|
|
เที่ยวทั่วไทย-วัดพม่า (เชียงใหม่)
วัดพม่า (เชียงใหม่)
ผมเคยเล่าถึงวัดพม่าในนครลำปางมาแล้ว ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายวัดและวัดที่ใหญ่ที่สุด ที่เขาบอกว่าใหญ่ยิ่งกว่าวัดพม่าทุกวัดในประเทศไทยนั้น อยู่ที่นครลำปางคือ วัด "ศรีชุม" และวัดที่มีความเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมพม่ายิ่งกว่าวัดอื่น ผมว่าวัดศรีรองเมือง ที่ลำปางเช่นกัน วัดพม่า นั้นบอกว่าทั่วประเทศไทยมีรวม ๓๑ วัด ผมไปตระเวนยังไม่ครบคงจะยังขาดอีกนับสิบวัด ต่อไปนี้ท่องไปที่จังหวัดไหน หากทราบว่ามีวัดพม่าผมจะพยายามนำมาเล่าให้ฟัง เพราะเป็นศิลป์ที่ควรแก่ความสนใจ ควรแก่การไปชมอย่างยิ่ง เพราะมีความแตกต่างกับวัดไทยในพุทธศาสนา และรู้สึกว่าจะไม่มีพุทธพาณิชย์ และจากการไปเห็นความเคร่ง ของประชาชนชาวพุทธในประเทศพม่า ลาว และกัมพูชามาแล้ว อยากจะพูดว่าส่วนใหญ่เขามีความเคร่งครัดมากกว่าชาวไทยพุทธ ทั้ง ๆ ที่ประเทศเหล่านี้ รบกันไม่เลิกมานานหลายสิบปีแล้ว และที่แปลกคือ ลาว ที่ปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์แต่มีศาสนาคือ ศาสนาพุทธ ไม่แน่ใจว่า ทางการเขาจะยกย่อง ให้เป็นศาสนาประจำชาติหรือเปล่า ผมเขียนจบวันนี้แล้วก็จะเก็บของใส่กระเป๋าอีก ๒ - ๓ วัน จะไปจำปาศักดิ์ ไปเป็นครั้งที่ ๒ ไปมาครั้งหนึ่งแล้วยังติดใจอยู่ กลับมาเล่าให้พรรคพวกของเลขา ฯ ประจำตัวฟัง เขาก็เลยบอกว่าเล่าแล้วน่าช่วยพาพวกเขาไปชมนครจำปาสัก ไปชมน้ำตกหลี่ผี ไปน้ำตกคอนพะเพ็ง ฯ เขาใช้วิธีมัดมือชกผม ด้วยการพิมพ์งไปในใบโบชัวร์ว่าเดินทางไป จำปาสัก กับ พล.อ.โอภาส ฯ ไปไม่กลัว กลัวตอนเวลาไปเมืองลาว เมืองอินเดีย เมืองเขมร เมืองพม่า ประเทศเหล่านี้หาสุขาไม่ว่าแบบไหน หายากจริง ๆ
ได้พาไปเที่ยวเวียงท่ากาน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่มาแล้ว คราวนี้ผมได้รับเชิญให้ไปชมการปลูกป่าและปลูกต้นไม้มงคล ๑ ใน ๙๙ ต้น ของท่านผู้หนึ่ง ตอนท้ายผมจะเล่าให้ฟังครบ ว่าคนที่เสียสละขนาดนี้ก็มีด้วย เพราะอายุแปดสิบปีแล้ว เคยเป็นข้าราชการระดับสูงมาแล้ว ปลดเกษียณอายุราชการแล้ว แทนที่จะนอนอยู่บ้านกับทุ่มเทเงินทอง เพื่อสร้างโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ ๕๐ คือ ทำมาแล้ว ๘ ปี กำลังขึ้นปีที่ ๙ และจะจบโครงการในปี ๒๕๕๐ ปีที่ทรงครองราชย์ครบ ๖๑ ปี และมีการปลูกไม้มงคลโดยบุคคลที่ไปเชิญมา เช่น ท่านองคมนตรีท่านหนึ่ง และท่านผู้หญิง เป็นต้น ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับเชิญ บอกว่าเชิญด้วยความศรัทธา เลยต้องรีบไปโดยด่วน ไปแล้วก็ได้ไปเที่ยวเวียงท่ากาน