|
|
พลธรรม
พลธรรม
คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พลธรรม คือ ธรรมที่มีพลัง ทำให้เกิดความมั่นคง หนักแน่น ไม่หวั่นไหว มี 5 ประการ คือ
1.กำลังศรัทธา ความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย โดยเฉพาะเชื่อในพระพุทธเจ้า เชื่อในเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรมว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เบื้องต้นต้องปลูกศรัทธาในองค์พระพุทธเจ้าก่อนว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นพระอรหันต์ผู้บริสุทธิ์ห่างไกลจากกิเลส ทรงแนะนำสั่งสอนชาวโลกในทางที่ถูกต้องดีงามด้วยพระทัยที่บริสุทธิ์ ไม่หวังลาภยศใดๆ เป็นเครื่องตอบแทน เมื่อเกิดศรัทธาเชื่อมั่นในพระพุทธองค์แล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เลื่อมใส เกิดกำลังใจที่จะรักษาคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ไว้
2.กำลังวิริยะ ความพากเพียรพยายาม อุตสาหะไม่ท้อถอย เกิดต่อจากศรัทธา ศรัทธาทำให้เกิดความมั่นใจ เมื่อมั่นใจแล้วก็ทำให้พยายามเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ แต่วิริยะที่จะเป็นกำลังได้จะต้องเป็นวิริยะแบบต่อเนื่อง ไม่หยุดหรือเลิกละกลางคัน วิริยะจะทำให้เกิดกำลังใจ เกิดความเสียสละ เกิดความทุ่มเท เกิดความกล้าที่จะเผชิญกับอุปสรรค และความลำบากต่างๆ กล้าสละได้แม้กระทั่งชีวิตเพื่อรักษาธรรม
3.กำลังสติ ความระลึกได้ ไม่ลืมเลือน เตือนใจและบังคับตัวเองอยู่เสมอ ไม่ให้บกพร่อง สติเป็นกำลังสำคัญภายในที่คอยเตือนใจคนเราให้นึกเสียก่อนทำ ก่อนพูด การทำอะไรโดยขาดความยั้งคิดอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ ต้องคิดให้รอบคอบก่อนเสมอ ยั้งคิดและฉุกคิดเป็นระยะๆ การปล่อยวางสติจะทำให้ผิดพลาดบกพร่องได้ ตั้งอยู่ในฐานะประมาทอาจทำให้วิบัติล่มจมและถึงแก่ชีวิตได้
4.กำลังสมาธิ ความตั้งใจมั่น มีใจแน่วแน่ไม่หวั่นไหวเมื่อถูกกระทบ ไม่เกิดความท้อแท้เมื่อมีอุปสรรค สมาธิเป็นกำลังภายในที่สำคัญ เพราะเป็นเหตุให้จิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหว ไม่ท้อแท้ยอมแพ้กลางคัน เป็นเหตุให้งานที่เพียรพยายามทำอยู่ดำเนินไปได้เรื่อยๆ ไม่หยุดชะงัก ตามปกติใจของคนเราหวั่นไหวง่าย เมื่อมีอะไรมากระทบก็โอนเอนไปตามได้ง่าย หากใจประกอบด้วยสมาธิแล้วก็จะอยู่ในฐานะเหมือนเสาศิลาแท่งทึบซึ่งไม่โอนเอนไปตามกระแสลมที่พัดมากระทบ สามารถยืนหยัดปะทะกับกระแสลมได้โดยไม่หวั่นไหว
5.กำลังปัญญา ความฉลาดรอบรู้รอบคอบ พิจารณาถี่ถ้วน รู้ทุกแง่มุมที่เป็นคุณและโทษ ปัญญาเป็นกำลังสำคัญ เป็นเครื่องคอยกำกับกำลัง คือ ศรัทธา วิริยะ และสมาธิให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง กล่าวคือให้เชื่อมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง ให้พากเพียรพยายามในทางที่ถูกต้อง และให้จิตใจมั่นคงในทางที่ถูกต้อง เพราะก่อนเชื่อ ก่อนพยายาม ก่อนมีจิตใจมั่นคงนั้น ต้องได้พิจารณาไตร่ตรองด้วยปัญญาอย่างรอบคอบแล้ว
ในพลธรรม 5 ประการนี้ สติกับปัญญาเป็นหลักสำคัญ อาศัยเพียงความเชื่อมั่นหรือความเพียรพยายามอย่างเดียวไม่ได้ มีศรัทธาแรงกล้า มีความเพียรพยายามสูงส่ง แต่ขาดสติและขาดปัญญา ก็มีแต่จะดันทุรังไปข้างหน้า ขาดความยั้งคิด ไม่รู้ผิดรู้ถูก ทำให้เสียการใหญ่ไปได้ สติจึงเป็นกำลังหลักทำให้หนักแน่นและรอบคอบ ปัญญาเป็นกำลังเสริมทำให้เกิดความถูกต้องไม่ผิดพลาดเสียหาย เป็นคู่กันเสมอ จึงจะสำเร็จประโยชน์ตามที่ปรารถนา
|
Update : 21/8/2554
|
|