|
|
เที่ยวทั่วไทย-วัดพระแก้ว (กำแพงเพชร)
วัดพระแก้ว (กำแพงเพชร)
หากเอ่ยขึ้นมาลอย ๆ ว่าวัดพระแก้ว รับรองได้ว่าร้อยทั้งร้อยต้องนึกถึงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต อยู่ในพระบรมมหาราชวัง ในกรุงเทพ ฯ ตรงข้ามกับกระทรวงกลาโหม แต่หากค้นต่อไปอีกนิดจะพบว่า วัดพระแก้ว เท่าที่ทราบกันมีถึง ๓ วัด คือ วัดพระแก้ว ที่อำเภอเมือง เชียงราย (นามเดิม วัดป่าญะ) ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งต้นของประวัติพระแก้วมรกต ที่เริ่มบันทึกได้แน่นอน คือฟ้าผ่าลงมาต้องเจดีย์ภายในวัดแตก ทำให้พบพระซึ่งถูกพอกปูนไว้ด้วยปูน แล้วลงรักปิดทอง เมื่อ พ.ศ. ๑๙๗๙ จึงนำพระองค์นี้ไปไว้ในวิหาร ต่อมาผู้ดูแลวิหารเข้าไปทำความสะอาดพบว่า ปูนที่พอกไว้ตรงพระกรรณแตกออก มองเห็นแก้วสีเขียวอยู่ภายใน จึงนำความไปบอกเจ้าอาวาส จึงกะเทาะปูนออก พบว่าพระพุทธรูปที่อยู่ข้างในเป็นพระแก้วมรกต
คงต้องมารู้จักแก้วมรกต หรือหยกสีเขียวกันเสียก่อน หยกเป็นชื่อแร่ชนิดหนึ่ง (หรือสารประกอบ) มีสีขาวนวลไปจนถึงสีเขียวเข้ม มนุษย์นำหยกมาเป็นเครื่องประดับ หรือมีความเชื่อว่าหากนำหยกมาบดให้ละเอียดแล้วผสมน้ำดื่มกินเข้าไปรักษาโรคทุกชนิด หยกไม่ว่าสีอะไรก็หายากมาก พบได้ประปราย เช่น พม่า จีน นิวซีแลนด์ อลาสการ์ และ ไซบีเรีย หยกที่นำมาสร้างพระแก้วมรกตเป็นสีเขียวแก่ มีขนาดใหญ่โตมาก เมื่อสีเขียวใบไม้รวมตัวกันเป็นก้อนโตจึงเป็นสีแก่ เราจึงเรียกว่า แก้วมรกต และเรียกพระพุทธรูปว่า พระแก้วมรกต พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งซ้อนพระบาทขวาบนพระบาทซ้าย วางพระหัตถ์ขวาบนพระหัตถ์ซ้าย ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๙ นิ้ว ด้วยขนาดขององค์พระพุทธรูปจึงนับว่าหยกก้อนเดียวที่นำมาแกะสลักนี้น่าจะเป็นหยกแท่งใหญ่โตที่สุด อาจจะใหญ่โตที่สุดในโลกก็เป็นได้
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องราวของพระแก้วมรกตไว้และทรงสันนิษฐานว่า พระแก้วมรกตนี้เป็นฝีมือช่างทางเมืองเหนือของไทย อันได้แก่เชียงแสนนั่นเอง
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี นายช่างผู้เชี่ยวชาญศิลปะ ชาวอิตาเลียน รับราชการอยู่ในประเทศไทย ได้ศึกษารูปทรงของพระแก้วมรกตอย่างละเอียดถี่ถ้วนเป็นเวลานาน สรุปความเห็นเกี่ยวกับพุทธลักษณะของพระแก้วมรกตไว้ว่า " น่าจะเป็นช่างฝีมือท้องถิ่น หรือเป็นฝีมือช่างทางเหนือของเมืองไทย ถ้าจะจัดยุคสมัยทางโบราณคดี พระแก้วมรกตน่าจะสร้างขึ้นในสมัยเชียงแสนรุ่นหลัง ไม่ใช้ฝีมือช่างชาวต่างประเทศ " ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะพบองค์พระครั้งสุดท้ายที่บันทึกกันไว้เป็นประวัติแน่นอนนั้น