|
|
จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร (12)
จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร (12)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
ในการศึกษา ที่จัดทำกันอย่างเป็นงานเป็นการ เป็นกิจการของสังคมนั้น ปัจจัยข้อที่ 1 คือความมีกัลยาณมิตร เป็นเรื่องใหญ่ มีความสำคัญมาก รัฐหรือสังคมมีหน้าที่จัดสรรและจัดเตรียมบุคลากรที่จะทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร เช่น ครูอาจารย์ ถึงกับต้องจัดเป็นองค์กรใหญ่โต ใช้จ่ายงบประมาณมากมาย ถ้าได้กัลยาณมิตรที่ดีมีคุณสมบัติมีความรู้เข้าใจชัดเจนในกระบวนการของการศึกษา และสามารถทำหน้าที่ของกัลยาณมิตรได้ดี กิจการการศึกษาของสังคมก็จะประสบความสำเร็จด้วยดี ดังนั้นการสร้างหรือจัดเตรียมกัลยาณมิตรจึงมีความสำคัญยิ่ง และควรจัดเตรียมอย่างถูกต้อง
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ขอย้ำไว้ ก็คือ ในการที่จะเข้าไปช่วยบุคคลอื่นเพื่อนำเขาเข้าสู่ไตรสิกขานั้น กัลยาณมิตรจะต้องรู้จักบุคคลเสียก่อนว่า มีลักษณะอย่างไร นั่นก็คือต้องรู้ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เช่น เรื่องบุคคล 4 และจริต 6 เป็นต้น เพื่อจะได้ประยุกต์กระบวนการสิกขาให้เหมาะกับบุคคลนั้นๆ ในการปฏิบัติเฉพาะกรณี แม้แต่ในการพัฒนาทางจิตขั้นลึก ที่เรียกว่าการบำเพ็ญกรรมฐาน ก็ยังต้องมีการเรียนรู้เรื่องจริต 6 เพื่อการจัดข้อปฏิบัติในการศึกษาให้เหมาะกับตัวบุคคล
ในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกเป็น 2 แบบคือ ความแตกต่างแนวตั้ง กับความแตกต่างแนวนอน ความแตกต่างแนวตั้งจะเห็นได้ในความรู้ที่เรียกว่า ญาณหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ (อินทริยปโรปริยัตตญาณ) ซึ่งดูที่ระดับการพัฒนาว่าไปได้แค่ไหนแล้ว เช่น ในเรื่องบุคคล 4 ประเภท
ส่วนความแตกต่างแนวนอนจะเห็นได้ในความรู้ที่เรียกว่า ญาณหยั่งรู้ความโน้มเอียงความถนัดอัธยาศัย (นานาธิมุตติกญาณ) ซึ่งแม้แต่บุคคลที่พัฒนาแล้วในระดับเดียวกันก็เป็นไปต่างๆ กัน ดังเช่นในเรื่องจริต 6 เป็นต้น
พระพุทธเจ้าทรงรู้ความแตกต่างของบุคคลทั้ง 2 แบบนั้นแล้วพระองค์จึงทรงสามารถจัดวิธีการสอนให้เหมาะสมกับบุคคลนั้นและสอนอย่างได้ผลดี
2. ขั้นไตรสิกขา เป็นขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาบุคคล โดยใช้หลักไตรสิกขาเต็มระบบ แต่ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการพัฒนาบุคคล เราควรมีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อเป็นพื้นฐานเสียก่อน ดังนี้ ศักยภาพของมนุษย์ : ธรรมชาติที่เอื้อต่อการพัฒนา
เมื่อจะให้การศึกษา พุทธศาสนาจะเน้นเกี่ยวกับธรรมชาติ ของมนุษย์ในจุดที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เช่น ในพุทธคุณ บทหนึ่งว่า "อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ" (แปลว่า เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึก ผู้ยอดเยี่ยม)
มีคำตรัสของพระพุทธเจ้ามากมายที่เน้นย้ำหลักการฝึกฝนพัฒนาตนของมนุษย์ และเร้าเตือนพร้อมทั้งส่งเสริมกำลังใจให้ทุกคนมุ่งมั่นในการฝึกอบรมตนจนถึงที่สุด เช่น
วรมสฺสตรา ทนฺตา อาชานียา จ สินฺธวา กุญฺชรา จ มหานาคา อตฺตทนฺโต ตโต วรํ
อัสดร สินธพ อาชาไนย กุญชร และช้างหลวง ฝึกแล้วล้วนดีเลิศ แต่คนที่ฝึกตนแล้วประเสริฐยิ่งกว่านั้น
ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ
ในหมู่มนุษย์ ผู้ที่ประเสริฐสุดคือคนที่ฝึกแล้ว
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส
ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและจริยะ เป็นผู้ประเสริฐสุด ทั้งในหมู่มนุษย์และทวยเทพ
มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํ อตฺตทนฺตํ สมาหิตํ เทวาปิ นมสฺสนฺติ
พระสัมพุทธเจ้า ทั้งที่เป็นมนุษย์นี่แหละ แต่เป็นผู้ได้ฝึกตนแล้ว อบรมจิตถึงที่แล้ว แม้เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ
ความหมายที่ต้องการในที่นี้ก็คือ การมองมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ หรือต้องฝึก และกระตุ้นเตือนให้เกิดจิตสำนึกตระหนักในการที่จะต้องปฏิบัติตามหลักแห่งการฝึกฝนพัฒนาตนนั้น โดยระลึกอยู่เสมอว่า มนุษย์นั้นถ้าไม่ฝึกก็จะไม่ประเสริฐ แต่ถ้าฝึกแล้วจะมีขีดความสามารถสูงสุด เพราะมนุษย์มีความสามารถในการฝึกตัวเองได้จนถึงที่สุด ใช้คำศัพท์ทางวิชาการสมัยปัจจุบันว่า มนุษย์มีศักยภาพสูง มีความสามารถที่จะฝึกตนได้จนถึงขั้นเป็นพุทธะ ศักยภาพนี้เรียกว่า โพธิ ซึ่งแสดงว่าจุดเน้นอยู่ที่ปัญญา เพราะโพธินั้น แปลว่า ปัญญาตรัสรู้ก็คือ
ปัญญาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพุทธะนั่นเอง
|
Update : 19/8/2554
|
|