หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เที่ยวทั่วไทย-ศาลสองมหาราช
    ศาลสองมหาราช

                ศาลสองมหาราช ผมมั่นใจว่าในประเทศไทยมีอยู่แห่งเดียวคือ ที่วัดวิชมัยปุญญาราม บ้านเขาค้อ ตำบลเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งผมเคยเล่าให้ฟังหลายครั้งแล้ว แต่การก่อสร้างส่วนใหญ่แม้จะเสร็จสิ้นแล้ว ได้อัญเชิญพระบรมรูปมหาราชทั้งสองพระองค์ประทับบนศาลแล้วก็ตาม แต่ศาลที่สร้างยังตกแต่งไม่เรียบร้อยดี ควรจะตกแต่งต่อไปให้สมบูรณ์กว่านี้ มหาราชทั้งสองพระองค์ ที่ประทับคู่กันอยู่บนศาลแห่งนี้คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเดิมทีเดียวตั้งใจจะสร้างศาลสามมหาราชคือ มีพระปิยมหาราชประทับเป็นองค์กลาง แต่ปรากฏว่าทำไม่สำเร็จ มีปัญหาต่าง ๆ นานา จนในที่สุดต้องขอพระราชานุญาตสร้างศาลสองมหาราชและแยกไปสร้างศาลพระปิยมหาราชอีกศาลหนึ่ง สาเหตุที่ต้องขอเล่าซ้ำไว้อีกที เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ ๙ องค์ ให้สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช นำไปประดิษฐานไว้บนเขาค้อ ดินแดนที่มีการสู้รบกันยาวนาน และเป็นยุทธภูมิที่ดุเดือดยิ่งกว่ายุทธภูมิใด ๆ ระหว่างฝ่ายรัฐบาล กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และจบการสู้รบ ณ ยุทธภูมิแห่งนี้ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๔ ส่วนภาคใต้จบสิ้นการสู้รบ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ ด้วยฝีมือของแม่ทัพ หาญ  ลีลานนท์ แต่ท่านเหลือเศษไว้ให้ผมทำหน้าที่ต่ออีกนิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ - ๒๕๓๐ เรียกว่า ช่วยล้างชามให้สะอาด ผมนำ จคม.กลุ่มสายรัสเซียสนับสนุน ออกจากป่า จบสิ้นการสู้รบเมื่อ ๒๘ เมษายน ๒๕๓๐ รวมทั้งสับหางขบวนการโจรก่อการร้าย (มี ๓ กลุ่ม กลุ่มสำคัญตอนนั้นคือ กลุ่มพูโล)  กองทัพภาคที่ ๔ ส่วนหน้าก็ปิดกองบัญชาการ ผมก็ได้ย้ายเข้ากรุงเทพ ฯ หลังจากรับราชการเร่ร่อนอยู่ต่างจังหวัดนานถึง ๓๐ ปี แต่เมื่อกลับมาทำงานกับท่านพลเอก พิจิตร  กุลละวนิชย์ (ยังไม่โปรดเกล้า ฯ เป็นองคมนตรี) โดยเป็นรองของท่าน งานของผมก็เร่ร่อนไปตามแนวชายแดน ตามพื้นที่ที่ขาดการพัฒนา ทำงานที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์พัฒนา หรือยุทธศาสตร์พระราชทาน จึงมีโอกาสขึ้นไปทำงานบนเขาค้อ ซึ่งท่านพลเอก พิจิตร ฯ ได้ร่วมรบในยุทธภูมิแห่งนี้มาตั้งแต่ต้น จนประสบความสำเร็จ และท่านก็ผูกพันกับสถานที่นี้ จึงได้สร้างไว้หลายแห่ง เช่น อนุสรณ์สถานของผู้เสียสละชีวิต เพื่อการรบ พระตำหนักเขาย่า พิพิธภัณฑ์อาวุธ ฯ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุมาให้ โดยมาทางอากาศ และพลเอก พิจิตร