|
|
การเลี้ยงผึ้งโพรง-3
วัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการผลิตผึ้งนางพญา |
[ ขยายดูภาพใหญ่ ]
|
วัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการผลิตผึ้งนางพญา ๑. ถ้วยสำหรับเพาะนางพญา (queen cup) ซึ่งทำจากไขผึ้งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๖ เซนติเมตร ๒. คอนสำหรับติดถ้วยเพาะนางพญา ๓. รอยัลเยลลี หรือน้ำผึ้ง อย่างใดอย่างหนึ่ง ๔. ไม้สำหรับย้ายตัว (ตัวอ่อนอายุไม่เกิน ๒๔ ชั่วโมง) ถ้าเลี้ยงผึ้งเป็นอาชีพ เครื่องมือย้ายตัวอ่อนนี้ ควรทำด้วยเหล็กกล้าไร้สนิม (stainless steel) ซึ่งใช้งานไม่นานไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย ๕. รังผึ้งที่ใช้ทำพันธุ์ ๖. รังผึ้งที่ใช้เป็นรังเพาะเลี้ยง |
วิธีการผลิตผึ้งนางพญา |
[ ขยายดูภาพใหญ่ ]
|
เมื่อเตรียมเครื่องมือที่จำเป็นครบถ้วนแล้วก็มาถึงวิธีการเพาะ ซึ่งเราจะต้องทำความเข้าใจเป็นพื้นฐานเสียก่อนว่า การเพาะผึ้งนางพญานั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ต้องอาศัยความละเอียดนุ่มนวล รวดเร็ว และช่วงสังเกตมาประกอบกันดังนั้นผู้ทำจึงต้องหมั่นฝึกให้เกิดความชำนาญจึงจะประสบความสำเร็จ ๑. จัดเตรียมรังผึ้งที่แข็งแรง อาหารสมบูรณ์มีจำนวนคอนประมาณ ๗ - ๘ คอน ประกอบด้วยคอนอาหาร ๓ คอน คอนตัวอ่อน ๑ คอน และคอนดักแด้ที่แก่จนเริ่มมีผึ้งคลานออกมาเป็นตัวเต็มวัย ๓-๔ คอน เพื่อใช้สำหรับเป็นรังเพราะเลี้ยงตัวอ่อนที่จะเกิดเป็นผึ้งนางพญา ๒. จับผึ้งนางพญาเก่าภายในรังออกไปเพื่อให้มีสภาพที่ขาดผึ้งนางพญาเป็นเวลาอย่างน้อย ๑ วัน ตรวจและทำลายหลอดวงนางพญาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติให้หมด ๓. เตรียมถ้วยเพาะนางพญาติดกับคอนให้เรียบร้อย ในคอนหนึ่งถ้วยให้ห่างกันประมาณ ๑ นิ้ว (ประมาณ ๒๐ - ๓๐ ถ้วย) ๔. นำคอนเพาะนางพญาจากข้อ ๓ ไปใส่ในรังสำหรับเพาะเลี้ยง เพื่อให้ผึ้งงานทำความสะอาดและยอมรับอย่างน้อยครึ่งวัน จึงนำออกมาหยดรอยัลเยลี หรือน้ำผึ้งอย่างใดอย่างหนึ่งลงที่ก้นถ้วยเพาะ ๑ หยดเล็ก ๆ ๕. เลือกคอนตัวอ่อนที่มีอายุไม่เกิน ๒๔ ชั่วโมง มาจากรังผึ้งซึ่งมีประวัติดี ๖. ย้ายตัวอ่อนโดยใช้ไม้สำหรับย้ายตัวอ่อนนำมาใส่ลงในถ้วยเพาะนางพญาโดยวางตัวอ่อนให้อยู่ตรงกลางถ้วยและอยู่บนหยดรอยัลเยลลีหรือน้ำผึ้งที่เตรียมไว้พอดี หลักสำคัญในการย้ายตัวอ่อน ก็คือ ต้องกระทำอย่างรวดเร็วที่สุด และไม่ทำให้ตัวอ่อนบอบช้ำ ๗. นำคอนที่ย้ายตัวอ่อนเสร็จแล้วกลับไปใส่ในรังเพาะเลี้ยง โดยวางคอนให้อยู่ระหว่างคอนที่มีอาหารและมีตัวอ่อนวัยแรกเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ผึ้งงานนำอาหารมาเลี้ยงตัวอ่อนที่จะเป็นนางพญาได้ง่าย ๘. เลี้ยงน้ำหวานในรังเพาะทันทีและเลี้ยงทุวันจนกระทั่งหลอดปิด ๙. ประมาณ ๒-๓ วัน กลับมาตรวจผลการย้ายตัวอ่อน ถ้าหากมีการเจริญดีมีอาหารสมบูรณ์ก็ปล่อยให้เจริญต่อไปได้เลย แต่ถ้าหากการย้ายหนอนไม่ค่อยได้ผลดีก็ทำใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยตักตัวอ่อนตัวเก่าทิ้งไป แล้วย้ายตัวอ่อนตัวใหม่ที่มีอายุไม่เกิน ๒๔ ชั่วโมงลงไปใหม่ วิธีนี้จะช่วยให้ผึ้งงานยอมรับมากขึ้น และได้ผึ้งนางพญาที่มีความสมบูรณ์มากกว่าการย้ายตัวอ่อนเพียงครั้งเดียว ในระยะนี้ถ้ามีหลอดรวงนางพญาตามธรรมชาติเกิดขึ้นให้ทำลายให้หมด ๑๐. หลังจากการย้ายตัวอ่อนประมาณ ๑๐ วัน จะต้องทำการแยกหลอดผึ้งนางพญานำไปติดในรังผสมพันธุ์ขนาดเล็ก ซึ่งจัดเตรียมคอนอาหารใส่เอาไว้ด้วย เพื่อที่จะให้เป็นอาหารสำหรับผึ้งนางพญาที่จะออกมาต่อไป และคอนที่มีผึ้งงานเต็มอีก ๒-๓ คอน ๑๑. หลังจากนี้ประมาณ ๑-๓ วัน ผึ้งนางพญาในหลอดจะออกเป็นตัวเต็มวัย จำเป็นที่จะต้องให้อาหารอย่างสม่ำเสมอ ถ้าหากขาดอาหารผึ้งนางพญาอาจตายได้โดยง่าย ผึ้งนางพญาจะบินไปผสมพันธุ์เมื่ออายุได้ ๓ - ๗ วัน และจะกลับมาวางไข่ภายใน ๒-๓ วัน |
