|
|
การเลี้ยงผึ้งโพรง-2
ลักษณะทำเลที่ตั้งรังผึ้ง |
[ ขยายดูภาพใหญ่ ]
|
สถานที่ที่เหมาะต่อการตั้งรังผึ้งควรให้อยู่ใกล้กับแหล่งพืชที่เป็นอาหารของผึ้งให้มากที่สุดและมีดอกไม้บานตลอดปี ควรจะเป็นลานโล่งใกล้กับแหล่งน้ำ แต่น้ำไม่ท่วม สถานที่เลี้ยงผึ้งนี้นิยมเรียกกันว่า "ลานเลี้ยงผึ้ง" การเลือกลานเลี้ยงผึ้ง นับว่าเป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ทีเดียว ถ้าเลือกลานเลี้ยงผึ้งไม่ดี จะนำไปสู่ความหายนะได้ทันที เช่น เลือกลานเลี้ยงผึ้งที่ใกล้สวนผลไม้ที่ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงเป็นประจำผึ้งจะได้รับพิษจากยาฆ่าแมลงตายได้อย่างรวดเร็วบางครั้งผู้เลี้ยงผึ้งเลือกลานเลี้ยงผึ้งใกล้ริมแม่น้ำ โดยมิได้ศึกษาเรื่องน้ำท่วมมาก่อนดังนี้ พอถึงฤดูฝนเกิดน้ำหลากไหลพัดพารังผึ้งควรอยู่ในสวนผลไม้หรือที่มีต้นไม้ใหญ่เป็นฉากกำบังลมและแดดเพราะว่าถ้าลมแรงมากไปจะปะทะการบินของผึ้งในการบินออกหาอาหาร ถ้าร้อนมากไปผึ้งจะต้องเสียพลังงานเป็นจำนวนมากเพื่อลดความร้อนในรัง ลานผึ้งไม่ควรอยู่ในแหล่งชุมชนหรืออยู่ติดกับถนนที่มีแสงจากไฟฟ้า โดยเฉพาะผึ้งโพรงจะออกมาเล่นไฟในตอนหัวค่ำและเช้ามืด ผึ้งที่ออกมาเล่นไฟนี้อาจจะตายได้ เพราะบินจนหมดแรงหรือถูกสัตว์พวกจิ้งจก ตุ๊กแก กบ และคางคกจับกินลานผึ้งที่อยู่ในที่ชุมชนติดทางเดินเท้า ผึ้งอาจจะบินไปชนและต่อยคนที่เดินผ่านไปมาได้ อย่างไรก็ตามควรเลือกลานผึ้งที่อยู่ใกล้กับสถานที่ที่มีการคมนาคมสะดวก เพราะมีความจำเป็นต้องขนย้ายรังผึ้งไปในแหล่งที่มีดอกไม้บานในบางครั้ง ตลอดจนสะดวกต่อการขนย้ายอุปกรณ์การเลี้ยงผึ้งและผลิตภัณฑ์ผึ้งในการจัดจำหน่ายอีกด้วย |
ชนิดและปริมาณพืชอาหาร |
[ ขยายดูภาพใหญ่ ]
|
ผึ้งและดอกไม้ซึ้งเป็นพืชอาหารของผึ้ง เป็นของคู่กันในการดำรงชีวิต ผึ้งจะขาดน้ำหวานและเกสรดอกไม้ไม่ได้ ในเวลาเดียวกันพืชดอกไม้ย่อมต้องการให้ผึ้งช่วยผสมพันธุ์ด้วย น้ำหวานเป็นส่วนที่หลั่งออกมาจากต่อมน้ำหวานของดอกไม้ผึ้งงานจะบินไปดูดน้ำหวานจากต่อมน้ำหวานของดอกไม้เพื่อนำกลับมาบ่มให้เข้มข้นจนกลายเป็นน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานแก่ผึ้ง สำหรับเกสรของดอกไม้นั้นคือ เซลล์สืบพันธุ์ของพืชซึ่งเป็นอาหารประเภทโปรตีน ช่วยให้ผึ้งเจริญเติบโตจนถึงวัยสืบพันธุ์ ผึ้งงานต้องการโปรตีนเพื่อผลิตนมผึ้งให้กับผึ้งตัวอ่อน (อายุ ๑-๓ วัน) และผึ้งนางพญา ดังนั้นผู้เลี้ยงผึ้งจะต้องรู้จักแหล่งและชนิดของพืชอาหารของผึ้ง เพราะว่าดอกไม้จากพืชบางชนิดให้น้ำหวานมาก เช่น สาบเสือ ลำไข ลิ้นจี่ เงาะ และพืชบางชนิดให้เกสรมาก เช่น ดอกข้าวโพด ดอกไมยราบ แต่ดอกไม้ บางชนิดให้ทั้งน้ำหวานและเกสรคือ ดอกนุ่น และดอกทานตะวัน เป็นต้น (เพื่อศึกษาข้อมูลเรื่องพืชอาหารผึ้งเพิ่มเติม โปรดดูตารางแสดงรายชื่อพืชที่เป็นอาหารของผึ้งที่เลี้ยงในประเทศไทย) นอกจากนั้นผู้เลี้ยงผึ้งจะต้องพิจารณาปริมาณการกระจายของดอกไม้ในท้องที่นั้นด้วย ควรเลือกพื้นที่ที่ปริมาณพืชอาหารออกดอกหนาแน่นและบานสะพรั่งติดต่อกันเป็นช่วงระยะเวลานาน ๆ เช่น ในสวนลำไย สวนเงาะ ไร่ข้าวโพด ไร่นุ่น หรือไร่ทานตะวันที่มีเนื้อที่เป็นพัน ๆ ไร่ เป็นต้น การรู้ระยะเวลาดอกไม้บานเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เพราะผู้เลี้ยงจะได้จัดการเตรียมผึ้งเข้าไปเก็บน้ำผึ้งได้อย่างถูกต้อง |
ศัตรูผึ้ง |
|
บริเวณลานเลี้ยงผึ้งที่ดีควรจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยจากศัตรูผึ้งที่จะเข้ามารบกวนหรือทำลายรังผึ้ง ดังนั้นจึงควรสำรวจเสียก่อนทุกครั้งในลานผึ้งก่อนที่จะนำผึ้งเข้าไปเลี้ยง ผึ้งมีศัตรูธรรมชาติเช่นเดียวกับแมลงอื่น ๆ ศัตรูเหล่านี้ได้แก่ ไร ตัวต่อ และมด ซึ่งจัดเป็นศัตรูที่สำคัญของผึ้งทุกชนิด โดยเฉพาะผึ้งโพรงฝรั่งซึ่งเรานำมาเลี้ยงจากต่างประเทศจะมีศัตรูรบกวนและรุนแรงกว่าผึ้งโพรงพื้นเมืองของประเทศไทย ไร เป็นสัตว์ขนาดเล็กที่มี ๘ ขาซึ่งไม่ใช่แมลง มองแทบไม่เห็นด้วยตาเปล่า ไรดูดเลือดผึ้งเป็นอาหาร โดยเฉพาะชอบดูดเลือดผึ้งในระยะดักแด้มากที่สุด ถ้ามีไรเป็นจำนวนมาก ๆ ผึ้งโพรงฝรั่งไม่สามารถเจริญเป็นตัวเต็มวัยได้ ผึ้งโพรงไทยต้านทานไร ได้ดีกว่าผึ้งโพรงฝรั่ง ตัวต่อ เป็นแมลงที่เป็นศัตรูสำคัญของผึ้งอีกชนิดหนึ่ง สามารถจับผึ้งกินเป็นอาหารได้ตามบริเวณดอกไม้และที่หน้ารังผึ้ง ถ้าผึ้งอ่อนแอลงมาก ๆ ตัวต่อจะยกพวกเข้าโจมตีผึ้งให้เสียหายได้ทั้งรัง แต่ผึ้งโพรงไทยสามารถต่อสู้กับตัวต่อได้ดีเช่นกัน ถ้าเราดูแลรักษาให้ผึ้งมีประชากรมาก ๆ แข็งแรงอยู่เสมอ มดแดง ที่ชอบสร้างรังบนต้นมะม่วงและต้นผลไม้ต่าง ๆ เป็นศัตรูที่สำคัญของผึ้งทุกชนิดมดแดงจะเฝ้าคอยจับผึ้งตามดอกไม้เพื่อกินผึ้งเป็นอาหาร บางครั้งมดแดงจะเฝ้าคอยจับผึ้งตามดอกไม้เพื่อกินผึ้งเป็นอาหาร