พบในเมืองเชียงราย ซึ่งเมืองนี้กษัตริย์เชียงแสนคือพระเจ้าเม็งรายมหาราช มาสร้างขึ้นไว้ แล้วย้ายราชธานีล้านนามาอยู่ที่เมืองนี้ ก่อนที่พระองค์จะย้ายไปอยู่เมืองฝาง แล้วไปตีได้หริภุญชัย มาสร้างเวียงกุมกาม (แถว อำเภอสารภี เชียงใหม่) จากนั้นจึงไปสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ (เชียงใหม่ ๗๐๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙)
ทีนี้มาดูจากตำนานแท้ ๆ บ้าง เมื่อสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๕๐๐ ปีเศษ จึงเกิดมีพระพุทธรูปขึ้นมา ตรงนี้เรื่องจริง เพราะอเล็กซันเดอร์มหาราช กษัตริย์กรีกไปตีอินเดียได้ แล้วให้ขุนศึกของพระองค์ขึ้นครองอินเดียแทน กษัตริย์ฝรั่งแต่ครองอินเดีย เกิดนับถือพระพุทธศาสนาขึ้นมา กรีกนั้นนับถืออะไรต้องมองเห็น จึงคิดสร้างพระพุทธรูปขึ้นมา พระพุทธรูปปางแรกของโลก คือปางที่สร้างที่แคว้นคันธารราษฎร์ ซึ่งอยู่ติดกับ อาฟกานิสสถาน ที่ถูกพวกตาลีบันระเบิดนั่นแหละ คือรุ่นแรก ๆ ตำนานก็เกิดขึ้นตอนนี้ว่า พระนาคเสน อยู่ในเมืองปาตลีบุตร เป็นพระที่พระเจ้ามิลินทร์ นับถือมาก (พระเจ้ามิลินทร์ พระนามเดิมคือ มีนานเตอร์ ชาวกรีก ) พระนาคเสนได้แก้วมรกตมาแล้วก็ขอให้ พระวิสสุกรรม (เทวดา) สร้างให้เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระนาคเสนจึงอธิษฐานอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ๗ องค์ เข้าบรรจุในองค์พระพุทธรูปแก้วมรกต องค์ที่ ๑ อยู่ที่พระเมาลี องค์ที่ ๒ อยู่ที่พระนลาฏ องค์ที่ ๓ อยู่ที่พระอุระ องค์ที่ ๔ และ ๕ อยู่ที่พระหัตถ์ทั้งสอง องค์ที่ ๖ และ ๗ อยู่ที่พระชาณุทั้งสอง และพยากรณ์ไว้ว่า พระรัตนปฏิมากรองค์นี้ จะรุ่งเรืองในแผ่นดินของวงศ์ทั้ง ๓ คือ วงศ์กัปโพชะ วงศ์อริมัททนะ และวงศ์สยาม
ตามตำนานเล่าต่อว่า อีก ๘๐๐ ปีต่อมา ไปประดิษฐานอยู่ในลังกาทวีป
พระอนุรุทธ ไปคัดลอกพระไตรปิฎกที่ลังกาทวีป เมื่อคัดลอกแล้วนำลงเรือกลับมาพร้อมด้วย พระแก้วมรกต เรือผ่านมาถึงนครธม ประเทศกัมโพชะ เรือต้องพายุล่มลง พระแก้วจึงอยู่ที่เมืองกัมโพชะ
ต่อมาเกิดน้ำท่วมใหญ่ จึงอัญเชิญพระแก้วไปประดิษฐานไว้ ณ เมืองชายแดน
พระเจ้าอาทิตยราช พระเจ้าแผ่นดินเมืองอโยชณ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือทราบข่าวน้ำท่วม จึงเสด็จมาเยี่ยม และเสด็จกลับพร้อมทั้งอัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย
ต่อมามีพระราชา หรือเจ้าเมืองที่มีอำนาจมากอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร ได้เสด็จไปที่เมืองอโยชณ แล้วอัญเชิญไปเมืองกำแพงเพชร (ทีนี้เข้าเรื่องวัดพระแก้วได้ล่ะ)