พอมาวันนี้ไปเที่ยววัดพม่าที่มีในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งผมไม่เคยไปมาก่อนเลย รับราชการอยู่เชียงใหม่ตั้ง ๕ ปี ไปแต่วัดไทย และวัดที่ไปมากที่สุดคือ วัดปิยาราม ซึ่งสร้างอยู่ในพื้นที่ของกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๗ ที่ผมเป็นผู้บังคับกองพัน อีกวัดก็อยู่หน้ากองพันคือ วัดพระนอนขอนเมือง ซึ่งสมัยก่อนศาลากลางจังหวัด และส่วนราชการต่าง ๆ ไม่ได้สร้างอยู่แถวนี้ จะมีงานแข่งขันจุดบ้องไฟทุกปี พอผมย้ายไปเป็นผู้บังคับกองพันทางชุมชนย่าน วัดพระนอนขอนม่วง (เพราะเมื่อพบพระพุทธไสยาสน์ ปรากฎว่าท่านหนุนขอนไม้มะม่วง) ก็มาเชิญผมไปเป็นประธานในพิธีการแข่งขัน แทนที่จะใช้สายตาคนตัดสินผมใช้กล้องทำงานแผ่นที่ของทหารปืนใหญ่ จับบ้องไฟว่าของใครจะสูงกว่ากัน กว่าจะจุดได้ก็จะแห่บ้องไฟมาจากแทบทุกภาค ไม่ใช่เฉพาะภาคเหนือ พอจะจุดก็จะตี ฆ้อง กลอง โห่ร้อง พอจุดแล้วบ้องไฟของใครพุ่งลิ่วขึ้นสู่ท้องฟ้า (จุดจากหอสูง) ก็จะไชโยโหร้อง แพ้ ชนะค่อยว่ากันทีหลัง ขอให้วิ่งขึ้นก่อนเป็นได้โห่ แต่ที่หน้าม่อยไม่มีเสียงโห่ก็ตอนที่จุดแล้วดัง "ฟุ๊ด" แล้วพ่นไฟออกทางปลายจนหมดฤทธิ์ไม่วิ่ไปไหน แต่ที่สนุกยิ่งกว่านั้นคือ พอจุดแล้วแทนที่วิ่งพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า กลับวิ่งลงจากหอกลับมาไล่คนดู ทีนี้ไม่ว่าคนดู หรือกรรมการ ได้วิ่งกันตับแล๊บไปเลยทีเดียว ผมตัดสินในปีแรกประชาชนชอบใจบอกว่า ยุติธรรมแท้แน่นอน เลยได้รับเชิญทุกปี จนผมต้องนำกำลังออกรบ เป็นกองพันทหารปืนใหญ่ กองพันแรกของกองทัพบก ไปปราบปราม "ผกค" ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ที่จังหวัดเชียงราย (สมัยนั้น ใน ๕ จังหวัดภาคเหนือมีทหารปืนใหญ่เพียงกองพันเดียว) เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๑ ก็เลยไม่ขอรับคำเชิญและประเพณีการจุดบ้องไฟ ของวัดพระนอนขอนม่วงจำต้องเลิกไป เมื่อประมาณสิบกว่าปีมานี้เอง เพราะส่วนราชการหลายหน่วยมาตั้งกันอยู่แถวนี้ กองพันเดิมของผมเคยมีพื้นที่มากถึง ๕,๐๐๐ กว่าไร่ ก็นำไปสร้างอ่างเก็บน้ำตามโครงการพระราชดำริเสียส่วนหนึ่ง และนำไปสร้างสนามกีฬาเจ็ดร้อยปี กับส่วนราชการอีกหลายหน่วย เดี๋ยวนี้คงเหลือน่าจะไม่ถึงห้าร้อยไร่แล้ว ผมยังไปเยี่ยมกองพันนี้ทุกปี เพราะมีความผูกพันมาก สร้างอะไรเอาไว้ให้มาก ที่สำคัญคือ สร้างพุทธศาสนสถาน เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่กว่าสี่ร้อยปี เป็นพระพุทธรูปเชียงแสน ที่กองพันนี้เคยออกรบสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ และได้รับแจกมาองค์โตหน้าตักคงขนาด ๓ ศอก และนำมาบูรณปฎิสังขรณ์เสียงดงาม มีความศักดิ์สิทธิ์สูงมาก ขอทหารยามเข้าไปสักการะได้ ผมจากมาสามสิบกว่าปี ทหารรุ่นใหม่ยังรู้จักชื่อผม คงจะบอกต่อ ๆ กันมา กองพันอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๘ กม. ไปทางจะไปอำเภอแม่ริม จะถึงวัดพระนอนขอนม่วงทางขวาก่อน เลยศาลากลาง
