|
|
จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร (8)
จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร (8)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
ในการศึกษา คนทั่วไปมักแยกไม่ออกระหว่างความอยาก 2 ประเภทนี้ แล้วก็พูดกราดไปว่าความอยากเป็นสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ความอยากประเภทที่ 2 คือ ฉันทะนี้ เป็นความอยากที่ดี เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำชีวิตไปสู่จุดหมายที่ดีงาม เป็นองค์ธรรมสำคัญมาก
ในการที่จะบำเพ็ญไตรสิกขา หรือทำสิ่งต่างๆ จะต้องมีฉันทะ ถ้าขาดฉันทะไปก็สำเร็จได้ยาก แต่ฉันทะต้องอาศัยปัญญา รู้ว่าอะไรดีมีคุณค่าเป็นประโยชน์แท้จริง ฉันทะ ก็อยากทำให้เกิดสิ่งนั้น ถ้าไม่มีปัญญาคือไม่รู้ฉันทะก็เกิดไม่ได้ ต่างจากตัณหาที่ไม่ต้องอาศัยปัญญา อะไรถูกตา ถูกหู ถูกลิ้น ถูกใจ ตัณหาก็อยากได้อยากเสพสิ่งนั้น ตัณหาจึงอยู่ด้วยกันกับอวิชชา แต่พอปัญญาเกิดขึ้นรู้ว่าสิ่งที่ถูกใจนั้นเป็นโทษเป็นอันตรายต่อชีวิตตัณหาก็หายไป ปัญญารู้ว่าอะไรเป็นคุณเป็นประโยชน์แท้จริง
ฉันทะก็เกิดขึ้นในสิ่งนั้น ดังนั้นปัญญาพัฒนาไป ฉันทะก็พัฒนาควบคู่ไปด้วย ในทางการศึกษา ถ้าจับจุดนี้ไม่ได้ ก็พูดได้เลยว่า การศึกษานั้นพลาด เสียหลักไปแล้วตั้งแต่ต้นทาง จึงยากจะสำเร็จผลด้วยดี
เพื่อให้รู้จักแยกระหว่างความอยาก 2 ประเภทนี้ อาจให้ความหมายอย่างง่ายๆ ว่า 1.ตัณหา คือ ความอยากในรสชาติ ที่เวทนาบอกเสนอ (=ความอยากที่ไม่เกี่ยวกับการศึกษา) 2. ฉันทะ คือ ความอยากในคุณค่าที่ปัญญาบอกเสนอ (=ความอยากที่เกิดจากการศึกษา) คนเกิดมา ไม่ต้องมีการศึกษา ไม่ต้องมีความรู้ไม่ต้องพัฒนาเลย ก็มีตัณหา สามารถอยากเสพรสสุขเวทนา ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และทางใจ แต่พฤติกรรม ที่เป็นไปตามบงการของตัณหา จะมีผลในทางเพิ่มทุกข์ ก่อปัญหาไม่คุ้มกับความสุขที่ได้
ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการศึกษาเพื่อพัฒนาให้ไม่เป็นอยู่อย่างมืดบอดด้วยอวิชชา และวิ่งพล่านไปด้วยตัณหา เมื่อคนมีการศึกษาได้พัฒนาขึ้น เกิดปัญญารู้ว่าอะไรดีแท้จริง ก็เกิดฉันทะอยากใน สิ่งนั้น แล้วทำไปตามฉันทะนั้น ก็ทำให้ปัญหาไม่เกิดขึ้น หรือถ้ามีปัญหาก็แก้ปัญหานั้นได้ เรียกว่า ไร้ทุกข์ หรือปลอดทุกข์ (นิยมใช้กันมาว่าดับทุกข์) จากที่กล่าวมา จึงสรุปกระบวนการแห่งพฤติกรรมของมนุษย์ได้เป็น 2 แบบ คือ
แบบที่ 1 (ไร้การศึกษา): อวิชชา + ตัณหา -------------' พฤติกรรมสร้างทุกข์ (ก่อปัญหา)
แบบที่ 2 (มีการศึกษา): ปัญญา + ฉันทะ --------------' พฤติกรรมสลายทุกข์ (แก้ปัญหา)
กระบวนการแบบที่สองเป็นแนวทางในการพัฒนามนุษย์ คือทันทีที่มนุษย์รู้จักคิดเขาก็เริ่มมีการศึกษา และเมื่อนั้นปัญญาก็เกิดขึ้น ตัวแกนสำคัญของการพัฒนาก็คือปัญญา เพราะทำให้รู้จักสิ่งทั้งหลายและรู้ที่จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างไร แต่พร้อมกับที่ปัญญาเกิดขึ้นนั้นก็มีการปรับตัวเกิดขึ้นทั้งองคาพยพ ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างมีดุลยภาพครบทั่วองค์รวม คือมิใช่พัฒนาแต่ปัญญา พฤติกรรมก็พัฒนาด้วย พฤติกรรมจะเปลี่ยนไป แล้วจิตใจก็พัฒนาด้วย คือจิตใจเปลี่ยนไป
เช่นเปลี่ยนจากความอยากด้วยตัณหามาเป็นความอยากด้วยฉันทะเป็นต้น และมีความสุขความพอใจอย่างใหม่เกิดขึ้น นั่นคือพอใจเมื่อได้ทำตามที่ปัญญาบอก ได้ทำตามเหตุตามผลที่ดี เกิดความสุขความพอใจด้วยฉันทะ เป็นการพัฒนาจิตใจ เพราะฉะนั้น การพัฒนาจะเป็นไปพร้อมกันทั้ง 3 ด้าน คือ พัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา
การพัฒนาทั้ง 3 อย่างนี้จะต้องอิงอาศัยและเสริมซึ่งกัน และกัน จะแยกออกจากกันไม่ได้ในกระบวนการพัฒนามนุษย์ ถึงตอนนี้ เราสามารถให้ความหมายของการศึกษาได้ในระดับหนึ่งว่า การศึกษา คือการพัฒนาคนให้พ้นจากการมีชีวิตภายใต้บงการของตัณหาที่จะดิ้นรนแสวงหาสุขเวทนาและหลีกเลี่ยงทุกขเวทนา บนฐานของความไม่รู้คืออวิชชา ที่ทำให้เวียนวนอยู่ในตาข่ายของการก่อปัญหาเพิ่มทุกข์ ไปสู่การมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ซึ่งทำให้เกิดมีฉันทะ ที่จะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง
ทำให้เกิดความเป็นอิสระไร้ทุกข์ปราศจากปัญหา
|
Update : 15/8/2554
|
|