|
|
เที่ยวทั่วไทย-ท่ากว๊าน
ท่ากว๊าน
ท่ากว๊านที่ผมจะเล่าในวันนี้เป็นชื่อของถนนใน อ.เมืองพะเยา นอกจากจะเป็นถนนที่มีร้านข้าวซอยอร่อยที่สุดในพะเยาแล้วยังมีวัดสำคัญ ซึ่งเก็บรักษาพระพุทธรูปที่นำขึ้นมาจากกว๊านพะเยา แล้วนำองค์จำลองไปไว้ในกว๊านแทน เพื่อให้นักท่องเที่ยวลงเรือจากท่าชายกว๊านไปเที่ยวกัน ไปไหว้พระที่สันธาตุกลางกว๊าน ส่วนองค์จริงนั้นหากใครปรารถนาจะกราบไหว้ต้องไปที่วัดศรีอุโมงค์คำ
แนะนำเส้นทางไปยังถนนท่ากว๊านเสียก่อน หากจะบอกให้หาง่ายแต่ชนิดอ้อมโลกสักหน่อย ก็ต้องบอกว่าให้ไปตั้งต้นกันที่ถนนชายกว๊านพะเยา เริ่มจากหน้าอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง วิ่งเลียบชายกว๊านมาทางซ้าย มาไม่เกินร้อยเมตรจะมีถนนแยกซ้าย ถนนสายนี้คือ ถนนท่ากว๊าน หากเลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายนี้ จะผ่านร้านข้าวซอยอยู่ทางขวามือ เปิดร้านขายตั้งแต่แปดโมงเช้าไปถึงบ่ายอร่อยสุด ๆ เลยต่อไปทางซ้ายคือ ศาลหลักเมืองพะเยา ทางขวาของศาลหลักเมืองพะเยาคือ วัดศรีอุโมงคำ เลยต่อไปอีกนิดคือ วัดราชคฤห์ ก่อนที่จะเล่าถึงวัดสำคัญที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ที่นำขึ้นมาจากกว๊านพะเยาคือ พระเจ้ากว๊าน ขอทบทวนแหล่งท่องเที่ยวและประวัติในตัว อ.เมืองพะเยา เพิ่มเติมจากที่ได้เล่าไว้แล้ว
พ่อขุนงำเมือง เป็นกษัตริย์ของอาณาจักรพะเยา เป็นลำดับที่ ๙ นับจากพ่อขุนจอมธรรม พระราชโอรสของพ่อขุนเงิน หรือลาวเงิน กษัตริย์แห่งราชวงศ์ลวจักราช ผู้ครองเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน ซึ่งอาณาจักรนี้ได้เจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยของพ่อขุนงำเมือง และมีอีกสองอาณาจักรที่มีความเจริญทัดเทียมกันหรือใกล้เคียงกัน คืออาณาจักรล้านนาของพญามังราย และอาณาจักรสุโขทัยของพ่อขุนรามคำแหง หลังจากแผ่นดินพ่อขุนงำเมืองก็มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามอิทธิพลของอาณาจักรต่าง ๆ ที่ผลัดกันมีอำนาจในแถบนี้ ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ในรัชสมัยของพญาคำลือ เมืองพะเยาถูกพญาคำฟูร่วมมือกับพญากาวน่านตีได้ และนำเอาอาณาจักรพะเยาไปรวมไว้กับอาณาจักรล้านนา พะเยาจึงลดฐานะลงมาเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ ที่ขึ้นอยู่กับเชียงราย ตราบจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พะเยากลับได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งในฐานะเมืองหน้าด่านที่ขึ้นกับเมืองลำปาง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๖ และมีการเปลี่ยนแปลงจากแบบเดิมมาเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล ในรัชกาลที่ ๕ พะเยาจึงถูกผนวกเข้าไว้ใน "มณฑลลาวเฉียง" ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "มณฑลพายัพ" โดยมีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง แล้วเปลี่ยนมาเป็นจังหวัดบริเวณเมืองพะเยา แล้วก็ถูกยุบลงมาเป็นอำเภอพะเยาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ กลับยกฐานะขึ้นเป็น "จังหวัดพะเยา" อีกครั้งในปี พ.ศ.๒๕๒๐ จนถึงปัจจุบันนี้
สถานีประมงน้ำจืด อยู่ที่ถนนพหลโยธินระหว่าง กม.ที่ ๗๓๔ - ๗๓๕ เป็นสถานีเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดเช่นปลานิล ปลาไน ปลาตะเพียนขาว ฯ ที่สำคัญคือ สามารถเพาะพันธุ์ปลาได้สำเร็จ มีห้องแสดงพันธุ์ปลาสวยงาม และปลาที่หาดูยาก
วัดศรีโคมคำ อยู่ปลายถนนชายกว๊าน เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี มีพระพุทธรูปพระเจ้าตนหลวง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนองค์ใหญ่ที่สุดของล้านนาไทย พระพุทธรูปองค์นี้ถือว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของล้านนาไทย
วัดศรีอุโมงค์คำ เป็นวัดสำคัญอีกวัดหนึ่ง ที่สำคัญคือ มีพระเจดีย์สมัยเชียงแสน ที่งดงามยิ่งนักและได้รับการบูรณะแล้ว อยู่ด้านหลังอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่เมืองพะเยาอีกองค์หนึ่งคือ หลวงพ่องามเมืองเรืองฤทธิ์ ชาวบ้านเรียกว่า พระเจ้าล้านตื้อ ซึ่งถือกันว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดของล้านนาไทย และเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปะของภูกามยาว
ริมลานจอดรถ ทางซ้ายของทางขึ้นอุโบสถมีวิหารเล็ก ๆ ของพระเจ้าทัมใจ ที่จะไปไหว้กราบขอพรนกัน และในวิหารหลังเล็กนี่แหละที่เวลานี้นำพระพุทธรูปสำคัญที่เรียกกันว่า "พระเจ้ากว๊าน" นำมาประดิษฐานไว้เคียงข้างหลวงพ่อพระเจ้าทัมใจ
พระเจ้ากว๊าน เป็นพระพุทธรูปหินทราย ปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา สกุลช่างพะเยา มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ โดยได้ขุดพบที่สันธาตุ ประวัติการค้นพบเริ่มจากการบูรณะองค์พระเจ้าตนหลวงวัดศรีโคมคำ ที่ต้องมีการซ่อมแซมเพราะว่าน้ำในกว๊านพะเยาในเดือนพฤศจิกายนจะขึ้นสูงมาก จนท่วมบริเวณวัดศรีโคมคำ บางปีก็ถึงขั้นท่วมเข้าไปถึงองค์พระเจ้าตนหลวง จึงทำให้พระพุทธรูปแตกทรุดลง จึงได้มีการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖ ในการซ่อมแซมจะต้องนำปูนที่แตกออกจากองค์พระ ปรากฎว่ามีพระพิมพ์ดินดิบ "ยอดขุนพล" ติดออกมาด้วย เป็นพระที่คนโบราณสร้าง และบรรจุเอาไว้ในองค์พระเจ้าตนหลวง