ปลากดเหลืองเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูง มีราคาดี เนื้อมีรสชาติดีเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในรูปสดและแปรรูป เช่น แกงเหลือง ฉู่ฉี่ และย่าง ฯลฯ มีชื่อสามัญ Green Catfish และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mytus nemurus ได้รับการตั้งชื่อครั้งแรกโดย Cuvier และ Valencieness ในปี 2436 ปลากดเหลืองมีการเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ซึ่งชาวประมงแถบจังหวัดกาญจนบุรี เรียกว่า ปลากดกลางหรือปลากลาง แถบจังหวัดฉะเชิงเทราและชลบุรีเรียกว่า ปลากดนาหรือปลากดเหลืองแถบจังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า ปลากดฉลอง แถบจังหวัดปัตตานีและนราธิวาสเรียกว่า อีแกบาวง แต่ปลาชนิดนี้ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทย เรียกว่า ปลากดเหลือง
การแพร่กระจาย
ปลากดเหลืองพบแพร่กระจายในแหล่งน้ำจืดทั่วไปของทวีปเอเชียตั้งแต่เอเชียตะวันตก ได้แก่ อินเดีย เนปาล ปากีสถาน และบังกลาเทศ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ เมียนมาร์ ไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทยพบแพร่กระจายในแหล่งน้ำธรรมชาติและอ่างเก็บน้ำทั่วทุกภาคของประเทศ เช่นภาคเหนือพบในลำน้ำกก ปิง วัง ยม น่าน กว๊านพะเยา บึงบอระเพ็ด เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนกิ่วลม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบในแม่น้ำมูล แม่น้ำโขงและสาขาในเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว เขื่อนลำตะคอง ภาคกลาง พบในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำปางปะกง แม่น้ำป่าสัก เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์และแก่งกระจาน ภาคใต้พบในแม่น้ำตาปี ปัตตานี สายบุรี บางนรา โก-ลกและสาขาบริเวณปากแม่น้ำย่านน้ำกร่อยบริเวณชายฝั่งก็สามารถพบปลากดเหลืองได้ นอกจากนี้พบในทะเลน้อย ทะเลสาบ สงขลาและพรุต่างๆ เช่น พรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส พรุควนเคร็งในจังหวัดนครศรีธรรมราช
อุปนิสัย
ปลากดเหลืองสามารถเจริญเติบโตและอยู่อาศัยได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย แต่ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นท้องน้ำที่เป็นแอ่งหินหรือพื้นดินแข็งน้ำค่อนใสมีกระแสน้ำไหลไม่แรงนักพบอยู่ในระดับความลึกตั้งแต่ 2-40 เมตร ทั้งยังชอบอาหารบริเวณที่น้ำจากต้นน้ำเหนือเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำไหลมาบรรจบกับบริเวณแนวน้ำนิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณปากน้ำซึ่งมีน้ำจืดไหลปะทะกับแนวน้ำเค็ม มีกุ้ง ปลา ปู หอย ค่อนข้างสมบูรณ์ ชาวประมงมักจับปลากดเหลืองสามารถที่จะปรับตัวให้เจริญโตได้ดีในสภาพน้ำพรุที่มีความเป็นกรดสูงและมีปริมาณสารแขวนลอยมาก
รูปร่างลักษณะ
ปลากดเหลืองเป็นปลาน้ำจืดที่ไม่มีเกล็ด ลำตัวกลมยาว หัวค่อนข้างแบนและเรียวเป็นรูปกรวย(conical) กระดูกท้ายทอยยาวถึงโคนครีบหลัง ตาไม่มีหนังปกคลุม ปากกว้าง ขากรรไกรแข็งแรง มีฟันซี่เล็กๆสั้นปลายแหลมเป็นกลุ่มหรือแผ่นบนขากรรไกรบน ขากรรไกรล่างและบนเพดานปากซี่กรองสั้นเล็กปลายแหลม มี 15 ซี่ มีหมวด 4 คู่คือที่บริเวณจมูก ริมฝีปากบน ริมฝีปากล่าง และใต้คางอย่างละ 1 คู่ ซึ่งหนวดคู่แรกและหนวดคู่สุดท้ายจะมีความยาวสั้นกว่าคู่ที่สองและคู่ที่สาม