ฯ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ไปรอรับและนำไปประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์จำลอง ที่วัดวิชมัยปุญญาราม ซึ่งวัดนี้ได้สร้างขึ้น ด้วยความริเริ่มของสงฆ์ ผู้ทำหน้าที่เลขา ฯ ของสมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสคือ พระครูวิชมัยปุญญารักษ์ (เศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เป็นเจ้าอาวาสมาตั้งแต่สร้างวัด จนกระทั่งบัดนี้ (ท่านเกิดวันเดียวปีเดียวกับผม แต่อ่อนกว่าผมสองรอบ เลยสนิทกัน ผมก็กราบไหว้ด้วยความบริสุทธิ์ใจเพราะเป็นพระดี) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ ปีที่ผมได้รับพระราชทานยศเป็นพลเอก ผมจึงเสนอแนะต่อ "นายตลอดกาล" ของผมว่า สมควรสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่วัดวิชมัย ฯ นาน ๕ ปีแล้ว "นายตลอดกาล" ของผมเห็นชอบด้วย ตั้งให้ผมเป็นหัวหน้าคณะทำงานซึ่งมีทั้งฝ่ายทหาร และเชิญฝ่ายพลเรือนมาร่วมด้วย เช่น ผู้ออกแบบคือ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และจะต้องออกแบบให้เป็นวัดด้วย เพื่อรักษาพระบรมธาตุเจดีย์ และนานไปจะได้ขอพระราชทาน ยกฐานะเป็นอารามต่อไป คณะทำงานได้ทำงานกันอย่างรวดเร็ว เช่นต้องเตรียมการสร้างวัตถุมงคล มีผู้ชำนาญการในเรื่องนี้ ร่วมเป็นคณะทำงาน และได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช เพื่อขอประทานผงวิเศษมาสร้างวัตถุมงคล และได้รับสั่งว่าอย่าสร้างเหรียญรูปของท่าน ให้สร้างแบบอื่น ซึ่งคณะกรรมการตกลงจะสร้างพระไพรีพินาศ และมีการเตรียมการอีกหลายประการ แต่ปรากฎว่ามารผจญเพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก ในการสร้างวัดและพระบรมธาตุเจดีย์ แต่ผมเชื่อว่าผมหาให้ได้ พอดี "นาย" ของผมได้รับโปรดเกล้า ฯ ย้ายไปรับตำแหน่งสูงขึ้นคือ เป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม (อัตราจอมพล) จึงมีผู้เสนอแนะท่านว่างานใหญ่ขนาดนี้ เงินก็มากตั้งแต่คณะทำงานสิบคนคงจะทำไม่ได้ นายเลยต้องตั้งกรรมการซึ่งส่วนใหญ่คือ ข้าราชการในกระทรวงกลาโหม มีจากเหล่าทัพคือ กองทัพบกไม่กี่คน และตั้งผมเป็นรองประธานกรรมการ แต่ปรากฎว่าคณะกรรมการชุดนี้ประชุมกันปีละ ๒ - ๓ ครั้ง พอคนเสนอได้ยศสูงขึ้นก็เลิกประชุมและ "นาย" ของผมท่านย้ายกลับไปเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็หยุดกันแค่นั้น

    จนผลที่สุดเมื่อโปรดเกล้า ฯ ให้ "นาย" ของผมเป็นองคมนตรี ท่านได้ริเริ่มงานสร้างพระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษกขึ้นใหม่ แต่ของบการก่อสร้างจากกองสลากกินแบ่ง ซึ่งได้เงินมามากพอที่จะสร้างสำเร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จไปเปิดพระบรมธาตุเจดีย์แห่งนี้ และก่อนหน้านั้นสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ เสด็จไปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่เก็บรักษาไว้ที่วัดวิชมัย เป็นเวลานานถึง ๑๒ ปี เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ผู้คนพากันไปนมัสการ กราบไหว้ขอพร บนบานกันเป็นการใหญ่ ประสบความสำเร็จ ต่างก็นำไปถวายแก้บน ซึ่งใต้ฐานพระบรมธาตุคือ ห้องโถงใหญ่ที่กว้างขวางมาก ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการบนบานนำไปถวายแก้บน วางกันจนเต็มในห้องใต้ฐานพระบรมธาตุ ซึ่งเป็นห้องที่ผู้มานมัสการจะเข้าไปจุดเทียนกราบไหว้บูชากัน ที่สำคัญคือ พระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเท่าองค์จริง และของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระปิยมหาราช ล้วนเท่าองค์จริง หมดพื้นที่จะวางต้องอัญเชิญประทับอยู่ข้างประตู และยังมีรูปเหมือนของเกจิอาจารย์เท่าองค์จริง เช่น หลวงพ่อทวด มีพระพุทธรูปต่าง ๆ องค์โต ๆ ทั้งนั้น เช่น พระพุทธรูปประจำวัน เป็นต้น ส่วนเทพก็มีทั้งเทพจีน เช่น เจ้าแม่กวนอิมปางธิเบต หรือที่เรียกว่า เจ้าแม่กวนอิมพันมือ (๑,๐๐๐ มือ) เทพเจ้ากวนอู อีกหลายเทพ เทพฝ่ายอินเดีย หรือพราหมณ์ก็มีแยะ เช่น พระพรหม พระนารายณ์ มีกระทั่ง ท้าวศรีสุดาจันทร์ (ผมขอให้ไปไว้อื่น) ดังนั้นเมื่อเห็นว่าไม่เหมาะในการวางพระบรมรูป และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายไว้แบบนี้ ผมกับท่านเจ้าอาวาสก็ตกลงกันว่า เราจะสร้างศาลสามมหาราช อัญเชิญมหาราชทั้ง ๓ พระองค์ ไปประทับและเพื่อไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับสถานที่ของพระบรมธาตุเจดีย์ แต่ปรากฎว่าการสร้างศาลสามมหาราช ไม่ประสบความสำเร็จมีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย สุดท้ายมีผู้เสนอแนะว่าสมควรแยกสร้างศาลสมเด็จพระปิยมหาราช ไปสร้างต่างหาก ใกล้ ๆ กันเมื่อตกลงตามนี้ การสร้างศาลสองมหาราช ก็ประสบความสำเร็จแต่ยังไม่สวยสมใจ และต่อมาก็สร้างถวายสมเด็จพระปิยมหาราชกับศาลเจ้าแม่กวนอิมปางธิเบต กวนอิมพันมือไว้ใกล้ ๆ กันเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ปรากฎว่าพอผมขึ้นไปคราวนี้ "เต็มอีกแล้ว" ส่วนศาลสองมหาราชก็เริ่มมีมาแล้วคือ "ไก่" หลวงพ่อบอกว่ามาทั้งไก่เป็น ๆ ที่จะเป็นภาระให้วัดเลี้ยง และรูปปั้นไก่ถวายสมเด็จพระนเรศวร ฯ ต่อไปจะถวายอะไรกันอีกยังเดาไม่ออก วันสำคัญของสมเด็จพระนเรศวรถือเอาวันที่ กระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา เดิมเคยถือวันที่ ๒๕ มกราคม มาช้านาน และกองทัพบกถือเป็นวันกองทัพบก มาเมื่อเร็ว ๆ นี้บอกว่าต้องถือวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๑๓๕ เป็นวันกระทำยุทธหัตถี แต่กองทัพบกยังถือวันที่ ๒๕ มกราคมของทุกปี เป็นวันทำพิธีที่เรียกย่อ ๆ ว่า วันสวนสนามสาบานธงของเหล่าทหาร ส่วนวันของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่เหล่าทหารม้า ถือเป็นวันทหารม้าคือ วันที่ ๔ มกราคม ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระเจ้าตากสินชนะศึกครั้งสำคัญ ชนะศึกพม่าด้วยการทรงม้า นำทัพตีพม่าแตกพ่ายไป ที่บางแก้วราชบุรี เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๗ ที่ร่ายยาวมานี้คือ เหตุผลที่ผมขึ้นไปเขาค้อ และได้มีโอกาสไปวัดช้างเผือกด้วย