มาเล่าเรื่องความหลังตามภาษาผู้เฒ่า เล่าถึงย่านนี้แล้วก็ขอแถมอีกนิดว่า ก่อนถึงกองพัน ฯ จะผ่านศาลากลางจังหวัด ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดมีถนน มีอุโมงค์ลอดไปบรรจบกับถนนที่จะไปยังแม่โจ้ได้ หากมาถึงศาลากลางเลี้ยวขวา (หรือเล็งให้ดีลอดใต้อุโมงค์ไป) วิ่งไปถึง กม.๖ ทางซ้ายมือคือ มูลนิธิอริยสถานธรรมแห่งปัญญา มีรูปหล่อเจ้าแม่กวนอิม ประทับยืนสูงสง่า เป็นสถานที่ปฎิบัติธรรมที่งดงาม สงบเงียบน่าเลื่อมใสอย่างยิ่งศาลาทางขวา
มีเครื่องไหว้มีเซียมซีปริศนาธรรม เซี่ยงเซียมซีที่หน้าองค์เจ้าแม่กวนอิม เซี่ยงแล้วต้องตีความ ไปวัดพม่าเสียทีแรก คือ วัด"ป่าเป้า" ถนนมณีนพรัตน์ สมมุติว่าท่านไปศาลากลางมา พอกลับจากศาลากลาง (อยู่เยื้องกับวัดพระนอนขอนม่วง) วิ่งตรงมาจนชนสี่แยกที่มีน้ำพุ (แต่จะตรงไปไม่ได้) เรียกตรงนี้ว่า สี่แยกช้างเผือก ให้เลี้ยวซ้าย (หากเลี้ยวขวาจะไปขึ้นดอยสุเทพ ไปสวนสัตว์ ถนนอาหารปลอดภัย) วิ่งเลียบคูเมืองไปประมาณ ๓๐๐ เมตร ต้องตั้งใจคอยมองทางเลี้ยวเข้าวัดให้ดี ๆ เพราะอาคารบ้านเรือนเต็มไปหมดแทบจะมองไม่เห็นทางเลี้ยวซ้ายเข้าวัด ปากทางเป็นร้านขายของจิปาถะ พวกสินค้าเดินป่า เลี้ยวซ้ายเข้าไปจอดในบริเวณวัดได้ ภายในวัดจะมีศาลาใหญ่ที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบพม่า แต่ไม่สมบูรณ์เท่าวัดศรีรองเมืองที่ลำปาง เพราะแยกอุโบสถออกไปต่างหาก ไม่รวมกันทั้งหมด พระที่วัดนี้จะเป็นพระไทยใหญ่ จึงมีวัฒนธรรม ๒ ชาติ
ประวัติ มีโอกาสได้พบท่านเจ้าอาวาส ท่านบอกว่ากำลังพยายามรวบรวมทำหนังสือประวัติเอาไว้ แต่ยังทำไม่สำเร็จ ได้มาจากจารึกที่หน้าวิหารบอกไว้ว่า "สมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๗ (๒๔๑๓ - ๒๔๔๐) คณะศรัทธาชาวไทยใหญ่สร้างวัดนี้ขึ้นบริเวณต้นเป้า เลยตั้งชื่อวัดว่า วัดป่าเป้า พ.ศ.๒๔๓๔ เจ้าอินทวิชยานนท์เป็นองค์ประธานร่วมกับหม่อมบัวไหล ชายาชาวไทยใหญ่ สร้างเจดีย์และวิหารไม้ศิลปะสถาปัตยกรรมไทยใหญ่" สรุปว่าวัดนี้ส่วนใหญ่คือ สถาปัตยกรรมไทยใหญ่ แต่เรียกว่า วัดพม่าเหมือนกัน เพราะไทยใหญ่ทุกวันนี้เขาไม่มีประเทศของเขาเองแล้ว รวมอยู่กับพม่าที่ไม่ยอมให้เอกราช ไม่ให้เขาแยกตัวออก
มาตั้งประเทศผิดสัญญาที่จะต้องให้เขาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.๒๕๐๐ ตอนที่อังกฤษได้ให้เอกราชแก่พม่า มีสัญญาระบุว่าต้องยอมให้ชนหลายเผ่าในพม่าแยกตัวเป็นอิสระ ตั้งประเทศของตนเองได้ เช่น มอญ ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง เป็นต้น ในพม่าจึงรบกันไม่เลิกตราบเท่าทุกวันนี้
