|
|
เที่ยวทั่วไทย-เขาค้อ (๑)
เขาค้อ-เพชรบูรณ์ (๑)
เข้าค้อ เป็นชื่อเรียกรวมบริเวณเทือกเขาน้อยใหญ่ ของเทือกเขาเพชรบูร์จนอาจพูดได้ว่าเป็นทะเลภูเขา เช่น เขาค้อ เขาย่า เขาใหญ่ เขาตะเคียนโง๊ะ เขาหินตั้งบาตรเขาห้วยทราย เขาอุ้มแพร เป็นต้น มีต้นไม้มีลักษณะแปลกคือ ต้นค้อซึ่งเป็นต้นไม้ในตระกูลปาล์ม มีลักษณะต้นและใบคล้ายต้นตาล แต่ออกผลเป็นทะลายคล้ายหมากซึ่งมีอยู่ทั่วไปในบริเวณเขาค้อ สภาพอากาศหนาวเย็นตลอดปี มีทางขึ้นที่สำคัญ๒ เส้นทาง คือเส้นแรกแยกจากทางหลวงสายสระบุรี - หล่มสัก ด่านซ้ายมือเมื่อเลยจากอำเภอเมืองเพชรบูรณ์จะไปอำเภอหล่มสัก ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ ๑๓ - ๑๔ ความยาวจนถึงบ้านสะเดาะพงยาวประมาณ๒๔ กิโลเมตร อีกเส้นทางหนึ่งจะเข้าทางแยกจากทางหลวงสายหล่มสัก - พิษณุโลกด้านซ้ายมือระหว่างกิโลเมตรที่ ๓๔ - ๓๕ กิโลเมตร เส้นทางทั้งสองเส้นทางเป็นถนนลาดยางสภาพดีเส้นที่ขึ้นทางอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ มีความสูงชันกว่าเส้นทางสายแคมป์สนเล็กน้อย
ในอดีต ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๒๔ พื้นที่เข้าค้อได้เป็นฐานที่มั่นอันสำคัญยิ่งของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์มาเป็นเวลานานกว่า๑๐ ปี กำลังทหารของฝ่ายรัฐบาลที่ถูกส่งเข้าปราบปรามกวาดล้างได้เกิดการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานสูญเสียกำลังคน อาวุธ ทรัพยากรของชาติมากมายทั้งสองฝ่าย จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๒๔ ฝ่ายเราได้ดำเนินยุทธวิธีการเมืองนำการทหาร และดำเนินการทางทหารอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องจนสามารถยึดพื้นที่เขาค้อทั้งหมดได้ คงเหลือไว้แต่ประวัติศาสตร์การสู้รบอันห้าวหาญวีรกรรมของวีรบุรุษ ที่ตั้งสถานที่สำคัญในการสู้รบของทั้งสองฝ่าย ร่องรอยของการต่อสู้ที่มีอยู่มากมายเกลื่อนกลาดไม่ว่าจะเป็นสุสานของทหารกล้า และผู้เสียสละ อนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงผู้จากไป ฐานที่มั่นที่สู้รบกันอย่างหนักหน่วง สถานที่อยู่อาศัยของฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายเรา ร่องรอยการทำลายเผาระเบิด นับเป็นพิพิธภัณฑ์การสู้รบกลางแจ้งที่เตือนใจคนไทยทั้งชาติให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียวกันตลอดไป
ในปัจจุบันนี้ทางการได้ดัดแปลงสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งตกแต่งให้เกิดความสวยงามน่าท่องเที่ยว น่าเลื่อมใส ศรัทธา และรำลึกถึงวีรบุรุษผู้กล้าของทั้งสองฝ่ายในบริเวณเขาค้อมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดเพชรบูรณ์แต่ละวันจะมีนักทัศนาจรแวะไปเที่ยวชมจำนวนมาก ซึ่งนอกจากพระตำหนักเขาค้ออนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ และพิพิธภัณฑ์อาวุธ ซึ่งได้กล่าวทั้งที่เป็นสถานที่สำคัญ และความงามตามธรรมชาติ คือ