                ผมเดินทางจากสำนักลาดพร้าว ที่สำนักของผมอยู่ไม่ไกลจากสำนักพิมพ์ของท่าน บก.สส. เพราะท่านย้ายมาอยู่ปากซอย ๗๑ ปากซอย (ซอยเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว ตอนนี้มีรถเมล์เดิน) เข้าบ้านผม ออกตั้งแต่เช้าไปถึงสระบุรีก็เข้าบายพาสแล้ว ไปทางพุแค พอถึงพุแคก็เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย ๒๑ พุแค - หล่มสัก (ต้องผ่านเพชรบูรณ์ไป) ขอทบทวนแหล่งท่องเที่ยวตามเส้นทางไว้ด้วย
                ผ่านสี่แยกพัฒนานิคม เลี้ยวซ้ายไปเมืองลพบุรี เลี้ยวขวาไปเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
                ผ่านสามแยกอำเภอชัยบาดาล เลี้ยวขวาไปเขื่อนจุฬาภรณ์ ไปเมืองชัยภูมิ
                ผ่านอำเภอศรีเทพ เลยไปนิดแล้วเลี้ยวขวาไป ๙ กม. จะไปยังอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และหากตรงไปตามสาย ๒๑ ถึงสี่แยกพุขาม เลี้ยวซ้ายเข้าไปจะไปยังบ่อน้ำพุร้อน บ้านพุขาม
                สามแยกอำเภอวิเชียรบุรี ดงไก่ย่างวิเชียรบุรีที่เที่ยวยกป้ายเหลืองตัวแดงขายไปทั่ว  หากเลี้ยวขวาตรงสามแยกจะเข้าตัวอำเภอ มีวัดวิเชียรบำรุง ไปนมัสการพระพุทธไสยาสน์ และบูชาพระบรมสารีริกธาตุ "พระพุทธไสยาสน์วิเชียรศรีรัตนมิ่งมงคล" ยาว ๕๐ เมตร ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
                ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  อยู่เลยตลาดเข้าไปหน่อย สมเด็จพระนเรศวรเมื่อยังเป็นพระมหาอุปราช เคยเดินทัพ ผ่านวิเชียรบุรี เมื่อ พ.ศ.๒๑๒๕ ไปทำศึกชนะพม่า จึงได้สร้างศาลไว้เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ จะมีงานบวงสรวงทุกปี ระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๗ มกราคม
                ถ้ำเทพบันดาล  เลยอำเภอวิเชียรบุรีไปจนถึงสามแยกบริเวณบึงสามพัน เลี้ยวขวาไป ๒.๕ กม.จะเห็นป้ายถ้ำเทพบันดาล มีหินงอกหินย้อย ไม่ทราบว่าตอนนี้มีไฟฟ้าหรือยัง