บนศาลาการเปรียญที่เป็นวิหาร เป็นกุฏิเจ้าอาวาส มีพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์รวมทั้งโบราณวัตถุ แต่ห้องด้านซ้ายมือนั้น ได้แนะนำท่านว่าไม่ควรนำพระบรมรูปของ ร.๕ ไปว่างไว้ที่พื้นและยังมีพระบรมรูปอีกหลายองค์ จำไม่ได้มีพระองค์ไหนบ้าง ท่านก็รับว่าจะจัดใหม่ นึกไม่ถึง ด้านขวาของศาลาการเปรียญมีพิพิธภัณฑ์เก่าแก่ เจ้าอาวาสได้ให้เณรเปิดเข้าชม มีพระพุทธรูปเก่า ๆ เครื่องประดับ เช่น ตุ้มหู ชุดการแต่งกาย ที่เสามีภาพเขียนพระพุทธรูปทรงเครื่อง งาช้างแกะสลัก และอีกหลายอย่างน่าชมอย่างยิ่ง
ทางด้านข้างของพิพิธภัณฑ์ มีพระเจดีย์โบราณดูไม่ออกว่าสถาปัตยกรรมพม่าหรือไทยใหญ่ เพราะผมดูแล้วคล้าย ๆ กันไปหมด แต่ที่แน่ ๆ คือวัดนี้ชาวไทยใหญ่ จะมาทำบุญกันมาก ยิ่งในวันมีเทศกาล เช่น ตอนที่ผมไป เต็มวัดเลยทีเดียว เพราะชาวไทยใหญ่หรือพวกพม่าที่เป็นแรงงานมาทำงานกันในตัวเมืองก็มาก ตามไร่ ตามสวนก็แยะ ดังนั้นนอกจากสถานที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังมีหนังสือที่หน้าปกสวยดี เปิดดูแล้วอ่านไม่ออก เขาบอกว่าเป็นภาษาไทยใหญ่ มีแผงวางขาย มีแผงขายเครื่องสำอางพม่า เพราะสาวพม่านั้นคงจะรวมเผ่าอื่นเข้าไปด้วย นิยมทาครีมหรือแป้งที่หน้า ยังดีที่เวลาเขาอยู่เมืองไทยไม่พอกหน้าขาว
เป็นส่วนใหญ่เหมือนอยู่ที่เมืองพม่าหรือแถว ๆ ด่านพระเจดีย์สามองค์ ที่พอกหน้าทาแก้มกันขาวนวลเดินกันทั่วไป แผงนี้มีขนมแห้ง ๆ ขาย มีครีมหรือเครื่องสำอางพม่าขาย ผมชอบซื้อมาใช้ แต่ไม่ได้ทาหน้า ต้องขออภัย ผมเอามาทาเท้า ทาแขนก็ได้ ทาก่อนนอนเพราะคนสูงอายุนั้นเท้าจะเย็น ควรใส่ถุงเท้าเวลานอน ครีมกระปุกสวย สีม่วงก็มี สีเหลืองก็มี ราคาแตกต่างกัน ซื้อที่ทองผาภูมิ ราคากระปุกละ ๒๕ บาท มาเจอที่ด่านพระเจดีย์สามองค์ และตลาดชายแดนแม่สาย ราคา ๒๐ บาท ก็ว่าถูกแล้ว มาเจอที่
แผงวัดป่าเป้าขายกระปุกละ ๑๕ บาท เหมาหมดแผงเลย แม่สาวบอกว่ามีแค่ ๖ กระปุกเท่านั้น ยิ่งฤดูหนาวมีประโยชน์มาก ทาแล้วผิวไม่แตก เขารู้เข้าคงโกรธ ที่เอาครีมของเขาไปทาเท้า ติดกันกับด้านหลังศาลาการเปรียญที่มีศาล มีอุโบสถ มีก๋วยเตี๋ยวไทยใหญ่ขายด้วย ผมเคยกินตอนไปอำเภอระแหง เชียงใหม่นี่แหละอร่อยดี ที่แผงขายวัดป่าเป้านี้ท่าทางอร่อย เสียดายตอนไปท้องยังอิ่มเลยไม่ได้ชิม ผัดเอาไว้ก่อน ไปคราวหน้าชิมแท้แน่นอน ร้านที่น่าจะอร่อยก็อยู่ติด ๆ กับแผงขายเครื่องสำอางนั่นแหละ
