|
|
วัดป่าสาลวัน
วิถีแห่งการปฎิบัติ พระอาจารย์เทสก์ เกสรังสี
เสถียร จันทิมาธร
จากขอนแก่นในปี พ.ศ.2474 เข้าพรรษาที่ 10 ปี พ.ศ.2475 พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ได้รับบัญชาจาก พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ให้นำพาหมู่คณะเดินทางไปยังนครราชสีมา
แปลกที่นครราชสีมา "แปลกหน้า" อย่างยิ่งสำหรับพระในสาย "อาจารย์มั่น"
นครราชสีมา อาจเป็น "ทางผ่าน" แต่ปรากฏน้อยมาก ที่พระกัมมัฏฐานอันเป็นศิษยานุศิษย์ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จะไปพำนัก
สำนวน พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ก็ต้องว่า
"จังหวัดนครราชสีมา พระกัมมัฏฐานคณะลูกศิษย์ของ ท่านอาจารย์มั่น ไม่เคยไปกล้ำกรายเลย แต่ไหนแต่ไรมา"
หากถามว่า เป็นเพราะเหตุใดหรือ
คำตอบ คือ "เพราะเคยได้ยินมาว่า คนในจังหวัดนี้ใจอำมหิตเหี้ยมโหดมาก กลัวจะไม่ปลอดภัย"
ได้ยินแล้วสยอง
"สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สมัยดำรงสมณศักดิ์เป็น พระธรรมปาโมกข์ ได้นิมนต์ ท่านอาจารย์สิงห์ พระมหาปิ่น ลงไป แล้ว พ.ต.ต.หลวงชาญนิคม ผู้กองเมืองที่สอง เกิดศรัทธาเลื่อมใสได้ถวายที่สร้างวัดป่าข้างหัวรถไฟโคราช"
ที่ต้องเน้นเป็นพิเศษ คือ ที่สร้างวัดป่าข้างหัวรถไฟโคราช
เน้นเพราะที่สร้างวัดป่าข้างหัวรถไฟจังหวัดนครราชสีมา ต่อมาได้กลายเป็นวัดป่าที่ทรงความสำคัญเป็นอย่างสูง
จากหนังสือ "อัตตโนประวัติ" พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี บันทึกไว้ว่า
พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้เรียกลูกศิษย์ที่อยู่ทางจังหวัดขอนแก่นลงไปยังพื้นที่อันอยู่ข้างหัวรถไฟ นครราชสีมา
"เราพร้อมด้วยคณะได้ออกเดินทางไปพักที่สวนของหลวงชาญนิคม"
เบื้องต้น พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี พาหมู่คณะจัดเสนาสนะชั่วคราวขึ้น เพราะว่า พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เดินทางไปกรุงเทพมหานคร
และยังไม่กลับ
"พอท่านกลับมาถึงแล้ว เราได้ช่วย พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล สร้างเสนาสนะในป่าช้าที่ 2 แล้วได้อยู่จำพรรษา ณ ที่นั้น"
เป็นพรรษาที่ 10 ปี พ.ศ.2475
ปี พ.ศ.2475 อันตรงกับสถาน การณ์การเปลี่ยน แปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย
จังหวัดนครราชสีมาอยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพมหานครอันเป็นจุดเกิดเหตุมากนัก
อาจเพราะว่า การเขียนหนังสือ "อัตตโนประวัติ" ของ พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี เขียนขึ้นในปี พ.ศ.2515
พ.ศ.2515 ก็มีสถานการณ์สำคัญเกิดขึ้น
เพราะในเดือนพฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจ
ยึดอำนาจจาก จอมพลถนอม กิตติขจร
อย่างไรก็ตาม กล่าวสำหรับสถานการณ์เมื่อปี 2475 ที่ พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ได้จำพรรษาอยู่ ณ จังหวัดนครราชสีมา
พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี เขียนไว้ว่า
"พรรษานี้เราและอาจารย์ฝั้นได้รับภาระช่วยท่านอาจารย์มหาปิ่นรับแขกและเทศนาอบรมญาติโยมตลอดพรรษา ปีเดียวเกิดมีวัดพระกัมมัฏฐานขึ้น 2 วัดเป็นปฐมฤกษ์ของเมืองโคราช และเป็นปีประวัติศาสตร์ของประเทศไทย โดยการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย"
วัด 1 คือ วัดศรัทธาธรรม อีกวัด 1 คือ วัดป่าสาลวัน
อาจกล่าวได้ว่า วัดป่าสาลวัน เป็นวัดป่าสาย พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่ง พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม รับผิดชอบโดยตรง
จาก พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม มาถึง พระอาจารย์พุธ ฐานิโย
ขณะเดียวกัน กล่าวสำหรับ พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ในพรรษาที่ 10 ปี พ.ศ.2475 นี้เอง ก็ได้จำพรรษาอยู่ ณ วัดป่าสาลวัน ท่ามกลางอากาศร้อน และการปรารภความเพียรและได้พบประสบการณ์อันแปลกแตกต่าง
แปลกแตกต่างและบังเกิดความปริวิตกในทางความคิดอีกคำรบหนึ่ง
|
Update : 9/8/2554
|
|