ทำให้พระพิมพ์ดินดิบยอดขุนพลเป็นที่นิยมกันมาก พระองค์หนึ่งมีราคาประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท เป็นผลให้ชาวพะเยาออกขุดหาพระยอดขุนพลกันเป็นการใหญ่ โดยเฉพาะในบริเวณกว๊านพะเยาในยามน้ำลดในฤดูแล้งจะลดลงมาก โดยเฉพาะในปี ๒๕๒๖ นี้น้ำลดมาก จนสันธาตุแห่งหนึ่งในกว๊านพะเยา ซึ่งเป็นฐานของพระธาตุองค์หนึ่งโผล่พ้นน้ำขึ้นมาเรียกว่า สันธาตุนายหมู วันหนึ่งมีชาวประมงไปพักหลบฝนอยู่ที่สันธาตุแห่งนี้ ที่สันธาตุมีต้นไม้ใหญ่พอกำบังลมและฝนได้ น้ำฝนได้เซาะหน้าดินจนพระดินดิบโผล่ขึ้นมา ชาวประมงจึงขุดคุ้ยดูได้พบพระดินดิบทั้งองค์เป็นพระยอดขุนพล ชาวบ้านรู้ข่าวจึงแห่กันมาขุดหากันเป็นการใหญ่ เมื่อขุดลึกลงไปจึงไปพบองค์พระพุทธรูปหินทรายองค์ใหญ่ จึงช่วยกันขุดขึ้นมาแล้วนำเรือหลายลำมาต่อเป็นแพ อาราธนาพระพุทธรูปหินทรายขึ้นแพล่องมาขึ้นฝั่งตัวเมืองพะเยา ใช้รถยกองค์พระขึ้นรถแห่แหนมาประดิษฐานไว้ยังวัดศรีอุโมงค์คำ แล้วถวายนามว่า พลวงพ่อพระเจ้ากว๊าน มีความศักดิ์สิทธิ์สูงยิ่ง ไปวัดศรีอุโมงคำ พอเข้าไปในวิหารหลวงพ่อทัมใจ และหลวงพ่อพระเจ้ากว๊านองค์ทางซ้ายมือคือ พระเจ้ากว๊าน
วัดราชคฤห์ อยู่ใกล้ ๆ กับวัดศรีอุโมงค์โคมคำ ทางขวาของหลักเมืองเช่นกัน วัดนี้มีเจดีย์ที่เก่าแก่ของเมืองพะเยา มีรูปแบบแตกต่างออกไป จากเจดีย์ล้านนาในเมืองพะเยา เพราะได้รับอิทธิพลจากศิลปะเชียงใหม่ตอนต้น
วัดหลวงราชสัณฐาน อยู่ในตัวเมืองเช่นกัน เดิมเป็นวัดร้าง ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๗ เจ้าหลวงวงศ์ได้ร่วมกับชาวบ้านทำการบูรณะจึงเรียกว่า วัดหลวง จุดเด่นของวัดอยู่ที่วิหารเป็นสถาปัตยกรรมแบบพื้นเมืองล้านนาที่งดงามและมีมีภาพจิตกรรม
พะเยายังมีวัดและพระพุทธรูปสำคัญอีกหลายแห่งเช่น วัดพระธาตุจอมทอง เยื้องกับวัดศรีโคมคำ วัดพระธาตุแจ้โว้ที่ อ.ดอกคำใต้ วัดพระธาตุจอมศีล อยู่ที่ดอกคำใต้เช่นนกัน วัดพระธาตุศรีปิงเมือง อยู่ที่ ต.ลอ อ.จุน วัดพระธาตุดอยหยวก ต.ปง อ.ปง วัดพระธาตุดอยคำ และวัดพระนั่งดิน ที่ ต.เจดีย์คำ อ.เชียงคำ วัดพระธาตุสบแวน ต.หย่วน อ.เชียงคำ วัดแสนเมืองมา ต.หย่วน อ.เชียงคำ มีอุโบสถไทลื้อ วัดพระธาตุจอมก๊อ ต.เจริญราษฎร์ อ.แม่ใจ วัดพระธาตุภูขวาง ต.ห้วยแก้ว อ.ภูกามยาว พระธาตุองค์นี้อยู่กลางเมืองโบราณคือ เวียงพระธาตุภูขวาง และพระธาตุวัดลี ตัววัดตั้งอยู่กลางเมืองโบราณรูปน้ำเต้า เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ วัดลี อยู่ที่ ต.เวียง อ.เมือง เล่าเรื่องเมืองพะเยา หากข้ามวัดอนาลโยไปก็เหมือนไม่ได้มาพะเยา ผมเคยเล่าเรื่องของวัดอนาลโยแล้วหลายครั้ง ขอนำมาเล่าประกอบไว้ให้สมบูรณ์