ปัจจัยสำคัญซึ่งมีผลต่อการผลิตผึ้งนางพญา |
[ ขยายดูภาพใหญ่ ]
|
๑. สภาพความแข็งแรงของรังที่ใช้สำหรับเลี้ยงตัวอ่อนที่จะผลิตผึ้งนางพญา ถ้าหากมีความแข็งแรงและอุดมสมบูรณ์มาก อัตราการอยู่รอดสูงกว่ารังที่ไม่ค่อยแข็งแรง ๒. สภาพดินฟ้าอากาศเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญประการหนึ่ง คือ ถ้าหากอากาศไม่ปลอดโปร่งแจ่มใส ฝนตก ผึ้งงานจะไม่ค่อยยอมรับตัวหนอนที่ใส่ลงไป แต่ถ้าท้องฟ้าแจ่มใส ทีแสงแดดฝนไม่ตกผึ้งงานจะยอมรับได้ง่าย ทำให้อัตราการอยู่รอดของตัวอ่อนมีมากกว่าในกรณีที่ดินฟ้าอากาศไม่ค่อยดี ๓. การบาดเจ็บของตัวหนอนขณะย้ายจากหลอดรวงไปใส่ในถ้วยนางพญา เนื่องจากการย้ายหนอนต้องใช้ไม้หรือโลหะสำหรับตักตัวหนอนออกมา หากทำอย่างไม่ระมัดระวังก็มีโอกาสที่จะทำอันตรายกับตัวหนอนได้ง่าย ดังนั้นผู้ที่ฝึกทำในระยะแรกควรตรวจดูผลของการย้ายตัวหนอนก่อน โดยใช้กล้องจุลทรรศน์แบบสเตอริโอ (กล้องสองตา) ๔. ระยะเวลาในการที่ตัวหนอนอยู่นอกรังควรใช้เวลาน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการย้ายตัวหนอน แล้วรีบเอาคอนถ้วยนางพญากลับคืนรังทันที เพราะสภาพแวดล้อมแตกต่างจากภายในรังผึ้งถ้าหากใช้เวลานานอาจทำให้ตัวหนอนตายได้ง่าย ๕. การแยกหลอดและการขนย้ายหลอดผึ้งนางพญา ไม่ควรทำในขณะที่ผึ้งมีอายุน้อย ๆ เพราะโอกาสที่จะกระทบกระเทือนมีค่อนข้างสูงและต้องกระทำอย่างนุ่มนวลที่สุด ๖. เมื่อผึ้งนางพญาที่อยู่ในรัง ผสมพันธุ์แล้วเริ่มวางไข่อย่างสม่ำเสมอ และแน่ใจว่าผึ้งรุ่นลูกที่ออกมาเป็นผึ้งงานแล้ว จึงเริ่มแยกรังโดยนำผึ้งนางพญาตัวใหม่นี้ไปใส่ในรังที่ขาดผึ้งนางพญาที่เตรียมไว้ได้ทันที ในกรณีเปลี่ยนนางพญาที่มีอายุมากที่เราไม่ต้องการ ให้จับนางพญาตัวที่ไม่ต้องการออก และใส่นางพญาตัวใหม่ที่อยู่ในกรงขนาดเล็กลงไป โดยแขวนไว้ระหว่างคอนผึ้ง ๑ - ๒ วัน จนกว่าผึ้งงานจะยอมรับเลี้ยงดูนางพญาตัวใหม่ ก่อนที่จะเปิดกรงขนาดเล็กให้นางพญาตัวใหม่ออกมา ความสำเร็จในการผลิตผึ้งนางพญาขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญ คือ การฝึกตนเองให้เกิดความชำนาญ พร้อมทั้งการสังเกตธรรมชาติความพร้อมของรังผึ้งและอาหารของผึ้ง ถ้าหากเราสามารถปฏิบัติได้ตามนี้ เราก็จะมีผึ้งนางพญาที่มีคุณภาพดีเป็นจำนวนมากได้ตามต้องการ การขยายกิจการในการเลี้ยงผึ้งก็จะสามารถดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว การเลี้ยงผึ้งโพรงในประเทศไทยสามารถนำเทคโนโลยีในการเลี้ยงผึ้งสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้และสามารถเลี้ยงในหีบเลี้ยงมาตรฐาน เช่น การใช้แผ่นรังเทียม การเพาะนางพญา การผสมเทียมผึ้งนางพญา การคัดเลือกพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ผึ้งที่ไม่ดุ หาอาหารเก่ง ไม่หนีรังง่าย ซึ่งต่อไปในอนาคตผึ้งโพรงอาจสามารถให้ผลิตผลที่ใกล้เคียงกับผึ้งพันธุ์ต่างประเทศได้ อันจะส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตน้ำผึ้งในประเทศไทยลดลง |
|
Update : 19/8/2554
|
|