วัดหนองคำ วัดพม่าแน่นอน ต้องไปเข้าถนนช้างม่อย หากถามผมว่าถนนนี้อยู่ที่ไหน ให้ถามชาวเมืองง่ายกว่า แต่หากออกจากวัดป่าเป้าแล้วเลี้ยวซ้ายทันที พอสุดคูเมืองก็เลี้ยวขวาเลาะคูเมืองไปอีก จนผ่านตลาดสมเพชร ตลาดของกินที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในเวลาเย็น ไก่ทอดสมเพชรลือชื่อมานานแล้ว เข้าคิวซื้อกันเลย เลยตลาดไปแล้วมีถนนแยกซ้าย รถเดินทางเดียว คือถนนช้างม่อยวิ่งเลยธนาคารทหารไทยทางขวาไปก่อนจนสังเกตเห็นร้านขายเฟอร์นิเจอร์ร้านใหญ่ คือปากทางเลี้ยวเข้า วัดนี้ทราบแต่เพียงว่า อุโบสถสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๕ แต่บูรณะใหม่ มีพระเจดีย์สถาปัตยกรรมพม่า ส่วนวิหารเป็นอาคารสร้างใหม่ บนศาลาการเปรียญ มีพระพุทธรูป จะสังเกตได้ว่าวัดพม่า หรือสถาปัตยกรรมแบบพม่าในเวียงเชียงใหม่นั้นเริ่มมีการผสมผสานกับสถาปัตยกรรมของวัดล้านนาแล้ว เช่น มีวิหาร มีอุโบสถ แยกออกไปจากศาลาการเปรียญ ไม่เหมือนวัดศรีรองเมืองที่เหมือนกันกับวัดที่สร้างด้วยไม้สัก และเหลืออยู่เพียงวัดเดียวในเกาะที่ตั้งอังวะที่ไม่ใช่เมืองแล้ว อดีตของกรุงรัตนบุระอังวะไม่เหลือให้ชม เรียกว่า กรรมตามสนอง กรุงศรีอยุธยาถูกทัพโจรของอังวะเผาทำลาย เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ แต่ก็ยังเจริญรุ่งเรืองกลายเป็นมรดกโลก มีคนมาเที่ยวกันมากมายทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ แต่อังวะเหลือแต่ควายเดินกินหญ้าให้ชม แถมต้องนั่งรถลากเทียมด้วยม้า เพื่อไปชมวัดที่สร้างด้วยไม้สัก และเหลือเพียงวัดเดียว วัดที่คล้ายคลึงก็ดังที่ผมได้บอกแล้วว่าคือ วัดศรีรองเมือง ชมวัดพม่ากันจริง ๆ แล้ว ผมว่าชมสองวัดได้รู้หมดคือวัดศรีรองเมืองและวัดศรีชุมที่ลำปาง ส่วนที่เชียงใหม่ผสมผสานกันแทบจะทุกวัด แต่ก็ยังน่าไปชมเราก็เลือกดูเฉพาะที่เป็นของเก่า ๆ และสถาปัตยกรรมของเขาก็แล้วกัน ขอเล่าวัดพม่าในเชียงใหม่เอาไว้เพียงเท่านี้ก่อน ไว้เล่าต่อสัปดาห์หน้า
เมื่อสมัยที่ผมรับราชการอยู่ที่กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๗ นั้น ยังไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำปิง ตรงก่อนถึงอำเภอแม่ริมเช่นทุกวันนี้ แต่ผมกับคณะอาจารย์หลายท่าน ของวิทยาลัยแม่โจ้ หรือสถาบันเทคโนโลยี่การเกษตรแม่โจ้ หรืออีกทีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในปัจจุบันนี้ผูกพันกันมากเรียกว่า คอเดียวกัน เวลาอาจารย์เชิญผมไปงานเลี้ยง ในบัตรเชิญจะลบเวลาออกเสีย เรียกว่าไปกันได้ตั้งแต่เวลาเช้า สาย บ่าย ค่ำ ตามแต่อัธยาศัย ไปแล้วก็จะอยู่กันแทบจะถึงเช้าของวันใหม่ เพราะไกลกันเหลือเกิน ผมจะต้องขับรถเข้าเชียงใหม่ แล้ววิ่งไปจนถึงสันทราย จึงจะตัดมายังแม่โจ้ได้ และผมก็ล้างแค้นเวลากองพัน