เปลี่ยนกะเทยให้เป็นชาย ช่วยเหลือหรือซ้ำเติม
กลางเดือนที่แล้วสำนักข่าว AFP (Agence France Presse) เผยแพร่สกู๊ปข่าว "โครงการอบรมความเป็นชาย" ให้แก่สามเณรไทยอายุ ๑๑-๑๘ ปี ของวัดแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ โครงการดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ เนื่องจากพระสงฆ์ที่ดูแลโครงการเห็นว่า สามเณรกะเทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงจัดอบรมพิเศษเพื่อเปลี่ยนแปลงเณรกะเทยให้เป็นผู้ชาย ข่าวนี้เผยแพร่ในเว็บไซต์ต่างประเทศ มีคนเข้ามาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การอบรมดังกล่าวอย่างเผ็ดร้อน
รายงานข่าวระบุว่า ระเบียบของวัดดังกล่าวมีความเคร่งครัดเป็นพิเศษ นักเรียนสามเณรไม่สามารถใช้น้ำหอม เครื่องสำอาง ร้องเพลง เล่นดนตรี หรือวิ่งเล่นกันได้ ผลของการอบรมมีเกณฑ์ประสบความสำเร็จไม่มากนัก สามเณรกะเทย ๓ ใน ๖ รูปปรับเปลี่ยนนิสัยยอมรับความเป็นชายของตนเองได้ อีก ๓ รูปที่เหลือตั้งใจแปลงเพศเมื่อลาสิกขา
ในขณะที่หลายคนแสดงความเห็นว่า การที่เด็กกะเทยเข้ามาบวชเพราะพวกเขาเป็นชนชั้นล่าง พ่อแม่ไม่มีปัจจัยเพียงพอที่จะส่งลูกเรียนหนังสือ จึงส่งลูกบวชเณรเป็นทางผ่านไปสู่การศึกษาขอศาสนาเป็นที่พึ่งเช่นเดียวกับเด็กชาย จึงควรมองเด็กกลุ่มนี้ด้วยความเข้าใจ อีกทั้งการบวชเณรไม่ได้มีการกำหนดลักษณะผู้บวชยุ่งยากซับซ้อนการมีบุคลิกหญิงจึงไม่น่าเป็นปัญหา
อย่างไรก็ตาม โครงการ "เปลี่ยนกะเทยให้เป็นชาย" ดำเนินงานมา ๔ ปีแล้ว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ก็น่าจะมีการพิจารณายุติโครงการ แต่แปลกใจเหตุใดจึงยังคงดำเนินการอยู่ การอบรมมีการสอนให้เณรละความเป็นกะเทยแล้วหันไปทำตัวเป็นผู้ชาย ดูเป็นวิธีการสอนแบบแปลกๆ
พระอาจารย์หัวหน้าโครงการอธิบายว่า การจัดอบรมนี้เป็นการพยายามควบคุมพฤติกรรมและการแสดงออกเพื่อให้เณรกะเทยเข้าใจว่าเกิดมาเป็นชายต้องทำตัวเป็นชาย ไม่ใช่ทำตัวเป็นหญิง
ในขณะที่พุทธศาสนาสอนว่า "ทุกสิ่งอย่างเป็นอนัตตา" เพศจึงมีสภาพเป็น "อนัตตา" ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแต่คือเปลือกที่ห่อหุ้มคนให้มีอัตลักษณ์เป็นเพศชาย เป็นเพศหญิง หรือเป็นเพศที่หลากหลาย เพศจึงไม่ใช่อะไรที่เราควรจะเข้าไปยึดติด
การสอนสามเณรกะเทยให้ทำตัวเป็นชายก็คือการสอนเณรให้ละความเป็น "กะเทย" แล้วหันไปยึดติดกับความเป็น "ชาย" คือละจาก "ตัวตนหนึ่ง" แล้วไปยึดติดกับอีก "ตัวตนหนึ่ง" จึงดูสวนทางอย่างไรชอบกลกับคำสอนทางพุทธศาสนาที่สอนคนให้ละตัวตน
สามเณรรูปหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า ต้องพยายามอย่างหนักเพื่อต่อสู้กับเพศของตนเอง ถูกห้ามเดินด้วยท่าทางแบบผู้หญิง สิ่งที่อยากทำเมื่อลาสิกขาคือการตะโกนดังๆ ว่า "ฉันกลับไปเป็นตัวเองได้เหมือนเดิมแล้ว"
สิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกเป็นห่วงก็คือ สามเณร (เคราะห์ร้าย) ที่ต้องเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการอบรมดังกล่าวต้องพกพาเอาความรู้สึก "รังเกียจตัวเองที่เป็นกะเทย" ติดตัวกลับออกไปด้วย คงเป็นเรื่องซับซ้อนยุ่งเหยิงทีเดียวหากสามเณรน้อยรู้ตัวว่าเป็นกะเทย (เด็กบางคนรู้ตัวว่าเป็นกะเทยตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาล) แต่ต้องถูกกดทับความรู้สึก ถูกสอนว่าสิ่งที่ตนเองเป็นนั้นเป็นความผิดต้องทำตัวให้เป็นผู้ชาย กลับกลายเป็นว่าเณรน้อยไม่รู้จะวางตัวอย่างไรดี จะมั่นใจในตัวเองก็รู้สึกผิด จะทำตัวเองให้เป็นผู้ชายก็เป็นตัวตน "จอมปลอม" ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา กว่าเณรจะค้นพบตัวเองว่าตนเองคือใคร คงใช้เวลาค้นหานานกว่าปกติ
เรื่องการปฏิบัติเพื่อละตัวตนผู้เขียนมีความเห็นว่า ลำพังศีล ๑๐ ของสามเณรถือเป็นข้อปฏิบัติมาตรฐานที่ทำหน้าที่ละลายตัวตนของเณรอยู่แล้ว (เช่น การไม่ใช้เครื่องสำอาง ไม่ใช้น้ำหอม) ถ้าเณรละเมิด พระพี่เลี้ยงสามารถสอนเณรด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น ริบเครื่องสำอางแล้วอธิบายถึงเหตุผลในการห้ามใช้เครื่องสำอางเหล่านั้นว่า เป็นการฝึกนักบวชให้มีชีวิตเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่บำรุงความอยาก น่าจะดีกว่าที่จะสอนให้ทำตัวเป็นผู้ชาย เพราะการทำเช่นนั้นเป็นการ "เบี่ยงเบน" ตัวตนที่แท้จริงของเณร แล้วหันไปประดิษฐ์ตัวตนอันใหม่ขึ้นมา
ในที่สุดแล้วปัญหาจะไปตกอยู่กับตัวเด็กในเรื่องพัฒนาการด้านจิตใจ เพราะว่าในขณะที่ความเป็นกะเทยในตัวเด็กก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลายจากการไม่ยอมรับจากสังคมรอบข้าง เด็กก็ต้องไปสร้างปมอันใหม่จากการอบรมของพระอาจารย์เข้าไปซ้อนทับกับปมอันเก่า เป็นปมซ้อนปมขึ้นมาในที่สุดจะกลายเป็นความยุ่งเหยิงภายในตัวเด็กเอง
ไม่มีใครบอกได้ว่าสามเณร ๓ รูปที่ถูกอ้างว่าสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมกะเทยของตนได้นั้น ต้องกดทับความรู้สึกที่แท้จริงของตนมากแค่ไหน และที่อ้างว่าเปลี่ยนได้นั้นเปลี่ยนได้จริงหรือในเมื่อบุคลิกกะเทยเป็นตัวตนและเป็น "วาสนา" อย่างหนึ่ง
ในพระไตรปิฎกเล่าว่า เศรษฐีมีศรัทธาท่านหนึ่งใคร่ถวายผ้าจีวรแด่พระสารีบุตร จึงนิมนต์พระสารีบุตรไปรับประเคนที่บ้านของตน ระหว่างทางที่เดินไปมีท้องร่อง พระสารีบุตรเห็นร่องน้ำแล้วอยู่นิ่งๆ ไม่ได้ต้องกระโดดข้ามไปด้วยความรวดเร็วว่องไว เศรษฐีเห็นแล้วก็สงสัยระคนไม่พอใจว่า เหตุใดเป็นพระไม่สำรวมกิริยา ที่เป็นเช่นนี้เพราะอดีตชาติพระสารีบุตรเคยเกิดเป็นลิง นิสัยชอบกระโดดแบบลิงจึงติดตัวมาแม้จะบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วแต่ "วาสนา" แบบลิงยังคงอยู่
วาสนา คือ อาการกายวาจาอันเป็นลักษณะพิเศษของบุคคลที่มีการสั่งสมอบรมมาเป็นเวลายาวนานจนเคยชินติดเป็นนิสัยประจำตัว แม้จะบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วแต่ไม่อาจละอาการกายวาจาที่เคยชินนั้นไปได้
