รศ.ดร.สมบัติ ชิณะวงศ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยา เขตกำแพงแสน เปิดเผยว่า คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดย ผศ.ดร.ชานันก์ สุดสุข ผู้อำนวยการวิจัยและคณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยคือ รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ และคณะผู้วิจัย รวมทั้งนิสิตระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา จากคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ศึกษาคุณสมบัติและศักยภาพของจุลินทรีย์จากธรรมชาติ เพื่อใช้ในการบำบัดสิ่งแวดล้อม โดยคณะผู้วิจัยได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างจุลินทรีย์ธรรมชาติจากแหล่งดิน ทราย น้ำ น้ำทะเล บริเวณใกล้เคียงวิทยาเขตกำแพงแสน หรือบริเวณแหล่งโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสมุทรปราการ จังหวัดบริเวณรอบชายฝั่งทะเลฝั่งอ่าวไทยได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และ สมุทรสงคราม บริเวณจังหวัดชายทะเลฝั่งอันดามันได้แก่ พังงา และชุมพร นำจุลินทรีย์ธรรมชาติจำนวนกว่าหมื่นสายพันธุ์ มาศึกษาคุณสมบัติและศักยภาพของจุลินทรีย์ธรรมชาติ ที่เป็นประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การย่อยสลายคราบน้ำมัน ย่อยสลายสารฆ่าวัชพืช หรือสารตกค้างต่าง ๆ โดยเน้นคัดเลือกจุลินทรีย์ธรรมชาติที่ใช้สารปนเปื้อนเหล่านี้ เป็นสารอาหารหลักในการดำรงชีวิตได้ ไม่ต้องการสารอาหารจากแหล่งอื่น และหากมีสารอาหารจากหลายแหล่ง จุลินทรีย์เหล่านี้เลือกที่จะใช้จากสารอาหารจากสารปนเปื้อนต่างๆ เหล่านี้ก่อน ดังนั้นในการประยุกต์ใช้จุลินทรีย์เหล่านี้ในการบำบัดสิ่งแวดล้อม จุลินทรีย์จะบำบัดสิ่งแวดล้อม โดยดำรงชีวิตจากการย่อยสลายและใช้สารปนเปื้อนเหล่านี้เพื่อดำรงชีวิต
ผลการทดสอบคุณสมบัติและศักยภาพของจุลินทรีย์ สามารถคัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ธรรมชาติจำนวนกว่า 40 สายพันธุ์ ที่มีศักยภาพสูงในการย่อยสลายน้ำมันชนิดต่างๆ ได้ในปริมาณปนเปื้อนสูง คือ น้ำมันพืชใหม่ น้ำมันพืชใช้แล้ว น้ำมันดีเซล เบนซิน น้ำมันเครื่อง ทั้งน้ำมันเครื่องใหม่ และน้ำมันเครื่องใช้แล้ว รวมไปถึงสารอนุพันธ์ เช่น โทลูอีน ไซลีน โดยจุลินทรีย์มีชีวิตอยู่จากการใช้ธาตุคาร์บอนจากน้ำมันต่าง ๆ ได้เป็นแหล่งอาหารหลัก ไม่ต้องการคาร์บอนจากแหล่งอื่น และหากมีธาตุคาร์บอนจากหลายแหล่ง จุลินทรีย์เหล่านี้เลือกที่จะใช้จากน้ำมันชนิดต่าง ๆ ก่อน
คณะผู้วิจัยยังสามารถคัดเลือกจุลินทรีย์ธรรมชาติกว่า 50 สายพันธุ์ที่มีความสามารถสูงในการย่อยสลายสารกำจัดวัชพืช เช่น พาราควอต ไกลโฟเสต 2, 4 ดี อาทราซีน ไดยูรอน แพนทีรา โดยจุลินทรีย์ธรรมชาติสามารถดำรงชีวิตจากการใช้สารเหล่านี้เป็นอาหารเลี้ยงเซลล์ได้เพียงอย่างเดียว โดยปราศจากสารอาหารอื่น ๆ
นอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังคัดเลือกจุลินทรีย์ธรรมชาติกว่า 30 สายพันธุ์ที่มีความสามารถสูงในการย่อยสลายสารมลพิษ และสารฆ่าแมลง เช่น เพนตะคลอโรฟีนอล (PCP) เฮกซะคลอโรเฮกเซน (HCC) ไดคลอโรไดฟีนิลไทรโคลอีเทน (DDT) โดยจุลินทรีย์ธรรมชาติเหล่านี้เป็นสายพันธุ์มีคุณสมบัติเด่นเช่นเดียวกับจุลินทรีย์สองกลุ่มข้างต้น คือสามารถดำรงชีวิตจากการใช้สารเหล่านี้เป็นอาหารเลี้ยงเซลล์ได้โดยปราศจากสารอาหารอื่น ๆ
