|
|
การปลูกกระชายดำ
กระชายดำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Kaempferia parviflora Wall. Ex Baker
ชื่อวงศ์ ZINGIBERACEAE
ส่วนที่ใช้ เหง้า / หัว
การปลูก
ใช้หัวพันธุ์ที่แก่จัดมีอายุประมาณ 11-12 เดือน แยกหัวโดยหักออกเป็นข้อ ๆ ตามรอยต่อของหัว ฝังกลบดินให้มิดแต่ไม่ลึก
โดยใช้ระยะปลูกระหว่างแถวและระหว่างหลุมเท่ากับ 0.20 X 0.25 เมตร หรือ 0.25 X 0.30 เมตร ปลูกเสร็จแล้วใช้แกลบหว่าน
กลบบาง ๆ อีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากกระชายดำเป็นพืชดั้งเดิมของชาวเขา จึงเชื่อกันว่ากระชายดำที่ดีมีคุณภาพ จะต้องปลูกบนพื้นที่
ที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500 – 700 เมตร เจริญเติบโตและลงหัวได้ดีในดินร่วนทราย มีการระบายน้ำดี ไม่ชอบน้ำขัง ไม่
่ชอบแดดจัด ชอบแดดร่มรำไร เกษตรกร จึงนิยมปลูกกระชายดำระหว่างแถวไม้ยืนต้น
การเก็บเกี่ยว
ควรเก็บเกี่ยวในช่วงที่พืชเจริญเติบโตเต็มที่ อายุเก็บเกี่ยวของกระชาย ประมาณ 8-9 เดือน ซึ่งจะเก็บเกี่ยวในเดือนธันวาคม-มกราคม ในช่วงนี้จะสังเกตดูใบจะเริ่มแก่มีสีเหลืองและแห้งตายลงในที่สุด การเก็บเกี่ยวเร็วกว่ากำหนดอาจมีผลต่อคุณภาพ โดยเฉพาะสีของหัวจะไม่เข้ม ซึ่งเป็นกระชายดำที่ตลาดไม่ต้องการ
การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
การขุดหัวกระชาย
ถ้ายกเป็นแปลงตอนปลูก จะเก็บเกี่ยวได้ง่าย โดยใช้จอบหรือเสียมขุดหัวขึ้นมาแล้วเคาะดินให้หลุดออกจากหัวและราก เกษตรกรนิยมนำหัวกระชายที่ขุดได้ใส่ถุง แล้วนำไปทำความสะอาดที่บ้าน โดยการปลิดรากออกจากหัว ให้หมดให้เหลือแต่หัวล้วน ๆ โดยเฉลี่ยหัวพันธุ์ 1 กิโลกรัม สามารถให้ผลผลิตได้ 5-8 กิโลกรัม ดังนั้น 1 ไร่ จะได้ผลผลิต ประมาณ 1,000-2,000 กิโลกรัม
สารสำคัญ
สารที่พบในเหง้ากระชาย ได้แก่ borneol, sylvestrene ซึ่งแสดงฤทธิ์ต้านจุลชีพ และสาร 5,7 –ไดเมธอกซีฟลาโวน (5,7- dimethoxyflavone = 5,7 DMF) ซึ่งแสดงฤทธิ์ต้านอักเสบ นอกจากนี้ รายงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นปี 2547 พบสารพวกฟลาโวนอยด์ 9 ชนิด เช่น สาร 5,7,4’-trimethoxyflavone, 5,7,3’,4’-tetramethoxyflavone , 3,5,7,4’ –tetramethoxyflavone เป็นต้น
ผลการศึกษา ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
1. ฤทธิ์ต้านอักเสบ
สาร 5,7 –ไดเมธอกซีฟลาโวน (5,7-DMF) ที่แยกได้จากเหง้ากระชายดำ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบเทียบได้กับยามาตรฐานหลายชนิด คือ แอสไพริน , อินโดเมธาซิน, ไฮโดรคอร์ติโซน และเพรดนิโซโลน จากการศึกษาฤทธิ์ต้านอักเสบของสารนี้ในสัตว์ทดลองด้วยวิธีการต่าง ๆ พบว่าสาร 5,7-DMF สามารถต้านการอักเสบแบบเฉียบพลันได้ดีกว่าแบบเรื้อรัง โดยแสดงฤทธิ์ยับยั้งการบวมของอุ้งเท้าหนูขาวจากสารคาราจีนแนนและเคโอลินได้ ดีกว่าฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง granuloma จากการฝังสำลีใต้ผิวหนัง นอกจากนี้ พบว่า สาร 5,7-DMF มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิด exudation และการสร้างสาร prostaglandin อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบในช่องปอดของหนูขาว (rat pleurisy)
2. ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์
สาร 5,7,4’-trimethoxyflavone และ 5,7,3’,4’ –tetramethoxyflavone แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Plasmodium falciparum ที่เป็นสาเหตุของโรคมาลาเรีย ส่วนสาร 3,5,7,4’-tetramethoxyflavone และ 5,7,4’-trimethoxyflavone แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Candida albicans และแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Mycobacterium อย่างอ่อน
3. พิษต่อเซลล์มะเร็ง (cytotoxic activity)
จากการทดสอบผลของฟลาโวนอยด์ 9 ชนิดของกระชายดำต่อเซลล์มะเร็ง เช่น KB , BC หรือ NCI-H187 ไม่พบว่ามีสารใดทำให้เกิดพิษต่อเซลล์มะเร็งที่ทดสอบ