พระมหาพรหม น้องชายของพระเจ้ากือนาผู้ครองเชียงราย ยกทัพมาอัญเชิญพระแก้วมรกตไปไว้ยังเมืองเชียงราย แต่กลัวถูกแย่งชิงต่อ จึงพอกองค์พระด้วยปูนขาวคลุกน้ำผึ้งอ้อย ทรายละเอียดลงรักชั้นนอกแล้วปิดทอง บรรจุไว้ในเจดีย์ที่วัดป่าญะ อำเภอเมือง เชียงราย
จากนั้นมาก็มาเข้าเรื่อง พระเจดีย์ถูกฟ้าผ่า พระเจ้าเม็งรายไปสร้างเมืองเชียงใหม่จึงอัญเชิญ พระแก้วมรกตไปเชียงใหม่ แต่ขึ้นหลังช้างมาได้ถึงลำปาง ช้างไม่เดินต่อ ต้องนำไปประดิษฐานไว้ที่ลำปางก่อน จากนั้นอีกหลายปีจึงอัญเชิญไปยังเชียงใหม่ ประดิษฐานอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง ต่อมากษัตริย์เชียงใหม่ไม่มีโอรส มีแต่ธิดาแต่ไปอภิเษกสมรสกับกษัตริย์ล้านช้าง (หลวงพระบาง) มีโอรสชื่อพระไชยเชษฐา เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว ข้าราชบริพารเมืองเชียงใหม่จึงพร้อมใจกันอัญเชิญ "พระเจ้าหลาน" คือพระไชยเชษฐา มาครองเชียงใหม่ ครองได้ ๒ ปี พระราชบิดาของพระไชยเชษฐาสวรรคต พระไชยเชษฐาจึงขอกลับไปครองล้านช้าง และนำพระแก้วมรกตกลับไปด้วย ครั้งแรกเอาไว้ที่หลวงพระบาง เมื่อสร้างเวียงจันทน์แล้ว จึงนำไปไว้ที่หอพระแก้วที่เมืองเวียงจันทน์ พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่เวียงจันทน์คงจะร่วม ๒๐๐ ปีเศษ จนในแผ่นดินพระเจ้ตากสินมหาราช ได้โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ยกทัพไปตีลาว ตีได้แล้วจึงนำกลับมาทั้งพระแก้วมรกต และนำพระบางของลาวกลับมาด้วย แต่ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้โปรดคืนพระบางให้แก่ลาว พระบางจึงอยู่ที่หลวงพระบางมาจนบัดนี้
ที่ผมเล่ามายืดยาว เพื่อชี้ให้เห็นว่าวัดพระแก้ว ที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้นั้นมีตำนานเล่ามาค่อนข้างจะแน่นอนว่า เคยเป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตมหามณีรัตนปฏิมากรมาแล้ว
วัดพระแก้ว กำแพงเพชร ตั้งอยู่ในเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเมืองนี้เหมือนมีเมืองถึง ๓ เมือง และยังใกล้ ๆ กันอีกเมืองเกือบจะซ้อนกันอยู่คือ เมืองนครชุม อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง เมืองชากังราว หรือต่อมาคือเมืองกำแพงเพชรโบราณ อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง และกำแพงเพชรโบราณก็กลายมาเป็นกำแพงเพชรในปัจจุบัน และล่องใต้ต่อไปอีกประมาณ ๑๘ กิโลเมตร ยังมีอีกเมืองหนึ่งคือ ไตรตรึง ๓ - ๔ เมืองนี้มีโบราณสถานเก่าแก่ทั้งสิ้น และส่วนใหญ่ได้รับการบูรณะแล้ว