ฯ ผมมีงาน ผมก็ใช้วิธีเดียวกัน จึงคุ้นเคยกันมากหลายท่านยังมีชีวิตอยู่ พบกันก็ได้แต่เล่าความหลัง หรือตั้งวงขนาดเบา ๆ หมดแรงที่จะทำเช่นนั้นได้อีก ตราบจนมาถึงวันที่ ๑๙ กุมพาพันธ์ ๒๕๓๗ ผมก็กลายเป็นศิษย์ของแม่โจ้ ด้วยการไปรับพระราชทานปริญญาเอก หรือดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ จากสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในสาขาส่งเสริมการเกษตร เพราะในบั้นปลายของชีวิตราชการนั้น ได้ทำงานพัฒนาตามแนวชายแดนในแนวยุทธศาตร์พัฒนา หรือยุทธศาสตร์พระราชทานไว้มาก เป็นรอง ฯ ของท่านองคมนตรี พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ ทำด้านส่งเสริมให้บัณฑิตเกษตรมีงานทำสร้างตัวเองที่เรียกว่า โครงการบัณฑิตเกษตร มีอยู่หลายรุ่น เสียดายที่เมื่อผมกับท่านองคมนตรี เกษียณอายุราชการแล้ว ก็ไม่มีใครสานต่ออีก คงมีแต่บัณฑิตเกษตรรุ่นพี่ ๆ รุ่นน้องคงจะไม่เกิดอีกแล้ว
ดังนั้นเมื่อผมได้ทราบโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ ฯ และได้รับเชิญไปปลูกไม้มงคลจากนายสุวรรณ ดาราวงษ์ ผู้อำนวยการโครงการ อดีตผู้อำนวยการกองปกาศิต ใน พ.ศ.๒๕๔๙ นี้อายุท่านย่างเข้า ๘๑ ปี ภริยาของท่านกับเลขา ฯ ของผมอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์รุ่นเดียวกัน ต่างคนต่างนับถือกันแต่ทานเรียกผมว่า "พี่" ทั้ง ๆ ที่อายุมากกว่าผมหลายปี บอกว่านับถือ และเห็นสามารถรวมกลุ่มศิษย์เก่าอักษรศาสตร์จุฬา ฯ รุ่นภริยาของท่านเป็นกลุ่มทัวร์ ไปท่องเที่ยวกันได้เรียกว่า เกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น ทั้ง ๆ ที่อายุแต่ละคนก็เกินหกสิบปีแล้ว และยังรวมเอาสามีหรือภริยามาเข้ากลุ่มทัวร์ได้อีก ทั้ง ๆ ที่ผมจบจาก รร.นายร้อย จปร. ท่านเริ่มโครงการนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๑ จบโครงการปี พ.ศ.๒๕๕๐ เมื่อจบโครงการแล้ว จะยกป่าที่ปลูกเฉลิมพระเกียรติรวมทั้งที่ดิน และสิ่งก่อสร้างให้แก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ดูแลรักษา และให้เกิดประโยชน์ต่อนักศึกษาแม่โจ้ต่อไป และเป็นสถานที่พัฒนาเยาวชนเช่นให้เยาวชนมาพักแรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ผมในฐานะเสมือนศิษย์เก่าคนหนึ่งของแม่โจ้ ได้เข้าร่วมโครงการตามคำเชิญทันที
โครงการโดยย่อของการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ - ถาวร มี ๔ ระยะ คือ
พ.ศ.๒๕๔๑ - ๒๕๔๒ เริ่มโครงการ จัดซื้อพื้นที่พัฒนาที่ดิน วางผังปลูกกล้าต้นไม้ ขุดหลุมเตรียม
พ.ศ.๒๕๔๓ - ๒๕๔๕ ทำแนวเขตพื้นที่ รวบรวมพันธ์กล้าไม้ ประสานงานกับสถาบัน ฯ
พ.ศ.๒๕๔๖ - ๒๕๕๐ ปลูกต้นไม้ ตัดแต่งเรือนพุ่ม จัดพื้นที่และจัดสร้างปติมากรรมให้มีทัศนียภาพที่งดงาม จัดพื้นที่ปลูกไม้มงคล พื้นที่ ๑ ไร่ ปลูกไม้มงคล ๙ ชนิด รวม ๙๙ ต้นเช่น ทองหลาง ขนุน ไผ่สีสุก ชัยพฤกษ์ ราชพฤกษ์ ฯ และจะสิ้นสุดโครงการมีการเปิดใน ๔ ธันวาคม ๒๕๕๐ ผมและเลขา ฯ ได้รับเชิญไปปลูกต้นสักคนละ ๑ ต้น ค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นไม่รบกวนเรี่ยไรใคร คุณสุวรรณ จ่ายคนเดียวทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไร ที่ผมยกย่องเป็นพิเศษและขอเอามาเขียนเล่าให้ทราบ เพื่อจูงใจคนที่มีสตางค์มาก ๆ ไม่คิดทำแบบนี้บ้างหรือ แต่ทำอย่างคุณสุวรรณก็หนักเกินไป ผมก็ทำไม่ได้เวลานี้อายุจะย่างเข้า ๘๑ เวลาไปสวนป่าของท่านที่ไปทุกเดือน ไปนอนอยู่เดือนละหลาย ๆ วัน ขึ้นรถไฟไปคนเดียว พอไปถึงเชียงใหม่มีรถคนงานมารับเป็นรถโตโยต้าใช้มา ๓๗ ปีแล้ว จากนั้นท่านก็จะขับรถโตโยต้าอายุ ๓๗ ปี นี้เข้าป่า สร้างกระต๊อบเล็ก ๆ อยู่ในป่าริมธารน้ำไหล หน้าฝนน้ำจะแรงเป็นน้ำตก ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีเครื่องครัว นอกจากกาต้มน้ำ ทันสมัยอยู่อย่างเดียวคือห้องสุขา ที่เป็นสากลเพราะอายุมากนั่งยอง ๆ ไม่ไหว อาหารตอนเช้าคนงานที่มาทำงานจะนำอาหารมาให้ ๓ มื้อ และจะมีผลไม้เอาไว้กินเป็นหลัก ไฟฟ้าใช้ตะเกียงเล็กนิดเดียว เกิดเจ็บป่วยกระทันหันก็ไม่มีใครดูแล คงต้องรอคนงานมาทำงานตอนเช้านั่นแหละจึงจะทราบกัน จะไปไหนก็ขับรถอายุ ๓๗ ปี ไป ยังขับได้ดีเห็นแล้วผมคงจะขับรถเที่ยวกินทั่วไทยได้อีกหลายปี หากผมยังแข็งแรงเหมือนคุณสุวรรณ สิ่งบันเทิงอะไรไม่มีทั้งสิ้น วิทยุสักเครื่องก็ไม่มี ที.วี. ไม่ต้องพูดกันเพราะแม้จะใช้แบตเตอรี่ก็รับไม่ได้ ถึงต้องขอยกนิ้วยกให้ทั้งมือเลย ได้แต่เล่าให้ฟังและเจ้าของก็ไม่ขอรบกวนใคร ไม่เชิญไปเที่ยวด้วยนอกจากจะพาเยาวชนไปพักแรมในป่า ลองติดต่อท่านดู ๐๒ ๒๙๔ ๖๒๙๑ - ๘, ๐๒ ๖๘๑ ๔๗๘๕ หรือโทรสาร ๐๒ ๒๙๔ ๑๗๔๔ เส้นทางไปสวนป่า หากไปจากตัวเมืองเชียงใหม่ข้ามสะพานนครพิงค์ ลงสะพานแล้ววิ่งต่อไปสัก ๑ กม. จะมีถนนสาย ๑๐๐๑ แยกซ้าย
สายนี้จะไปยังอำเภอพร้าว พอวิ่งไปจะผ่านมหาวิทยาลัยแม่โจ้ทางขวามือ วิ่งต่อไปจะผ่านค่ายสมเด็จพระบรมราชชนนีของตำรวจ ตชด. ประมาณ กม. ๑๕-๑๖ หากเข้าประตูค่ายไปจะได้ไปกราบสมเด็จย่าที่อนุสาวรีย์ แต่ทางเข้าป่า ฯ ต้องเลยทางเข้าค่าย ตชด. ไปก่อน แล้วไปเลี้ยวขวาอีกที คราวนี้ผมบอกทางไม่ถูกต้องให้คุณสุวรรณ พาไปเพราะในป่าจริง ๆ ทางวกวนมาก จำทางมาบอกไม่ถูกทั้ง ๆ ที่ผมก็ขับรถเอง ขอปรบมือให้คุณสุวรรณที่จำทางได้ แม้จะขับเข้าสวนป่าในเวลากลางคืน