ครีบหลังไม่สูงเป็นครีบเดี่ยวอยู่กลางหลัง มีก้านครีบแข็ง 1 ก้านและก้านครีบอ่อน 7 ก้าน ครีบไขมันเจริญดีอยู่บนหลังตามหลังตามส่วนท้ายของลำตัว และอยู่ตรงข้ามกับครีบก้น ครีบก้นมีก้านครีบอ่อน 10-11 ก้าน ครีบหูเป็นครีบคู่อยู่หลังบริเวณเหงือก มีเงี่ยงแข็งและแหลมคม 1 คู่ มีก้านครีบอ่อนข้างละ 9 ก้าน ครีบท้องมีก้านครีบอ่อน 6-7 ก้าน ครีบหางเว้าลึกแฉกบนยาวกว่าแฉกล่างประกอบด้วยก้านครีบอ่อน 16-17 ก้าน
ลักษณะสีของลำตัวจะเปลี่ยนไปตามอายุ ขนาด และแหล่งที่อยู่อาศัยปลากดเหลืองที่มีขนาดโตเต็มวัย ลำตัวบริเวณส่วนหลังมีสีน้ำตาลเข้มปนดำ บริเวณข้างลำตัวมีสีน้ำตาลปนเหลือง บริเวณท้องมีสีขาว ฐานครีบอก ครีบท้อง ครีบก้น มีสีเทาเจือชมพู ครีบหลัง ครีบหางมีสีเขียวซีดจาง ปลายครีบมีสีเทาปนดำ ดวงตามีขนาดปานกลาง
ปลากดเหลืองที่พบโดยทั่วไปมีขาด 20-25 เซนติเมตร แต่เคยพบขนาดใหญ่สุดกว่า 60 เซนติเมตร ปลาชนิดนี้มีกระเพาะลม ซึ่งมีลักษณะกระเพาะลมตอนเดียวคล้ายรูปหัวใจทำหน้าที่ช่วยในการทรงตัวใช้ปรับความถ่วงจำเพาะของตัวปลาให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย เพื่อให้สามารถลอยตัวอยู่มนระดับต่างๆได้ตามความต้องการ
การสืบพันธุ์
1. ลักษณะความแตกต่างระหว่างปลากดเหลืองเพศผู้กับเพศเมียมีดังนี้
ลักษณะตัวผู้
|
ลักษณะตัวเมีย
|
1. ลำตัวจะมีลักษณะเรียงยาว
|
1. ลำตัวจะมีลักษณะป้อมสั้น
|
2. อวัยวะเพศที่เรียกว่า genital papillae ยื่นออกมาประมาณ 1 เซนติเมตรจะมีลักษณะเป็นติ่งเรียวยาวและแหลมตอนปลาย
|
2. อวัยวะเพศมีลักษณะเป็นรูกลม
|
3. ในฤดูผสมพันธุ์ เมื่อรีดจากส่วนท้องจะมีน้ำเชื้อไหลออกมาลักษณะสีขาวขุ่น
|
3.ในฤดูผสมพันธุ์จะมีส่วนท้องบวมเป่งนูนออกมาทางด้านข้างทั้งสองข้างและช่องเพศมีสีชมพูเรื่อๆ
|
ปริมาณความดกของไข่ขึ้นกับขนาดของแม่ปลากดเหลือง ปลาเพศเมียที่พบเริ่มมีไข่แก่และสืบพันธุ์วางไข่ได้มีความยาวตั้งแต่ 18 เซนติเมตรขึ้นไป ความยาวเฉลี่ย 28.56 เซนติเมตร ส่วนปลาเพศผู้ความยาวเฉลี่ย 28.56 เซนติเมตร
แม่ปลาขนาดความยาว 18 เซนติเมตร มีไข่ประมาณ 12,500 ฟอง
แม่ปลาขนาดความยาว 30 เซนติเมตร มีไข่ประมาณ 40,000 ฟอง
อัตราการปล่อยพ่อแม่พันธุ์
อัตราส่วนการปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลากดเหลืองเท่ากับอัตรา 1 ตัว/1 ตารางเมตร โดยจะปล่อยแยกเพศหรือรวมเพศก็ได้
ฤดูกาลวางไข่
ปลากดเหลืองสามารถวางไข่ได้เกือบตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนตุลาคมของทุกปีในแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับภาคใต้ตอนล่างฤดูผสมพันธุ์วางไข่อยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน
เป็นที่น่าสังเกตว่า ฤดูกาลวางไข่ของปลากดเหลืองจะแตกต่างกันไปตามสภาพและที่ตั้งของพื้นที่ เช่น
· อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนของทุกปี
· แม่น้ำบางปะกงอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน
· เขื่อนศรีนครินทร์ ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน
· เขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม
อนึ่ง ปัจจัยที่เป็นตัวควบคุมความสุกแก่ของรังไข่ ได้แก่ ปริมาณน้ำฝนที่ตกในแต่ละช่วงของรอบปี
การพัฒนาไข่ปลากดเหลือง
ไข่ปลากดเหลืองเป็นไข่จมและติดกับวัตถุ เมื่อสัมผัสกับน้ำจะมีสารเมือกเหนียวที่รอบเปลือกไข่
ทำให้ไข่ปลาติดกับวัตถุหรือไข่ติดกันเป็นกลุ่มก้อนไข่แก่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 0.82 มิลลิเมตร ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิจะขยายขึ้นเป็นขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร มีลักษณะกลม สีเหลืองใสสด ส่วนไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจะมีสีขาวขุ่นหรือบิดเบี้ยว
การพัฒนาไข่ปลากดเหลืองเป็นตัว ที่อุณหภูมิ 26-28 องศาเซลเซียส ภายในเวลา 30 ชั่วโมง เมื่อมีอายุย่างเข้าวันที่4 ลักษณะลำตัวและครีบต่างๆเริ่มคล้ายกับปลาเต็มวัย ลูกปลามีขนาดประมาณ 0.8 เซนติเมตร ลูกปลาอายุ 10 วัน มีความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร
นิสัยการกินอาหาร
ปลากดเหลืองมีกระเพาะอาหารที่มีลักษณะเป็นถุงตรงยาว ผนังหนาสีขาวขุ่น นิสัยการกินอาหารในธรรมชาติได้แก่ ปลาขาดเล็ก ตัวอ่อนแมลงหรือแมลงในน้ำ กุ้งน้ำจืด เศษพันธุ์ไม้น้ำ และหอยฝาเดียว เป็นต้น จากลักษณะรูปร่างที่ปราดเปรียวของปลากดเหลือง พบว่า จะโฉบจับเหยื่อที่อยู่ผิวน้ำหรือกลางน้ำได้อย่างว่องไว โดยจะหากินในช่วงกลางคืนได้ดีกว่าช่วงกลางวัน
การเพาะพันธุ์
ปลากดเหลืองที่ใช้ในการเพาะพันธุ์ส่วนใหญ่ได้จากการรวบรวมพันธุ์จากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หรืออ่างเก็บน้ำต่างๆ โดยคัดเลือกพันธุ์ปลาที่แข็งแรง อวัยวะทุกอย่างครบสมบูรณ์ ขนาดไม่ต่ำกว่า 400 กรัม นำมาเลี้ยงเป็นพ่อแม่ปลาได้ทั้งในบ่อดินและกระชัง แต่ควรแยกเพศปลาตัวผู้และตัวเมียออกจากกัน
บ่อดิน ควรมีขนาด 800-1,600 ตารางเมตร อัตราการปล่อยปลา 1-2 ตัวต่อตารางเมตร
กระชัง ควรเป็นกระชังอวนโพลี ขนาดตา 2-3 เซนติเมตร ขนาดกระชังกว้าง 5 เมตร ยาว 5 เมตร ลึก 2.5 เมตร อัตราการปล่อยปลา 50-100 ตัว ต่อกระชัง
การขุนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ ให้อาหารจำพวก ปลาสดสับผสมหัวอาหารและเสริมด้วยอาหารเม็ดปลาดุก หรือให้อาหารต้มสุกจำพวกปลายข้าว 2 ส่วน รำละเอียด 3 ส่วน ปลาป่น 1 ส่วน วิตามินและแร่ธาตุประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนัก เสริมด้วยอาหารเม็ดปลาดุกเล็ก 1 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ปริมาณอาหารที่ให้ในแต่ละวันประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลา ควรมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำใหม่ในบ่อประมาณ 1-2 ครั้ง ต่อเดือนปริมาณ 1 ใน 3 ของบ่อ
การคัดเลือกพ่อแม่ปลา
การตรวจสอบพ่อแม่ปลาที่มีความสมบูรณ์ควรทำด้วยความระมัดระวังอาจใช้ผ้าขนหนูปิดหัวปลา โดยเฉพาะบริเวณตาของพ่อแม่ปลา แล้วหงายท้องตรวจความพร้อมของปลา จะป้องกันการบอบช้ำ และลดความเครียดได้ ปลาเพศเมียที่มีไข่แก่ สังเกตจากส่วนท้องจะบวมเป่งและนิ่ม ช่องเพศมีสีชมพูเรื่อๆปลาเพศผู้ อวัยวะเป็นติ่งแหลมยื่นยาวออกมาไม่ต่ำกว่า 1 เซนติเมตร
พ่อแม่ปลาที่ใช้ควรมีน้ำหนักตั้งแต่ 450 กรัม หรือเป็นปลาที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 เดือนขึ้นไป โดยปกติแล้วแม่พันธุ์ปลาจะมีน้ำหนักมากกว่าพ่อแม่พันธุ์ปลา
การฉีดฮอร์โมนผสมเทียม
ฮอร์โมนที่ใช้ในการฉีดเร่งให้แม่ปลามีไข่แก่ และพ่อปลามีน้ำเชื้อสมบูรณ์ปัจจุบันนิยมใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ (synthetic hormore, LHR Ha) ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า ซูพรีแฟค (Suprefact) ร่วมกับสารระงับการทำงานของระบบหลั่งฮอร์โมนคือ โดมเพอริโดน (Domperidone) หรือมีชื่อทางการค้าว่าโมทีเลียม (Motilium)