคณะทำงานคนน้อยไป จะทำงานต่อไปไม่ได้ให้ตั้งเป็นคณะกรรมการในการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ นายท่านก็จำเป็นต้องยอม ตั้งกรรมการขึ้น ชุดหนึ่งมีสัก ๑๐๐ คน ผมกลายเป็นที่ปรึกษาไป คณะกรรมการประชุมกัน ๒ -๓ ครั้งก็หมดปี ทั้งนายและผมเกษียณอายุราชการ งานสร้างพระบรมธาตุเจดีย์จึงจบกันแค่นั้น แต่นายของผมท่านไม่จบด้วยพออีก ๒ ปีท่านได้รับพระราชทานโปรดเกล้าเป็นองค์มนตรี ท่านริเริ่มใหม่ คราวนี้ขอเงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมาสร้าง โดยใช้แบบที่อาจารย์จากกรมศิลปากรออกให้แก่คณะทำงานไว้ สร้างในพื้นที่ที่คณะทำงานเลือก ผมไม่มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เมื่อสร้างเสร็จแล้วสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จไปบรรจุพระบรมธาตุเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๑ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จไปเปิดพระบรมธาตุเจดีย์ ( เพราะเดิมจะสร้างถวายในปีพ.ศ. ๒๕๓๕ ที่จะทรงเจริญพระชนมายุ ๖๐ พรรษา ) ด้วยความศักดิสิทธิ์ของพระบรมธาตุ ทำให้ผู้ที่ประสบความสำเร็จจากการมาขอพร นำพระพุทธรูป รูปหล่อของพระมหากษัตริย์ พระเกจิอาจารย์ ฯมาถวายไว้ในห้องใต้พระเจดีย์มากมายจนรูปหล่อของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระเจ้าตากสินมหาราช พระปิยมหาราช ต้องมาวางไว้ข้างๆประตู ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ผมไม่มีส่วนการสร้างแต่ก็ผูกพันมาตั้งแต่ต้นจึงเหมือนมีและยังไปเขาค้อทุกปี ปีละหลายๆครั้งเลยปรึกษากับท่านเจ้าอาวาสว่าผมจะสร้างศาลถวายมหาราชด้วยการทอดผ้าป่า ทอดผ้าป่าอยู่ ๒ ปีก็ได้เงินมามากพอสร้างศาลสามมหาราชได้ ตั้งใจจะสร้างศาลเดียวและอัญเชิญมหาราชทั้ง ๓ พระองค์มาประทับศาลเดียวกัน ปรากฏว่าทำไม่สำเร็จ ต้องสร้างอีกศาลถวายพระปิยมหาราช ศาลใหญ่ถวาย สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระเจ้าตากสินมหาราชประทับคู่กัน จึงทำสำเร็จ และผู้คนเมื่อไปสักการะพระบรมธาตุเจดีย์แล้วจะมาเคารพบูชาที่ศาลมหาราช
สถานที่เที่ยวบนเขาค้อยังมีอีกหลายแห่ง เช่น น้ำตกศรีดิษฐ หอสมุดนานาชาติ พิพิธภัณฑ์อาวุธ (ฐานอิทธิ ) อนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อ ( บิ๊กเสือสร้าง ) ไร่บีเอ็น เป็นต้น
ไร่จันทร์แรมรีสอร์ท อยู่ตรงกม. ๑๕ ทางขวามือ เลยพระบรมธาตุเจดีย์ไป “จันทร์แรม “ เป็นบัณฑิตเกษตรซึ่งนายของผมได้ตั้งขึ้นมา เพื่อให้บัณฑิตที่ไม่มีงานทำ ต้องการสร้างตัว หาที่ทำกินให้ หาเงินทุนให้ และส่งไปอบรมที่ประเทศอิสราเอล(ผมช่วยหาเงินให้ ส่งไปอิสราเอล ) จันทร์แรม เป็นบัณฑิตรุ่นที่ ๓ รุ่นสุดท้าย( เพราะไม่มีใครสานต่อ นาย กับ ผม เกษียณอายุราชการ ) จันทร์แรมเข้มแข็งมาก สร้างตัวสำเร็จและมาซื้อที่ดินจัดตั้งร้านอาหารและสร้างรีสอร์ท ผมไปพัก ไปกิน และนำมาเขียนเล่าไว้นานมาแล้ว เขียนทุกครั้งที่มา เพราะพักสบายมาก ไม่แพง อาหารดีจริง วิวสวยมาก รีสอร์ท สถานที่สวยมากไปคราวนี้เห็นจันทร์แรมขยายบ้านพักออกไปอีก สร้างเป็นบังกะโลเล็กๆนอน ๔ คนยังได้ อาหารมื้อเย็น คือ ต้มยำปลาคัง กินแล้วหายหนาว สลัดผักสด จัดผักเสียสวย เห็ดหอมสดผัดซีอิ๊ว ยอดฟักแม้วผัดหวานกรอบ ฟักแม้วผัดไข่ ไข่เจียวยกให้เป็นอาหารประจำชาติ ปิดท้ายด้วยส้มโอหวาน อมเปรี้ยว มื้อเช้าข้าวต้มเห็ดหอมสด ปาท่องโก๋ กาแฟ กินอาหารท่ามกลางความหนาวเย็น ส่วนมื้อเช้า หมอกลงเต็ม อุณหภูมิต่ำกว่า ๒๐ Cจันทร์แรม มีห้องสัมมนาด้วยและหน้าทางขึ้นสวยด้วยดอกลำโพง หรือ แตรนางฟ้า ( ดอกแดรก์กิวล่าก็เรียกกัน )
...................................................
|
Update : 30/8/2554
|
|