                หลวงพ่อทบ  วัดช้างเผือก ตำบลวังชมภู (เดิมตำบลนายม) อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์  หลวงพ่อทบ หรือ พระครูวิชิต พัชราจารย์ "อริยสงฆ์ศักดิ์สิทธิ์แห่งลุ่มน้ำป่าสัก"  หลวงพ่อเกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๔ และมรณภาพ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ ท่านอาพาธอยู่เพียง ๒ วัน และมรณภาพระหว่างที่ศิษย์จะนำท่านมารักษาในโรงพยาบาลที่กรุงเทพ ฯ   ก่อนมรณภาพ หลวงพ่อกำลังจัดงานเพื่อสร้างอุโบสถวัดช้างเผือก ที่ต้องสร้างเพราะอุโบสถเดิมทิ้งร้างไปนาน เพราะความเป็นพระเกจิอาจารย์สำคัญและมีจิตเมตตา เป็นนักพัฒนา จึงมีผู้มานิมนต์หลวงพ่อไปเป็นเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ เช่น ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทชนแดนเสีย ๑๙ ปี สร้างความเจริญให้แก่วัดนี้ และก่อนหน้านั้นยังมีวัดอื่น ๆ อีก สุดท้ายท่านจึงกลับมายังบ้านเดิมของท่าน มาเป็นเจ้าอาวาสวัดร้างคือวัดช้างเผือก และเริ่มมาพัฒนากันใหม่ แต่ตอนจัดงานเพื่อสร้างอุโบสถ หลวงพ่อก็มรณภาพเสียก่อน ไม่ทันสร้าง แต่ก่อนมรณภาพ หลวงพ่อสั่งศิษย์ไว้ว่าท่านเป็นอะไรไป อย่าเผาศพท่าน ให้สร้างมณฑปเก็บไว้ แต่ไม่ได้บอกว่า ศพท่านจะกลับมาช่วยสร้างอุโบสถ และพัฒนาวัดต่อไป เพราะท่านมรณภาพไป ๓๐ ปีแล้ว สรีระของท่านยังอยู่ดี มองเห็นได้ในโลงแก้ว กำลังจะกลายเป็นหินไปแล้ว หลวงพ่อทบยามมีชีวิตอยู่ ได้อนุญาตให้สร้างวัตถุมงคลของท่านไว้มากมายหลายสิบรุ่น หลวงพ่อทบเก่งทางด้านเมตตา คงกะพันชาตรี เช่น โจรยิงท่าน ปืนไม่ลั่นปลัดอำเภอนั่งรถเมล์มา ในรถมีพวกโจรนั่งมาด้วย ๙ คน พอถึงที่เปลี่ยว โจรประกาศปล้น แต่ปลัดคนเดียวสู้ โดนกระสุนลูกซองเข้าไป ๕๓ นัด แต่ยิงไม่เข้า คุณปลัดซัดเอาโจรตายไป ๒ คน เจ็บสาหัสอีก ๑ จับเป็นได้อีก ๑ ห้อยพระหลวงพ่อทบเพียงองค์เดียว หรือคนถูกงูกัดแต่ไม่เข้า เป็นต้น หากท่านไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพท่านก็ไม่ติด หลวงพ่อทบจึงดัง เป็นยอดพระเครื่องของเพชรบูรณ์ ซึ่งจังหวัดนี้มีดังมาก ๆ อยู่ ๒ องค์คือ หลวงพ่อทบ กับหลวงพ่อเขียน ดังนั้นท่านจึงสั่งไม่ให้เผาร่างท่าน เมื่อท่านสิ้นไปแล้ว ผู้คนก็ยิ่งแห่ไปทำบุญ ไปไหว้ร่างของท่าน ไปเช่าวัตถุมงคล จนวัดมีเงินมากพอที่จะพัฒนาวัด สร้างอุโบสถได้
                เส้นทาง ไปตามถนนสาย ๒๑ ก่อนจะถึงสามแยกวัดชมภู (ตรงไปจะไปตะพานหิน) ที่หลัก กม.๑๙๘.๖๐๐ จุดนี้ห่างจากตัวจังหวัดเพชรบูรณ์ ๒๔ กม. ให้กลับรถแล้วเลี้ยวเข้าวัด ปากทางมีช้างเผือกปั้นเอาไว้ตัวโต เลี้ยวไม่ผิดแน่ เลี้ยวเข้าไปสัก ๖๐๐ เมตร จะเข้าวัด เข้าไปมีรูปเหมือนหลวงพ่ออยู่บนแท่นทางขวามือ ตรงเข้าไปคืออุโบสถ ติดกับอุโบสถคือ มณฑปที่ไว้ร่างที่ไม่เน่าไม่เปื่อยของหลวงพ่อทบ หน้ามณฑปมีต้นไม้ใหญ่ และมีหินวางอยู่ก้อนหนึ่ง บอกว่าเป็นหินที่หลวงพ่อนั่งประจำ แต่เหนือก้อนหินนี้มีป้ายบอกว่า "ก๋วยเตี๋ยวแป๊ะโซ" ขายในสวน ห่างที่วางก้อนหินสัก ๑๐๐ เมตร ผมยังไม่หิว เลยไม่ได้ชิม แต่น่าจะติดป้ายไว้ที่อื่น ด้านหน้าของป้ายใต้ต้นศรีมหาโพธิ์มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ส่วนด้านหลังอุโบสถ และด้านข้างมณฑปเป็นสวนร่มรื่น มีต้นยางอายุ ๓๐๐ ปี วัดเส้นรอบวงเมื่อปี ๔๘ ได้ ๗.๙๐ เมตร และด้านหลังอุโบสถมีบ่อน้ำโบราณ มีซากอุโบสถหลังเก่า ที่สันนิษฐานว่า สร้างตั้งแต่สมัยศรีอยุธยา
