|
|
การเลี้ยงผึ้งโพรง-1
|
น้ำผึ้งที่ได้จากผึ้งที่อยู่ในป่ามีน้อยลง เพราะคนเราตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ผึ้งและสัตว์ป่าขาดที่อยู่อาศัย นอกจากนั้นคนยังเผาป่าซึ่งเป็นการเผาทำลายผึ้งด้วย เพื่อให้ได้น้ำผึ้งเพียงพอกับความต้องการ คนเราจึงเริ่มเรียนรู้เรื่องผึ้งและเริ่มลองเลี้ยงผึ้ง เราเลี้ยงผึ้งเพื่อเก็บน้ำผึ้งไว้ขาย หรือส่งเข้าโรงงานทำลูกกวาดและใช้ทำยาด้วย เช่น ยาแก้ไอ ยาที่มีรสหวาน ๆ สำหรับเด็ก ส่วนมากจะมีน้ำผึ้งผสมอยู่ ทำให้หอมอร่อย น่ารับประทาน |
|
การเลี้ยงผึ้ง ไม่เหมือนการเลี้ยงหมาและแมว เพราะผึ้งจะบินไปหาอาหารหรือน้ำหวานจากดอกไม้กินตามธรรมชาติ และบินกลับรังไดเอง เราไม่อาจสอนผึ้งให้เชื่องเหมือนสัตว์เลี้ยงอ่อน ๆ ไม่อาจสอนผึ้งไม่ให้ต่อยคน ดังนั้น คนเลี้ยงผึ้งจึงต้องระวังตัวเอง ต้องจัดเตรียมรังให้ผึ้งให้เป็นจำนวนมาก ๆ เพื่อเก็บน้ำผึ้ง นอกจากนี้ เราให้ผึ้งช่วยผสมเกสรให้พืชผลไม้ของเรามีลูกดก เช่น ลำไย เงาะ ลิ้นจี่ ส้ม มะนาว และฟักแฟงแตงโม เป็นต้น
ประวัติการเลี้ยงผึ้งโพรงในประเทศไทย
การเลี้ยงผึ้งโพรงในประเทศไทย เชื่อว่ามีมานานนับร้อยปีแล้ว ในระยะแรกๆ คนเลี้ยงผึ้งใช้โพรงไม้หรือวัสดุที่เป็นโพรงให้ผึ้งเข้าไปทำรังอยู่ ต่อมาจึงมีการพัฒนาใช้หีบไม้ในการเลี้ยงผึ้งโพรง
ปัจจุบันมีการเลี้ยงผึ้งโพรงมากที่สุดที่เกาะสมุย |
|
และภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งส่วนมากนิยมเลี้ยงแบบให้ผึ้งเข้าไปทำรังอยู่ในหีบไม้ตามธรรมชาติ ไม่มีคอนให้ผึ้งเกาะและเครื่องย้ายไม่ได้ แต่การศึกษาของหน่วยวิจัยชีววิทยาของผึ้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่าสามารถนำผึ้งโพรงมาเลี้ยงในรังมาตรฐานแบบเดียวกับผึ้งโพรงฝรั่ง |
|
โดยใช้แผ่นรังเทียมให้ผึ้งสร้างรวงรังเกาะอยู่กับคอนไม้ ทำให้เคลื่อนย้ายและสลัดเอาน้ำผึ้งออกจากรวงรังได้ง่ายสามารถเพิ่มจำนวนประชากรผึ้งได้เป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว การใช้เทคนิคการเพาะผึ้งนางพญาและเปลี่ยนนางพญาใหม่ ทุกๆ ๖ เดือน ช่วยลดอัตราการแยกและหนีรังได้ด้วย
มีบันทึกใน พ.ศ.๒๔๘๓ เกี่ยวกับการเลี้ยงผึ้งโพรงฝรั่งครั้งแรก โดยศาสตราจารย์ศุภชัย วานิชวัฒนา ขณะเป็น |
อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่ามีการนำผึ้งพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาครั้งแรกเพื่อการศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใน พ.ศ.๒๔๙๖ ศาสตราจารย์หลวงสมานวนกิจ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้สั่งผึ้งจากออสเตรเลียเข้ามาแต่ในระยะแรก ๆ การเลี้ยงผึ้งโพรงฝรั่งไม่ประสบความ |
สำเร็จ เนื่องจากปัญหาศัตรูผึ้งและผู้เลี้ยงขาดความรู้พื้นฐานทางด้านชีววิทยา และการจัดการผึ้งที่เหมาะสม ดังนั้นการเลี้ยงผึ้งในระดับอุตสาหกรรมจึงไม่เกิดขึ้น จนกระทั่วเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๒๐ บริษัทเอกชนได้สั่งผึ้งโพรงฝรั่งมาจากต่างประเทศเพื่อขยายพันธุ์ผึ้ง และผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากผึ้ง จนสามารถส่งออกไปขายต่างประเทศได้
ชนิดของผึ้งเลี้ยง
|
|
ผึ้งที่เลี้ยงในประเทศไทยมีอยู่ ๒ ชนิด คือ ผึ้งโพรงไทย และผึ้งโพรงฝรั่ง
เป็นผึ้งพื้นเมืองของประเทศไทย ซึ้งเลี้ยงโดยเกษตรกรในชนบททั่วไป
ผึ้งโพรงไทย |
|
พบมากในแถบจังหวัดภาคใต้ เช่น ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ที่เกาะสมุยนิยมเลี้ยงผึ้งโพรงมากที่สุด ส่วนใหญ่ใช้วิธีสร้างหีบเลี้ยงง่าย ๆ คอยดักหรือย้ายรังผึ้งจากโพรงไม้ในธรรมชาติลงในหีบเลี้ยงและคอยเวลาเก็บน้ำผึ้งในฤดูดอกไม้บาน ดังนั้นการเลี้ยงผึ้งโพรงไทยจึงเริ่มเลี้ยงได้ง่ายและลงทุนน้อยกว่าผึ้งโพรงฝรั่ง เหมาะสำหรับการเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมในระดับครอบครัว หรือเป็นงานอดิเรก ผึ้งโพรงไทยสามารถผลิตน้ำผึ้งได้ประมาณ ๕-๒๐ กิโลกรัมต่อรังต่อปี
|
ผึ้งโพรงไทยเป็นผึ้งที่มีขนาดลำตัวยาว ๑๑-๑๒ มิลลิเมตร มีขนาดลำตัวใหญ่กว่าผึ้งมิ้ม แต่เล็กกว่าผึ้งโพรงฝรั่ง มีพฤติกรรมสร้างรังตามโพรงไม้ภายในหลังคาบ้าน และบริเวณที่มิดชิด ภายในเป็นโพรง มีรูเข้าออกเป็นช่องเล็กๆ สร้างรวงรังซ้อมกันหลายชั้นเก็บน้ำผึ้งได้เป็นจำนวนมาก มีนิสัยไม่ดุร้าย |
สามารถนำมาเลี้ยงได้ แต่ผึ้งโพรงมีพฤติกรรมแยกรังบ่อยครั้ง ถ้าขาดแคลนอาหารและมีศัตรูรบกวนมักจะทิ้งรังไปเลย อย่างไรก็ตามพบว่ามีวิธีการควบคุมการแยกรังและทิ้งรังของผึ้งโพรงไทยได้
เป็นผึ้งที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ปัจจุบันนิยมเลี้ยงกันมากในจังหวัดภาคเหนือคือ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ และเชียงราย
ผึ้งโพรงฝรั่ง |
|
ผึ้งโพรงฝรั่งมีประชากรผึ้งงานในรังมากกว่าผึ้งโพรงไทยคือ ผึ่งโพรงฝรั่งมีประมาณ ๔๐,๐๐๐ - ๕๐,๐๐๐ ตัวต่อรัง แต่ผึ้งโพรงไทยมีประมาณ ๒๐,๐๐๐ - ๓๐,๐๐๐ ตัวเท่านั้น ดังนั้นผึ้งโพรงฝรั่งจึงสามารถหาน้ำผึ้งและสะสมน้ำผึ้งได้มากกว่าผึ้งโพรงไทย จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงเพื่อการค้าในระดับอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีการเลี้ยงผึ้งโพรงฝรั่งกันมากกว่า ๕๐,๐๐๐ รัง ผู้เลี้ยงผึ้งแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ ๑) เลี้ยงเป็นงานอดิเรกและอาชีพเสริม ๑-๕๐ รัง ๒) เลี้ยงเป็นการค้าในระดับครอบครัว ๕๐-๒๐๐ รัง ๓) เลี้ยงในระดับอุตสาหกรรมการเกษตร ๒๐๐-๒,๐๐๐ รัง ผึ้งโพรงฝรั่งสามารถผลิตน้ำผึ้งได้มากถึง ๒๐-๑๐๐ กิโลกรัมต่อรังต่อปี
ชุดหีบเลี้ยงผึ้งโพรงไทย |
[ ขยายดูภาพใหญ่ ]
|
ชุดหีบเลี้ยงผึ้งมักเป็นไม้ที่มีน้ำหนักเบา อบแห้งสนิท ไม่ยืด ไม่หด และไม่บิดเบี้ยว เหตุที่จำเป็นต้องใช้ไม้เบาเพราะทุ่นแรงในการยกลงขณะปฏิบัติงาน ผู้เลี้ยงผึ้งทางภาคเหนือของประเทศไทยเรานิยมใช้ไม้สัก ซึ่งมีความเบาคงทนถาวรและไม่บิดตัว ชุดหีบเลี้ยงผึ้งโพรงไทยนั้นคล้ายกับชุดหีบเลี้ยงผึ้งโพรงฝรั่ง ประกอบไปด้วยส่วนประกอบต่าง ๆ ที่สำคัญต่อไปนี้คือ ฐานรัง ฐานรังจะต้องมีขนาดที่รองรับตัวหีบเลี้ยงได้ โดยจะต้องมีขนาดกว้างเท่ากับหีบมาตรฐาน แต่มีความยาวยื่นออกมาทางด้านหน้าให้ยาวกว่าตัวหีบประมาณ ๒ นิ้ว เพื่อเป็นลานบินของผึ้ง ฐานรังจึงมีขนาดกว้าง x ยาว เท่ากับ ๑๖(๑/๔) x ๑๙ นิ้ว หน้าไม้ที่นำมาประกอบฐานรังเมื่อไสกบ แล้วควรหนา ๑(๗/๘) นิ้ว ที่ด้านบนส่วนหน้าของฐานรังมีไม้สอดอยู่ ไม้นี้จะเจาะหรือบากเอาไว้สองด้าน ให้มีขนาดเล็กและใหญ่ ไม้ส่วนนี้เรียกว่า ไม้ลดขนาดปาก ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เลี้ยงผึ้งที่จะพลิกแท่งไม้ส่วนนี้กลับไปมา เพื่อปิด ลด หรือ ขยายปากทางเข้าออกรังผึ้งได้ตามต้องการ หีบมาตรฐาน หีบมาตรฐานมีขนาดที่จะบรรจุคอนได้ ๑๐ คอนด้วยกัน แต่ผู้เลี้ยงผึ้งนิยมใส่เพียง ๙ คอน หีบมาตรฐานของผึ้งโพรงไทยนั้น สั้นกว่า หีบมาตรฐานของผึ้งโพรงฝรั่งเพื่อความสะดวกในการยกคอนขึ้นลง ขนาดของหีบมาตรฐานสูง x กว้าง x ยาว เท่ากับ ๙(๑/๒) x ๑๖(๑/๔) x ๑๗ นิ้ว ที่ผนังด้านในของส่วนความกว้าง ส่วนขอบด้านบนทั้งสองด้าน ก็จะเซาะเป็นร่องบ่า เพื่อรองรับคอนหรือกรอบรวง หีบมาตรฐานนี้หีบหนึ่งเมื่อนำไปใช้ ถ้ารวงมีน้ำผึ้งอยู่เต็ม ๙ - ๑๐ รวง เมื่อรวมกับน้ำหนักของหีบแล้ว ก็จะหนักประมาณ ๒๐ - ๒๕ กิโลกรัม สำหรับรังผึ้งโพรงฝรั่งที่ยังสมบูรณ์และอยู่ในสภาพที่ดี เพื่อความสะดวกผู้เลี้ยงที่เคยเลี้ยงผึ้งโพรงฝรั่งมาก่อน สามารถนำหีบมาตรฐานของผึ้งโพรงฝรั่งมาเลี้ยงผึ้งโพรงไทยได้ทันที โดยทำคานกั้นภายในหีบให้สั้นลงเหลือ ๑๗ นิ้ว เพื่อรับกับคอนของผึ้งโพรงไทยซึ่งมีขนาดสั้นกว่าได้ (ขนาดของหีบมาตรฐานผึ้งโพรงฝรั่งเท่ากับ ๙(๑/๒) x ๑๖(๑/๔) x ๒๐ นิ้ว) คอนหรือกรอบรวง ชิ้นส่วนที่สำคัญนอกเหนือจากหีบเลี้ยงก็คือคอน หรือบางคนอาจเรียกว่ากรอบรวง คอนเป็นอุปกรณ์ที่ประกอบด้วยไม้ ๔ ส่วนด้วยกัน คือ คานบน ๑ ส่วน ไม้ประกบข้าง ๒ ส่วน และคานล่างอีก ๑ ส่วน เมื่อต่อประกอบเข้าด้วยกันแล้ว ก็เป็นที่ที่ผึ้งสร้างรวงรัง ขนาดของคอนหรือกรอบรวงที่เลือกใช้นั้น ก็จะต้องสัมพันธ์กับขนาดของหีบเลี้ยงด้วย ความยาวจะต้องมีขนาดมาตรฐานเท่ากับหีบมาตรฐานคือยาว ๑๖(๑/๔) นิ้ว โดยเว้นที่ปลายด้านละ ๓/๔ นิ้ว ไว้เพื่อเป็นที่บ่ารองรับน้ำหนักวางพาด หรือแขวนอยู่ได้ ส่วนความสูงของคอนนั้น ขึ้นอยู่กับความสูงของหีบที่ใช้ คือถ้าใช้กับหีบเลี้ยงมาตรฐาน ซึ่งมีความสูง ๙(๑/๒) นิ้ว เพื่อที่จะให้คอนแขวนอยู่ในหีบได้พอดีแล้ว คอนที่ใช้จึงควรจะมีความสูงเท่ากับ ๘(๑/๒) นิ้ว เพื่อให้แผ่นฐานรวงยึดติดกับคอนอย่างเหนียวอย่างแน่นพอสมควร ที่ตรงกลางของด้านล่างของคอนบนและตรงกลางด้านในของคอนล่างเราจึงจำเป็นต้องเซาะให้เป็นร่องยาวตลอดแนวเพื่อยึดแผ่นฐานรวงให้ติดอยู่ และเจาะรูเล็ก ๆ ที่ไม้ประกอบด้านข้างทั้ง ๒ ส่วน จำนวน ๓-๔ รู จึงลวดเหนียวเส้นเล็กระหว่างไม้ประกบข้างทั้ง ๒ ส่วน เพื่อที่จะเพิ่มความแข็งแรงให้กับรวงซึ่งจะช่วยให้รวงผึ้งไม่หลุดจากคอนในขณะที่นำเข้าไปสลัดน้ำผึ้งในเครื่อง