สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านทุก ๆ ท่าน
ท่านผู้อ่านทุกท่านคงคุ้นเคยกับคำว่าปฏิบัติธรรมกันเป็นอย่างดี ที่ไหน ๆ ก็มีการปฏิบัติธรรม ท่านผู้อ่านเคยสงสัยบ้างหรือไม่ครับ ว่าบุคคลผู้ได้ชื่อว่า “บุคคลผู้ปฏิบัติ” นั้น ในพระพุทธศาสนาหมายถึงบุคคลผู้ปฏิบัติเช่นไร ? ปฏิบัติกันแค่ไหนจึงเรียกว่าการปฏิบัติ ?
ในพระไตรปิฎกได้นิยามบุคคลผู้ปฏิบัติเอาไว้อย่างนี้ครับ
[๓๑] บุคคลผู้ปฏิบัติ เป็นไฉน ?
บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยมรรค ๔ ชื่อว่าผู้ปฏิบัติ
บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยผล ๔ ชื่อว่าผู้ตั้งอยู่แล้วในผล.
การปฏิบัติอื่นใดนอกเหนือจากนี้ แม้เป็นเวลานานนับ ๑๐๐ ปี ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติครับ
บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยมรรค ๔ คืออย่างไร ?
ได้แก่
๑.ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติมัคค
๒.ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุสกทาคามีมัคค
๓.ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุอนาคามีมัคค
๔.ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุอรหัตตมัคค
การปฏิบัติอย่างนี้เรียกว่า บุคคลผู้ปฏิบัติ ในพระพุทธศาสนาครับ
ในเบื้องต้นลองปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติมัคคกันก่อนนะครับ
เพราะเมื่อบรรลุโสดาปัตติมัคค ย่อมบรรลุโสดาปัตติผลทันทีครับ
"นั่งตัวตรง หลับตา หายใจลึก ๆ เต็มปอดให้สม่ำเสมอ มองไปข้างหน้าฝ่าความมืด เอาแสงสว่างในวงหน้าเป็นที่หมาย หายใจแรง ๆ ให้สม่ำเสมอ แล้วท่องในใจว่า สว่างๆๆๆๆ ให้ต่อเนื่องตามกัน การหายใจแรง ๆ เต็มปอดแล้วท่องในใจว่าสว่าง ๆๆ อย่างนี้เรียกว่า มีวิตก มีวิจาร
ลำดับต่อไป หายใจแรงขึ้น ให้รู้สึกกระทบเย็นที่ช่องจมูก กระทบเย็นถึงระหว่างคิ้ว กระทบเย็นถึงลำคอ
ลำดับต่อไป หายใจแรง ๆ ต่อไป จนกว่าจะรู้สึกเย็นซาบซ่านตั้งแต่ท้ายทอยจนถึงกระหม่อม รู้สึกเย็นซาบซ่านตั้งแต่ท้ายทอยจนถึงแผ่นหลัง จนรู้สึกเย็นซาบซ่านไปทั่วตัวตลอดแขนขา บางคนอาจรู้สึกขนลุก หรือน้ำตาไหล หรือตัวสูงตัวพองตัวใหญ่ หรือตัวโยกตัวโคลงตัวสั่น หรือหมุน หรือลอย ใครทำได้อย่างนี้เรียกว่า มีปีติ มีสุข คือรู้สึกเบาสบายในร่างกาย อิ่มใจ แช่มชื่นใจ ไม่เจ็บไม่ปวดไม่เมื่อย สุขกายสุขใจ เบากายเบาใจ
อาการ ๔ อย่างนี้คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดพร้อมกันดับไปพร้อมกัน ดับไปพร้อมกันแล้วเกิดพร้อมกันอีก คือหายใจแรงต่อไป ท่องในใจว่าสว่าง ๆๆๆ ต่อไปไม่เผลอเรอ มีปีติซาบซ่านขนลุก ฯลฯ ต่อไป สุขกายสุขใจต่อไป ใครทำได้อย่างนี้เรียกว่า มีเอกคตารมณ์ คือมีอารมณ์เป็นหนึ่ง คำว่าอารมณ์เป็นหนึ่งไม่ได้หมายความว่ามีอารมณ์แค่หนึ่งอย่างนะครับ แต่หมายถึงองค์ธรรมที่เป็นกุศลต่าง ๆ หลาย ๆ อย่างรวมกันเป็นหนึ่งเดียว รวมเป็นเนื้อเดียวกัน ใครทำได้อย่างนี้เรียกว่าบรรลุสมาธิขั้นที่ ๑ เป็นสมาธิขั้นปฐมฌาน"