จากนั้นคณะผู้วิจัยได้ศึกษาการประยุกต์ใช้ในสภาพแปลงทดลองตัวอย่าง พบว่าจุลินทรีย์ธรรมชาติเหล่านี้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้และสามารถย่อยสลายน้ำมันต่าง ๆ สารกำจัดวัชพืช หรือ สารมลพิษ และสารฆ่าแมลง ได้เป็นอย่างดี ทำให้ปริมาณสารปนเปื้อน สารตกค้าง ลดปริมาณลงอย่างมีนัยสำคัญ จุลินทรีย์ธรรมชาติเหล่านี้มีความทนทานต่อสภาวะอากาศที่ร้อน แห้งแล้ง สภาพดินหรือน้ำที่มีความเค็มกว่าปกติ โดยสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมดังกล่าวได้นานประมาณ 1-3 เดือน ผลงานวิจัยด้านการประยุกต์ใช้ในสภาพแปลงทดลองตัวอย่างนี้ จะนำไปสู่การบำบัดสิ่งแวดล้อมด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติ ทั้งการบำบัดสภาวะแวดล้อมที่ปนเปื้อนด้วยน้ำมันชนิดต่าง ๆ ตกค้างในดิน น้ำ สิ่งแวดล้อม การบำบัดสารตกค้างที่เกิดจากการเกษตรกรรม คือ การใช้สารเคมี เช่น สารฆ่าวัชพืช สารฆ่าแมลง ในแปลงปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ที่ตกค้างหลังการใช้ในแปลงปลูก ซึ่งอาจไม่ปนเปื้อนเพียงในบริเวณแปลงปลูกที่ใช้ แต่อาจจะถูกชะล้างแพร่ไปยังแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม ด้วยน้ำหรือน้ำฝน ดังนั้นการบำบัดและกำจัดสารตกค้างในดินแปลงปลูกของเกษตรกร จะช่วยลดมลพิษและลดการแพร่กระจายของสารตกค้างยังสิ่งแวดล้อมได้ โดยเป็นการแก้ปัญหาที่สาเหตุได้อย่างตรงจุด
รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวสรุปว่า จุลินทรีย์ธรรมชาติสายพันธุ์จากประเทศไทย ที่ได้รับการคัดเลือกตามคุณสมบัติต่าง ๆ ด้านบำบัดสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ จะมีการนำไปพัฒนาเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์หัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ เพื่อบำบัดสิ่งแวดล้อม ในนามคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน รวมทั้งจะทำการศึกษาวิจัยต่อยอด คือการปรับปรุงสายพันธ์จุลินทรีย์ธรรมชาติ ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส สหรัฐอเมริกา โดยใช้กระบวนการปรับตัวแบบธรรมชาติของจุลินทรีย์ ไม่ใช่วิธีการแบบจีเอ็มโอ (GMOs) ด้วยการสนับสนุนโดยทุนอาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิ จากมูลนิธิการศึกษาไทยอเมริกัน (ฟุลไบร์ท) ผลจากการศึกษาวิจัยนี้ จะทำให้ได้จุลินทรีย์ธรรมชาติที่ผ่านการปรับปรุงสายพันธุ์แล้ว มีคุณสมบัติในการบำบัดสารตกค้าง สารมลพิษในสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และมีความปลอดภัยเมื่อใช้ในสภาวะแวดล้อมทั่วไป เนื่องจากเป็นจุลินทรีย์จากธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการบำบัดสิ่งแวดล้อมโดยชีววิธีด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ผู้สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มก.กพส. โทรศัพท์ 0-3428-1105-6 ต่อ 7654 หรืออีเมล [email protected]
กิตติกรรมประกาศ คณะผู้วิจัยขอขอบพระคุณ ศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร (ประธานคณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติและอดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์) ทุนสนับสนุนงานวิจัยด้านเกษตร สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรม จาก สวพ. มก. ศนวท. สวทช. สกว. วช. มูลนิธิโทเรฯ มูลนิธิการศึกษาไทยอเมริกัน (ฟุลไบร์ท) และ ดร.อนามัย ดำเนตร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและวิเทศน์สัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน.