“มดแดง” เป็นสัญลักษณ์ของความขยัน ความอดทน ความสามัคคี เป็นนักต่อสู้จนตัวตาย เป็นสัตว์สังคมที่อยู่อย่างมีระเบียบ ตั้งแต่มดงาน ทหาร จนถึงนางพญา มดแดงมีความสัมพันธ์กับมนุษย์มานาน พบได้ตลอดฤดูกาลคนภาคอีสานจะนำมาประกอบการแสดง “รำเซิ้งแหย่ไข่มดแดง” นำไข่มดแดงมาประกอบอาหาร ต้มปลาใส่ขามดแดง ทอดไข่ใส่ไข่มดแดง ลาบไข่มดแดง ย่างไก่โบราณใส่มดแดง หรือบทเพลงที่บอกว่า “น้ำตามดแดง”หรือเพลงตอนเด็กๆ “มดแดงกัดแข้งกัดขา กัดเสื้อกัดผ้าตุ้งแฉ่งๆๆ” สนุกสนานครับ วันนี้ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมการส่งเสริมเผยแพร่งานส่งเสริมการเกษตร ที่โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพมหานคร ได้พบกับคุณสังวาล แก้วสันเทยะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ระดับ 6ว. จากศูนย์บริการศัตรูพืช จังหวัดนครราชสีมา พร้อมหยิบยกความรู้การเลี้ยงมดแดง โดยมี ว่าที่ พ.ต.ณรงค์ชัย ค่ายใส ผู้อำนวยการศูนย์ จึงนำมาเล่าขานสู่กันฟัง “รู้ไว้ใช่ว่า ใสบ่าแบกหาม” ว่าที่ พ.ต.ณรงค์ชัย ค่ายใส ผู้อำนวยการศูนย์บริหารศัตรูพืช จังหวัดนครราชสีมา ได้บอกเล่าถึงความเป็นมาว่า การเลี้ยงมดแดงเป็นกระบวนการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนพร้อมการฝึกอบรมให้เกษตรกรหรือผู้สนใจทั้งหลาย “การเลี้ยงมดแดง” มดแดงจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม จนวนรัง ตั้งแต่ 25-153 รัง ป่าบางแห่งมีรังมดแดงครอบคลุมพื้นที่กว่า 1 ไร่ จะมีรังนางพญาอยู่บนยอดทรงพุ่ม พร้อมมีรังที่แยกตัวกระจายออกไปจาก 2-30 ต้นแม้ประชากรของมดแดงจากมากมาย สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุข มารู้จักลักษณะต้นไม้ที่มดแดงชดทำรังหรือเป็นที่อยู่อาศัยของนางพญาหรือราชินีมดแดง เป็นต้นไม้ที่จำนวนรังมดแดง ประชากรของมดมากกว่าต้นอื่น จำนวนมดงานแบกหามหรือขนไข่ไปยังรังอื่นๆ รังนางพญามดแดงเป็นรังขนาดกลาง บางครั้งเป็นรังขนาดเล็ก มีเพียง 3 ใบ ตำแหน่งรังอยู่สูงสุดของยอดไม้ มีรังบริวารขนาดใหญ่ อยู่รอบๆ 2-3 รัง พบมดงานขนาดใหญ่(Major workor) คอยทำหน้าที่ทหารเดินลาดตระเวรบริเวณปากทางเข้ามากกว่ารังอื่น เมื่อผ่ารังออกจะพบมดงานขนาดใหญ่จำนวนมาก ไข่ตัวหยอนที่เพิ่งฟักจากไข่และมดงานขนาดเล็ก(Minor worker) มดงานขนาดเล็กจะพบจำนวนน้อย แต่จะไม่พบดักแด้และตัวหนอนที่โตแล้ว กรณีที่มีนางพญา 2 ตัวรังมดแดงจะแบ่งเป็น 2 ช่อง(Cell)แต่ละช่องมีนางพญา 1 ตัว และมดงานใหญ่รุมล้อมจำนวนมาก ผู้อำนวยการศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จากกรณีที่รังของนางพญาถูกรบกวน มดงานใหญ่จะสร้างรังชั่วคราวภายใน 20 นาที ที่ส่วนยอดต้นไม้หรือที่รังเก่า แล้วมดงานใหญ่จะรุมล้อมนางพญาขนย้ายไปยังรังชั่วคราว อีก 3-4 ชั่วโมง มดงานจะขนย้ายนางพญาไปยังรังใหม่
ความเป็นระเบียบของสังคมอยู่อย่างมีวรรณะน่าศึกษาของ “มดแดง”วงจรชีวิตของ “มดแดง” แบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะไข่ ลักษณะสีขาวขุ่น วางเป็นกลุ่มภายในรัง ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิจะเจริญเป็นแม้เป้งหรือมดงานส่วนที่ไม่ได้รับการปฏิสนธิจะเจริญเป็นมดตัวผู้ ระยะตัวหนอน ลักษณะสีขาวขุ่น ไม่มีขาหัวแหลมท้ายป้าน ที่เราเรียกว่า “ไข่มดแดง” ตัวหนอนของมดงานและมดตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวหนอนของแม่เป้ง หรือแม่รัง ในรอบ 1 ปี จะมีหนอนแม่เป้งเพียงช่วงเดียวคือฤดูแล้ง ประมาณมีนาคม-เมษายน ระยะดักแก้ สีขาวขุ่น มีขา และปีกยื่นออกมาจากลำตัว ตัวเต็มวัย จะมี 2 วรรณะคือ วรรณะสืบพันธุ์ และวรรณะมดงาน วรรณะสืบพันธุ์ ประกอบด้วยมดแม่รังแม่เป้ง และนางพญา ลักษณะลำตัวสีเขียว ปนน้ำตาล มีปีก ทำหน้าที่วางไข่ และมดเพศผู้ ขนาดเล็ก ปีกนวลใส เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะตาย ส่วนวรรณะมดงานเป็นตัวเมียที่เป็นหมัน ไม่มีปีก สีส้มปนแดง มี 2 ขนาดคือขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ตัวใหญ่ทำหน้าที่สร้างรังหาอาหาร และป้องกันศัตรู ส่วนตัวเล็กจะเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลตัวอ่อนภายในรัง มดแดงมีประโยชน์มากมาย อันดับแรกคือ นำไข่มดแดงมาประกอบอาหาร เช่น ลาบ ก้อย ยำ แกงผักหวานใส่ไข่มดแดง ต้มปลาใส่ไข่มดแดง คุณค่าทางโภชนาการ มีทั้งตัวมดแดง แม่เป้ง ไข่มดแดง โปรตีน 13.9,12.7 ,7.0 กรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัม ตามลำดับ นกจากนั้นมีคุณค่าทางไวตามินอีกต่างหาก ในทางการเกษตร มดแดงช่วยป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้หลายชนิดอาทิ หนอน เพลี้ย ลดการใช้สารเคมี มดแดงเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบระบบนิเวศของป่าไม้ เพราะมดแดงชอบอาศัยในบริเวณป่าที่ถูกทำลาย หากมีรังมดแดงจำนวนมาก ทำให้ทราบว่าระบบนิเวศของป่าบริเวณนั้นเสื่อมโทรมลงมดแดงเป็นสัตว์สังคมที่มีพฤติกรรมที่น่าสนใจ การสร้างรัง
มดงานใช้วิธีต่อตัวกันดึงใบไม้ให้มาติดกัน ถ้าใบไม้แข็งจะปล่อยกรดมดออกจากท้องทำให้ใบอ่อน จากนั้นจะคาบตัวอ่อนมาช่วยบัดกรี โดยตัวอ่อนของมดงานจะปล่อยน้ำนมสีขาวๆออกมาเมื่อแห้งจะเป็นเส้นใยเหนียวสีขาว เพิ่มความแข็งแรงตรงรอยต่อยึดใบไม้ให้ติดกันแน่น พร้อมใช้กรดมดเป็นตัวผสมด้วย มดแดงชอบทำรังต้นไม้ใบดก ไม่ผลัดใบง่าย เช่น มะม่วง สะเดา ชมพู่ และอยู่ใกล้กับแห่งน้ำธรรมชาติ การหาอาหาร มดแดงเป็นสัตว์สังคมที่มีความขยันขันแข็งมาก มดแดงเกิดขึ้นมาเพื่อการทำงานให้ผู้อื่น ตลอดชีวิตของมดแดง มดงานจะทำงานให้กับรังตลอดเวลา อาหารมดแดงคือ สัตว์ต่างๆแมลง ปลาแห้ง เศษอาหาร เมื่อพบแหล่งอาหารจะส่งสัญญาณไปหาพรรคพวกจะมาเป็นขบวน หากอาหารยังมีชีวิตจะรุมกัดปล่อยกรดมดจนเหยื่อตายแล้วช่วยกันลากไปยังรัง