ขอเสริมนิดหนึ่งนะครับ คำว่าสมาธิเป็นชื่อรวม ส่วนฌานเป็นชื่อขั้น ชื่อระดับของสมาธิ เช่นเดียวกับนักเรียนเป็นชื่อรวม อนุบาล ๑ ประถม ๔ มัธยม 5 เป็นชื่อชั้น เพราะหลาย ๆ คนเข้าใจผิดว่าฌานอย่างหนึ่ง สมาธิอีกอย่างหนึ่ง ที่ถูกต้องสมาธิและฌานคืออย่างเดียวกันครับ แต่ฌานเป็นชื่อการแบ่งชั้นแบ่งระดับของสมาธิแต่ละขั้นครับ
"ลำดับต่อไปหายใจแรงๆ แล้วนึกถึงร่างกายของเรา ท่องในใจว่า ร่างกายๆๆๆๆ แทนคำว่าสว่าง ๆๆ มีวิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกคตารมณ์เหมือนเดิม ซาบซ่านขนลุกเหมือนเดิมอยู่ในปฐมฌานเหมือนเดิม แต่มีร่างกายเป็นอารมณ์แทนแสงสว่าง
เมื่อมั่นดีแล้ว ลำดับต่อไป พิจารณาร่างกายนี้โดยความเป็นของไม่งาม หายใจแรง ๆ แล้วท่องในใจว่ากายไม่งามๆๆๆๆๆ มีวิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกคตารมณ์เหมือนเดิม ซาบซ่านขนลุกเหมือนเดิมอยู่ในปฐมฌานเหมือนเดิม พิจารณาว่าเรานั้นจะต้องตายร่างกายจะต้องเน่าเปื่อยผุพังไป ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวตนของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ละสักกายะทิฏฐิ คือความยึดมั่นถือมั่นในกายนี้ว่าตัวว่าตน ว่าเราว่าของเราออกไปจากใจ
เมื่อมั่นดีแล้ว ลำดับต่อไป ใจ หายใจแรง ๆ แล้วท่องในใจว่า พุทโธๆๆๆๆๆ มีวิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกคตารมณ์เหมือนเดิม ซาบซ่านขนลุกเหมือนเดิมอยู่ในปฐมฌานเหมือนเดิม แล้วทำสัทธาของเราให้มั่นคงในคุณของพระรัตนตรัย ว่าพระพุทธเจ้านั้นดีจริง พระธรรมก็ดีจริง พระอริยะสงฆ์ก็ดีจริง ให้คุณประโยชน์กับเราจริง ๆ พระพุทธเจ้าก็คือบุคคลผู้สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์เอง พระธรรมในที่นี้ก็หมายถึงความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ คือพระนิพพานนั่นเอง พระอริยะสงฆ์ก็คือบุคคลผู้สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ เมื่อปฏิบัติตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง การปฏิบัติธรรมของเราในขณะนี้ก็เป็นไปเพื่อ ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ คือพระนิพพานนั่นเอง เชื่อถือเชื่อมั่นตรงนี้ มีสัทธาในตัวเรา และสัทธาในพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ไม่ลังเลสงสัย เรียกว่ากำจัด วิจิกิจฉา ออกไปจากใจ
เมื่อมั่นดีแล้ว ก็พิจารณาต่อไปว่า พวกเรานั้นได้เวียนตายเวียนเกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน นับวันเวลาไม่ถ้วน ชาติใดที่เราก่อเวร ด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เอาของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้ ประพฤติผิดในกาม กล่าวมุสาวาท เสพสิ่งเสพติดมึนเมา เวรห้าประการนี้แหละ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรกบ้าง เปรตบ้าง อสุรกายบ้าง สัตว์เดรัจฉานบ้าง