บางครั้งมดแดงจะบุกโจมตีผึ้งทั้งรัง ทำให้ผึ้งหนีรังไปในที่สุดเพราะไม่สามารถสู้กับมดแดงได้ ดังนั้นก่อนตั้งรังผึ้งทุกครั้งต้องกำจัดมดแดงให้หมด นอกจากศัตรูทั้ง ๓ ชนิดแล้ว ยังมีหนอนผีเสื้อกินไขผึ้ง ถังแม้ว่าหนอนกินไขผึ้งจะไม่ได้เป็นศัตรูโดยตรงกับผึ้งแต่หนอนกินไขผึ้งจะเข้าทำลายกินไขผึ้ง ทำให้ผึ้งหนีรังไปในที่สุด โดยเฉพาะผึ้งโพรงที่หนีรังอยู่เสมอ เพราะโดนหนอนชนิดนี้รบกวน การทำความสะอาดภายในรังบ่อย ๆ ตลอดจนการบำรุงรักษาผึ้งให้แข็งแรง จะลดการระบาดของหนอนผีเสื้อชนิดนี้ได้ สำหรับศัตรูอื่น ๆ ที่สามารถรบกวนและกินผึ้งเป็นอาหารได้ คือ แมงมุมหลายชนิดที่ชอบชักใยจับผึ้งบริเวณหน้ารัง กิ้งก่า จิ้งจก คางคก อึ่งอ่าง ละกบ ชอบดักกินผึ้งหน้ารังเช่นกัน แมลงปอสามารถจับผึ้งกินในอากาศได้ นอกจากนั้นยังมีนกหลายชนิดเช่น นกนางแอ่น และ นกแซงแซว โดยเฉพาะนกจาบคาในฤดูหนาวจะบินมาเป็นฝูงเพื่อโฉบกินผึ้ง |
พิษของยาฆ่าแมลงต่อผึ้ง |
[ ขยายดูภาพใหญ่ ]
|
ยาฆ่าแมลงก่อให้เกิดปัญหาความเป็นพิษอย่างรุนแรงต่อผึ้งมากที่สุด ผึ้งในธรรมชาติตายไปมากมายจนนับจำนวนไม่ได้เพราะยาฆ่าแมลงที่ใช้ในประเทศไทยเนื่องจากคนใช้ยาฆ่าแมลงไม่เคยคิดเลยว่ายาฆ่าแมลงไม่เคยคิดเลยว่ายาฆ่าแมลงที่ใช้นั้นมีพิษต่อผึ้งที่มีประโยชน์ของเรา ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือ ผึ้งหลวงซึ่งเคยมีเป็นจำนวนมากในชนบท ในสวนและในไร่นา ปัจจุบันเหลือผึ้งหลวงมาเกาะทำรังน้อยลงทุกปี ผึ้งเลี้ยงในประเทศไทยนั้นตายลงเพราะพิษยาฆ่าแมลงเป็นจำนวนมาก จากการสำรวจผู้เลี้ยงผึ้ง ๒๐ รายในจังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏว่ามีผู้เคยประสบปัญหาผึ้งพันธุ์ที่เลี้ยงได้รับพิษจากยาฆ่าแมลงตายถึง ๑๘ ราย คิดเป็นร้อยละ ๙๐ ปัญหาความเป็นพิษของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีต่อการเลี้ยงผึ้งพันธุ์มีทางแก้ไขได้ ถ้าเกษตรกรและผู้เลี้ยงผึ้งให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันและปฏิบัติตามคำแนะนำของนักวิชาการเลี้ยงผึ้งจากกรมส่งเสริมการเกษตร อุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งเป็นของใหม่ในประเทศไทย ดังนั้นผู้เลี้ยงผึ้ง จะต้องพยายามสนใจและทำความเข้าใจในเรื่องสารเคมีที่เป็นพิษต่อผึ้ง เพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขให้ทันท่วงที อย่างไรก็ดี