การต่อสู้ป้องกันตัว “มดแดงไม่เคยหนีทัพต่อหน้าอริราชศัตรู” เพราะหากมีศัตรูเข้ามาใกล้รังจะกรูกันเข้ามาต่อสู้แบบไม่กลัวตาย มดแดงไม่เคยถอยหนีศัตรู การสื่อสารได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ พฤติกรรมการต่อสู้และก้องกันตัว เมื่อมดงานพบศัตรูผู้รุกราญ จะเดินวนรอบๆแล้วเดินกลับไปหามดงานอื่นหลังจากนั้นจะทยอยมาล้อมรอบเป็นวงกลม ยกส่วนปลายท้องขึ้นใช้กรามกัดบริเวณขาของศัตรู แม้ศัตรูพยายามหนีหากพลาดท่าเสียทีต่อมดแดงจะถูกหามกลับไปยังรังมดแดงทันที เก่งจริงๆเจ้ามดแดงน้อย
การผสมพันธุ์ มดแดงชอบผสมพันธุ์วันที่อากาศปลอดโปร่ง มดเพศผู้กับแม่เป้งจะบินออกจากรัง แล้วจับคู่ผสมพันธุ์หลังปล่อยน้ำเชื้อแล้วทั้งคู่จะตกลงมาบนพื้นดิน มดเพสผู้จะตายแม่เป้งกลับไปรังแล้งวางไข่ว่าที่ พ.ต.ณรงค์ชัย ค่ายใสกล่าวถึงการเลี้ยงไข่มดแดงว่าสามารถทำได้ 2 วิธีคือ การเลี้ยงแบบธรรมชาติ โดยการอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่น บริเวณที่มีมดแดงอยู่แล้ว ตามต้นไม้ที่มีใบกว้าง มีแหล่งน้ำธรรมชาติ มดแดงต้องการสร้างกรดน้ำส้ม เพิ่มอาหาร ให้น้ำ มดแดงสามารถขยายอาณาจักรได้รวดเร็ว ไม่ไปหาอาหารไกล ใช้เชือกโยงระหว่างต้นไม้ประหยัดเวลาการเดินทางขึ้นลงต้นไม้ เสริมอาหารเศษอาหาร หัวปลา หอยเชอร์รี่ ตัวหนอน มดแดงสร้างรังจำนวมากนั่นคือผลผลิตจากการเลี้ยงมดแดงด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านการลียงมดแดงที่ปริมาณมดแดงมีน้อยทำการตัดแต่งกิ่งต้นไม้ให้ทรงพุ่มโปร่ง กำจัดมดอื่นประมาณ 1 เดือน โดยใช้เหยื่อพาล่อสูตร น้ำตาลทรายครึ่งกิโลกรัม บอแรกซ์ 2 ช้อนโต๊ะ กรดซิตริก1 ช้อนชา ผสมน้ำ 1 กระป๋องนม คลุกเคล้าให้เข้ากัน ไปวางตามโคนต้นไม้ภายในสวน หรือใช้สูตรปลากระป๋อง ออกมาขยี้ผสมกับบอแรกซ์ 1 ซ้อนชา นำไปวางล่อมดที่โคนต้นไม้ทำลายมดชนิดอื่นก่อนปล่อยมดแดง เพราะมดต่างกลุ่มจะกัดกันต่อสู้กันจนตายไปข้างหนึ่ง การขยายรังมดแดงเป็นวิธีที่ง่ายคือนำเชือกมาทำสะพานไปยังต้นไม้ข้างเคียง ให้อาหาร ให้น้ำ
เมื่อความอุดมสมบูรณ์การขยายพันธุ์ต้องเพิ่มขึ้น การอนุรักษ์มดแดงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก อย่านำแม่เป้งมาบริโภคจนหมด เหลือไว้ขยายพันธุ์ต่อไป การดูแลต้นไม้ที่จะเลี้ยงมดแดง ข้อสำคัญคือการหลีกเลี่ยงการใช้สาเคมี หรือยาฆ่าแมลงเมื่อก่อนมีป่าไม้ สามารถออกหาอาหารป่ามารับประทาน ไข่มดแดงมีมากมาย วันนี้ป่าไม้น้อยลง การเลี้ยงมดแดง สามารถสร้างงาน สร้างเงิน สร้างระบบนิเวศ รักษาสิ่งแวดล้อม ท่านละพร้อมหรือยังที่จะมาเลี้ยงมดแดง ขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ว่าที่ พ.ต.ณรงค์ชัย ค่ายใส ผู้อำนวยการศูนย์บริหารศัตรูพืชนครราชสีมา คุณสังวาล แก้วสันเทยะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ระดับ 6ว. ยินดีต้อนรับครับ ไข่มดแดง ขายเป็นกองหรือทำเป็นหมก 10-20 บาท เรียกว่านับจำนวนได้ 2 ไข่สลึงมีราคาครับ เป็นคาถาแก้จนครับ “อย่านอนตื่นสาย อย่าอายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา” หรือ “สิบสลึงอยู่ฟากฟ้า อย่าได้อ่าวคะนิงหา สองสลึงอยู่ในมือให้รีบกำเอาไว้”
วัชรินทร์ เขจรวงศ์