ปลาบู่ หรือบู่ทราย บู่จาก บู่ทอง บู่เอื้อย บู่สิงโต มีชื่อสามัญว่า Sand Goby, Marbled Sleepy Goby และชื่อวิทยาศาสตร์ Oxyleotris mamorata Bleeker ปลาบู่เป็ปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ สามารถทำรายได้เข้าประเทศแต่ละปีมีมูลค่าหลายสิบล้านบาท ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ฯลฯ
เนื่องจากความต้องการปลาบู่ทรายจากต่างประเทศมีเพิ่มขึ้นทุกปีเป็นผลให้ปลาบู่ทรายมีราคาแพงขึ้น
อดีตการเลี้ยงปลาบู่ทรายนิยมเลี้ยงกันมากในกระชังแถบลุ่มน้ำและลำน้ำสาขาบริเวณภาคกลาง ตั้งแต่จังหวัด นครสวรรค์ อุทัยธานี เรื่อยมาจนถึงจังหวัดปทุมธานี โดยมีปลาบู่ทรายขณะนี้มี 3 ประการ คือ
1. พันธุ์ปลาที่นับวันจะหายาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
2. ผู้เลี้ยงยังขาดความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการเพาะเลี้ยง
3. สภาพสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะเลี้ยงปลา
รูปร่างลักษณะ
ปลาบู่ทรายมีลักษณะลำตัวกลมยาว ความลึกลำตัวประมาณ 1 ใน 3.5 ของความยาวมาตรฐานของลำตัว ส่วนหัวยาวเป็น 1 ใน 2.8 ของความยาวมาตรฐานของลำตัว หัวค่อนข้างโต และด้านบนของหัวแบนราบหัวมีจุดสีดำประปรายปากกว้างใหญ่เปิดทางด้านบนตอนมุมปากเฉียงลงและยาวถึงระดับกึ่งกลางตา ขากรรไกรล่างยื่นยาวกว่าขากรรไกรบน ทั้งขากรรไกรบนและล่างมีฟันแหลมซี่เล็ก ๆ ลักษณะฟันเป็นแบบฟันแถวเดียว ลูกตาลักษณะโปนกลมอยู่บนหัวถัดจากริมฝีปากบนครีบหูและครีบหาง มีลักษณะกลมมนใหญ่มีลวดลายดำสลับขาว มีก้านครีบอ่อนอยู่ 15 - 16 ก้าน ครีบหลัง 2 ครีบ ครีบอันหน้าสั้นเป็นหนาม 6 ก้าน เป็นก้านครีบสั้น และเป็นหนาม ครีบอันหลังเป็นก้านครีบอ่อน 11 ก้าน ครีบท้องหรือครีบอกอยู่แนวเดียวกับครีบหูและมีก้านครีบอ่อน 5 ก้าน ครีบอกของปลาบู่ ใน SubfamilyEleotrinae แยกจากกันอย่างสมบูรณ์ ซึ่งแตกต่างจากปลาบู่ชนิดอื่น ในครอบครัว Gobiidae ซึ่งมีครีบท้องติดกันเป็นรูปจาน ครีบก้นอยู่ในแนวเดียวกับครีบหลัง อันที่สอง มีก้านครีบอ่อน 7 ก้าน และมีความยาวครีบเท่ากับครีบหลังอันที่สอง ส่วนของครีบมีลายสีน้ำตาลดำแดงสลับขาวเป็นแถบ ๆ และมีจุดสีดำกระจายอยู่ทั่วไป ลำตัวมีเกล็ดแบบหนามคล้ายซี่หวีและมีแถบสีดำขวางลำตัว 4 แถบ ด้านท้องมีสีอ่อน สีตัวของปลาบู่ทรายแตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่อาศัย ปลาบู่ทรายจัดเป็นปลาขนาดกลางและเป็นปลาชนิดเดียวในครอบครัวนี้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ปกติมีขนาดประมาณ 30 เซนติเมตร เคยพบยาวถึง 60 เซนติเมตร