อันตรายจากสารเคมีที่มีพิษต่อผึ้งในประเทศไทยยังมีปัญหาน้อยมากเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ เนื่องจากเกษตรกรผู้ใช้สารเคมี ยังไม่นิยมการฉีดพ่นสารเคมีด้วยเครื่องบิน ดังนั้นถ้าผู้เลี้ยงผึ้งปฏิบัติตามคำแนะนำและหาวิธีการป้องกันอันตรายจากสารเคมีที่มีพิษต่อผึ้งได้อย่างถูกต้อง อุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ในประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะพัฒนามากขึ้นตามลำดับนั้น คงจะมีอนาคตแจ่มใสมากขึ้น |
ขั้นตอนการจับผึ้งโพรงมาเลี้ยง |
[ ขยายดูภาพใหญ่ ]
|
เมื่อเรามีสถานที่ที่เหมาะสมแล้ว ขั้นต่อไปก็คือ การเตรียมอุปกรณ์ ที่จำเป็นในการเลี้ยงผึ้ง ได้แก่ หีบเลี้ยงผึ้ง คอน แผ่นรังเทียม กล่องนางพญา หมวกคลุมศีรษะ ซึ่งมีผ้าตาข่ายข้างหน้ากันผึ้งต่อย เหล็กงัดรัง มีด ค้อน ตะปู และเลื่อย เป็นต้น ขั้นตอนสำคัญต่อมาคือ การจับผึ้งมาเลี้ยงก่อนที่จะจับผึ้งต้องสำรวจดูว่ามีผึ้งอยู่ที่ใดบ้างและจับได้ง่าย ไม่ควรอยู่สูงจนเกินไป การจับผึ้งมีขั้นตอนดังต่อไปนี้ ๑. เตรียมอุปกรณ์จังผึ้ง ไดแก่ หีบจับผึ้ง (๑๐x๑๒x๑๐ ลูกบาศก์นิ้ว) ซึ่งมีถุงตาข่ายปลายเปิดติดอยู่ด้านล่าง หมวกตาข่ายกันผึ้งต่อย กาบมะพร้าว ไม้ขีดไฟ สิ่ว ค้อน และตะปู ๒. เมื่อพบรังผึ้งซึ่งอยู่ในโพรง สำรวจรูทางเข้าออกของผึ้ง ถ้ามี ๒ ทางให้ปิดเหลือเพียงรูเดียว จากนั้นเจาะรูทางเข้าออกให้กว้างพอสำหรับมือที่จะล้วงเข้าไปอย่างสะดวก ข้าควรระวังในขณะที่เจาะขยายทางเข้าออก ควรสวมหมวกตาข่ายและอุดรูทางเข้าออกไว้ด้วย เพราะแรงสั่นสะเทือนขณะที่เจาะจะทำให้ผึ้งทหารที่เฝ้าหน้ารังเข้าโจมตีคนจับผึ้งได้ ๓. ค่อย ๆ เปิดรูทางเข้าออกที่เจาะไว้ จุดไฟที่กาบมะพร้าวให้มีแต่ควันไฟ เพื่อไล่ผึ้งให้ขึ้นไปอยู่เหนือโพรงให้หมด จากนั้นดึงรวงผึ้งออก มาพร้อมกับใช้ควันไล่ผึ้ง ถ้ามีผึ้งติดรวงรังออกมาควรตรวจดูให้ดี อย่าให้นางพญาหลุดหนีออกไปในขณะที่ดึงรวงผึ้งออกมาเป็นอันขาด ถ้านางพญาหนีหายไป การจับผึ้งรังนั้นเป็นอันไร้ผลเพราะการจับผึ้งไปโดยไม่มีนางพญาจะไม่สามารถเลี้ยงสำเร็จได้เลย ถ้าพบนางพญาให้จับใส่ในกล่องขังนางพญาทันที ๔. เมื่อดึงรวงผึ้งออกหมดแล้ว ใช้มือหรือไม้สอดเข้าไปในโพรงเพื่อวัดความสูงของโพรงแล้วเจาะรูเล็ก ๆ ประมาณ ๒x๒ ตารางนิ้ว ให้พอดีกับความสูงของโพรง จากนั้นเอาหีบจับผึ้งแขวนไว้เหนือรู