สะเดา มีชื่อเรียกแตกต่างกันตามท้องถิ่น เช่น เดา กระเดา (ภาคใต้) สะเลียม (ภาคเหนือ) ในภาษาอังกฤษมีชื่อสามัญว่า Neem ท่ามกลางกระแสแห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้การใช้สารสกัดจากสะเดามีคุณค่าในตัวของมันเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อวงการเกษตรกรรม เนื่องจากสารกำจัดแมลงที่ได้จากสะเดาสามารถสลายตัวได้ง่ายในสภาพธรรมชาติ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสภาพนิเวศทางการเกษตร
นอกจากนี้สารสกัดสะเดายังมีผลเฉพาะเจาะจงต่อแมลงที่เป็นศัตรูพืชเท่านั้น อีกทั้งในระดับชาวบ้านก็ยังสามารถทำได้โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบง่าย ๆ และใช้ต้นทุนต่ำ วัสดุที่เหลือจากการผลิตยังมีคุณค่าต่อดินหรือพืชปลูก โดยใช้เสริมหรือทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีได้อีกด้วย กากสะเดาที่ใส่ดินเพื่อเป็นปุ๋ยบำรุงดินยังสามารถป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชในดินได้อีกหลายชนิด ตลอดจนสารสกัดสะเดายังมีผลในการป้องกันกำจัดโรคพืช กำจัดไส้เดือนฝอยศัตรูพืชหลายชนิด ป้องกันกำจัดไรศัตรูพืช เช่น ไรแดงอัฟริกัน ไรแดงสองจุด จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2502 เป็นต้นพบว่ามีแมลงที่มีความอ่อนแอต่อการใช้สารสกัดสะเดาจำแนกออกเป็นอันดับและชนิดต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 413 ชนิด ด้วยเหตุนี้ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศเช่น อเมริกา เยอรมนี ออสเตรเลีย แคนาดา อินเดีย ฯลฯ ทำการผลิตสารสกัดสะเดาเพื่อใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช
สะเดาเป็นต้นไม้ที่มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมาใช้ทางการเกษตรซึ่งเป็นสารที่ไม่อันตรายทำให้ผลผลิตทางการเกษตรปลอดภัยไม่มีสารตกค้าง ไม่เป็นอันตรายต่อเกษตรกร ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันเกษตรกรเริ่มตระหนักถึงอันตรายและต้นทุนในการใช้สารเคมีทางการเกษตร ประกอบกับหลายครั้งใช้แล้วแมลงดื้อยา ทำให้ผลผลิตเสียหาย เกษตรกรจำเป็นต้องหาสิ่งทดแทน และสะเดาก็เป็นทางเลือกอันดับต้น ๆ ที่น่าสนใจ ประกอบกับหลายประเทศทั่วโลกให้ความยอมรับการใช้สารสะเดาป้องกันกำจัดศัตรูพืช และมีความเข้มงวดเรื่องสารตกค้างในผลผลิตมากขึ้น จากประสบการณ์ของเกษตรกรหลายรายทั้งในผู้ที่ปลูกพืชผัก ไม้ผล ไม้ดอก
ไม้ประดับ พืชไร่ นาข้าว ที่ศึกษาจนเข้าใจและมีความเชื่อมั่น หันมาลองใช้สารสกัดสะเดา ปรากฏว่าเป็นที่ยอมรับมาก เนื่องจากได้ผลดี ต้นทุนต่ำ ไม่มีอันตราย และมีการใช้กันมากขึ้น
จากคุณค่าของไม้สะเดาที่กล่าวมาโดยคร่าว ๆ นี้ จะเห็นประโยชน์มากมายแต่น่าเสียดายว่า ขณะนี้มีการตัดต้นสะเดาเอาไม้ไปใช้ประโยชน์ที่ไม่คุ้มค่า เช่น ทำฟืน โดยมีขบวนการตัดไม้สะเดาตลอดเวลา ทำให้ต้นสะเดาลดจำนวนลงมาก ขอเรียกร้องให้ช่วยสอดส่องดูแลหาทางลดการตัดไม้สะเดา เพราะนอกจากประโยชน์ของสะเดาดังกล่าวแล้ว การมีต้นสะเดาอยู่ก็เสมือนมีต้นตอของแหล่งเมล็ดพันธุ์ที่จะเพิ่มป่าไม้ให้กับประเทศ เนื่องจากผลสะเดาสุกเป็นอาหารของนกโดยทั่วไปเมื่อนกกินเนื้อผลสะเดาสุกแล้วก็จะคายเมล็ดทิ้งไปในที่ต่าง ๆ เมล็ดสะเดาเหล่านั้นจะงอกขึ้นเป็นต้นใหม่ เป็นการขยายพันธุ์ไม้ตามธรรมชาติและเมล็ดสะเดางอกและเจริญเติบโตได้ง่ายและทนต่อความแห้งแล้ง นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้มีการปลูกโดยทั่วไป ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและเกษตรกรเอง ตามหัวไร่ปลายนาเมื่อมีต้นสะเดาเกษตรกรก็สามารถเก็บมาทำสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้โดยไม่ต้องเสียเงิน เป็นการลดต้นทุน เมื่อปลูกแล้วมีเมล็ดสะเดาเหลือใช้ ก็สามารถนำมาจำหน่ายได้ กับบริษัทที่เขาต้องการเอาไปผลิตเป็นสารกำจัดแมลง ซึ่งในประเทศเราก็มีหลายบริษัท เช่น บริษัท ผลิตภัณฑ์สะเดาไทย จำกัด สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 0-3555-0613, 08-1942-2056
ดังนั้นพวกเรามาช่วยกันรณรงค์ไม่ตัดต้นสะเดาและช่วยกันปลูกต้นสะเดาเพื่อเพิ่มป่าไม้ของประเทศกันเถิด ซึ่งจะทำให้มีฤดูกาลเป็นปกติ ป้องกันน้ำท่วมซึ่งเกิดทุกปี และถ้ามีต้นสะเดามาก ๆ ก็จะได้เป็นอาหารของนก เป็นอาหารของคน เป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืชที่ช่วยลดต้นทุนเกษตรกร ช่วยรักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังช่วยให้เสียเงินตราต่างประเทศซื้อสารเคมีลดลง ผลผลิตทางการเกษตรก็มีคุณภาพ ปราศจากสารพิษตกค้างเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ นโยบายประเทศไทยเป็นครัวของโลกก็มีอุปสรรคน้อยลง.