๑. น้ำตกศรีดิษฐ์ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีน้ำตกตลอดปี มีลานกว้างสำหรับเล่นน้ำได้สดวก มีทางรถเข้าถึงบริเวณน้ำตกใต้น้ำตกลงมาเล็กน้อย จะเห็นครกกระเดื่องตำข้าวพลังน้ำของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่ใช้พลังน้ำและเสียงน้ำตกกลบเสียงตำข้าวได้อย่างกลมกลืน
๒. แก่งบางระจันหรือแก่งหนองแม่นา แก่งน้ำที่สวยงามเป็นชั้น ๆ มีน้ำไหลตลอดปี มีลานกว้างสำหรับเล่นน้ำได้มีทางเข้าสดวก พื้นที่รอบ ๆ แก่งมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตร
๓. น้ำตกสามสิบคด เป็นน้ำตกธรรมชาติอีกแห่งหนึ่ง มีลักษณะเป็นชั้น ๆ หลายชั้นลดหลั่นกันไป มีบริเวณสำหรับเล่นน้ำได้ทางรถเข้าถึงได้สดวก
๔. เรือนร่มเกล้า เป็นเรือนรับรองซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ในคราวที่เสด็จฯ เยี่ยมเยียนทหารและราษฎรในพื้นที่ก่อนจะมีพระตำหนักเขาค้อ รอบบริเวณเรือนรับรองมีพืชพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับไม้เมืองหนาวมากมาย
๕. ศูนย์ยุวเกษตรเขาค้อ เป็นแหล่งผลิตเยาวชนชาวไทย และชาวไทยภูเขาให้มีความรู้ด้านการเกษตรกรรมแผนใหม่และเกิดความรักความสามัคคีมากขึ้น รอบบริเวณมีการปลูกพืช ผักไม้ผล ไม้ประดับไม้เมืองหนาว อ่างเก็บน้ำ และเรือนรับรองที่ใช้พักผ่อนได้เป็นอย่างดี
๖. สถานีทดลองเกษตรที่สูงเขาค้อ เป็นสถานีทดลองปลูกพืชสำหรับที่สูงเพื่อให้ราษฎรในพื้นที่นำไปปรับปรุงอาชีพของตนมีการตกแต่งบริเวณด้วยไม้ดอกไม้ประดับสวยงามมาก
๗. โรงแรมเขาค้อ เป็นโรงแรมเอกชนที่ดำเนินงานโดยทหาร มีห้องพักห้องอาหารสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวและมีจุดชมวิวในบริเวณเขาค้อได้เป็นอย่างดี
๘. บ้านกรมทาง เป็นเรือนรับรองของกรมทางหลวงแผ่นดิน ที่สร้างไว้สำหรับให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ใช้พักอาศัยตกแต่งบริเวณด้วยไม้ดอกไม้ประดับสวยสดงดงาม และสามารถมองเห็นพระตำหนักเขาค้อได้อย่างชัดเจน
๙. ยอดเขาค้อ ยุทธภูมิลือชื่อมีฐานกรุงเทพ ฯ ตั้งอยู่บนยอดเขาค้อ ยังมีร่องรอยการต่อสู้เหลืออยู่เส้นทางขึ้นยอดเขาสูงจัด คดเคี้ยว แต่สวยงาม สามารถเห็นภูมิประเทศรอบบริเวณได้กว้างไกลอยู่ติดกับอนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ
๑๐. อนุสรณ์จีนฮ่อ ที่ระลึกของผู้เสียชีวิตจากผู้อาสาเข้าร่วมในการรบจากกองพล ๙๓
๑๑. บ้านสะเดาะพงบริเวณทุ่งราบระหว่างหุบเขา มีแปลงทดลองการเกษตร พืชพันธุ์ต่าง ๆ มากมาย มีลำห้วยสะเดาะพงไหลผ่านเป็นที่ตั้งของยุทธภูมิทหารพรานแห่งแรกเกิดขึ้นที่นี่
๑๒. ค่ายฝึกบุญญานุสนธิ์ เป็นค่ายฝึกทหารพรานเพื่อฝึกให้ราษฎรรู้จักการรบ และฝึกให้ประชาชนมีความรู้ในด้านการเกษตรและการร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ จ่าสิบเอกทองแดง บุญญนุสนธิ์ ซึ่งเสียชีวิตที่นี่เมื่อคราวเข้ากวาดล้างในยุทธการผาเมืองเผด็จศึก
๑๓. ศาลสิมารักษ์ ตั้งอยู่บนเขาค้อข้างฐานกรุงเทพฯ บนยอดเขาค้อ ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเล ๑.๑๗๔เมตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสาวรีย์การเสียสละของ พันเอกอิทธิ สิมารักษ์ ซึ่งเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่บนเขาค้อเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๒๓
๑๔. ศาลเจริญ ทองนิ่ม อยู่ตรงบริเวณทางเข้าเขาช่องลม หรือประตูสู่ถิ่นแม่ย่า เพื่อระลึกถึงความเสียสละของพันโทเจริญ ทองนิ่มที่เสียชีวิตจากการต่อสู้เมื่อครั้งบุกเบิกพื้นที่ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์๒๕๑๙
๑๕. ฐานช่อฟ้า เป็นฐานของหน่วยสร้างทางของทหารช่าง ซึ่งมีบ้านพักรับรองไว้บริการนักท่องเที่ยวในราคาเป็นกันเองที่ตั้งสามารถมองเห็นทัศนียภาพภูมิประเทศและเส้นทางที่สวยงาม
๑๖. ฐานลุนตรีทัศนา เป็นฐานของหน่วยคุ้มครองพื้นที่ มีที่พักและบ้านรับรองราคาถูกไว้บริการนักท่องเที่ยวตั้งอยู่ในทำเลที่ดี ทัศนียภาพสวยงามรอบด้าน
๑๗. บ้านทหารม้ามีที่พักและบ้านรับรองราคาถูกไว้บริการนักท่องเที่ยวเช่นกัน
๑๘. สามแยกรื่นฤดี เป็นที่พักผ่อนข้างทาง มีลำห้วยสะเดาะพงไหลผ่านมีน้ำไหลตลอดปี
๑๙. หมู่บ้านตามแนวความคิดยุทธศาสตร์พัฒนา หมู่บ้านทั้งหมดในพื้นที่ตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก ตั้งอยู่ระหว่างสองข้างทางอยู่ห่างกันพอสมควร ราษฎรส่วนใหญ่กว่าจะเข้ามาอยู่ได้จนกระทั่งได้ก่อร่างสร้างตัวและครอบครัวเป็นปึกแผ่นมั่นคงได้ ต้องอดทนและต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์มาแล้วบางครอบครัวต้องสูญเสีย พ่อแม่ พี่น้อง สามีภรรยา หรือญาติมิตรมาแล้ว หรือที่บาดเจ็บพิการก็มากแต่ก็ยังต่อสู้เพื่อสร้างความมั่นคงให้พื้นที่ด้วยการพัฒนาการเกษตร จัดระเบียบหมู่บ้านอย่างเป็นแบบแผนสวยงาม จัดระเบียบการปกครองในหมู่บ้านเป็นอย่างดี และมีความสามัคคีกันเป็นอย่างดี
พระตำหนักเขาค้อ
พระตำหนักเขาค้อ ตั้งอยู่บนบริเวณเขาย่าตำบลทุ่งสมอ อำเภอหล่มสัก จุดมุ่งหมายที่สร้างพระตำหนักเขาค้อขึ้นก็เนื่องมาจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ได้เสด็จ ฯ มาทรงทำพิธีเปิดอนุสรณ์สถานผู้เสียสละที่เขาค้อทรงปรารภกับพลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ (ยศขณะนั้น)แม่ทัพภาคที่ ๑ และนายจำเนียร ปฏิเวชวรรณกิจผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ในขณะนั้นว่าบริเวณเขาย่ามีพื้นที่สวยงาม น่าจะจัดทำโครงการอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่ออนุรักษ์ป่าดังนั้น แม่ทัพภาคที่ ๑ และผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ จึงตกลงใจกันสร้างพระตำหนักเขาค้อขึ้นเพื่อนำน้อมเกล้าฯ ถวายแด่องค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ สำหรับใช้ประทับแรมในโอกาสที่พระองค์ท่านเสด็จฯ ตรวจเยี่ยมงานในโครงการพระราชดำริ และทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียงหลังจากนั้นแม่ทัพภาคที่ ๑ และนายตามใจ ขำภโต กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัดก็ได้ร่วมมือกันริเริ่มดำเนินการจัดหาทุน โดยได้รับความร่วมมือจากบุคคลหลายฝ่ายงบประมาณในการก่อสร้างตัวอาคารรวมทั้งการตกแต่งบริเวณพระตำหนัก ได้ตั้งไว้เป็นจำนวนเงินประมาณ๘ ล้านบาทเศษ โครงการก่อสร้างได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๗ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลายฝ่ายด้วยกัน เช่น กองพลทหารม้าที่๑ กองพันทหารช่างที่ ๔ กรมชลประทาน กรมทางหลวงแผ่นดิน(ศูนย์เครื่องมือกลหล่มสัก) เป็นต้น
ลักษณะตัวอาคารเขาค้อ เป็นอาคารชั้นเดียวสร้างติดต่อกันเป็นรูปครึ่งวงกลมมีอาคารบางส่วนสร้างเป็นสองชั้นตรงห้องพระบรรทม ระยะทางขึ้นพระตำหนัก ประมาณ๕ กิโลเมตร จากสามแยกรื่นฤดี ที่ตั้งพระตำหนักอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ประมาณ๑,๐๕๐ เมตร บัดนี้การก่อสร้างได้เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ได้เสด็จฯ มาทรงทำพิธีเปิดพระตำหนักเขาค้อ เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘
โครงการตามพระราชดำริต่อเนื่องจากพระตำหนักเขาค้อก็คือ อ่างเก็บน้ำเสลียงแห้ง เพื่อเก็บกักน้ำในพื้นที่ ๒,๐๐๐ ไร่เศษ แล้วจัดให้การประมงในอ่างเก็บน้ำ โครงการปลูกป่ารอบพื้นที่และสร้างสวนสัตว์เปิดหลังอนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ พร้อมทั้งล้อมรั้วรอบบริเวณสวนสัตว์เปิดในเนื้อที่ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่เศษด้วย
พิพิธภัณฑ์อาวุธ
ตั้งอยู่บนยอดเขาค้อ หมู่ที่ ๒๑ ตำบลทุ่งสมอ กิ่งอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์เดิมเป็นฐานปืนใหญ่ยิงสนับสนุนการสู้รบปัจจุบันใช้เป็นที่ตั้งของอาวุธสงครามที่เสียหายในระหว่างการสู้รบเช่น เครื่องบินขับไล่เอฟ ๕ รถสายพานลำเลียงพล ปืนใหญ่ ฯลฯ เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ทุกวัน นับว่าเป็นพิพิธภัณฑ์การสู้รบกลางแจ้งที่ทันสมัยแห่งหนึ่ง
อนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ
อนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ สร้างด้วยหินอ่อนรูปทรงสามเหลี่ยม ตั้งอยู่บนยอดเขาค้อหมู่ที่ ๑๓ ตำบลทุ่งสมอ อำเภอเขาค้อ สร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของพลเรือนตำรวจ ทหาร ที่ได้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อป้องกันผืนแผ่นดินไทย ให้รอดพ้นจากผู้หลงผิดคิดร้ายต่อประเทศชาติ ในเขตพื้นที่รอยต่อ ๓ จังหวัด คือ พิษณุโลก - เพชรบูรณ์ - เลย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๕
พระมหาธาตุเจดีย์
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ สมเด็จย่าของปวงชนชาวไทยได้ทูลขอต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้พระราชทาน พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ไปบรรจุไว้บนเขาค้อจังหวัดเพชรบูรณ์ ดินแดนที่มีการต่อสู้ที่รุนแรงกว่าที่แห่งใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุจำนวน๙ องค์ และทูลขอให้สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันนี้ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาทางอากาศส่วนทางพื้นดินนั้น พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกรอรับอยู่ที่เขาค้อ เพราะท่านผู้นี้เป็นผู้ที่ปฏิบัติการรบบนเขาค้อมามาก และคลุกคลีอยู่กับการพัฒนาเขาค้อมาโดยตลอดเมื่อรับแล้วก็บรรจุไว้ในองค์พระธาตุจำลอง และอัญเชิญไว้ที่วัดวิชมัย(ธรรมยุติ) และประดิษฐานอยู่ที่วัดนี้นานถึง ๕ ปี
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ผมได้รับพระราชทานยศพลเอก และปฏิบัติงานด้านยุทธศาสตร์พัฒนาอยู่กับพล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ ซึ่งขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดผมได้เรียนเสนอแนะว่าสมควรสร้างพระมหาธาตุเจดี ขึ้นบนเขาค้อ และต้องสร้างวัดหรือพัฒนาวัดวิชมัยให้เป็นวัดที่ประดิษฐานพระมหาธาตุเจดีย์ด้วยท่าน พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ ได้เห็นชอบและตั้งให้ผมเป็นหัวหน้าคณะทำงานซึ่งมีชุดปฏิบัติงานอยู่ประมาณ ๑๐ คน แต่ได้ทำงานกันอย่างรวดเร็วมาก โดยให้อาจารย์จากกรมศิลปากรได้ออกแบบให้ทั้งวัดและแบบพระมหาธาตุเจดีย์ จะหาทุนสร้างวัตถุมงคล คือเหรียญของสมเด็จพระสังฆราชซึ่งได้เข้าเฝ้าขอประทานอนุญาต ซึ่งก็ได้ประทานให้สร้างพระบูชา คือพระญาณนเรศวร์พระประธานของวัดญาณสังวราราม ถวายรายงานเพื่อบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ มาเป็นประธานในพิธีเททอง สำรวจหาพื้นที่ที่อยู่ติดกับวัดวิชมัยนั่นเองและเตรียมการอีกหลายอย่างจนถึงขั้นวันมีพิธีเททอง และที่สำคัญที่สุดคือ การหาทุนเพื่อก่อสร้างวัตถุมงคล
ต่อมา พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ ได้ย้ายไปรับราชการในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหมเห็นว่าคณะทำงานได้เตรียมการไว้มากแล้ว สมควรตั้งคณะกรรมการต่อไป จึงแต่งตั้งคณะกรรมการจากนายทหารทุกเหล่าทัพซึ่งมีคณะกรรมการมากเป็นจำนวนนับร้อยคน ผลการประชุมของคณะกรรมการไม่ได้ข้อยุติไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเตรียมการของคณะทำงานเพราะท่านที่เป็นกรรมการไม่เคยไปคลุกคลีอยู่บนเขาค้อ เหมือนกับพวกคณะทำงานประชุมกันไม่กี่ครั้งงานไม่คืบหน้า อาจารย์ศิลปากรที่ออกแบบก็ด่วนจากไปก่อนท่านประธาน ฯ และตัวผมก็ปลดเกษียณอายุราชการ กรรมการที่เหลือก็แตกฉานซ่านเซ็นไม่มีใครเป็นหัวหน้าที่จะดำเนินการต่อไป
