ภาพที่ 21 แสดงลักษณะแม่ปลาที่ท้องแก่
7.2 การเทียบพ่อแม่พันธุ์ เมื่อเลือกได้ปลาเพศผู้และเพศเมีย ที่สมบูรณ์มีลักษณะและสีสันตามต้องการแล้ว นำปลาใส่ขวดแก้วใสขวดละตัวแยกเพศกันไว้ก่อน แล้วนำมาตั้งเทียบกันไว้ โดยการวางขวดใส่ปลาให้ชิดกันและไม่ต้อมีกระดาษปิดคั่น ต้องการปล่อยให้ปลามองเห็นกัน ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “การเทียบ” ควรเทียบไว้นานประมาณ 4 - 7 วัน เพื่อให้ปลาเกิดความเคยชินซึ่งกันและกัน เมื่อปล่อยลงบ่อเพาะแม่ปลาจะไม่ถูกพ่อปลาทำร้ายมากนัก ในขณะเดียวกันแม่ปลาก็จะมีไข่แก่เต็มที่
ภาพที่ 22 แสดงลักษณะการเทียบพ่อแม่พันธุ์ปลากัดในขวด(ซ้าย) และในภาชนะขนาดใหญ่(ขวา)
7.3 การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์ บ่อหรือภาชนะที่จะใช้เป็นบ่อเพาะปลากัดควรมีขนาดเล็ก ส่วนมากนิยมใช้ภาชนะต่างๆไม่มีบ่อถาวร เช่น อ่างดินเผา กะละมัง ถัง หรือตุ่มน้ำขนาดเล็ก เพราะสะดวกกว่าการเพาะในบ่อ ภาชนะดังกล่าวมักมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 - 40 เซนติเมตร ใส่น้ำสะอาดลงในภาชนะที่เตรียมไว้ให้มีระดับสูงประมาณ 10 - 15 เซนติเมตร จากนั้นใส่พันธุ์ไม้น้ำที่มีใบหรือลำต้นอยู่ผิวน้ำ เช่น จอก ผักตบชวา ผักบุ้ง หรือผักกระเฉด ลงไปบ้างเล็กน้อยเพื่อให้ปลาสร้างหวอดได้ง่าย
ภาพที่ 23 แสดงการเตรียมบ่อเพาะพันธุ์ปลากัดโดยใส่เฉพาะใบไม้(ซ้าย) หรือภาชนะขนาดเล็กที่ปลาเข้าไปทำรังได้(ขวา)
ภาพที่ 24 แสดงภาชนะอื่นๆที่นำมาใช้ในการเพาะพันธุ์ปลากัด
7.4 การปล่อยปลาลงบ่อเพาะ เมื่อเทียบปลาไว้เรียบร้อยแล้วจึงปล่อยปลาทั้งคู่ลงบ่อเพาะที่เตรียมไว้ ต้องพยายามอย่าให้ปลาตื่นตกใจมากนัก จากนั้นหาแผ่นวัสดุ เช่น กระดาษแข็ง หรือแผ่นกระเบื้อง ปิดบนภาชนะที่ใช้เพาะ โดยปิดไว้ประมาณ 2 ใน 3 ของพื้นที่ปากภาชนะ เพราะปลากัดมักชอบวางไข่ในบริเวณที่มืด เนื่องจากต้องการความเงียบสงบ วัสดุที่นำมาปิดจะสามารถช่วยบังแสงและกันลมไม่ให้หวอดของปลาแตก เทคนิคที่สำคัญคือ การปล่อยพ่อแม่ปลาควรปล่อยในตอนเย็น เวลาประมาณ 17.00 - 18.00 น. เพราะโดยปกติแล้วเมื่อปล่อยพ่อแม่ปลารวมกัน ปลาเพศผู้จะเกี้ยวพาราสีปลาเพศเมีย โดยว่ายน้ำต้อนหน้าต้อนหลังอยู่ประมาณ 15 นาที จากนั้นจะไล่กัดปลาเพศเมียจนปลาเพศเมียจะต้องหนีไปแอบซุกอยู่ตามพันธุ์ไม้น้ำ แล้วปลาเพศผู้จะเริ่มหาที่ก่อหวอด เมื่อก่อหวอดไปพักหนึ่งก็จะไปไล่กัดปลาเพศเมียอีก ดังนั้นหากปล่อยปลาทั้งคู่ตั้งแต่เช้าปลาเพศเมียก็จะถูกกัดค่อนข้างบอบช้ำ แต่ถ้าปล่อยใกล้ค่ำเมื่อปลาเพศผู้หาจุดสร้างรังได้ก็จะค่ำพอดี ปลาเพศผู้จะไม่ไปรบกวนปลาเพศเมียอีก แต่จะสร้างรังไปจนเรียบร้อย รุ่งเช้าก็พร้อมจะผสมพันธุ์ได้
