|
|
จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร(18)
จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร(18)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
คำว่าจิตสำนึกในที่นี้หมายความว่า เรามองเห็นหรือยึดถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผูกพันกับตนเอง ว่าเราจะต้องฝึกตัว การฝึกตัวเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตของเรา เพื่อชีวิตที่ดีงามขึ้นเราจำเป็นต้องฝึกตน คือมองเห็นประโยชน์ คุณค่า ความสำคัญของการฝึกที่จะต้องเอาตัวเข้าไปปฏิบัติ เมื่อมีจิตสำนึกอย่างนี้ เขาก็จะมองเห็นว่าการฝึกนั้นเป็นเรื่องที่เราได้ และการฝืนใจจะไม่เกิดขึ้น เมื่อพบสิ่งที่ทำยาก พอนึกว่าเราจะได้ฝึกตัว
ความยากนั้นก็กลายเป็นการได้ขึ้นมาทันที เขาจะรู้สึกอิ่มใจที่จะทำสิ่งนั้น ดังนั้นองค์ประกอบทางด้านจิตจึงเข้ามาสัมพันธ์กับพฤติกรรมในการรักษาวินัยอยู่เรื่อยๆ และปัญญาจะทำให้รู้ว่าวินัยนั้นช่วยจัดสรรโอกาสให้แก่การมีชีวิตที่ดีอย่างไรๆ เมื่อได้เห็นคุณค่าเช่นนั้น ก็ยิ่งเกิดความพอใจ ดังนั้นการฝึกพฤติกรรมจึงมีความสัมพันธ์กับปัญญา ด้วยเหตุนี้ ทางที่ดีก่อนจะวางระเบียบจึงควรต้องชี้แจงให้เห็นเหตุผล ให้เกิดความซาบซึ้งในคุณค่าของระเบียบหรือกฎเกณฑ์กติกานั้นๆ ก่อน
อีกอย่างหนึ่ง วินัยมีความหมายเป็นกติกาของสังคม คือเป็นข้อตกลงว่า เพื่อการอยู่ดีร่วมกัน ทุกคนจะถือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่วางกันไว้ว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรๆ อย่างไรๆ ถ้าใครไม่ทำตามหรือล่วงละเมิดจะต้องได้รับโทษอย่างไร ตรงนี้เป็นวินัย ในความหมายของกติกาสังคม คือสิ่งที่หมายรู้ร่วมกัน เพื่อจะได้ปฏิบัติตัวหรือวางตัวได้ถูกต้อง สำหรับคนที่ยังไม่พัฒนาก็จะรู้สึกว่ากติกาเหล่านี้เป็นเครื่องปิดกั้นบีบคั้นตนเอง แต่สำหรับคนที่พัฒนาแล้วมีปัญญามองเห็นเหตุผลกลับมองว่า
กติกาเหล่านั้นเป็นเครื่องช่วยให้เขาทำตัวได้ถูกต้อง มันเป็นเพียงสิ่งหมายรู้ร่วมกันว่าเราจะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างไร เพราะถ้าคนมาอยู่ร่วมกันมากๆ แล้วไม่มีกติกา แต่ละคนก็จะอึดอัดขัดข้องทำอะไรไม่ถูก ดังนั้นวินัยในความหมายหนึ่งจึงเป็นกติกาของสังคมหรือสิ่งหมายรู้ร่วมกันเพื่อช่วยให้ปฏิบัติตัววางตนและทำกิจการต่างๆ ได้ถูกต้อง ดังนั้น วินัยจึงต้องอาศัยปัญญาด้วย และวินัยนั้นจะต้องตั้งอยู่บนรากฐานของความถูกต้อง จึงจะสัมฤทธิผลให้เกิดศีลตามวัตถุประสงค์ของการศึกษา
ข้อควรสังเกตเกี่ยวกับการพัฒนาในระดับพฤติกรรม ได้พูดถึงหลักการใหญ่โดยทั่วไปอย่างกว้างๆ มาแล้ว คราวนี้จะพูดจำกัดวงแคบเข้ามา โดยเน้นการพัฒนาในระดับพฤติกรรม จะขอเริ่มด้วยการตอบคำถามเกี่ยวกับการฝึกความรับผิดชอบก่อน แล้วจะพูดถึงข้อควรสังเกตเกี่ยวกับการพัฒนาในระดับพฤติกรรมโดยทั่วไป
ในการฝึกหรือพัฒนาคนให้มีความรับผิดชอบนั้น ถ้าเริ่มจากศีลก็จะเป็นเรื่องของการวางข้อกำหนด กฎเกณฑ์ ระเบียบ เป็นวินัยขึ้นมา โดยมากจะใช้วินัยนี้เป็นฐานก่อน ทำให้คนที่ไม่มีความรับผิดชอบต้องมีความรับผิดชอบ โดยที่เขาต้องทำตามกฎเกณฑ์กติกานั้น
แต่ในขณะนี้ถ้าความสำนึกในจิตของเขายังไม่มี การปฏิบัติของเขาก็ได้แค่พฤติกรรมที่แสดงออกมาในขั้นศีลเท่านั้น ศีลอย่างนี้ยังไม่มั่นคง เพราะไม่ได้เกิดจากจิตสำนึก ไม่มีการพัฒนาด้านจิตมาช่วยหนุน จึงต้องฝึกด้านจิตเข้ามาร่วมด้วย เช่น ให้มีบรรยากาศที่ดีงาม มีความสบายใจ มีความสุขในการทำงาน ที่ตนรับผิดชอบ และถ้าจะให้ดีกว่านั้นก็มีปัญญามาช่วยอีกด้วย คือให้เขาเห็นประโยชน์หรือคุณค่าในการที่เขาทำอย่างนั้น ซึ่งอาจจะต้องมีการจัดชี้แจงอบรมทางด้านความรู้ให้เขาเห็นเหตุผลในการที่จะต้องมีความรับผิดชอบ
แต่ในเบื้องต้นของการฝึกจะเริ่มด้วยส่วนที่เป็นรูปธรรมที่เป็นของหยาบมองเห็นง่าย ศีลจึงมาก่อน เพื่อสร้างพฤติกรรมเคยชินไว้
เมื่อพฤติกรรมมีความเคยชินแล้วก็ถือได้ว่าสำเร็จไปแล้วขั้นหนึ่งคือในขั้นของศีล
|
Update : 29/8/2554
|
|