                ผมทราบประวัติหลวงพ่อทบจากท่านอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ คือ นายดิเรก   ถึงฝั่ง ที่ระหว่างที่ท่านเป็นผู้ว่า ฯ ท่านได้เขียนหนังสือไว้ ๒ เล่มคือ พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดหรือเมืองหล่มสัก กับ หลวงพ่อทบ แต่ไม่ได้วางขายทั้ง ๒ เล่ม ท่านผู้ว่า ฯ ที่ตอนนี้เป็น "ส.ว." ไปแล้ว ส่วนผมก็ ส.ว.เหมือนกัน แต่ย่อมาจากคำว่า "สูงวัย" ก็ขอขอบพระคุณท่าน ส.ว.ดิเรก  ถึงฝั่ง ที่เมื่อ ๑๙ ปีที่แล้วท่านเป็นนายอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นสหายศึกคนสำคัญของผมที่ทำให้ "จคม." สายรับการสนับสนุนจากรัสเซียออกมารายงานตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และได้สัญชาติเป็นคนไทยไปเรียบร้อยเมื่อ มกราคม ๒๕๔๙ นี้เอง
                จากวัดช้างเผือกก็มาแวะกินข้าวกลางวันที่ตัวเมืองเพชรบูรณ์ พอเลี้ยวขวาเข้าประตูเมืองนครบาล ผ่านวงเวียนนครบาลตรงไปถึงสี่แยกที่เลี้ยวเข้าถนนพระพุทธบาท ทางไปวัดมหาธาตุ ตรงหัวมุมเลยทีเดียวจะเห็นป้ายบอกว่า "ข้าวขาหมู ตลาดค่าย ถนนคูเมือง" ออกขายตั้งแต่หกโมงเช้า พอสักบ่ายก็หมดแล้ว ผมไปพอดีเที่ยง ๒ คนต้องแย่งกันกินข้าวขาหมู เพราะได้มาจานเดียว ต้องสั่งข้าวหมูแดง ซุปขาหมู และติ๋มซำมาเพิ่ม อร่อยทุกอย่าง อิ่มแล้วไปไหว้หลวงพ่อเพชรมีลัย ที่วัดมหาธาตุ ต่อจากนั้นไปวัดไตรภูมิ ไปไหว้หลวงพ่อพระมหาธรรมราชา ซึ่งตอนนี้ได้สร้างวิหารและอัญเชิญลงมาจากศาลามาประดิษฐานในมณฑปแล้ว
                จากตัวเมืองไปอีก ๑๒ กม. จะถึงตำบลนางั่ว ร้านที่ชวนชิมไว้ยังอยู่ดี ขึ้นเขาค้อถึงสี่แยกสะเดาะพง หากตรงไปจะถึงทางขึ้นพระตำหนักเขาย่า ขอชวนชิมน้ำผลไม้ โดยเฉพาะน้ำแพชั่นฟรุ๊ด มีทั้งพร้อมดื่ม และบรรจุกระป๋อง กับสินค้าอีกหลายชนิดของบริษัทเกษตรอุตสาหกรรมเขาค้อ ในโครงการพระราชดำริ ผมมีหุ้น ๑ หุ้น ยังเป็นรองประธานบริษัท นายตลอดกาลของผม พณ.ฯ องค์มนตรี พลเอกพิจิตร กุลละวนิชย์ เป็นประธานบริษัท เอานายพลเอกรุ่นหลังผม ๘ รุ่น มาเป็นผู้จัดการ ไม่มีเงินเดือน ตั้งมา ๑๕ - ๑๖ ปี พึ่งมีกำไรตอนนายพลเอกเป็นผู้จัดการ เลยสามแยกสะเดาะพงไปก็จะถึงย่านสถานที่ราชการ เลยไปอีกห้องสมุดนานาชาติ ที่มีศาลหลวงพ่อทบอยู่ที่นี่ด้วย ที่นี่สวนไม้ดอก ไม้ประดับงามนัก งามตลอดปีอย่าเลยไป
                    กม.๑๙ คือที่ตั้งของวัดวิชมัยปุญญาราม และพระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษก ศาลสองมหาราช ศาลพระปิยมหาราช ศาลเจ้าแม่กวนอิม รวมอยู่บริเวณนี้