การแพร่กระจาย
ปลาบู่ทราย เป็นปลาที่เราสามารถพบได้ทั่วไปในน้ำจืดและน้ำกร่อยเล็กน้อยในหลายประเทศโดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะมลายู ได้แก่ บอร์เนียว เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน ไทย สำหรับในประเทศไทย พบปลาบู่ขยายพันธุ์ทั่วไปตามแม่น้ำลำคลอง และสาขาทั่วทุกภาคตามหนองบึง และ อ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา ปากน้ำโพ บึงบอระเพ็ด แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำท่าจีน อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น อ่างเก็บน้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี อ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก และทะเลน้อย จังหวัดสงขลา
แหล่งที่อยู่อาศัย
ปลาบู่ทรายเป็นปลากินเนื้อที่ชอบอยู่นิ่ง ๆ ตามดินอ่อน พื้นทรายและ หลบซ่อนตามก้อนหิน ตอไม้ เสาไม้ รากหญ้าหนา ๆ เพื่อรอให้เหยื่อผ่านมาแล้วเข้าโจมตีทันทีด้วยความรวดเร็ว ปลาบู่ทรายพบทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อยเล็กน้อยลูกปลาบู่ทรายชอบซ่อนตัวบริเวณรากพืชพันธุ์ไม้น้ำ พวกรากจอก รากผัก
การสืบพันธุ์
1. ความแตกต่างลักษณะเพศ การสังเกตลักษณะความแตกต่างระหว่างปลาบู่เพศผู้และเพศเมีย ดูได้จากอวัยวะเพศที่อยู่ใกล้รูทวาร ปลาเพศผู้มีอวัยวะเพศเป็นแผ่นเนื้อขนาดเล็กสามเหลี่ยมปลายแหลมส่วนตัวเมียมีอวัยวะเพศเป็นแผ่นเนื้อขนาดใหญ่และป้านตอนปลายไม่แหลมแต่เป็นรูขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายถ้วยน้ำชาขนาดเล็ก เมื่อพร้อมผสมพันธุ์ปลายอวัยวะเพศทั้งตัวผู้และเมียมีสีแดง บางครั้งเห็นเส้นเลือดฝอยสีแดงที่มาเลี้ยงอวัยวะเพศได้ชัดเจน
2. การเจริญพันธุ์และฤดูกาลวางไข่ ปลาบู่โตเต็มวัยเมื่อมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตรขึ้นไป ปลาบู่ที่สามารถขยายพันธุ์ได้มีขนาดตั้งแต่ 8 เซนติเมตรขึ้นไปสำหรับปลาเพศเมียที่มีรังไข่แก่ เต็มที่มีขนาดความยาวสุดปลายหาง 12.5 เซนติเมตร น้ำหนัก 34 กรัม และเพศผู้มีถุงน้ำเชื้อแก่เต็มที่มีความยาว 14.5 เซนติเมตร น้ำหนัก 44 กรัม ปลาบู่จะเริ่มสร้างอวัยวะเพศภายในตั้งแต่เดือนมกราคมซึ่งในระยะแรกยังไม่สามารถแยกออกได้ว่าเป็นรังไข่หรือถุงน้ำเชื้อ เมื่อถึงเดือนมีนาคมจึงจะแยกออกได้โดยรังไข่จะมีจุดสีขาวเล็ก ๆ แล้วเจริญเป็นเม็ดไข่ต่อไป แต่ถ้าเป็นถุงน้ำเชื้อก็จะเป็นสีขาวทึบขึ้นจากเดิม รังไข่ที่แก่จัดมีสีเหลืองเข้ม มีเม็ดไข่อยู่เต็มและมีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยง ส่วนถุงน้ำเชื้อที่แก่จัดจะมีลักษณะเป็นลายมีรอยหยักเล็กน้อย และมีสีขาวทึบ ปลาบู่สามารถวางไข่ได้เกือบตลอดทั้งปียกเว้นในช่วงฤดูหนาว ตลอดฤดูกาลวางไข่ปลาบู่สามารถวางไข่ได้ประมาณ 3 ครั้งต่อปี
3. พฤติกรรมการผสมพันธุ์และวางไข่ การผสมพันธุ์ปลาบู่ในธรรมชาติพบว่าปลาบู่ตัวผู้จะหาสถานที่ในการวางไข่ ได้แก่ ตอไม้ เสาไม้ ทางมะพร้าว ฯลฯ แล้วทำความสะอาดวัสดุดังกล่าว หลังจากนั้นตัวผู้จะเข้าเกี้ยวพาราสีพร้อมไล่ต้อนตัวเมียให้ไปที่รังที่เตรียมไว้เพื่อการวางไข่ การผสมพันธุ์ปลาบู่เริ่มตั้งแต่ตอนหัวค่ำจนถึงตอนเช้ามืด โดยผสมพันธุ์แบบภายนอกตัวปลา คือ ตัวเมียปล่อยไข่ออกมาติดกับวัสดุแล้ว ตัวผู้ปล่อยน้ำเชื้อออกมาผสม โดยที่ไข่ปลาบู่จะติดกับตอไม้ เสาไม้หรือวัสดุอื่น ๆ ที่ปลาบู่สามารถวางไข่ติด และตัวผู้จะเฝ้าดูแลไข่ โดยใช้ครีบหูหรือครีบหางพัดโบก ไปมา ไข่ที่ได้รับการผสมจะฟักเป็นตัวภายในเวลา 28 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 25 - 27 องศาเซลเซียส
4. ความดกของไข่ ปลาบู่เป็นปลาที่มีรังไข่แบบ 2 พู ปลาบู่ที่มีขนาด ความยาว 15.2 เซนติเมตร มีน้ำหนักรังไข่ 1.6 กรัม และมีจำนวนไข่ประมาณ 6,800 ฟอง และปลาที่มีความยาว 21.5 เซนติเมตร มีน้ำหนักรังไข่ 4.7 กรัม คิดเป็นไข่ประมาณ 36,200 ฟอง วิวัฒนาการของไข่ปลาบู่ไข่ที่ยังไม่ได้รับการผสมมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.83 มิลลิเมตร ความยาวของไข่ประมาณ 1.67 มิลลิเมตรเมื่อยึดติดกับวัสดุ ลูกปลาบู่ใช้เวลาฟักออกเป็นตัวหลุดออกจากเปลือกไข่จมลงสู่พื้นประมาณ 32 ชั่วโมง ถึง 5 วัน แล้วลอยไปตามกระแสน้ำ ลูกปลาอายุ 2 วันหลังฟัก ลูกปลา เริ่มกินอาหาร เนื่องจากถุงไข่แดงยุบหมดและเห็นปากชัดเจน มีการว่ายน้ำใน ลักษณะแนวดิ่ง คือ พุ่งขึ้นและจมลง มีความยาวเฉลี่ย 4 มิลลิเมตร อายุประมาณ 7 วัน ลูกปลามีความยาวประมาณ 4.6 มิลลิเมตร มีลายสี ดำเข้มที่บริเวณส่วนท้องด้านล่างไปจนถึงโคนครีบหางตอนล่าง อายุประมาณ 15 วัน ลูกปลามีความยาวเพิ่มขึ้นเป็น 5.05 มิลลิเมตร อายุประมาณ 20 วัน ลูกปลามีความยาวเพิ่มขึ้นเป็น 7.6 มิลลิเมตร อายุประมาณ 30 วัน ลูกปลามีความยาวประมาณ 8 - 10 มิลลิเมตร เกิดลายพาดขวางลำตัวคล้ายพ่อแม่ ส่วนเนื้อใสไม่มีลายและสามารถมองเห็นอวัยวะภายใน อายุประมาณ 37 - 45 วัน ลูกปลามีลักษณะคล้ายพ่อแม่เพียงแต่มีขนาดเล็ก ส่วนที่เป็นเนื้อใสเปลี่ยนเป็นขุ่นสีน้ำตาลเหลือง
การเพาะเลี้ยงปลาบู่
เดิมการเลี้ยงปลาบู่ใช้วิธีช้อนลูกปลาตามรากหญ้า รากพันธุ์ไม้น้ำในลำคลองหนองบึง ในปัจจุบันเนื่องจากสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม การใช้เครื่องมือจับปลาผิดประเภทและการทำการประมงเกินศักยภาพ ทำให้ลูกปลาในธรรมชาติมีปริมาณลดลง แต่เนื่องจากความต้องการปลาบู่เพื่อการบริโภคและการส่งออกมีจำนวนสูงยิ่ง ๆ ขึ้น จึงทำให้มีการขยายตัวด้านการเลี้ยงปลาบู่ ซึ่งกรมประมงได้ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบู่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
การเพาะพันธุ์ปลาบู่มี 2 วิธี คือ
1. วิธีการฉีดฮอร์โมน
2. วิธีการเลียนแบบธรรมชาติ
สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดปทุมธานี ได้พัฒนาการเพาะพันธุ์ปลาบู่เป็นเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ โดยเน้นการเพาะพันธุ์วิธีเลียนแบบธรรมชาติซึ่งให้จำนวนรังไขได้มากกว่าวิธีฉีดฮอร์โมนผสมเทียม และสามารถอนุบาลลูกปลาบู่โดยการใช้อาหารธรรมชาติมีชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งมีวิธีดำเนินการ ดังนี้
1. การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ดีมีผลทำให้อัตราการฟักและอัตรารอดตายสูงและได้ลูกปลาที่แข็งแรง พ่อแม่พันธุ์ปลาบู่ที่ดีควรมีลักษณะ
1.1 ควรเป็นปลาวัยเจริญพันธุ์ เพราะไข่ที่ได้มีอัตราฟักและอัตรารอดตายสูง
1.2 พ่อแม่พันธุ์ควรมีน้ำหนักอยู่ในช่วง 300 - 500 กรัม แต่ไม่ควรเกิน 1 กิโลกรัม และไม่ควรเป็นปลาที่อ้วนหรือผอมเกินไป
1.3 เมื่อจับพ่อแม่พันธุ์ขึ้นมาจากที่กักขังใหม่ ๆ ควรรีบคัดปลาที่มีสีนวลดูปราดเปรียว และควรเป็นปลาที่ปรับสีสู่สภาพเดิมได้เร็วเมื่อหายตกใจ ไม่ควรคัดพ่อแม่พันธุ์ที่มีสีเหลืองซีดผิดปกติ
1.4 เมื่อลูบตามตัวปลาจากหัวไปหางแล้วรู้สึกตัวปลาลื่นแสดงว่าเป็นปลาที่มีสุขภาพดี
1.5 บริเวณนัยต์ตาไม่ขาวขุ่น
1.6 ไม่ใช่ปลาที่จับได้ โดยการใช้ไฟฟ้าช็อตเพราะเมื่อเลี้ยงไปสักระยะหนึ่งแล้ว ปลาจะตายมากหรือตายหมดทั้งกระชัง
1.7 ไม่มีพยาธิภายนอกหรือเชื้อราเกาะตามลำตัว ถ้ามีปริมาณไม่มากควรกำจัด รักษา และป้องกันก่อนนำไปทำเป็นพ่อแม่พันธุ์
1.8 บริเวณครีบอก ครีบหู ครีบหาง และครีบท้องไม่ควรมีบาดแผลฉีกลึกถึงโคนครีบ
1.9 ตามลำตัวไม่ควรมีบาดแผลถึงแม้จะเป็นบาดแผลเล็ก ๆ ก็ตามเพราะทำให้ติดเชื้อโรคและลุกลามถึงตายในที่สุด ถ้าจำเป็นควรรักษาให้หายก่อนนำไปเป็นพ่อแม่พันธุ์
2. การเตรียมบ่อพ่อแม่พันธุ์ การเตรียมบ่อพ่อแม่พันธุ์โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ ขนาดบ่อเพาะพันธุ์ไม่ควรใหญ่หรือเล็กจนเกินไปเพื่อสะดวกต่อการดูแล และจัดการกับพ่อแม่พันธุ์ สำหรับบ่อขนาด 800 ตารางเมตร ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ 150 คู่ ให้ผลผลิตดีที่สุดลูกปลาวัยอ่อนเป็นศัตรูโดยตรงต่อไข่ปลาบู่ เนื่องจากลูกปลาเหล่านี้เข้ามากินไข่ปลาบู่ได้ถึงแม้ว่าพ่อแม่พันธุ์ปลาบู่คอยเฝ้ารังไข่อยู่ก็ตาม อีกทั้งยังเป็นศัตรูทางอ้อม คือ ไปแย่งอาหารปลาบู่อีกด้วย สำหรับระดับน้ำในบ่อควรให้อยู่ช่วง 1.00 - 1.10 เมตร แล้วทิ้งไว้ 2 - 3วัน เพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติขึ้นในบ่อและควรทำการวิเคราะห์คุณสมบัติของน้ำก่อนปล่อยปลาเพื่อให้แน่ใจว่าน้ำนั้นมีความเหมาะสมแล้วจึงปล่อยพ่อแม่พันธุ์
3. การเลี้ยงและดูแลพ่อแม่พันธุ์ การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาบู่ควรให้อาหารผสมซึ่งมีสูตรอาหารดังนี้
ปลาเป็ด 94 เปอร์เซ็นต์
รำละเอียด 5 เปอร์เซ็นต์
วิตามินเกลือแร่ 1 เปอร์เซ็นต์
อาหารผสมดังกล่าวให้ในอัตรา 5 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักปลาทุกวันหรือ 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลาทุก 2 วัน เมื่อปลามีความคุ้นเคยกับสูตรอาหารดังกล่าวแล้ว ถ้าหากผู้เลี้ยงต้องการเปลี่ยนสูตรอาหารควรเปลี่ยนทีละน้อยโดยเพิ่มอาหารสูตรใหม่ในอาหารสูตรเดิมสำหรับมื้อแรกที่จะเปลี่ยนอาหาร ควรมีอัตราส่วนอาหารเดิมต่ออาหารใหม่ไม่เกิน 1:1 โดยน้ำหนักเนื่องจากปลาบู่จะไม่ยอมรับอาหารที่เปลี่ยนให้ใหม่ทันที นิสัยปลาบู่ชอบออกหากินตอนเย็นและในเวลากลางคืน ควรให้อาหารปลาบู่ตอนเย็น ส่วนการจัดการน้ำในบ่อควรเปลี่ยนถ่ายน้ำเดือนละประมาณหนึ่งในสี่ของปริมาตรน้ำในบ่อ ซึ่งน้ำที่เข้าบ่อควรมีการกรองหลายชั้นเพื่อป้องกันศัตรูปลาทั้งทางตรงและทางอ้อมเข้ามากับน้ำ พร้อมทั้งล้อมรั้วรอบ ๆ บ่อพ่อแม่พันธุ์เพื่อป้องกันศัตรูปลาเข้าบ่อ เช่น ปลาช่อน ปลาหมอ งูกินปลา ตะกวด ฯลฯ ไม่ให้เข้ามาทำร้ายพ่อแม่พันธุ์ที่เลี้ยงไว้
4. การเพาะพันธุ์ปลาบู่ การเพาะพันธุ์ปลาบู่มี 2 วิธี คือ การฉีดฮอร์โมนและการเลียนแบบธรรมชาติ สำหรับวิธีหลังสามารถผลิตพันธุ์ปลาบู่ได้จำนวนมากและได้อัตราการรอดตายสูง
4.1 วิธีการฉีดฮอร์โมน การเพาะพันธุ์ปลาบู่เริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2515 โดยนำปลาบู่เพศผู้ที่มีน้ำหนัก 168 และ 170 กรัม เพศเมีย 196 กรัม และ202 กรัม มาทำการฉีดฮอร์โมนเพียงครั้งเดียวด้วยต่อมใต้สมองของปลาในขนาด 1,500 กรัม ร่วมกับคลอลิโอนิค โกนาโดโทรปิน (Chorionic Gonadotropin, C.G.0) จำนวน 250 หน่วยมาตรฐาน (International Unit, I.U.) ฉีดเข้าตัวปลาโดยเฉลี่ยตัวละ 62.5 หน่วยมาตรฐาน หลังจากฉีดฮอร์โมนแล้วนำพ่อแม่พันธุ์ไปปล่อยลงในบ่อซีเมนต์ขนาด 2 x 3 ตารางเมตร น้ำลึก 75 เซนติเมตร และใช้ทางมะพร้าวเป็นวัสดุให้แม่ปลาบู่วางไข่ ปรากฏว่าแม่ปลาที่มีน้ำหนัก 202 กรัม วางไข่ประมาณ10,000 ฟอง มีอัตราการฟัก 90 เปอร์เซ็นต์
4.2 วิธีการเลียนแบบธรรมชาติ หลังจากปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาบู่ได้ 3 วันแล้ว ปักกระเบื้องแผ่นเรียบขนาด 40 x 60 เซนติเมตรหรือวัสดุอื่นที่ง่ายต่อการโยกย้ายลำเลียง เช่น หลักไม้ ตอไม้ ฯลฯ เพื่อให้ปลาบู่มาวางไข่ นำแผ่นกระเบื้องเหล่านี้ไปปักไว้เป็นจุด ๆ รอบบ่อแต่ละจุดปักเป็นกระโจมสามเหลี่ยมและหันด้านที่ขรุขระไว้ข้างใน โดยปักด้านกว้างในดินก้นบ่อ พร้อมทั้งทำเครื่องหมายปักหลักไม้ไว้แสดงบริเวณที่ปักกระเบื้องเพื่อสะดวกในการตรวจสอบและเก็บรังไข่ เมื่อปลาบู่มีความคุ้มเคยกับกระเบื้องแผ่นเรียบแล้ว ในตอนเย็นจนถึงตอนเช้ามืดปลาบู่ส่วนใหญ่เริ่มทำการวางไข่ผสมพันธุ์ที่กระเบื้องแผ่นเรียบ ส่วนใหญ่ปลาบู่วางไข่ติดด้านในของกระโจมกระเบื้อง รังไข่ปลาบู่ส่วนใหญ่เป็นรูปวงรี แต่จะมีบางครั้งเป็นรูปวงกลมลักษณะไข่ปลาบู่เป็นรูปหยดน้ำ สีใส ด้านแหลมของไข่มีกาวธรรมชาติติดอยู่ไว้ใช้ในการยึดไข่ให้ติดกับวัสดุ ช่วงเช้าหรือเย็นของทุกวันให้ทำการตรวจสอบแผ่นกระเบื้องและนำกระเบื้องที่มีรังไข่ปลาบู่ติดไปฟัก การลำเลียงรังไข่ปลาบู่ควรให้แผ่นกระเบื้องที่มีไข่ปลาแช่น้ำอยู่ตลอดเวลา ข้อควรระวังในการเก็บรังไข่ขึ้นมาฟัก คือ เมื่อพบกระเบื้องที่มีรังไข่ติดอยู่แล้ว ต้องนำขึ้นไปฟักทันที เพระถ้านำกลับลงไปปักไว้ที่เดิมพ่อแม่ปลาบู่ที่เฝ้าอยู่ใกล้ ๆ จะมากินไข่หมด ในกรณีกระเบื้องแผ่นเรียบที่ผ่านการใช้งานมานานควรทำความสะอาดโดยแช่แผ่นกระเบื้องในสารเคมีกำจัดเชื้อรา ได้แก่ มาลาไค้ท์กรีน ชนิดปราศจากธาตุสังกะสี ความเข้มข้น 2.4 พีพีเอ็ม ตลอดคืน ก่อนนำไปปักเป็นกระโจมในบ่อดิน
5. การฟักไข่ การฟักไข่ปลาบู่ทำในตู้กระจกขนาดกว้าง 47 เซนติเมตร ยาว 77 เซนติเมตร ลึก 60 เซนติเมตร โดยใส่น้ำลึก 47 - 50 เซนติเมตร ก่อนนำรังไข่มาฟักต้องฆ่าเชื้อด้วย มาลาไค้ท์กรีน ชนิดปราศจากสังกะสี ความเข้มข้น 1 พีพีเอ็ม โดยวิธีจุ่ม การฟักไข่ต้องให้อากาศตลอดเวลา ตู้กระจกขนาดดังกล่าว 1 ตู้ใช้ฟักรังไข่ปลาบู่ 4 รัง เมื่อไข่ฟักเป็นตัวจนหนาแน่นตู้กระจกแล้วก็รวบรวมลูกปลาไปอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาด 6 ตางรางเมตร เนื่องจากไข่ปลาฟักเป็นตัวไม่พร้อมกัน จึงจำเป็นต้องคอยย้ายรังไข่ออกไปฟักในตู้กระจกอันเนื่องมาจากของเสียที่ไข่ปลาและลูกปลาขับถ่ายออกมาและการสลายตัวของไข่เสีย โดยปกติไข่ปลาจะใช้เวลาฟักออกมาเป็นตัวหมดทั้งรังประมาณ 3 - 5 วัน
การอนุบาล
การอนุบาลลูกปลาบู่แบ่งตามอายุของลูกปลาเป็น 3 ระยะคือ
1) การอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาดเล็ก
2) การอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่
3) การอนุบาลในบ่อขนาดใหญ่หรือในบ่อดิน
1. การอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาดเล็ก การอนุบาลช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญในการเพาะขยายพันธุ์ปลาบู่ การอนุบาลลูกปลาให้ได้อัตราการรอดตายต่ำหรือ สูงขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 4 ประการ คือ อัตราการปล่อย การจัดการน้ำในการอนุบาล การให้อากาศ ชนิดอาหารและการให้อาหาร
1.1 อัตราการปล่อยลูกปลาบู่วัยอ่อน ควรปล่อยอัตรา 20,000 ตัว ต่อ 6 ตารางเมตร หรือ ปริมาณ 3,300 ตัว/ตารางเมตร
1.2 การจัดการน้ำในการอนุบาล เนื่องจากลูกปลาบู่วัยอ่อนมีขนาดเล็กมากและบอบช้ำง่าย ดังนั้น การจัดการระบบน้ำต้องทำอย่างนุ่มนวลเพื่อไม่ให้ ลูกปลาบอบช้ำ ในการอนุบาลวันแรกควรเติมน้ำต้องทำอย่างนุ่มนวลเพื่อไม่ให้ลูกปลาบอบช้ำ ในการอนุบาลวันแรกควรเติมน้ำโดยกรองผ่านผ้าโอลอนแก้วให้ได้ระดับน้ำเฉลี่ย 20 - 25 เซนติเมตร จนได้ระดับน้ำเฉลี่ย 40 - 45 เซนติเมตรจึงเริ่มถ่ายน้ำ 50 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณน้ำทั้งหมดทุกวันจนลูกปลาอายุได้ 1 เดือน การเพิ่มระดับน้ำในระยะแรกควรเปิดน้ำเข้าช้า ๆ อย่าเปิดน้ำรุนแรงเพราะลูกปลาในช่วงระยะนี้บอบบางมากและเพื่อไม่ให้ของเสียที่อยู่ก้นบ่อฟุ้งกระจายขึ้นเป็นอันตรายต่อลูกปลาวัยอ่อน ส่วนการถ่ายเทน้ำในบ่อควรถ่ายน้ำออกโดยใช้วิธีกาลักน้ำผ่านกล่องกรองน้ำ การสร้างกล่องกรองน้ำนี้ควรให้มีขนาดพอเหมาะกับบ่ออนุบาลเพื่อสะดวกในการทำงานและขนย้าย กล่องกรองน้ำทำด้วยโครงไม้หรือท่อพีวีซีบุด้วยผ้าโอลอนแก้ว การถ่ายน้ำออกควรทำอย่างช้า ๆ เพราะลูกปลาบู่วัยอ่อนสู้แรงน้ำที่ดูดออกทิ้งไม่ได้ ลูกปลาจะไปติดตามแผงผ้ากรองตายได้ในช่วงท้ายของการอนุบาลประมาณ 1 - 2 อาทิตย์ สามารถเปลี่ยนผ้ากรองให้มีขนาดตาใหญ่ขึ้นอีกเล็กน้อยจากเดิม โดยให้มีความสัมพันธ์กับขนาดลูกปลาบู่
1.3 การให้อากาศ การให้อากาศในบ่ออนุบาลสำหรับลูกปลาวัยอ่อนในช่วงครึ่งเดือนแรกจำเป็นต้องปล่อยให้อากาศผ่านหัวทรายอย่างช้า ๆ และค่อย ๆ เพราะลูกปลาระยะนี้ยังไม่สามารถว่ายทวนกระแสน้ำที่เคลื่อนตามแรงดันอากาศมาก ๆ ได้
1.4 ชนิดอาหารและการให้อาหาร อาหารที่ใช้ในการอนุบาลลูกปลาบู่ส่วนใหญ่เป็นอาหารธรรมชาติมีชีวิต ยกเว้นระยะแรกที่ลูกปลาเพิ่งฟักจะให้อาหารไข่ระยะต่อมาให้โรติเฟอร์และไรแดง
วิธีการเตรียมอาหารและการให้อาหารมีชีวิต
1.4.1 อาหารไข่ ตีไข่แดงและไข่ขาวให้เป็นเนื้อเดียวกัน และใช้น้ำร้อนเติมลงไปขณะที่ตีไข่ในอัตราส่วนน้ำร้อน 150 ซีซีต่อไข่ 1 ฟองนำอาหารไข่ไปกรองด้วยผ้าโอลอนแก้วแล้วกรองด้วยผ้ากรองแพลงก์ตอนขนาดตา 59 ไมครอน อีกครั้งหนึ่ง นำไปอนุบาลลูกปลาช่วง 3 วันแรกของการอนุบาลในช่วงเช้า กลางวันและเย็น ปริมาณที่ให้โดยเฉลี่ย 40 ซี.ซี. ต่อบ่อต่อครั้ง
1.4.2 โรติเฟอร์น้ำจืด โรติเฟอร์เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็กมีหลายชนิดทั้งที่อาศัยอยู่ในน้ำกร่อยและน้ำจืด ส่วนโรติเฟอร์น้ำจืดที่นำมาใช้อนุบาลลูกปลาบู่วัยอ่อน คือ Brachinonus calyciflorus ในการเพาะโรติเฟอร์นั้นต้องเพาะสาหร่ายเซลล์เดียวที่เรียกว่า คลอเรลล่า หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า น้ำเขียว เพื่อให้เป็นอาหารของโรติเฟอร์
1. ใส่น้ำเขียวคลอเรลล่า ที่มีความหนาแน่นประมาณ 5 x 10 เซลล์/1 ซี.ซี.ประมาณ 2 ตัน ทิ้งไว้ 2 - 3 วัน ระหว่างนั้นต้องคนบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการตกตะกอนของน้ำเขียว เมื่อสีน้ำเข้มขึ้นให้เพิ่มระดับน้ำเป็น 40 เซนติเมตร และใส่ปุ๋ยในปริมาณครึ่งหนึ่งของปุ๋ยที่ใช้ในข้อ 2
2. ทิ้งไว้ 2 - 3 วัน น้ำจะมีสีเขียวเข้มให้นำโรติเฟอร์ที่กรองจนเข้มข้นประมาณ 20 ลิตร (ความหนาแน่น 3,621 ตัวต่อซี.ซี.) มาใส่ในบ่อเพาะน้ำเขียวถ้าเป็นไปได้ควรมีการเพิ่มอากาศลงในบ่อเพาะ
3. เมื่อโรติเฟอร์ขยายตัวเต็มที่ น้ำจะเป็นสีชาและมีฟองอากาศลอยตามผิวน้ำมาก ก็ให้การกรองโรติเฟอร์ไปใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงลูกปลาบู่วัยอ่อนด้วยผ้าแพลงก์ตอน 59 ไมครอน หลังจากโรติเฟอร์เหลือจำนวนน้อยในบ่อให้ล้างบ่อและดำเนินการเพาะโรติเฟอร์ขึ้นใหม่ ทั้งนี้ควรให้โรติเฟอร์น้ำจืดอนุบาลลูกปลาบู่ในตอนเช้า กลางวัน และเย็นมื้อละ 4 - 6 ลิตร/บ่อ/ครั้ง สำหรับลูกปลาอายุ 2 - 12 วัน หลังจากนั้นค่อย ๆลดปริมาณให้โรติเฟอร์จนลูกปลาอายุได้ 30 - 37 วัน
|