วัดอนาลโย ทิพยาราม ตั้งอยู่บนดอยบุษราคัม ห่างจากตัวเมืองไปตามถนนพหลโยธิน เส้นทางไปเชียงรายประมาณ ๗ กม. ประมาณ กม.๗๔๑.๕ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาย ๑๑๒๗ และ ๑๑๙๓ อีกประมาณ ๙ กม. ก่อนจะถึงลานจอดรถ จะมีทางแยกขวาไปยังอุทยานพระพุทธศาสนา บนดอยตรีเพชร เป็นอีกบริเวณหนึ่งของวัด ควรตรงขึ้นไปบนวัดอนาลโย ดอยบุษราคัมก่อนแล้วย้อนกลับมาขึ้นอุทยาน ฯ แต่ต้องมาขึ้นชมให้ได้ ซึ่งบนพุทธอุทยานจะผ่านสวนสุขภาพแล้ว ขึ้นสู่พุทธอุทยานที่จำลองสังเวชนียสถานเอาไว้งามยิ่ง และปลูกต้นสุพรรณิการ์ไว้สองข้างทางจำนวนนับพันต้น มีพระตำหนักภูตะวัน อยู่ด้านในสุด และมีร้านอาหารให้ชิมอร่อยเสียด้วย มีอยู่ร้านเดียว หลวงพ่อผู้สร้างวัดท่านชอบกุหลาบ ท่านตั้งชื่อให้นำชื่อของดอยสันปูเลยที่ตั้งของร้านอาหาร เหมาะชิมมื้อเที่ยง
ส่วนบนตัววัดอนาลโยนั้น จะมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ สร้างไว้อย่างประณีตงดงามเช่น พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ปางลีลา ปางนาคปรก รัตนเจดีย์ เก๋งจีนประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม อยู่ตรงลานจอดรถชั้นบน พระอุโบสถแบบล้านนา วิหารพระหมื่นปี และสุดท้ายคือ หอพระแก้วมรกตจำลอง และที่ชานหน้าหอนี้จะเป็นจุดชมวิวกว๊านพะเยาที่แสนสวย ผู้สร้างวัดอนาลโยคือ พระราชสังวรญาน (ไพบูลย์ สุมังคโล)
ร้านก๊วยจั๊บ ตั้งแต่อยู่ริมถนนพหลโยธิน (สายเก่า) อ.เมือง จ.พะเยา เส้นทางหากมาจาก อ.งาว พอเข้าถนนซูเปอร์ของพะเยา ตรงเรื่อยมาจนถึงสี่แยกประตูชัย ก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพหลโยธิน ดั้งเดิม ิวิ่งมาจนเห็นธนาคารกรุงไทยอยู่ทางขวามือ เยื้อง ๆ กันคือร้านก๊วยจั๊บ เดิมขายอยู่แถวเยาวราช ย้ายมาร่วมยี่สิบปีแล้ว เป็นร้านขนาด ๒ ห้อง ครัวตั้งโชว์อยู่หน้าร้าน ขายตั้งแต่เช้า บ่าย ๆ ก็หมดแล้ว มีทั้งก๊วยจั๊บน้ำข้นและน้ำใสแบบเยาวราช หากคนขาดข้าวเช้าไม่ได้ หรืออยากซดร้อน ๆ พร้อมกับพุ้ยข้าวสวยตาม ต้องสั่ง "เกาเหลาเลือดหมู" เด็ดนักและจะหอมด้วย "ผักจิงจูฉ่าย" ที่ร้านต้มเลือดหมูสมัยนี้ไม่ค่อยใส่ผักจิงจูฉ่ายกันแล้ว เพราะหายาก แต่ร้านนี้มีเพราะสั่งมาจากเชียงรายและในพะเยาก็มีปลูกกัน "ข้าวหมูแดง" ผมไปทีไรผมจะสั่งข้าวหมูแดงที่น้ำราดสีเข้ม รสออกหวานนิด ๆ แนมมาด้วยแตงกวา และต้นหอม แล้วสั่งต้มเลือดหมูมาซดกับข้าวหมูแดง ควรสั่งว่าเอาหมูกรอบใส่มาด้วย กรอบดีนัก ยังมีอีกของอร่อยร้านนี้มีแยะ ก๋วยเตี๋ยวเครื่องในหมู ข้าวขาหมู ตือฮวนเกี๊ยมฉ่าย กระเพาะปลา (ไม่มีทุกวัน)
.......................................................
|
Update : 20/8/2554
|
|