การเดินทางไปกำแพงเพชร หากไปทางอากาศต้องขึ้นเครื่องบินไปลงที่สุโขทัย แล้วนั่งรถกลับมาอีกร่วม ๙๐ กิโลเมตร แต่ผมชอบเดินทางไปทางรถยนต์มากกว่า จากกรุงเทพ ฯ เดี๋ยวนี้ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงก็ถึงแล้ว ระยะทางตามถนนพหลโยธินถึงจุดที่จะเลี้ยวเข้าเมืองคือตรงกิโลเมตร ๓๕๘ หากไม่เลี้ยวจุดนี้วิ่งต่ออีกหน่อยจะพบสะพาน หากเลี้ยวกลับรถใต้สะพานแล้ววิ่งกลับมาเลี้ยวซ้ายก็จะเข้าเมืองได้เช่นกันโดยผ่านทางนครชุม ซึงยังมีวัดสำคัญอยู่คือ วัดพระมหาธาตุ
หากเลี้ยวขวาเข้าเมืองตรงหลักกิโลเมตร๓๕๘ วิ่งมาสัก ๓ กิโลเมตร จะข้ามสะพานข้ามลำน้ำปิง ข้ามมาแล้ววิ่งตรงมาแล้วเลี้ยวซ้ายตรงสี่แยก จะมายังวัดพระแก้ว มายังอุทยานประวัติศาสตร์ เมืองโบราณแห่งนี้มีกำแพงก่อด้วยศิลาแลง จึงแข็งแรงยิ่งนักจนเรียกว่า กำแพงเพชร รอบเมืองมีประตูเข้าออก ๑๐ ประตู ทุกด้านยังมีป้อมปราการทั้งในแนวกำแพงเมืองและป้อมหน้าประตูเมือง ปัจจุบันเหลือให้ชมเพียง ๙ ป้อม ถัดจากกำแพงเมืองศิลาแลงเป็นคูกว้าง ๓๐ เมตร ระดับพื้นดินริมแม่ปิงจะสูงกว่า และลาดลงไปทางทิศที่ตั้งของกำแพงเมือง
เอกลักษณ์ของวัดและโบราณสถานในกำแพงเพชรนั้น คือ สร้างใกล้แหล่งศิลาแลง มีบ่อน้ำศิลาแลง มีห้องน้ำ มีศาลาที่พัก มีเสาศิลาแลง
ศิลาแลง เป็นหินชนิดหนึ่งเมื่ออยู่ใต้แผ่นดินจะมีลักษณะอ่อน ครั้นเมื่อถูกอากาศจะแข็งตัวมีสีแดง หรือสีน้ำตาลเข้ม ศิลาแลงเป็นพืดใหญ่อยู่ใต้ดิน เมื่อเปิดหน้าดินจะพบศิลาแลงซึ่งไม่แข็งนัก สามารถนำขวานหรือชะแลงเซาะเป็นร่องได้ เมื่อยกขึ้นมาเป็นก้อนใหญ่ พอถูกอากาศต้องรีบใช้มีด หรือขวานถากให้ได้รูปตามต้องการก่อนที่จะแข็งตัว สารประกอบทางเคมีที่สำคัญคือ เหล็กออคไซค์อะลูมิเนียมออคไซค์ และ ซิลิคอนออค์ไซค์ หากดินที่ปกคลุมศิลาแลงอยู่ถูกชะล้างจนหมดไป ศิลาแลงจะโผล่ขึ้นมาเหนือผิวดิน และจะแตกกระจัดกระจายกลายเป็นดินลูกรังไปในที่สุด
วัดพระแก้ว เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองกำแพงเพชร ลักษณะผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สิ่งก่อสร้างสำคัญของวัดสร้างเป็นแนวยาวในแกนทิศตะวันออก ตะวันตกขนานกับแนวกำแพงเมืองด้านทิศใต้ มีกำแพงศิลาแลงแสดงของเขตวัด ลักษณะของกำแพงบางตอนแตกต่างกัน ทำให้สันนิษฐานได้ว่าวัดพระแก้วไม่ได้สร้างเสร็จในยุคเดียวกัน คงสร้างต่อเติมหลายครั้ง
ตรงหน้าสุดเป็นฐานไพทีสูงใหญ่ ก่อด้วยศิลาแลง มีใบเสมาหินชนวนโดยรอบ พระพุทธรูปชำรุดเหลือแต่แกน ต่อเนื่องจากฐานพระอุโบสถไปทางด้านหลังเป็นซากสิ่งก่อสร้าง ก่อเป็นฐาน สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ซ้อนกัน ๓ ชั้น คล้ายกับฐานเจดีย์ งดงามมากเรียกว่า "บุษบก" เชื่อกันว่า คือบุษบกที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตในอดีต
ถัดจากฐานไพที ไปทางทิศตะวันตกเป็นเจดีย์ทรงกลม หรือทรงระฆังขนาดใหญ่ ตั้งเด่นกว่าเจดย์องค์อื่น ๆ กำหนดว่าน่าจะเป็นเจดีย์ประธานของวัด ฐานเจดีย์มีซุ้มรายรอบ ๓๒ ชั้น ภายในซุ้มประดับสิงห์ปูนปั้น (หากเป็นยุคสุโขทัย เป็นรูปช้างปูนปั้น) ถัดขึ้นมาเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ๑๖ ซุ้ม นอกจากนี้ยังมีมณฑปซึ่งเหลือแต่ฐาน มีพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย ต่อจากนั้นจะเป็นฐานวิหารยกพื้นเตี้ย ๆ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ ปางมารวิชัย ๒ องค์ และปางไสยาสน์ ๑ องค์
ด้านหลังสุดของวัดมีเจดีย์ทรงระฆังฐานสี่เหลี่ยม เรียกว่า เจดีย์ช้างเผือก เพราะฐานล่างประดับด้วยรูปช้างปูนปั้นครึ่งตัวจำนวน ๓๒ เชือก และแปลกกว่าเจดีย์ทรงระฆังและช้างล้อมอื่น ๆ คือบนฐานสี่เหลี่ยมยังมีเจดีย์ประจำมุมทั้ง ๔ มุม การก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมจึงพิจารณาได้ว่าส่วนใหญ่จะสร้างในยุคสุโขทัย และในตำนานพระพุทธสิหิงค์ ก็เคยมาประดิษฐานที่กำแพงเพชร จึงเชื่อว่าทั้งพระพุทธสิหิงค์ และพระแก้วมรกตน่าจะเคยประดิษฐาน อยู่ที่วัดพระแก้วนี้มาก่อนทั้ง ๒ องค์ และเมื่อรัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จมาที่กำแพงเพชรได้โปรดเรียกกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางเมืองว่า "วัดพระแก้ว"
วัดที่สำคัญที่น่าชมอีกหลายวัด เช่น วัดพระธาตุ เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ ตั้งอยู่กลางเมืองทางด้านตะวันออกของวัดพระแก้ว
วังโบราณ หรือสระมน บริเวณที่สันนิษฐานกันว่าจะเป็นที่ตั้งของวังโบราณ คือบริเวณที่เรียกกันในปัจจุบันว่าสระมน ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของวัดพระแก้ว ติดกับกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือ บริเวณประตูสะพานโคม ลักษณะผังเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคันดินเป็นขอบเขตรอบนอก ภายในมีแนวคูนาสี่เหลี่ยมขนานกับแนวคันดินทั้ง ๔ ด้าน จึงแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๒ ส่วนคือ เขตชั้นนอกและเขตชั้นใน ตรงกลางของพื้นที่มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมเรียกกันว่า "สระมน" นอกจากนี้ยังมีอีกหลายวัด เช่น
วัดดงหวาย อยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือของวัดสระแก้ว
คลองส่งน้ำโบราณ (คลองท่อทองแดง) อยู่ทางเหนือของเมือง รับน้ำจากแม่ปิง แล้วส่งน้ำไปจนถึงบริเวณเมืองบางพาน ในเขตอำเภอพรานกระต่าย แต่ไม่ใช่ทำท่อด้วยทองแดง น่าจะเรียกเพี้ยนมาจากชื่อหมู่บ้านที่ผ่านคือ บ้านท่าทองแดง
วัดพระนอน อยู่บริเวณอรัญญิก วัดนี้มีทั้งเขตพุทธาวาส และสังฆาวาส
วัดพระสี่อริยาบถ อยู่ในบริเวณอรัญญิก มีพระพุทธรูปปูนปั้นสี่ทิศที่วิหารหน้าวัด มีพระพุทธรูป ๔ อริยาบถ คือปางลีลาอยู่ด้านตะวันออก ทางทิศเหนือประทับนอน ทางทิศใต้ประทับนั่ง และทิศตะวันตกประทับยืน องค์ที่ยืนนี้มีสภาพสมบูรณ์มากกว่าองค์อื่น ๆ ซึ่งพระพุทธรูปทั้ง ๔ องค์นี้ หากจะบูรณะแล้ว น่าจะสร้างเสริมให้ตรงกับพุทธลักษณะเดิม ให้มากที่สุดจะงดงามอย่างยิ่ง รวมทั้งการบุรณะพระวิหารด้วย เช่นอยุธยาที่ได้บูรณะสร้างเสริม พระวิหารของหลวงพ่อมงคลบพิธเป็นต้น น่าจะทำเช่นเดียวกัน วิหารหลังนี้จะงดงาม ข้อสำคัญทำแล้วให้ดูเป็นโบราณให้ได้ก็แล้วกัน
วัดฆ้องชัย อยู่ด้านหน้าของวัดพระสี่อริยาบถ วัดสิงห์ วัดกำแพงงาม วัดอาวาสใหญ่ ล้วนแล้วแต่ได้รับการบูรณะ รวมทั้งการบูรณะตกแต่งพื้นที่ด้วย แต่ยังมีอีกมากมายหลายแห่งในอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ ทั้ง ๆ ที่เริ่มบูรณะกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ บูรณะจนได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ในการประชุมที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย ของคณะกรรมการมรดกโลก แห่งอนุสัญญาคุ้มครองทางวัฒนธรรม และธรรมชาติของโลก
ทีนี่มาเล่าถึงเรื่องอาหารการกินของกำแพงเพชรบ้าง อาหารที่ขึ้นหน้าขึ้นตาที่สุดน่าจะหนีไม่พ้นกล้วยไข่ ซึ่งเอามาทำกล้วยอบ กล้วยตาก กินดิบ ๆ ก่อนถึงทางเข้าเมืองกำแพงเพชรหากมาจาก กรุงเทพ ฯ จะเห็นแผงขายผลิตผลเหล่านี้ ตั้งเป็นแถวยาวเหยียดทีเดียว รวมทั้งของพื้นเมืองจากจังหวัดใกล้เคียงเช่น ถั่วทอดจากสุโขทัยเป็นต้น
ส่วนก๋วยเตี๋ยวที่ดังระเบิด และขึ้นชื่อลือชาที่สุดคือ ก๋วยเตี๋ยวชากังราว หรือบางทีก็เรียกว่า ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย คงคล้ายคลึงกัน แต่ที่แปลกคือไม่ยักกะมีขายเต็มไปทั้งเมือง กลับหากินยากเต็มที นอกนั้นมีแต่ก๋วยเตี๋ยวธรรมดาทั่ว ๆ ไป ก๋วยเตี๋ยวชากังราวมีเอกลักษณ์พิเศษคือไม่ใส่ถั่วงอก ใส่ถั่วฝักยาวดิบหั่นเฉียงแทน ใส่กุ้งแห้ง ถั่วลิสง "แห้ง" จะอร่อยมากกว่าน้ำ ร้านที่ชิมประจำคือร้านที่เมื่อลงจากสะพานข้ามแม่น้ำแล้ว ให้วิ่งกลับรถเลาะสะพานเข้าหาแม่น้ำปิง วิ่งเลียบแม่น้ำปิงอีกสักกิโลเมตร จะเห็นทางแยกซ้าย เห็นโรงแรมนวรัตน์วิ่งผ่านหน้าโรงแรมไปชนถนน เลี้ยวซ้ายอีกทีไปอีกนิดจะเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อ ชากังราว อยู่ทางซ้ายมือ
ร้านที่ผมไปชิมวันนี้มื้อค่ำคือร้าน "ทุ้งข้าวต้ม" ต้องตั้งเข็มทิศตามผมไปดีๆ จะได้ไม่หลง เริ่มตั้งแต่ลงสะพานข้ามแม่น้ำปิง ตรงเรื่อยมาผ่านวงเวียนที่มีต้นโพธิ์อยู่ทางซ้าย ตรงต่อมาถึงสี่แยกเลี้ยวขวา (รถจะเดินทางเดียว) วิ่งผ่านสี่แยกไฟสัญญาณที่ ๑ วิ่งต่อไปผ่านสี่แยกที่ ๒ มีโรงแรมราชดำเนินอยู่มุมขวา วิ่งต่อไปอีกถึงสี่แยกไฟสัญญาณที่ ๓ ให้เลี้ยวซ้าย วิ่งตรงเรื่อยไปผ่านวัด ผ่านสี่แยก ผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ จนกระทั่งผ่านปั๊มคิว ๘ (เส้นทางนี้ไป จังหวัดพิจิตร) พอผ่านปั๊มคิว๘ ให้เลี้ยวขวากลับหลัง (ถนนสี่เลน) กลับมาสัก ๕๐ เมตร ร้านทุ้งข้าวต้ม อยู่บนฟุธบาตทางซ้ายมือ ออกขายเฉพาะตอนเย็นไปถึงดึก เป็นร้านข้าวต้ม สวยก็ได้ ต้มก็ดี ที่มองแล้วจูงใจเพราะที่หน้าแผงมีหม้อใหญ่เหมือนกล่องสี่เหลี่ยม ๔ หม้อ วางอยู่ข้างหน้า เมื่อเปิดหม้อดูจะเห็นต้มกัวผัดกาดกับซี่โครงหมู หม้อที่ ๒ หน่อไม้ต้มไก่ หม้อที่ ๓ มะระยัดไส้ หม้อที่ ๔ ตีนเป็ดตุ๋นยาจีน จะเปิดหม้อก็มีควันพุ่งขึ้นมาร้อนโฉ่หน้าซดทั้งสิ้น
เป็ดพะโล้ เนื้อนุ่ม น้ำซึมเข้าเนื้อเป็ด ยังกับเป็นตลาดดอนหวาย
กุ่ยฉ่ายขาวผัดหมูกรอบ ผัดได้เก่ง เส้นกุ่ยฉ่ายยังเหนียวเคี้ยวสนุก
ยำไส้ตันของเขาก็ดี ที่ดีถูกใจมาก ๆ ก็อีตรงสั่ง หน่อไม้ต้มไก่เอามาซดแล้วพุ้ยข้าวสวยตามด้วยเป็ดพะโล้
จบรายการอาหารที่กำแพงเพชร แต่อยากจะขอแถม ผมไปใต้มาได้รายการเที่ยวไปกินไปมาแยะ ขอเอามาแถมไว้สักมื้อแต่เป็นอาหารใต้ที่กรุงเทพ ฯ นี้เอง จะเรียกว่าอาหารใต้ชั้นสูงหรือภาษาภาคกลาง บอกว่ากับข้าวทำกันแบบนี้ก็ต้องเป็นอาหารชาววัง
ร้านชื่อ กุ้ง หอย ปู ปลา อยู่กลางกรุง เลยธนาคารทหารไทย สำนักงานใหญ่ไปจะเป็นขนส่งหมอชิตเดิม หรือสถานีรถไฟฟ้าใหม่ สุดรั้วขนส่งหมอชิตจะเป็นร้านของสถาบันการบินพลเรือน ร้านอาหารอยู่ในสถาบันแห่งนี้ พอเลยป้ายคำว่าสถาบันการบินพลเรือนไปจะมีประตูเข้า เลี้ยวเข้าไปจอดรถได้เลย ร้านอยู่ขวามือ เป็นร้านที่มีบรรยากาศดีเลิศ อยู่กลางกรุง ร้านซ่อนอยู่ใต้ต้นไม้ร่มรื่น แต่มีห้องแอร์เย็นเฉียบ มีห้องจัดสัมนาได้ จัดแต่งงานก็ได้ จัดประชุมก็ดีมีอาหารเสร็จ สุขาเป็นสากล จอดรถสะดวก อาหารอร่อยมาก ราคาปานกลาง มีโต๊ะนั่งมากมาย และยังมีอาหารขายนักศึกษา ราคาติดดินเฉพาะมื้อเที่ยงอีกด้วย แต่ที่ทีเด็ดคืออาหารทะเลสไตล์ปักษ์ใต้ขนานแท้
ใบเหลียงผัดไข่ อยากกินตั้งแต่วันไปใต้ กลับมาได้กินที่กลางกรุง ผัดได้อร่อยมาก
ยำกุ้งแก้วเคี้ยวเล่นสนุกไป ยำไข่ปลากระบอก ทอดแยกน้ำยำใส่ถ้วยมาต่างหาก เคี้ยวเล่นก็ได้
ปลากะพง หมกสมุนไพรแล้วห่อด้วยฟลอร์ยเอาไปเผา จานนี้อย่าข้ามไป
ปูทะเลตัวโต นึ่งนมสดซดน้ำนึ่งยังได้ เหยาะน้ำส้มพริกตำเสียนิดหนึ่งจะวิเศษ
กุ้งใหญ่ผัดพริกไทยดำ รสเข้าเนื้อกุ้งอร่อยนัก เนื้อกุ้งเหนียวหนึบชวนเคี้ยว
ปิดท้ายด้วยน้ำปั่นและผลไม้ มีทั้งมะนาว ฝรั่ง สับปะรด ส้มทำน้ำปั่น ไอศกรีมเขาก็มี สั่งผลไม้มาอีกจาน อร่อยจนพุงโย้
|
Update : 6/8/2554
|
|