เป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ที่ขัดสนจนยาก มีสติปัญญาน้อย มีอายุขัยสั้น มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน นั่นเพราะเราประมาทในศีล ก่อเวรเอาไว้ แต่ชาติใดที่เราหมั่นให้ทาน หมั่นรักษาศีล เจริญเมตตาธรรม ไม่ประมาทในศีลในธรรม ในชาตินั้นเราก็ถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์และบริวาร นับแต่ตายเมื่อกายแตก ก็ท่องเที่ยวอยู่แต่โลกมนุษย์ โลกสวรรค์ และพรหมโลก มีความสุขอันยาวนาน นั่นเพราะความไม่ประมาทในศีลในธรรม ดังนั้นบัณฑิตพึงอบรมจิตให้เป็นไปเพื่อการไม่ก่อเวร ลำดับต่อไปให้ทุกคนหายใจลึก ๆ เต็มปอดเต็มท้อง แล้วตั้งความปรารถนาอันแน่วแน่มั่นคงอย่างแรงกล้าในอันที่จะอธิษฐานว่า นับตั้งแต่นี้ต่อไปพวกข้าพเจ้าทั้งหลายจะไม่ก่อเวร หายใจแรง ๆ เต็มปอดเต็มท้องต่อไปแล้วท่องในใจว่า ไม่ก่อเวรๆๆๆๆๆๆ มีวิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกคตารมณ์เหมือนเดิม ซาบซ่านขนลุกเหมือนเดิมอยู่ในปฐมฌานเหมือนเดิม"
การหายใจแรง ๆ เต็มปอดเพื่อความมุ่งมั่น แล้วอบรมจิตให้เป็นไปเพื่อการไม่ก่อเวร แล้วเกิดปีติสุขซาบซ่านขนลุกไปทั่วตัว อย่างนี้เรียกว่า วิปัสสนาจิต หรือโสดาปัตติมัคคจิต
ถ้าไม่บรรลุโสดาปัตติผล เรียกว่า วิปัสสนาจิต ต้องบำเพ็ญเพียรต่อไปอีกหน่อย
ถ้าบรรลุโสดาปัตติผลตามมา เรียกว่า โสดาปัตติมัคคจิตครับ
มีพระธรรมเทศนารับรองดังนี้ครับ
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๑ ธรรมสังคณีปกรณ์
โลกุตตรกุศลจิต
มรรคจิตดวงที่ ๑
[๑๙๖] ธรรมเป็นกุศล เป็นไฉน?
โยคาวจรบุคคล เจริญฌานเป็นโลกุตตระ อันเป็นเครื่องออกไปจากโลก นำไปสู่นิพพาน เพื่อละทิฏฐิ เพื่อบรรลุภูมิเบื้องต้น สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน เป็นทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ประกอบด้วยวิตก วิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก อยู่ในสมัยใด
ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา จิต วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ มนินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ ชีวิตินทรีย์ อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัทธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ อโลภะ อโทสะ อโมหะ อนภิชฌา อัพยาปาทะ สัมมาทิฏฐิ หิริ โอตตัปปะ กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ กายลหุตา จิตตลหุตา กายมุทุตา จิตตมุทุตา กายกัมมัญญตา จิตตกัมมัญญตา กายปาคุญญตา จิตตปาคุญญตา กายุชุกตา จิตตุชุกตา สติ สัมปชัญญะ สมถะ วิปัสสนา ปัคคาหะ อวิกเขปะ มีในสมัยนั้น หรือนามธรรมที่อิงอาศัย เกิดขึ้นแม้อื่นใด มีอยู่ในสมัยนั้น
สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นกุศล
หวังว่าคงพอเป็นแนวทางการปฏิบัติแก่ท่านผู้อ่านทุกท่านได้ดีนะครับ
เจริญในธรรมครับ
อาจารย์อิศเรศ การะเกตุ (วิทยากรชมรมธรรมะไทย)
|