ฝาชั้นใน ฝาชั้นในมีประโยชน์ที่เห็นได้ชัดก็คือ ป้องกันไม่ให้ผึ้งแตกตื่นบินสวนออกมาเมื่อเราเปิดฝาครอบนอกของรังผึ้งออก ฝาชั้นในยังเป็นฉนวนช่วยกั้นความร้อนจากแสงแดดในฤดูร้อน รักษาความอบอุ่นภายในรังเอาไว้ เมื่อภายนอกมีอุณหภูมิต่ำ นอกจากนี้ก็ยังช่วยในการระบายและถ่ายเทอากาศให้กับรังผึ้งด้วย สำหรับวัสดุที่ใช้ มักจะใช้แผ่นกระดาษหรือไม้อัดแข็ง โดยมีไม้ตีเป็นกรอบขนาดกว้าง x ยาว เท่ากับ ขนาดของหีบเลี้ยง คือ ขนาด ๑๖(๑/๔) x ๑๗ นิ้วเพื่อที่จะได้วางทับลงบนหีบได้พอดี ที่ตรงกลางของฝาชั้นในก็จะเจาะเป็นรูกลม ๑ รูเพื่อช่วยในการระบายอากาศ ฝาชั้นนอก เป็นฝาที่สวมครอบลงบนหีบเลี้ยง ทำหน้าที่กันฝนและแสงแดดให้กับรังผึ้ง ฝาชั้นนอกอาจจะใช้ไม้อัดธรรมดา ตัดขนาด ๑๖(๑/๔) x ๑๙ นิ้ว และที่ด้านบนของฝาชั้นนอกก็จะใช้สังกะสีปิดทับอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันเนื้อไม้ไม่ให้ผุเร็ว และยังช่วยให้รังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์สะท้อนกลับ |
แผ่นฐานรวง |
[ ขยายดูภาพใหญ่ ] |
แผ่นฐาน หรือแผ่นรังเทียม ก็คือ แผ่นไขผึ้งที่พิมพ์ให้เป็นรอยตารางหกเหลี่ยมทั้งสองด้านและขนาดตารางหกเหลี่ยมนี้ จะเท่ากับขนาดของความกว้างของหลอดรวงของรวงผึ้งโพรงไทยตามธรรมชาติ ซึ่งเล็กกว่าผึ้งโพรงฝรั่ง แผ่นฐานรวงผึ้งโพรงไทย ๑ ตารางนิ้ว จะมีจำนวน ๗๐ หลอดรวงทั้งสองด้าน โดยทั่วไปแล้วความกว้างและความยาวของแผ่นฐานรวงจะมีขนาดพอดีที่จะถูกนำมาตรึงตรงกลางของคอนหรือกรอบรวง เพื่อเป็นการเร่งเวลาให้ผึ้งงานสร้างหลอดรวงต่อจากรอยพิมพ์ที่เป็นตารางหกเหลี่ยมได้เร็วขึ้นซึ่งเป็นการประหยัดแรงงานของผึ้งงานในการสร้างรวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาการเก็บน้ำผึ้ง เพราะจะมีผลต่อผลิตผลน้ำผึ้งที่เก็บสะสมได้ นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นการบังคับให้ผึ้งสร้างรวงอยู่แต่เฉพาะในรอบรวงที่มีแผ่นฐานรวงตรึงติดอยู่เท่านั้น ทำให้รวงผึ้งที่ถูกสร้างขึ้นมาภายในรังผึ้งแต่ละรวงมีความเป็นระเบียบสม่ำเสมอ ซึ่งถือว่าเป็นการประหยัดแรงงาน ตลอดทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เลี้ยงผึ้ง และกับผึ้งภายในรังนั้น ๆ เป็นอย่างยิ่ง แผ่นฐานรวงของผึ้งโพรงฝรั่งซึ่งมีขนาดใหญ่ (ในเนื้อที่ ๑ ตารางนิ้ว จะมีจำนวน ๕๕ หลอดรวงทั้งสองด้าน) |
เหล็กงัดรังผึ้ง |
[ ขยายดูภาพใหญ่ ]
|
เมื่อเราจะปฏิบัติงานกับรังผึ้งรังหนึ่ง ๆ ก็จำเป็นที่จะต้องมีเหล็กงัดรังผึ้งซึ่งทำจากเหลือกเหนียวอย่างดี มีความแข็งแรงเป็นพิเศษ สามารถรับน้ำหนักในการที่ใช้งัดหีบเลี้ยงผึ้งให้แยกออกจากกันได้เหล็กงัดผึ้งโดยทั่วไปจะมีปลายแบบข้างหนึ่งเพื่อที่จะใช้กับช่องว่างระหว่างคอนแต่ละคอนหรือระหว่างชั้นของหีบเลี้ยงแต่ละชั้น นอกจากนั้นปลายด้านแบนนี้ยังใช้ในการแซะ ขุด เศษไขผึ้ง หรือยางไม้ที่ติดอยู่ภายในรัง และยังมีประโยชน์ในการขูดเหล็กไนผึ้ง ให้หลุดจากผิวหนังของเราที่ถูกผึ้งต่อยได้อีกด้วย ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งของเหล็กงัดรังจะโค้งเป็นมุมฉากอกไปประมาณ ๑ นิ้ว และมีรูอยู่ ปลายด้านนี้อาจใช้แทนค้อนในการตอกและงัดตะปู ในกรณีที่มีการตอกยึดส่วนประกอบของรังเลี้ยงผึ้งเข้าด้วยกัน ในการขนย้ายรังผึ้งจากที่หนึ่งไปยังอีกทีหนึ่ง |
กระป๋องรมควัน |
[ ขยายดูภาพใหญ่ ] |
กระป๋องรมควัน เป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังผึ้งมากพอ ๆ กับเหล็กงัดรังผึ้ง โดยทั่วไปจะประกอบด้วยชิ้นส่วนสำคัญ ๓ ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกก็คือกระป๋องที่ทำจากโลหะน้ำหนักเบา อาจเป็นสังกะสีเนื้อดี รูปทรงกระบอก มีฝาปิดเปิดได้สะดวก ที่ฝาทำเป็นรูปกรวยคว่ำและมีรูที่ปลายกรวยเพื่อบังคับทิศทางออกของควัน ส่วนที่สองคือหม้อลม ซึ่งจะใช้เป็นที่จับกระป๋องด้วย เมื่อเราบีบหม้อลม แรงดันอากาศก็จะผ่านท่ออากาศและเข้าไปใต้กระป๋องที่มีวัสดุเชื้อเพลิงจุดไหม้อยู่ ทำให้เกิดควันพุ่งออกมาทางรูที่ปลายกรวยชิ้นส่วนสุดท้ายก็คือ แผ่นโลหะบุ เป็นวัสดุที่เป็นฉนวนทนความร้อนห่อหุ้มภายนอกกระป๋องเพื่อป้องกันผู้เลี้ยงผึ้งไปสัมผัสกับกระป๋องที่กำลังร้อนจัด สำหรับวัสดุเชื้อเพลิง ที่จะใช้จุดให้เกิดควันในกระป๋องนั้น ก็อาจจะใช้ขี้กบไสไม้ ฟาง หญ้าแห้ง เศษใบไม้แห้ง หรือเศษกระสอบป่านแห้งอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ โดยแบ่งจุดให้เป็นเชื้อไฟที่ก้นกระป๋องสักเล็กน้อย เมื่อไฟลุกหรือติดดีแล้วจึงค่อยเติมวัสดุเชื้อเพลิงลงไปให้เต็ม อาจใช้เหล็กงัดรังผึ้งกระทุ้งอัดให้แน่นพอประมาณ เพื่อให้เกิดควันคุอยู่นาน ทำให้ไม่ต้องเติมเชื้อเพลิงหรือจุดใหม่อยู่บ่อย ๆ เป็นการสะดวกในขณะปฏิบัติงานในลานเลี้ยงผึ้ง |