เมื่อไปย่านแม่โจ้ ก็ต้องหาแหล่งชิมแถวแม่โจ้ และคุณสุวรรณน่าจะรู้ดีจึงถามดู ได้ความว่ามีบัณฑิตแม่โจ้จบมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๐ จบแล้วไม่ทำสวนทำไร่ ไถนาหรือรับราชการ ตั้งร้านอาหาร และชาวแม่โจ้นั้นเราทราบกันดีว่าทำอาหารเก่ง กุ้งเต้นต้นตำรับก็มาจากแม่โจ้ อาจารย์ประมงสมัยที่ผมไปก๊ง กันให้นักศึกษาช้อนกุ้งฝอยในสระ เอามาใส่กาละมังเอามะนาวบีบ แล้วเคล้าด้วยเกลือ พริกขี้หนูสับใส่ กุ้งยังไม่ตายเต้ย หยองแหยง ก็ใช้ช้อนตักเข้าปากคือ กุ้งเต้นขนานแท้ เดี๋ยวนี้หากินยาก มีแต่เต้นเพราะความเผ็ดอย่างเดียว นักศึกษาที่ช้อนกุ้งเลี้ยงพวกผม ท่านหนึ่งวันที่ผมรับพระราชทานปริญญา ท่านเป็นอธิการบดี
ทางเข้าหาง่าย อยู่ตรงข้ามประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตรงเผงเลยทีเดียว เป็นถนนแคบ ๆ ติดกับร้านเซเว่น ฯ ตรงปากทางหากยามเย็นมีรถเข็นขายซาลาเปา เลี้ยวเข้าซอยนนี้ไปสัก ๒๐ เมตร ร้านหรือบ้านอยู่ซ้ายมือ จอดรถในบริเวณบ้านได้เลย ศาลาโปร่งนั่งสบายมาก สุขาเป็นสากลเอี่ยมสะอาด ร้านนี้หยุดวันอาทิตย์ ใช้งาน ชามตราไก่ จากลำปาง
มื้อกลางวัน จะแน่นมาก มีอาหารจานเดียว ข้าวผัดไก่/หมู ข้าวหมูทอดกระเทียม ข้าวผัดพริกปลาเส้น ก๋วยเตี๋ยวเส้นปลา เป็นอาหารเร่งด่วน สถานที่กว้างขวางจึงรับลูกค้าไหว มื้อกลางวันคงมีอาหารตามสั่งเช่นเดียวกับมื้อเย็น
มื้อเย็น เริ่มต้นจากเครื่องดื่มประเภทน้ำส้มคั้น น้ำกระเจี๊ยบ มะตูม ใบบัวบก เก็กฮวย น้ำฝรั่ง ชามะนาว ชาเย็น เลือกสั่งตามใจชอบ
อาหารประเภทปลามีมาก ทั้งปลานิล ปลาทับทิม เอามานึ่งบ๊วย นึ่งซีอิ้ว นึ่งสมุนไพร และราดน้ำปลา มีประเภทแกง ประเภทน้ำพริก ได้สั่งอาหารมาดังนี้
ของลวก เขามี เส้นปลา ลูกชิ้นปลา ฮื่อก๊วย ลวก ผมสั่งลูกชิ้นปลาลวก มีกระเทียวตามมา ๑ ถ้วย มะเขือเทศ ๑ จาน และพริกขี้หนูสับ น้ำจิ้มรสแซ๊บ ลูกชิ้นเหนียวหนุบหนับเลยทีเดียว
ปลาทับทิมนึ่งมะนาว อมเปรี้ยวนิด ๆ น้ำนึ่งมากพอที่จะตักซดตอนยกมาร้อน ๆ ได้
น้ำพริกลงเรือ ถือว่าเป็นจานเด็ดอีกจานหนึ่ง ต้องสั่ง ตั้งถ้วยน้ำพริกไว้ตรงกลางมีผักล้อม มีไข่เค็ม กุนเชียงหอมแดง มะม่วงสับ ถั่วพู ถั่งฝักยาว แตงกวา มะเขือเปราะ น้ำพริกตำแห้ง น่ากิน
แกงเขียวหวานหมู เป็นอาหารแนะนำของทางร้าน ฝีมือเหนือจริง ๆ รสเข้ม หอมพริกขี้หนู
ปลาทับทิมชุบแป้งทอด เปิดหนังเห็นเนื้อขาว เนื้อแน่นได้เคี้ยวสนุก เนื้อปลาทอดกรอบ
แกงจืดตำลึงใส่เต้าหู้ขาวเอามาซดร้อน ๆ ให้สะใจ
ยังไม่จบสั่งมาอีก ผัดเห็ดหอมสดกับผักคะน้า เห็ดสดนั้นมีความหวานในตัว อาหารขึ้นป้ายแนะนำของทางร้านคือ น้ำพริกลงเรือ แก่งส้มชะอมทอดใส่กุ้ง ปลานึ่งมะนาว และน้ำพริกลงเรือ ร้านคงจะต้องเพิ่มรายการอาหารแนะนำตามที่ผมชิมเอาไว้ด้วย
|
Update : 6/8/2554
|
|