4. ฤทธิ์ขยายหลอดเลือดแดง
มีรายงานการวิจัยว่า สารสกัดด้วยเอธานอลของกระชายดำมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดแดงใหญ่ (aorta)ละลดการหดเกร็งของ
ลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum) ของหนูขาว และยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดของคน
การศึกษาทางพิษวิทยา
การศึกษาพิษเรื้อรังระยะเวลา 6 เดือน ของผงกระชายดำในหนูขาว ในขนาด 20 , 200 , 1000 และ 2000 มก/กก./วัน เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำ พบว่า หนู ที่ได้รับกระชายดำทุกกลุ่มมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น อาการและสุขภาพไม่แตกต่างจากลุ่มควบคุมหนูที่ได้รับกรายดำขนาด 2000 มก./กก. มีน้ำหนักสัมพันธ์ของตับสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ อาจเนื่องจากมีน้ำหนักตัวที่ต่ำกว่ากลุ่มควบคุม และมีเม็ดเลือดขาวอิโอสิโนฟิสต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังคงอยู่ในช่วงค่าปกติ ในหนูเพสเมียที่ได้รับกระชายดำขนาด 2000 มก./กก. มีระดับโคเลสเตอรอลสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ หนูทั้งสองเพสที่ได้รับกระชายดำ 2000 มก./กก. มีระดับซีรั่มโซเดียมสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญแต่ยังอยู่ในช่วงค่า ปกติ ผลการตรวจอวัยวะทางจุลพยาธิวิทยานั้นไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่บ่งชี้ว่าเกิด จากความเป็นพิษของกระชายดำ
รายงานการวิจัยทางคลินิก
ยังไม่มีรายงานศึกษาวิจัยเพื่อประเมินประสิทธิผลของกระชายดำในคน
ขนาดที่ใช้ และวิธีใช้
ตามตำรายาแผนโบราณ กระชายดำมีสรรพคุณแก้โรคบิด ปวดท้อง ลมป่วงทุกชนิด และเป็นยาอายุวัฒนะ ซึ่งมีวิธีใช้ดังนี้
กระชายดำแบบหัวสด ใช้เหง้า (หัวสด) ประมาณ 4-5 ขีด ต่อสุราขาว 1 ขวด ดองสุราขาวดื่มก่อนรับประทานอาหารอาหารเย็นปริมาณ 30 ซีซี. หรือฝานเป็นแว่นบาง ๆ แช่น้ำดื่ม หรือจะดองกับน้ำผึ้ง ในอัตราส่วน 1: 1
กระชายดำแบบหัวแห้ง หัวแห้งดองกับน้ำผึ้งแท้ในอัตราส่วน 1:1 นาน 7 วัน แล้วนำมาดื่มก่อนนอน
กระชายดำแบบชาชง ผงแห้งกระชายดำ 1 ซอง ชงน้ำร้อน 1 แก้ว (ประมาณ 120 ซีซี.) แต่งรสด้วยน้ำตาล หรือน้ำผึ้งตามต้องการ
เอกสารอ้างอิง
1. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544) พิมพ์ครั้งที่ 2 : กรุงเทพฯ : บริษัทประชาชน จำกัด , 2544
2. http://www.doa.go.th/data-agri/02_LOCAL/oard3/kachaidum/main.html
3. ณาตยา ธนะศิริวัฒนา, สุนิดา ณ ตะกั่วทุ่ง, ธนนันต์ ฐานะจาโร “องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ต้านจุลชีพของน้ำมันหอมระเหยกระชายดำ เปราะหอม และเฒ่าหนังแห้ง”, คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540
4. Yenchai C, Prasanphen K, Doodee S, et al. Bioactive fla-vonoids from Kaempferia Parvifor. Fitoterapia 2004; 75(1) : 89-92.
5. วงศ์วิวัฒน์ ทัศนียกุล และอำไพ ปั้นทอง. “การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของ 5,7-DMF “ วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2528.
6. Wattanapitayakul S, Nawinprasert A, Herunsalee A, et al. Vasodilation, antispasmodic and antiplatelet actions of Kaempferia parviflora. The Sixth JSPS-NECT Joint Seminar : Recent Advances in Natural Medicine Research. December 2-4, 2003 Bangkok, Thailand (Poster presen-tation)
7. ทรงพล ชีวะพัฒน์, ณุฉัตรา จันทร์สุวาณิชย์, ปราณี ชวลิตธำรง และคณะการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรังของผงกระชายดำ. วารสารกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 2547 (รอตีพิมพ์)
8. ของดีจากพืชสมุนไพร-ว่านยา โดย จันทน์ขาว หน้า 135-137
|
Update : 16/8/2554
|
|