อุปกรณ์สลัดน้ำผึ้งออกจากรวง |
[ ขยายดูภาพใหญ่ ]
|
อุปกรณ์ที่มีความจำเป็นจะต้องใช้ในการสลัดน้ำผึ้งออกจากรวงผึ้งที่สำคัญ มีอยู่ ๒ อย่างด้วยกัน คือ ๑. มีดปาดฝารวง ๒. ถังสลัดน้ำผึ้งออกจากรวง มีดปาดฝารวง ในการสลัดน้ำผึ้งออกจากรวงด้วยแรงเหวี่ยง เราจำเป็นต้องเปิดฝาหลอดรวงเสียก่อน โดยใช้มีดปาดฝารวงออก มีดที่ใช้ในการนี้ จะมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันออกไปแล้งแต่ขนาดและปริมาณของงาน สำหรับผู้ที่เลี้ยงผึ้งรายเล็ก ๆ อาจใช้มีดทำครัวอย่างบางที่มีขนาดใบมีดกว้างประมาณ ๑-๑.๕ นิ้ว และยาวประมาณ ๑๐-๑๒ นิ้ว จุ่มน้ำร้อนและเช็ดให้แห้ง แล้วนำมาปาดฝารวงในขณะที่ยังร้อนอยู่ ก็จะช่วยปาดได้สะดวกพอสมควร แต่ในกรณีที่มีรังผึ้งเป็นจำนวนมาก ก็ควรจะใช้มีดปาดฝารวงโดยเฉพาะ ที่ตัวใบมีดเดินด้วยท้อไอน้ำร้อนเพื่อให้ความร้อนแก่ใบมีดนั้น หรือจะใช้มีดปาดรวงที่ใช้ระบบไฟฟ้าให้ความร้อนซึ่งจะอำนวยความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ถังสลัดน้ำผึ้งออกจากรวง ถังสลัดน้ำผึ้งโดยทั่วไป มีตั้งแต่ขนาดเล็กแบบใช้มือหมุนที่สลัดได้ครั้งละ ๒ รวง ไปจนถึงขนาดใหญ่ ที่สามารถสลัดน้ำผึ้งได้พร้อม ๆ กันหลายสิบรวง ซึ่งจะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวหมุน ความเร็วของถังสลัดน้ำผึ้งประมาณ ๓๐๐ รอบ/นาที เพื่อที่จะเหวี่ยงให้น้ำผึ้งไหลกระเด็นออกจากหลอดรวง สิ่งสำคัญที่เราควรทราบ คือ ทุกครั้งที่ผึ้งงานสร้างรวงใหม่ มันจะต้องกินน้ำหวานเป็นจำนวนมาก ทำให้มีผลโดยตรงต่อปริมาณผลิตผลน้ำผึ้งที่ได้รับ ดังนั้นเมื่อเรานำเอารวงผึ้งไปสลัดน้ำผึ้งออกเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถนำรวงมาใช้ได้อีกโดยเฉพาะในช่วงเก็บน้ำผึ้ง ซึ่งนับว่าเป็นการประหยัดแรงงานผึ้ง ผึ้งไม่ต้องสร้างรวงขึ้นมาใหม่ทุก ๆ ครั้งที่มีการเก็บน้ำผึ้ง การทำเช่นนี้ช่วยให้ได้น้ำผึ้งต่อรังสูงขึ้น |
|
|
|
Update : 19/8/2554
|
|