พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยต่อปัญหาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดินเพื่อการเพาะปลูก ได้พระราชทานพระราชดำริถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยพระราชทานพระราชดำริเมื่อปี 2522 ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ขึ้นเพื่อทำการศึกษา ค้นคว้า เกี่ยวกับการสร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ
และเพื่อให้พื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องดินทั้งหลาย สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อีกครั้งหนึ่ง ได้พระราชทานพระราชดำริวิธีการแก้ดินเปรี้ยว โดยให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัด โดยการระบายน้ำให้แห้งและศึกษาวิธีแก้ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาในเรื่องนี้ในเขตพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด 2 ปี และใช้ข้าวเป็นพืชเพื่อการทดลองในโครงการนี้ ดำเนินการโดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส
จากการศึกษา ค้นคว้าเกี่ยวกับการสร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 2 แห่ง ตลอดจนการทำแปลงสาธิตการพัฒนาที่ดินให้แก่เกษตรกรในบางพื้นที่ที่มีปัญหาในการพัฒนาปรับปรุงดินเสื่อมโทรมด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินทราย ดินดาน ฯลฯ ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 2 แห่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลากว่า 30 ปี ได้ประสบความสำเร็จจนสามารถขยายผลสู่การปฏิบัติใช้ของราษฎรในพื้นที่ขยายผล และจังหวัดใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี
ดังจะเห็นได้จาก มีการนำเอาผลสำเร็จจากการดำเนินงานในโครงการแกล้งดิน จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯมาปฏิบัติใช้ในพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยคัดเลือกดำเนินการ ในหมู่ที่ 10 บ้านควนโถ๊ะ ตำบลแหลม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ในพื้นที่ 4,000 ไร่ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินเปรี้ยวจัด เช่นเดียวกับที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ปลูกพืชไม่เจริญงอกงาม ผลผลิตที่ได้ต่ำ เกษตรกรจึงปล่อยพื้นที่รกร้าง และหันไปทำการเลี้ยงสัตว์หรือออกไปรับจ้างต่างถิ่นแทน
การดำเนินการได้ทำการปรับรูปแปลงนา สร้างแนวคันนาใหม่ตามแนวถือครองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในนาข้าว จากนั้นปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดในนาข้าวด้วยหินปูนฝุ่นอัตรา 1-5 ตันต่อไร่ ซึ่งในช่วงนี้หินปูนฝุ่นจะค่อย ๆ ทำปฏิกิริยากับดินเปรี้ยวความเป็นกรดจะลดลงจนกระทั่งอยู่ในระดับที่ต้นข้าวสามารถเจริญเติบโตได้ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการทำปุ๋ยพืชสด เพื่อปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ พร้อมก่อสร้างอาคารกักเก็บและระบายน้ำ เพื่อกระจายน้ำไปยังแปลงนาของเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง
ผลการดำเนินงานครั้งนี้ พบว่า เกษตรกรที่เคยละทิ้งที่นาก็กลับมาใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อทำนาอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่หมู่ 10 บ้านควนโถ๊ะ สามารถปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง จากเดิมที่ได้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยไม่ถึง 20 ถังต่อไร่ และปลูกได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น ส่งผลให้พื้นที่ร้างลดลงและเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เช่นเดียวกับที่ หมู่ที่ 1 บ้านหนองคันจาม ตำบลบ้านพริก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริให้ศึกษาทดลองการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยให้ศึกษาทดลองแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว โดยใช้วิธีทางธรรมชาติ และการใช้ระบบน้ำ และใช้ปูนแก้ปัญหาดินเปรี้ยว พร้อมทั้งพัฒนาปรับปรุงดินและส่งเสริมอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ตลอดถึงศึกษาทดลอง และสาธิตการปลูกพันธุ์ไม้ป่าบึงน้ำจืดในที่ดินเปรี้ยว ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง สามารถนำมาขยายผลเพื่อการพัฒนาปรับปรุงดินสำหรับการเพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครนายก และจังหวัดใกล้เคียงที่มีปัญหาเรื่องดินเปรี้ยวได้เป็นอย่างดี
โครงการแกล้งดิน เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริ ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ดำเนินการศึกษา ทดลอง เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของดิน โดยทำดินให้เปรี้ยวจัดถึงที่สุด แล้วหาวิธีการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริ ตลอดจนการศึกษาทดลอง และทรงเรียกโครงการนี้ว่า “แกล้งดิน”
และเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา ทางสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรโครงการแกล้งดิน ไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญาสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ในพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ออกให้ ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2550 เรื่อง “กระบวนการปรับปรุง สภาพดินเปรี้ยว เพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก” (โครงการแกล้งดิน) ในสาขาวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงดิน นับเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกันว่า ทรงเป็นกษัตริย์เกษตร โดยแท้จริง.