ดร.โรเบิร์ต เจ.โฮลเมอร์ ผู้อำนวยการศูนย์พืชผักโลก ภูมิภาคเอเชีย (AVRDC-ESEA) เปิดเผยว่า ศูนย์พืชผักโลก ภูมิภาคเอเชียตั้งขึ้น ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2525 ตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับศูนย์พืชผักโลก (AVRDC -The World Vegetable Center) เป็นองค์กรระดับโลกที่ไม่แสวงหากำไร ให้ความร่วมมือสนับสนุนการพัฒนาการผลิตพืชผัก เพิ่มปริมาณและคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อพัฒนาคุณค่าทางโภชนาการของพืชผัก และลดความยากจนของเกษตรกร กำหนดแผนยุทธศาสตร์ สร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากรจากหน่วยงานทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาล ในการแก้ปัญหาการผลิต และการบริโภคพืชผัก โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการ คือ 1. เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตพืชผัก 2. เพื่อเพิ่มความเสมอภาคทางเศรษฐกิจระหว่างประชากรในชนบทและในเมือง 3. เพื่อเพิ่มอาหารให้มีความหลากหลาย อันก่อให้เกิดสุขภาพที่ดี และมีรายได้เพิ่มขึ้น และ 4. เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการผลิตพืชผักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กิจกรรมของศูนย์พืชผักโลก ภูมิภาคเอเชีย ประกอบด้วย การฝึกอบรม เพื่อเพิ่มทักษะและความชำนาญในเทคนิคใหม่ ๆในการผลิตพืชผัก ให้แก่นักวิจัยและนักส่งเสริมในภูมิภาคเอเชียในการทำเกษตรสมัยใหม่ โดยผสมผสานการเรียนรู้ทั้งจากห้องเรียนและภาคสนาม มีการฝึกอบรมระยะสั้น ตามความเหมาะสมของภูมิภาค เช่น มีการจัดหลักสูตรสำหรับบุคลากรจากภาครัฐ เอกชน ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น หรือกลุ่มเกษตรกร ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงพันธุ์พืช การผลิตเมล็ดพันธุ์พืช การทดสอบ ควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ การอบรมเทคนิคการต่อยอดเพื่อต้านโรค ของพืช 2 ตระกูล ได้แก่ เลือกต้นยอดเป็นมะเขือเทศพันธุ์ดี มาต่อยอดกับต้นตอของมะเขือพวงพื้นเมืองที่แข็งแรง หรือ เลือกต้นกล้าเป็นแตงพันธุ์ดี มาต่อยอดกับต้นตอของน้ำเต้าหรือมะระ ผลที่ได้คือ มะเขือเทศหรือแตงที่ต้านทานโรค
สำหรับกิจกรรมของศูนย์พืชผักโลก ในด้านการวิจัยนั้น มีการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์พืชผักนานาชนิดที่มีความสำคัญของโลกและเขตภูมิภาคเอเชีย เช่น มะเขือเทศ มะเขือ ยาว พริกขี้หนู พริกหวาน หอมแดง กระเทียม หัวหอม ถั่วเขียว ถั่วเหลืองฝักสด ถั่วฝักยาว ถั่วแขก พืช ผักกาดกวางตุ้ง กะหล่ำปลี บรอกโคลี แตงกวา ฟักทอง มะระขี้นก และผักพื้นบ้านชนิดต่าง ๆ โดยมีจุดประสงค์หลักของการพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อผลผลิตสูงและผลผลิตที่มีเสถียรภาพมากขึ้นภายใต้เงื่อนไขของการทนต่อภัยแล้งและน้ำท่วม เพื่อความต้านทานแมลงศัตรูพืชและโรค เพื่อคุณภาพทางโภชนาการที่ดีขึ้น และเพื่อการปรับปรุงคุณลักษณะให้มีมูลค่าสูงเช่นสีและเนื้อสัมผัสซึ่งมีความสำคัญต่อการตั้งราคาตลาดท้องถิ่น
ขณะนี้ศูนย์พืชผักโลกประสบความสำเร็จในการพัฒนาพืชผักหลากสายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ถั่วเขียว (ถั่วแระ) ที่ให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคราแป้ง มีเมล็ดขนาดใหญ่ สุกแก่อย่างสม่ำเสมอ พันธุ์พริกที่ต้านทานต่อโรคแอนแทรกโนสหรือโรคกุ้งแห้ง มีเมล็ดขนาดใหญ่ ผลผลิตดก พันธุ์บรอกโคลี และพันธุ์กะหล่ำปลี ที่รสชาติดี ทนร้อนและทนแล้ง ให้ผลผลิตสูง พันธุ์มะเขือเทศ ที่มีคุณค่าทางอาหารคือ เบต้าแคโรทีน วิตามินซี วิตามินอี ธาตุเหล็กสูง และต้านทานโรคไวรัสใบหงิกเหลืองของมะเขือเทศ พันธุ์มะระขี้นกที่มีคุณค่าทางอาหารในการช่วยลดภาวะเบาหวาน พันธุ์ฟักทองที่ให้ผลผลิตดกและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง นอกจากนี้ยังมีพืชผักพันธุ์ดีที่ได้รับการวิจัยและพัฒนาแล้วอีกมากมาย อาทิ หัวหอม พริกหวาน มะเขือม่วง กระเทียม เป็นต้น เมล็ดพืชผักพันธุ์ดีเหล่านี้สามารถให้บริการแจกจ่ายฟรีแก่องค์กร และหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อการใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณะ
ศูนย์พืชผักโลก ภูมิภาคเอเชีย มีสำนักงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ส่วนศูนย์ฝึกอบรมระดับภูมิภาค(RTC) และแปลงทดลอง ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น หรือกลุ่มเกษตรกร ที่สนใจขอเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น หรือต้องการติดต่อขอเมล็ดพันธุ์พืชผักชนิดต่าง ๆ ของศูนย์พืชผักโลกดังกล่าวมาข้างต้น เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณะหรือแจกจ่ายเกษตรกรในชุมชน หรือท้องถิ่นของท่าน สามารถติดต่อขอรับบริการได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยติดต่อได้ในวันและเวลาราชการที่สำนักงานศูนย์พืชผักโลก ภูมิภาคเอเชีย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม โทร. 0-3435-1573 หรือ 08-1870-7618 หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ที่ www.avrdc.org หรือ www.facebook.com/WorldVegetableCenter อีเมล robert.holmer
@worldveg.org