จนต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๐ หลังจากที่ท่าน พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ ได้ไปเป็นองคมนตรี แล้วท่านได้ริเริ่มฟื้นงานนี้ขึ้นมาใหม่และได้ขอเงินสนับสนุนจากกองการสลากกินแบ่ง จนสามารถสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ได้สำเร็จโดยสร้างที่พื้นที่เดิมคือข้างวัดวิชมัย และด้วยแบบแปลนเดิมที่อาจารย์ศิลปากรได้ออกแบบไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๓๔ (โดยคณะทำงานดำเนินการไว้) และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จไปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุทั้ง ๙ องค์เมื่อ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๒ ต่อมาอีกปีหนึ่งคือ ในมกราคม ๒๕๔๓ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถจึงเสด็จไปเปิดพระบรมธาตุเจดีย์แห่งนี้ เป็นศรีสง่าแก่เขาค้อ แก่เพชรบูรณ์และเตือนใจให้ทหารผู้กล้า ได้ระลึกถึงในวีรกรรมที่ร่วมกันสร้างไว้บนแผ่นดินเขาค้อแห่งนี้
ผมเคยแนะนำร้านอาหารบนเขาค้อไว้ร้านหนึ่ง อยู่ใกล้น้ำตกศรีดิษฐ์ คือร้านศรีดิษฐ์โภชนาอาหารหลักของร้านคือ ไก่ย่าง ส้มตำ ข้าวผัด แกงจืดฟักแม้ว วันนี้ยังยืนยันร้านเดิมแต่ขอแนะนำเพิ่มเติมไว้ว่าหากมาจากเพชรบูรณ์ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ถึงตำบลนางั่วซึ่งจากตำบลนี้เลยไปอีก ๑ กิโลเมตร จะถึงทางแยกซ้ายขึ้นเขาค้อ ร้านที่จะแนะนำคือร้านยุพา ร้านนี้ดั้งเดิมมานานกว่า ๑๕ ปีแล้ว หากมาจากเพชรบูรณ์ ประมาณ ๑๒กิโลเมตร จะถึงตำบลนางั่ว ร้านอยู่ทางขวามือห่างจากขอบถนนสัก ๒๐ เมตร ร้านขนาด๓ ห้อง อาหารอร่อยมาก ๆ หาใครสู้ได้ยากคือ กระเพาะปลาแห้ง นอกจากนั้นเป็นอาหารจานเดียวทั้งหลายเช่นผัดไทย ก๋วยเตี๋ยวผัด อาหารตามสั่งก็มี ส่วนของหวานมีขนมน้ำ ๆ ที่อร่อยประจำร้านคือขนมลืมกลืนหากเลยร้านยุพาไปอีก ประมาณ ๕๐ เมตร ฝั่งเดียวกัน มีอีกร้านชื่อร้านโกเข่งร้านนี้เก่งทางก๋วยเตี๋ยวประเภทผัด และของดีโกเข่งคือ ขนมจีบ ซาลาเปา ส่วนของหวานก็ตะโก้ผมผ่านไป ผ่านมาก็มักแวะกินกลางวันที่ยุพา แล้วซื้อเสบียงเพิ่มเติมไปจากโกเข่งจึงขอเชิญชวนไปเที่ยวเขาค้อ อดีตดินแดนแห่งความขัดแย้ง เบอร์โทรศัพท์ที่ควรทราบไว้เพื่อการติดต่อคือ วัดวิชมัย ๐๕๖ - ๗๒๘๐๖๕ ติดต่อที่พักที่โรงแรมเขาค้อ ซึ่งทหารดำเนินการที่พักดีราคาไม่แพง๐ - ๑๒๒๗ - ๑๙๖๕ ไปกันเป็นหมู่เป็นคณะไปพักที่เรือนรับรองพระตำหนักเขาค้อ๐๕๖ - ๗๒๒๐๑๑ รับรองได้พบอากาศหนาวเย็นตลอดปี ไปเขาค้อฤดูไหนอย่าลือเอาเสื้อกันหนาวไปด้วยก็แล้วกัน
----------------------------------
|
Update : 30/8/2554
|
|