|
|
จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร (13)
จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร (13)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
ในการศึกษาตามหลักพุทธศาสนาหรือการปฏิบัติธรรมนั้น สิ่งสำคัญที่จะต้องมีคือ ความเชื่อในโพธิ เรียกว่า "โพธิศรัทธา" ซึ่งถือว่าเป็นศรัทธาพื้นฐาน เมื่อมนุษย์เชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์เป็นพุทธะได้แล้ว เขาก็พร้อมที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเอง ส่วนการที่บุคคลจะแจ้งประจักษ์โพธิได้หรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของความแตกต่างระหว่างบุคคล ดังเช่นในหลักบุคคล 4 ประเภท และขึ้นอยู่กับการพัฒนาศักยภาพของเขาตามที่ได้สั่งสมกรรมไว้
ตามที่กล่าวมานี้จะเห็นว่าคำว่า "โพธิ" แล้ว (มีศีลภาวนา) คือ ให้จุดเน้นทั้งในด้านของศักยภาพที่มนุษย์ฝึกได้จนถึงที่สุด และในด้านของปัญญา ให้เห็นว่าแกนนำของการพัฒนานั้นอยู่ที่ปัญญา และศักยภาพสูงสุดนั้นก็แสดงออกที่ปัญญา เพราะตัวแทนหรือจุดศูนย์รวมของการพัฒนาอยู่ที่ปัญญา เพื่อจะให้โพธินี้ปรากฏขึ้นมาทำบุคคลให้กลายเป็นพุทธะ เราจึงต้องมีกระบวนการพัฒนาที่เรียกว่าสิกขา ซึ่งก็คือ การศึกษา สิกขาคือกระบวนการพัฒนามนุษย์ หรือฝึกมนุษย์ให้โพธิปรากฏขึ้น ทำให้มนุษย์นั้นกลายเป็นพุทธะ
ชีวิตที่ดีคือ ชีวิตที่ดำเนินในแนวทางของโพธิ ชีวิตที่ดีอย่างนี้เรียกว่ามรรค
ส่วนวิธีการหรือกระบวนการฝึกมนุษย์ให้มีชีวิตที่ดีเรียกว่าสิกขา เมื่อเราฝึกคนให้มีชีวิตที่ดี ชีวิตที่ดีหรือวิถีชีวิตที่ดีนั้นก็เป็นมรรค มรรคกับสิกขาก็เลยมีความหมายเกือบจะเหมือนกัน มรรคคือการดำเนินชีวิตที่ดี แต่จะมีชีวิตที่ดีได้ก็ต้องมีการฝึกฝนพัฒนา ดังนั้นจึงต้องมีการฝึกที่เรียกว่าเป็นสิกขา เพราะฉะนั้น สิกขาก็คือการฝึกให้มีชีวิตที่ดีที่ดำเนินตามมรรค และมรรคมีองค์ 8 นั้นก็สรุปลงได้เป็นสิกขา 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นตัวแกนของการฝึก
เป็นอันว่าจะต้องจับแยกและโยงให้ถูกต้องว่า มรรคกับสิกขาเป็นเรื่องที่สัมพันธ์เป็นอันเดียวกัน แต่เป็นคนละแง่กัน เพราะสิกขาเป็นตัวการฝึกหรือการพัฒนามนุษย์ เมื่อฝึกได้ผล จนสิ่งที่ฝึกนั้นกลายเป็นวิถีชีวิตของเขา มันก็กลายเป็นมรรคไป พอมรรคเกิดขึ้นแล้ว ก็พาเข้าถึงจุดหมายของการศึกษาหรือการพัฒนานั้น คืออิสรภาพที่ปลอดทุกข์ปราศปัญหา หรือจะเรียกว่าสันติสุขก็แล้วแต่พอใจ ไตรสิกขา: หลักการสำคัญของการพัฒนามนุษย์
การฝึกฝนและพัฒนามนุษย์นั้นทางพุทธศาสนาจัดวางเป็นหลักเรียกว่า ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งถือว่าเป็นระบบการศึกษาที่ทำให้บุคคลพัฒนาอย่างมีบูรณาการ และให้มนุษย์เป็นองค์รวมที่พัฒนาอย่างมีดุลยภาพ
1. ศีล เป็นเรื่องของการฝึกในด้านพฤติกรรม โดยเฉพาะพฤติกรรมเคยชิน เครื่องมือที่ใช้ในการฝึกศีล ก็คือวินัย วินัยเป็นจุดเริ่มต้นในกระบวนการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ เพราะว่าวินัยเป็นตัวการจัดเตรียมชีวิตให้อยู่ในสภาพที่เอื้อต่อการพัฒนา โดยจัดระเบียบความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคม ให้เหมาะกับการพัฒนาและให้เอื้อโอกาสในการที่จะพัฒนา เมื่อฝึกได้ผลจนคนมีพฤติกรรมเคยชินที่ดีตามวินัยนั้นแล้วก็เกิดเป็นศีล
ดังนั้น โดยสรุปวินัยจะมาในรูปของการฝึกพฤติกรรมเคยชินที่ดี และการจัดสภาพแวดล้อม ที่จะป้องกันไม่ให้มีพฤติกรรมที่ไม่ดี และเอื้อต่อการมีพฤติกรรมที่ดีที่พึงประสงค์ การฝึกคนให้คุ้นกับพฤติกรรมที่ดี ตลอดจนการจัดระเบียบระบบทั้งหลายทั้งปวงในสังคมมนุษย์
2. สมาธิ เป็นเรื่องของการฝึกในด้านจิต หรือระดับจิตใจ ได้แก่การพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ ของจิต ทั้งในด้านคุณธรรม เช่น ความเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในด้านความสามารถของจิต เช่น ความเข้มแข็งมั่นคง ความเพียรพยายาม ความรับผิดชอบ ความแน่วแน่มั่นคง ความมีสติ สมาธิ และในด้านความสุข เช่น ความอิ่มใจ ความร่าเริงเบิกบานใจ ความสดชื่นผ่องใส ความรู้สึกพอใจ
พูดสั้นๆ ว่า พัฒนาคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพของจิต
|
Update : 22/8/2554
|
|