ภาพที่ 25 แสดงการปิดแสงบ่อเพาะพันธุ์ปลากัดเพียงบางส่วน(ซ้าย) หรือปิดหมด(ขวา)
7.5 การตรวจสอบการวางไข่ของปลา ตามปกติแล้วถ้าปลามีการวางไข่ ก็มักจะวางไข่เสร็จก่อนเวลาประมาณ 10.00 น. ดังนั้นเมื่อปล่อยปลาลงบ่อเพาะแล้ว เช้าวันต่อมาเวลาประมาณ 10.00 น. จึงค่อยๆลองแง้มฝาปิดดู ถ้าพบว่ามีไข่เม็ดเล็กๆสีขาวอยู่ที่หวอด และมีพ่อปลาคอยเฝ้าอยู่ ส่วนแม่ปลาหนีไปซุกอยู่ด้านตรงข้ามกับหวอด แสดงว่าปลาวางไข่เรียบร้อยแล้ว ค่อยๆช้อนแม่ปลาออกไปเลี้ยงต่อไป ปลาเพศผู้จะคอยดูแลรักษาไข่ โดยหมั่นเปลี่ยนฟองอากาศในหวอดและตกแต่งหวอดให้คงรูปอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังคอยเก็บกินไข่เสียด้วย
ภาพที่ 26 การตรวจสอบการวางไข่ของปลากัด หวอดที่ยังไม่มีไข่(ซ้าย) และหวอดที่มีไข่แล้ว(ขวา)
ที่มา : http://www.agora-aqua.com/page53.htm
ภาพที่ 27 การเพาะปลากัดลูกทุ่งในขวดโหล
8 การอนุบาลลูกปลากัด
ลูกปลาจะฟักออกจากไข่หมดทุกฟองในวันที่สองหลังจากวางไข่ พ่อปลาจะคอยดูแลลูกที่ว่ายน้ำแล้วจมไปก้นบ่อ โดยจะไปอมลูกกลับมาไว้ที่หวอดเช่นเดิม รอจนตอนเย็นของวันถัดไปจึงช้อนเอาพ่อปลาออก ลูกปลาจะตกใจกระจายตัวออกจากหวอด ส่วนใหญ่ลงไปก้นบ่อแต่เมื่อรอสักครู่ก็จะพุ่งตัวขึ้นมาเกาะอยู่ตามพันธุ์ไม้น้ำหรือผนังบ่อใกล้ผิวน้ำ ในวันต่อมาถุงอาหารของลูกปลาจะหมดไป ลูกปลาจะเริ่มว่ายน้ำเพื่อหากินอาหาร
การอนุบาลลูกปลากัดจะเริ่มจากที่ลูกปลาเริ่มหากินอาหาร ซึ่งการอนุบาลลูกปลากัดนี้จัดว่าเป็นงานที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากปลากัดเป็นปลากินเนื้อตามที่กล่าวมาแล้ว ลูกปลาจึงต้องการอาหารที่มีชีวิต แต่ปัญหาจะอยู่ที่ว่าลูกปลากัดเป็นลูกปลาที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ปากจะไม่ใหญ่พอที่จะจับกินอาร์ทีเมียหรือไรแดงได้ อาหารที่เหมาะสมจะใช้ให้ลูกปลากินในช่วงนี้คือไข่แดง โดยใช้ไข่ไก่หรือไข่เป็ดมาต้มให้สุกแล้วแกะเอาเฉพาะไข่แดงไปเลี้ยงปลา เนื่องจากลูกปลากัดจะต้องการจับกินอาหารมีชีวิตยังไม่สามารถกัดแทะอาหารได้ ดังนั้นต้องนำเอาไข่แดงที่จะใช้ เช่น ลูกปลากัด 1 ครอกจะใช้ไข่แดงขนาดเท่าเม็ดถั่วดำต่อการให้ 1 ครั้ง ใส่ไข่แดงลงในกระชอนผ้า แล้ววางกระชอนลงบนขันหรือแก้วที่ใส่น้ำไว้พอประมาณ แล้วใช้นิ้วขยี้ไข่ในกระชอน ไข่แดงก็จะละลายหรือกระจายตัวเป็นเม็ดเล็กๆผ่านผ้าออกไปในน้ำ จากนั้นจึงใช้ช้อนตักแล้วค่อยๆรินลงบ่อปลาเพื่อให้อาหารมีการกระจายตัวทั่วบ่อ ซึ่งจากการที่ได้ขยี้ไข่แดงผ่านผ้าจะทำให้ไข่แดงแตกตัวออกเป็นเม็ดขนาดเล็กมากและมีน้ำหนักค่อนข้างเบา ดังนั้นจะมีการกระจายตัวได้ดีและจะค่อยๆจมตัวลง ทำให้ลูกปลานึกว่าเป็นไรน้ำก็จะฮุบกินไข่แดงได้