โดยให้ถุงตาข่ายซึ่งติดอยู่ใต้หีบคลุมปิดปากรูอย่างมิดชิด ๕. ใช้ควันรมที่ปากรูใหญ่ทางด้านล่างอีกครั้ง ฝูงนี้จะหนีควันออกทางรูบนเข้าสู่หีบจับผึ้งตรวจดูในโพรงอีกครั้งว่าไม่มีผึ้งหลงเหลืออยู่แล้วจึงผูกปากถุงให้แน่นโดยที่ประชากรผึ้งทั้งรั้งอยู่ในหีบ ๖. นำหีบจับผึ้งกลับไปเพื่อย้ายเข้าสู่หีบเลี้ยงมาตรฐาน โดยนำรวงผึ้งที่ดึงออกมาจากรังเดิมมาตัดให้พอดีกับขนาดคอน พยายามเลือกรวงผึ้งที่มีหลอดรวงตัวอ่อนของผึ้งระยะดักแด้มาก ๆ เมื่อวัดและตัดรวงผึ้งได้ขนาดแล้ว นำคอนมาทาบให้เส้นลวดทับรวงผึ้งจากนั้นใช้มีดคม ๆ กรีดตามรอยเส้นลวดให้ลึกประมาณครึ่งหนึ่งของความหนาของรวงผึ้งตามรอยเส้นลวดทั้งสามเส้นใช้มือกดเส้นลวดให้ฝังลึกลงไปในรวงผึ้ง ใช้เชือกเส้นเล็ก ๆ ผูกรวงผึ้งให้ติดกับคอน แล้วแก้เชือกออกในวันที่สาม นำกล่องที่ขังนางพญามาผูกติดกับคอน ในกรณีที่นางพญาอยู่ในหีบจับผึ้งอยู่แล้ว ให้ผ่านขั้นตอนนี้ไปได้เลย ๗. นำหีบจับผึ้งไปใส่ในหีบเลี้ยง เปิดปากถุงให้ผึ้งออกไปหานางพญาและห่อหุ้มรวงรังปิดฝาหีบเลี้ยงทิ้งไว้ ๑ คืน และเปิดปากรังตอนเช้าให้ผึ้งบินออกหาอาหารตามปกติ อนึ่ง การจับผึ้งควรจับในตอนเย็น ๆ เพราะมีประชากรผึ้งเกือบทั้งหมด เมื่อนำผึ้งไปใส่ในหีบเลี้ยงเป็นเวลามืดพอดี ตอนเช้าผึ้งก็จะออกหาอาหารตามปกติ แต่สถานที่เลี้ยงผึ้งควรห่างจากที่จับผึ้งอย่างน้อย ๓ - ๕ กิโลเมตร มิฉะนั้นผึ้งจะบินกลับไปรังเดิมอีก |
การบริหารงานเลี้ยงผึ้ง |
[ ขยายดูภาพใหญ่ ] |
หลังจากจับผึ้งโพรงจากธรรมชาติมาเลี้ยงแล้วก็ต้องหมั่นตรวจสอบสภาพภายในรังสัปดาห์ละ ๑-๒ ครั้ง ดังนี้ ๑. ตรวจดูการวางไข่ของนางพญาว่าปกติดีหรือไม่ สม่ำเสมอเพียงใด ๒. ตรวจดูอาหารภายในรัง ถ้าขาดน้ำหวานหรือเกสรควรให้น้ำเชื่อมหรือเกสรเทียม (แป้งถั่วเหลือง) แก่ผึ้งที่จับมาเลี้ยง เพราะถ้าผึ้งขาดอาหารมันจะหนีรังทันที ๓. ถ้าในรังมีปริมาณผึ้งมาก ควรเสริมคอนติดแผ่นรังเทียมและให้น้ำเชื่อมเพื่อให้ผึ้งสร้างหลอดรังเพิ่มขึ้น ๔. ตรวจดูหลอดรวงนางพญาที่เกิดตามธรรมชาติ ถ้าพบให้รีบทำลาย เพื่อป้องกันผึ้งแยกรังเพราะผึ้งโพรงไทยมีพฤติกรรมแยกรังง่ายกว่าผึ้งโพรงฝรั่ง ศัตรูของผึ้งส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์ต่าง ๆ เช่น คางคก จิ้งจก ตุ๊กแก กิ้งก่า มด และนก ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการกำจัดศัตรูเหล่านั้น และ ถากถางบริเวณที่ตั้งรังให้สะอาด