บุคลิกแบบกะเทยก็เป็นวาสนาอย่างหนึ่ง การเป็นกะเทยไม่ได้เป็นปัญหาเท่ากับการเป็นโรค "ทรานส์โฟเบีย" (Transphobia) หรือ "โรครังเกียจกะเทย" อันได้แก่ความรู้สึกไม่พอใจ ทุกข์ใจ ทนไม่ได้เมื่อเห็นผู้ชายมีบุคลิกจริตจะกร้านแบบผู้หญิงจนต้องเข้าไปจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง
โครงการที่วัดดังกล่าวจัดอบรมในเวลานี้ควรเปลี่ยนเป็นเรื่อง "การสร้างความเข้าใจต่อกะเทย" ดีกว่าจะไปจับกะเทยมาอบรมให้โกหกตัวเองเช่นนั้น นอกจากจะเป็นไปไม่ได้แล้วยังส่งผลเสียมากมายมหาศาลทั้งกับคนที่เป็นกะเทยเองและกับสังคมที่กะเทยมีชีวิตอยู่ด้วย ซึ่งก็คือสังคมไทยนั่นเอง
กะเทยบวชพระได้หรือไม่
กรณีห้ามกะเทยบวชพระ แท้จริงแล้วพระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจน ในโบสถ์พระคู่สวดแค่ถามว่า "ท่านเป็นผู้ชายหรือไม่" คำว่าผู้ชายหมายเอาอวัยวะเพศชายเป็นเกณฑ์ ถ้ามีครบสมบูรณ์ก็ถือว่าบวชได้ ถ้าแปลงเพศไปแล้วก็ควรบวชเป็นภิกษุณี
ส่วนที่ห้ามบัณเฑาะก์บวชนั้น คำว่า "บัณเฑาะก์" หมายถึงคนมีอวัยวะเพศกำกวม มีแต่ช่องสำหรับถ่าย ไม่ได้หมายถึงกะเทย เพราะกะเทยยังมีอวัยวะเพศชายสมบูรณ์ ต่างจาก "กะเทยแท้"
ความสับสนน่าจะมาจากบัณเฑาะก์ ๕ ประเภท คือ ๑.บุคคลที่ใช้ปากคาบองคชาตผู้อื่น ๒.บุคคลแอบดูคนร่วมรักกัน ๓.บุคคลมีกำหนัดเฉพาะข้างแรมสลับกับข้างขึ้น ๔.บุคคลถูกตัดอวัยวะเพศ ๕.บุคคลมีอวัยวะเพศกำกวม มีแต่ช่องสำหรับถ่าย
บัณเฑาะก์ ๓ ประเภทแรกเป็นพฤติกรรมทางเพศที่พิสดารแล้วถูกตัดสินให้เป็นบัณเฑาะก์ แต่หากพิจารณาดูจะพบว่าใครๆ ก็สามารถเป็นบัณเฑาะก์ได้เพราะในคัมภีร์ใช้คำว่า "บุคคล" หมายความว่าใครก็ตามที่มีพฤติกรรมดังกล่าวถือว่าเป็นบัณเฑาะก์ เช่น ผู้ที่ใช้ปากกับองคชาติผู้อื่น หญิงที่ทำ oral sex กับชายก็ไม่พ้นต้องเป็นบัณเฑาะก์ประเภทที่ ๑ เช่นเดียวกัน หรือใครที่ชอบดูหนังโป๊ก็มีพฤติกรรมไม่ต่างจากบัณเฑาะก์ประเภทที่ ๒ ที่ชอบแอบดูคนร่วมรักกัน ส่วนบัณเฑาะก์ประเภทที่ ๓ มีกำหนัดเฉพาะข้างแรมก็ฟังดูแปลก เพราะคนบางคนมีกำหนัดไม่เลือกว่าจะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรม คำนิยามบัณเฑาะก์ทั้ง ๓ ประเภทจึงมีความคลุมเครือไม่อาจสรุปได้ว่าใครบ้างที่เป็นบัณเฑาะก์ตัวจริง หรือทุกคนต่างมีความเป็นบัณเฑาะก์กันคนละนิดละหน่อย และอาจเป็นบัณเฑาะก์กันได้ทุกคน
ส่วนบัณเฑาะก์ประเภทที่ ๔ เป็นบัณเฑาะก์เพราะถูกตัดอวัยวะเพศ แสดงว่าการเป็นบัณเฑาะก์ประเภทนี้เพราะอวัยวะถูกทำลายไปจึงกลายเป็นบัณเฑาะก์
บัณเฑาะก์ประเภทสุดท้ายคือประเภทที่ ๕ เป็นความหมายของบัณเฑาะก์ที่แท้จริง คือมีอวัยวะเพศที่ไม่ชัดเจน มีแต่ช่องสำหรับถ่าย เวลามีการอ้างวินัยบัญญัติเรื่อง "ห้ามบวชบัณเฑาะก์" มักมีคนเอาบัณเฑาะก์ไปปะปนกับ "กะเทย" ทั้งๆ ที่กะเทยไม่ได้จัดอยู่ในความหมายของบัณเฑาะก์ทั้ง ๕ ประเภทข้างต้น ในที่สุดภายใต้ระบบสังคมที่ชายเป็นใหญ่ กะเทยจึงถูก "เหมารวม" ว่าห้ามบวชไปด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความมีเมตตาธรรมของอุปัชฌาย์แต่ละท่านเป็นปัจจัยร่วมในการยอมรับให้บวช