สำหรับภาชนะที่ใช้ในการอนุบาล ในช่วงแรกก็ควรยังเป็นภาชนะที่ใช้เพาะปลา เพราะยังต้องการภาชนะขนาดเล็กอยู่ เนื่องจากการใช้ไข่แดงเป็นอาหารนั้น ลูกปลาจะกินไข่แดงไม่หมด เพราะไข่แดงส่วนใหญ่จะค่อยๆจมตัวตกตะกอนที่ก้นภาชนะ และลูกปลาจะไม่ลงไปเก็บกินอีกเลย ไข่แดงที่ตกตะกอนนี้ในวันต่อไปจะบูดเน่าเป็นเมือกอยู่รอบก้นภาชนะ จึงจำเป็นต้องล้างบ่ออนุบาลหรือภาชนะที่ใช้อนุบาลทุกเช้า ซึ่งกระทำได้ไม่ยาก คือ ใช้กระชอนวางลงในบ่ออนุบาลแล้วใช้ขันค่อยๆวิดน้ำออกจากในกระชอน จะสามารถลดน้ำลงได้โดยลูกปลาไม่ติดออกมา และเศษไข่ก็จะไม่ฟุ้งกระจายเพราะเป็นเมือกเกาะติดกับภาชนะ ลดน้ำลงประมาณครึ่งภาชนะ แล้วจึงยกภาชนะค่อยๆรินทั้งน้ำและลูกปลาลงภาชนะใหม่แล้วเติมน้ำ จะเท่ากับเป็นการล้างบ่ออนุบาลและเติมน้ำใหม่ให้ลูกปลา ทำเช่นนี้ประมาณ 3 - 5 วัน ลูกปลาจะมีขนาดโตขึ้น จะเปลี่ยนบ่ออนุบาลให้มีขนาดให้มีขนาดใหญ่ขึ้น อาจใช้กะละมังพลาสติกขนาดใหญ่หรืออ่างซีเมนต์ และควรอนุบาลต่อโดยใช้อาร์ทีเมียหรือไรแดงซึ่งลูกปลาจะจับกินได้แล้ว เลี้ยงด้วยอาร์ทีเมียหรือไรแดงประมาณ 15 - 20 วันพร้อมทั้งถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอ ลูกปลาจะโตได้ขนาดประมาณ 1.0 - 1.5 เซนติเมตร ก็จะเปลี่ยนลงบ่อบ่ออนุบาลให้มีขนาดใหญ่ขึ้นให้มีความจุมากกว่า 100 ลิตร แล้วเริ่มฝึกให้ลูกปลากินอาหารสมทบ โดยจะใช้ไข่ตุ๋น คือนำไข่เป็ดหรือไข่ไก่มาตีให้ไข่ขาวและไข่แดงเข้ากันดี ใส่เกลือและใส่น้ำพอประมาณเพื่อให้ไข่นุ่ม จากนั้นนำไปนึ่งพอสุก ไม่ควรนึ่งนานนักเพราะต้องการให้ไข่มีความนุ่ม นำไปใส่ให้ปลากินโดยใช้นิ้วขยี้ไข่ให้แตกกระจายออกพอควร และเริ่มให้มื้อเช้าแทนการให้ไร ปลาจะเริ่มตอดกินได้เอง เลี้ยงด้วยไข่ตุ๋นประมาณ 10 วันก็เปลี่ยนมาเป็นอาหารเม็ด โดยช่วงแรกควรใช้อาหารปลาสวยงามชนิดเม็ดเล็กพิเศษ ซึ่งค่อนข้างมีราคาแพงแต่ปลาจะกินได้ดี จะใช้เพียง 3 - 5 วัน แล้วเปลี่ยนเป็นอาหารเม็ดเลี้ยงปลาดุกเล็ก ลูกปลาก็จะสามารถตอดกินและเจริญเติบโตดี ใช้เวลาอนุบาลลูกปลาประมาณ 50 วัน ลูกปลาจะมีขนาดประมาณ 3 เซนติเมตร ซึ่งพอจะ สามารถแยกเพศได้
ภาพที่ 28 แสดงลักษณะลูกปลาที่พึ่งฟักตัวออกจากไข่มักเกาะอยู่ใต้หวอด
ที่มา : http://www.flippersandfins.net/bettabreedingarticle.htm