ไม่ให้มีวัชพืชปกคลุม ใช้ผ้าชุบน้ำมันพันรอบขาตั้งหีบเลี้ยงผึ้งกันมด ศัตรูของผึ้งที่เป็นอันตรายมากก็คือ ยาฆ่าแมลง อาจทำให้ผึ้งตายหมดรังได้ ป้องกันโดยย้ายหีบเลี้ยงผึ้งไปตั้งไว้ที่อื่นชั่วคราว การจัดให้ผึ้งโพรงไทยเก็บน้ำผึ้ง สามารถนำหลักการของผึ้งโพรงฝรั่งมาใช้ได้ เช่น การนำผึ้งโพรงไปเก็บน้ำผึ้งในสวนผลไม้ อาทิเช่น ในสวนเงาะ สวนลิ้นจี่ สวนลำไย และสวนมะพร้าวในฤดูดอกไม้บาน เป็นต้น |
การเก็บน้ำผึ้ง |
[ ขยายดูภาพใหญ่ ] |
การเก็บน้ำผึ้งออกจากรังทำได้โดยการสลัดน้ำผึ้ง ขั้นตอนในการสลัดน้ำผึ้งออกจากรัง มีดังนี้ ๑. ยกคอนที่มีน้ำผึ้งมากและมีตัวอ่อนของผึ้งน้อยหรือไม่มีเลย เขย่าคอนให้ผึ้งหลุดจากคอนจนหมด ๒. ใช้มีดบางแช่น้ำร้อนปาดแผ่นไขผึ้งที่ปิดหลอดรวงน้ำผึ้งในคอนออกให้หมด ๓. นำไปใส่ในถึงสลัดน้ำผึ้ง ถ้าไม่มีถังสลัดอาจทำได้โดยนำตะแกรงลวดห่าง ๆ มาประกบติดคอนน้ำผึ้งทั้งสองด้านก่อนที่จะสลัด แล้วนำภาชนะที่มีขนาดโตกว่าคอนผึ้งมาไว้รองรับน้ำผึ้งยกคอนขึ้นในแนวระดับแล้วสลัดอย่างแรงให้น้ำผึ้งตกลงในภาชนะ จากนั้นนำน้ำผึ้งที่ได้ไปกรอบด้วยผ้าขาวบาง ตั้งทิ้งไว้ให้ฟองอากาศลอยขึ้นแล้วจึงบรรจุใส่ขวดปิดฝาให้สนิท สำหรับรวงผึ้งที่สลัดน้ำผึ้งออกแล้วสามารถนำกลับไปใช้ได้อีกการคัดเลือกรังผึ้ง |
หลักในการคัดเลือกรังผึ้งมีอะไรบ้าง |
[ ขยายดูภาพใหญ่ ] |
หลักในการคัดเลือกรังผึ้ง จะต้องเป็นรังผึ้งที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ๑. มีผึ้งนางพญาที่มีอายุน้อย มีประสิทธิภาพการวางไข่สูง และอายุการวางไข่นาน ๒. มีผึ้งงานที่ขยันหาอาหารทั้งน้ำหวานและเกสร ๓. มีผึ้งที่ไม่ดุ ๔. มีผึ้งที่ปรับตัวเข้าสภาพแวดล้อมได้ดีไม่หนีรังง่าย ๕. มีผึ้งที่มีความต้านทานต่อโรคและศัตรูได้ดี |
การเกิดของนางพญาตัวใหม่จะเกิดได้กี่กรณี |
[ ขยายดูภาพใหญ่ ] |
การเพิ่มจำนวนรังผึ้งเพื่อขยายกิจการการเลี้ยงผึ้งนั้น เราจำเป็นจะต้องมีผึ้งนางพญาที่มีคุณภาพดีจำนวนมาก เพื่อให้เป็นแม่รังเก่า ในกรณีที่เราจับผึ้งมาเลี้ยง หรือนางพญาสูญหายไป ซึ่งตามสภาพธรรมชาตินั้น การเกิดของนางพญาตัวใหม่จะเกิดได้เพียง ๓ กรณี คือ ๑. ผึ้งนางพญาเก่าตาย หรือสูญหายไปอย่างกระทันหัน ๒. ผึ้งนางพญาตัวเดิมแก่เกินไป ประสิทธิภาพในการวางไข่ต่ำ ๓. สภาพของรังแข็งแรง สมบูรณ์เต็มที่ผึ้งต้องการแยกรังใหม่ |
|
Update : 19/8/2554
|
|