|
|
จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร (6)
จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร (6)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
เพราะฉะนั้น จึงสรุปให้เห็นชัดได้ว่า มนุษย์นั้น เมื่อมีการรับรู้ประสบการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะมีความรู้สึกหรือเวทนาเกิดขึ้นด้วย คือ รู้สึกสบายหรือไม่สบาย ความรู้สึกที่สบายเรียกว่าสุขเวทนา ความรู้สึกที่ไม่สบายเรียกว่าทุกขเวทนา พอรับรู้เข้ามาและเกิดมีเวทนานี้อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว มนุษย์ที่ยังมีอวิชชาก็จะมีปฏิกิริยาคือ ถ้าเวทนาสุขสบายก็ชอบใจ อยากจะเอา เรียกว่ายินดี ถ้าเวทนาเป็นทุกข์ ไม่สบาย ก็ไม่ชอบใจ ขัดใจ เรียกว่ายินร้าย
ปฏิกิริยายินดียินร้ายนี้เรียกรวมว่าตัณหา ความยินดีและยินร้ายนี้จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมทำให้ตัดสินใจเลือกว่าจะเอาหรือไม่เอา จะเอาอันไหนและอย่างไร ตรงนี้เองเป็นจุดที่มีเจตนาเข้ามาเกี่ยวข้องคือตรงที่มีปฏิกิริยาชอบหรือไม่ชอบนั่นเอง
หมายความว่า การชอบหรือไม่ชอบและจะเอาอย่างไรนั้นมีเจตนาเป็นตัวตัดสินใจเลือก และเจตนาที่ตัดสินใจเลือกนั้นก็จะเลือกไปตามแรงผลักดันของตัณหา ตอนนี้จะเห็นได้ว่า กระบวนการของกรรมได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
เป็นอันว่า เมื่อไม่มีความรู้หรือไม่ใช้ความรู้ (ปัญญา) ตัณหาก็จะมาเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม คือทำไปตามความปรารถนาที่จะได้รับสุขเวทนาและหลีกเลี่ยงทุกขเวทนา การที่ต้องใช้ตัณหาเป็นตัวนำทางพฤติกรรมอย่างนี้ก็เพราะมนุษย์ยังไม่พัฒนา ยังไม่มีความรู้ ยังไม่มีปัญญา เขาจึงอยู่ด้วยอวิชชาและตัณหาไปก่อน เมื่อเป็นอย่างนี้จึงเห็นได้ว่า การกระทำของมนุษย์ส่วนมากก็เนื่องมาจากการที่จะหาสุขเวทนา และหลีกเลี่ยงทุกขเวทนา ซึ่งเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ทั่วไปที่ไม่มีการศึกษา หรือยังไม่ได้ฝึกฝนพัฒนา
ทีนี้ ก็เกิดปัญหาว่า การที่มนุษย์เป็นอยู่โดยใช้ตัณหาเป็นตัวนำนั้นจะทำให้ตนเองอยู่รอดด้วยดีหรือไม่ ถ้าอยู่รอดด้วยดีก็หมดเรื่อง แต่ปรากฏว่ามันไม่ดี เพราะว่าถ้าจะทำอะไรๆ เพียงแค่ตามความปรารถนาที่จะได้รับสุขเวทนาหรือหลีกเลี่ยงทุกขเวทนาเท่านั้น ก็จะเกิดปัญหาหลายขั้นตอน คือ 1. อันตรายต่อชีวิตของตน ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ 2. อันตรายต่อการอยู่ร่วมกันของมนุษย์หรือสังคม 3. อันตรายต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทีนี้ ก็ลองมาดูว่า ถ้าเราเอาตัณหาเป็นตัวนำพฤติกรรม จะเกิดคุณหรือโทษอย่างไร โดยดูจากปัญหาหรืออันตราย 3 ประการนี้ เริ่มตั้งแต่ในด้านชีวิตของตนเอง จะเห็นว่าในระดับต้นๆ พฤติกรรมแบบสนองเวทนาจะช่วยได้มาก เช่น มองเห็นอะไรไม่สบายตา มนุษย์ก็จะหลีกเลี่ยงไว้ก่อน เพราะสิ่งที่ทำให้เกิดทุกขเวทนานั้นเป็นอันตรายต่อสายตาหรือต่อร่างกาย แต่ในทางตรงข้าม ถ้าหากเห็นแล้วสบายตา สิ่งนั้นก็มักจะเกื้อกูลต่อชีวิต แต่พอเอาเข้าจริงก็ปรากฏว่าสิ่งเหล่านี้ไม่แน่นอนเสมอไป
ต่อมาเราจะรู้ว่ามันใช้เป็นหลักไม่ได้จริง ยกตัวอย่าง อะไรก็ตามที่สบายลิ้น คืออร่อย ตามปกติเราก็ถือว่าดี ใช้ได้ เป็นประโยชน์แก่ชีวิตร่างกายของเรา แต่ที่ว่านั้นไม่จริงเสมอไป เพราะบางอย่างที่อร่อยสบายลิ้นแต่เป็นโทษแก่ชีวิตก็มี ซึ่งตรงนี้เองที่เราเริ่มพบความไม่แน่นอน จะเอาเวทนาและตัณหาเป็นเกณฑ์ตัดสินเด็ดขาดไม่ได้ เราใช้มันเป็นตัวนำทางเบื้องต้นได้บ้างแต่ว่าไม่ปลอดภัย พอมาเจอปัญหาว่าสิ่งที่อร่อย จะเป็นคุณต่อชีวิตจริงหรือไม่ ก็ชักจะไม่แน่เสียแล้ว ถ้าอย่างนี้แล้วเราจะเอาอะไรเป็นหลักตัดสินว่าสิ่งใดเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อชีวิตกันแน่
ถ้าเราใช้ตัณหาซึ่งในที่นี้คือความอยากเสพรสอร่อยเป็นตัวนำ ก็หมายความว่าเมื่อยังอร่อยก็ต้องกินเรื่อยไป แต่ปรากฏว่าการกินตามความอร่อยนี้ ทำให้กินมากเกินไปเลยเกิดอาการอาหารไม่ย่อย หรืออ้วนเกินไปก็เสียสุขภาพ บางคนชอบอาหารจำพวกไขมัน เมื่อกินเข้าไปมาก ก็เกิดเป็นอันตรายต่อร่างกาย บางทีถึงกับไขมันอุดตันในเส้นเลือด ทำให้เสียชีวิตได้ หรือเด็กบางคนกินแต่อาหารอร่อยที่ตัวชอบ เช่นกินแต่ขนม กินมากและสิ้นเปลืองเงินมาก แต่กลายเป็นโรคขาดอาหาร แล้วยังเกิดปัญหาทางจิตใจด้วยเนื่องจากมีความขุ่นเคืองคับข้องเมื่อได้อาหารไม่อร่อยอย่างที่อยาก ทำให้จิตใจงุ่นง่านดิ้นรนจะไปหา เมื่อไม่ได้ก็ไม่ยอม เกิดความวุ่นวาย นี่เป็นตัวอย่างของอันตรายต่อชีวิตของตนเอง ที่เกิดจากการให้ตัณหาเป็นตัวนำพฤติกรรม
|
Update : 12/8/2554
|
|