                    ไปคราวนี้ผมไม่ได้พักที่รีสอร์ทเหมือนทุกครั้ง แต่ลงจากเขาค้อจนไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินสาย ๑๒ ที่ กม.๑๐๐ หากเลี้ยวซ้ายจะไปยังพิษณุโลก เลี้ยวขวามาหล่มสัก เลี้ยวมาได้ ๓ กม. ที่ กม.๑๐๓ จะเห็นทางแยกทางขวามือ ปากทางมีป้ายบอกว่าข้างในมีรีสอร์ทมากมาย หากเลี้ยวเข้าไปประมาณ ๒ กม. จะถึงประตูรีสอร์ทใหญ่โต ซึ่งปลูกบ้านพักตามไหล่เขา อากาศจะหนาวเย็นแบบบนเขาค้อ สถานที่ยอดเยี่ยมมาก รักษาธรรมชาติไว้เป็นอย่างดี มีสระน้ำ บ้านพัก เป็นบังกาโล มี ๒ ห้อง เป็นห้องรับแขก ๑ ห้อง มีตู้เย็น ที.วี. พร้อมแถมด้วยสุขาอีก ๑ ห้อง อีกห้องเป็นห้องนอน มี ๒ เตียงใหญ่ นอนพักได้ ๔ คน มีสุขาในห้องนอน สั่งอาหารมากินที่พักได้เสริฟกันถึงที่เลยทีเดียว หรือไปกินที่ห้องอาหารก็อยู่ไม่ไกล เดินไปสัก ๒๐๐ เมตร ก็ถึง เอารถไปก็สดวก ทุกบ้านพักจะมีที่จอดรถด้วย และปลูกระยะไม่ชิดกัน บรรยากาศเยี่ยมจริง ๆ อาหารมี ๓ มื้อ
                    หากไม่ลงไปจากเขาค้อ ให้ไปตามถนนสาย ๒๑ จนถึงหล่มสักตรงอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง ก็เลี้ยวซ้ายไปจนถึง กม.๑๐๓ ก็เลี้ยวซ้ายเข้าซอยไปรีสอร์ทได้เลย แต่ผมลงไปจากเขาค้อ
                    อาหารมื้อเช้าแบบฝรั่ง มีน้ำส้มคั้นสดจริง ๆ ไข่ดาว แฮม ไส้กรอก กาแฟ "ขนมปังปิ้ง" อร่อยมาก ต้องไปสัมภาษณ์แม่ครัวเอกว่าซื้อจากที่ไหน บอกว่าห้องครัวทำขนมปังเอง
                    อาหารเย็น เริ่มด้วยแกงป่า ซดร้อน ๆ หรือจะราดข้าวก็ดี ไม่เผ็ด เผ็ดพออร่อย
                    สลัดผัก ต้องยกให้น้ำสลัดยอดเยี่ยมมาก ไปถามอีก ทำเอง ทำขายด้วย กระปุกละ ๖๐ บาท ขนซื้อเอากลับมา และต้องเดินทางไปอีก ๕ วัน กว่าจะกลับมาบ้านทนุถนอมอย่างดีไม่บูด ไม่เสีย
                    ไข่พับ ชื่อแปลกดี แม่ครัวแนะนำ ทอดเหมือนไข่เจียว ใส่หมูสับ เห็ด หัวหอม พริกขี้หนูสับใส่ให้หอม แถมเผ็ดพอมีรส ทอดไข่น่าจะไฟอ่อน นุ่ม แล้วพับซ่อนใส้เอาไว้คล้ายไข่ยัดใส้
                    หมูหลบ น่าจะหลบแดด เพราะเอาหมูมาหมักจนได้ที่แล้วลงทอดเลย ไม่ต้องออกตากแดดแบบหมูแดดเดียว รายการนี้กับไข่พับอย่าโดดข้ามไปเป็นอันขาด รวมทั้งสลัดผักด้วย หมูหลบนั้นหมักหมูเก่งนักมีรสนุ่ม เคี้ยวสนุก
                    ปลายฝน ต้นหนาว ผมจะไปใหม่ จะได้ไปชมทุ่งหญ้าที่ทุ่งแสลงหลวงด้วย งามนัก ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ไปจนสิ้นหนาว คือทุ่งหญ้าแบบสวันนา หรือนึกสนุกขึ้นมาก็ล่องแก่งบางระจันเสียเลย เส้นทางไปทางเดียวกับไปน้ำตกศรีดิษฐ์ เลยไปจนถึงสามแยกบ้านหนองแม่นา แล้วเลี้ยวขวา แต่ไม่มีที่พักและไม่มีอาหารขาย ต้องเตรียมไป

    ......................................................................


    • Update : 30/8/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch