|
|
จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร (9)
จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร (9)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
ขอสรุปว่า ในพุทธศาสนามีหลักการให้การศึกษามนุษย์ด้วยการฝึกฝนพัฒนาให้รู้จักรับรู้และรู้จักปฏิบัติต่อสิ่งที่เกี่ยวข้องในชีวิตอย่างถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น เรียกว่าทำให้ไร้ทุกข์ การศึกษาหรือการพัฒนาคนนี้ก็ดำเนินไปตามหลักของกรรมนั่นเอง เพราะหลักกรรมถือว่าสิ่งที่เป็นผลจะเกิดขึ้นจากเหตุ คือเป็นกฎแห่งเหตุและผล แต่เป็นกฎเหตุผลในส่วนที่เกี่ยวกับพฤติกรรมหรือการกระทำของมนุษย์
ตามหลักกรรมนั้นการกระทำเป็นเหตุ สิ่งที่ต้องการเป็นผล ฉะนั้นผลสำเร็จที่ต้องการจึงเกิดจากการกระทำ ในการกระทำนั้นความพากเพียรพยายามเป็นแรงขับเคลื่อน การที่มนุษย์จะสามารถทำการต่างๆ อันเป็นเหตุปัจจัยนำไปสู่ผลที่ต้องการได้นั้น มนุษย์จะต้องมีความเพียรพยายามในการกระทำ ผู้ที่เข้าใจหลักกรรมจะหวังผลสำเร็จจากการกระทำด้วยความเพียรพยายามตามเหตุตามผล
หลักกรรมเป็นกระบวนการของเหตุปัจจัย ในการศึกษาหรือพัฒนามนุษย์นั้น เราเอาองค์ประกอบที่ดีซึ่งเป็นกุศลเข้ามา เริ่มแต่เอาปัญญาเข้ามา เอาฉันทะและกุศลอื่นๆ เข้ามา ทำให้กระบวนการของกรรมเป็นกระบวนการของกรรมที่ดีที่เป็นกุศล เมื่อคนมีพฤติกรรมที่เป็นกุศลประกอบด้วยกุศลมีปัญญาและฉันทะเป็นต้น ก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือไร้ทุกข์ เป็นการเปลี่ยนจากกระบวนการแห่งอกุศลกรรมที่มีอวิชชาและตัณหาเป็นมูลเหตุนำไปสู่ปัญหาหรือความทุกข์
พุทธศาสนาปฏิเสธความเห็นผิดที่ว่าทุกอย่างเป็นไปเพราะกรรมเก่า แต่ไม่ปฏิเสธเรื่องของกรรมเก่าในความหมายที่ถูกต้องว่า กรรมเก่าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการของกรรม คือ เป็นเหตุปัจจัยส่วนที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งส่งผลเกี่ยวข้องกับกระบวนการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากการสะสมกรรม ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไรก็เกิดจากการสะสมกรรมของเรานั่นเอง
ฉะนั้นเราจะทำอะไรก็ตาม การสะสมกรรมของเราก็จะส่งผลสืบทอดมาแม้กระทั่งเป็นตัวอิทธิพลชักนำให้คิดนึกในแนวไหน ให้มีบุคลิกภาพอย่างไร ให้เรามีความสามารถในขอบเขตใด ทำอะไรได้แค่ไหน แต่ในกระบวนการของกรรมนั้น กรรมส่วนที่เราต้องเกี่ยวข้องสำคัญมากที่สุด และควรเอาใจใส่มากที่สุด ก็คือ กรรมปัจจุบัน ที่ว่าเราจะทำอะไรอย่างไรในบัดนี้และต่อจากนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของเราที่ว่าจะเลือกตัดสินใจ หรือตั้งใจอย่างไร บุคคลใดมีปัญญา ฉลาดในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย รู้อดีตได้ดีด้วย มองเห็นปัจจุบันชัดเจนด้วย เล็งอนาคตได้เก่งด้วย ก็จะยิ่งทำกรรมปัจจุบันได้ผลดี ซึ่งจะส่งผลเป็นประโยชน์ต่อไปข้างหน้าได้มากที่สุด
จากที่กล่าวมานี้จะทำให้มองเห็นภาพทั่วๆ ไปของพฤติ กรรม ซึ่งทั้งหมดนั้นก็อยู่ในเรื่องของกรรมนั่นเอง ส่วนเรื่องของจริต 6 กับบุคคล 4 ที่เคยถามถึงนั้นเป็นเรื่องของความแตกต่างระหว่างบุคคลซึ่งก็เกิดจากการสั่งสมกรรมในรูปแบบต่างๆ จริต 6 เป็นผลจากการสั่งสมคุณสมบัติเฉพาะด้านนั้นๆ จนกลายเป็นแบบแผนนิสัยของจิตใจและพฤติกรรม แต่ละแบบๆ คือสั่งสมให้เกิดความเคยชินของจิตใจที่จะคิดอย่างนั้นๆ และแสดงออกเป็นพฤติกรรมอย่างนั้นๆ
ส่วนบุคคล 4 ประเภท เป็นความแตกต่างที่เกิดจากการสั่งสมกรรมประเภทที่เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพของคน เช่น มีการศึกษาพัฒนาตัวไว้ดี ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาอยู่เสมอๆ มีการสั่งสมสติปัญญาไว้มาก ก็ทำให้เกิดเป็นบุคคลประเภทที่ 1 คือ อุคฆฏิตัญญู เป็นบุคคล ที่รู้จักใช้โยนิโสมนสิการ ซึ่งทำให้เขาเกิดความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ได้ง่าย และฉับไว ในที่นี้เมื่อเราพูดถึงหลักการทั่วไป หรือหลักใหญ่ เรื่องจริต 6 และเรื่องบุคคล 4 ก็กลายเป็นเรื่องปลีกย่อยไป
|
Update : 16/8/2554
|
|