เที่ยวทั่วไทย-วัดพม่า (ลำปาง)
วัดพม่า (ลำปาง)
เห็ดหอมอบซีอิ้ว เสริฟมาในหม้อดิน ร้อนโฉ่ รองด้วยผักคะน้า เห็ดสดออกรสหวาน
ผมจะเล่าถึงวัดพม่า แต่ไม่ใช่ที่เมืองพม่าหรือประเทศเมียนม่า แต่เป็นวัดพม่าในล้านนา คือ ที่จังหวัดลำปาง หากมีโอกาสก็จะเล่าต่อไปถึงวัดพม่าที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีอยู่หลายวัดเช่นกัน ผมไปลำปางคราวนี้เดินทางไปทางรถยนต์ ขับไป เที่ยวไป กินเรื่อยไป ออกจากกรุงเทพ ประมาณเวลา ๐๖.๓๐ แวะดื่มกาแฟเช้าที่ปั๊มแถว กม. ๑๓๖ ทางแยกเข้าสิงห์บุรี ตีรวดเดียวไปกินกลางวันที่ปั๊ม ปตท. จ.ตาก ปั๊มที่อยู่ตรงหัวมุมถนนที่จะเลี้ยวซ้ายไปตัวเมืองบ อาหารแยะดีรสพอใช้ แต่ขนมหรือประเภทของฝากมีมากราคาย่อมเยา ซื้อติดรถเอาไปด้วยก็ดี ผมขอซื้อไปหลายถุง เพราะเที่ยวนี้เดินทางติดต่อกันหลายวัน ราคา ๓ ถุง ๑๐๐ บาท เช่น มะม่วงกวน เปรี้ยวอมหวานแก้ง่วง เวลาขับรถชงัดนักซื้อมาหลายถุง และยังมีพวกถั่วตัด งาตัด ภารกิจสำคัญที่ต้องไปในคราวนี้ขอพูดเรื่องกฐินอีกทีคือ ที่ผมทอดกฐินและเชิญชวนท่านผู้อ่านที่มีศรัทธาทอดกฐินร่วมกันเมื่อ ๒๙ ต.ค.๔๘ เพื่อนำปัจจัยที่ได้รับทั้งหมด ไม่มีการหักค่าใช้จ่ายมอบให้วัดฝั่งหมิ่น นำไปสร้างเมรุเผาศพ ที่เป็นมาตรฐานและหากชาวบ้านช่วยกันเป็นแรงงาน ชาวบ้านฝั่งหมิ่นและชาวตำบลแม่กรณ์ ก็จะได้ศาลาที่จะใช้เวลาประกอบพิธีศพอีกหลังหนึ่ง เจ้าอาวาสเข้มแข็ง ศรัทธาของชาวบ้านแรง ก็เลยได้เมรุเผาศพที่เป็นมาตรฐานและศาลาประกอบพิธีเวลาฌาปนกิจศพอีกหลังหนึ่ง ผมจึงต้องไปทำพิธีถวายเมรุเผาศพ และศาลาให้ทางวัด ซึ่งจะมีคำกล่าวถวายไปอ่านพบเข้าพอดี คล้ายกับเวลาเราจะถวายสังฆทาน ก็ต้องกล่าวถวายนั่นแหละ ทางวัดก็จะต้องนิมนต์พระมาร่วมพิธี กล่าวคำถวายแล้ว พระท่านก็สวดยถา สวดสัพพี ให้พรเป็นอันว่าจบพิธีการถวายเมรุเผาศพ ที่เป็นมาตรฐานแก่สุสานวัดฝั่งหมิ่น เป็นภารกิจที่ผมตั้งใจไปในคราวนี้ และก็จะไปงานใบชาที่ดอยแม่สลอง อีกงานหนึ่ง
ไปถึงลำปาง เมื่อเวลาประมาณ ๑๔.๓๐ มีเวลาพอที่จะตระเวนไปวัดพม่า ตามที่ได้ตั้งใจไว้ออกจะเป็นการลำบากในการบอกเส้นทาง หากท่านจะไปตามวัดที่ผมไป บางทีเห็นจะต้องใช้ปาก ช่วยนำทางประกอบด้วย และอาจจะเป็นการบอกเส้นทางที่เรียกว่า อ้อมโลก เพราะที่หมายหลักที่เป็นจุดอ้างสำคัญของผมคือ หอนาฬิกา หรือที่เรียกว่า ห้าแยกเชียงราย หรือเชียงฮายกับอีกแห่งก็คือ สถานีรถไฟ ไม่ว่าไปเมืองไหนผมมักจะอาศัยสองจุดนี้ เป็นที่หมายหลักในการบอกเส้นทาง
วัดศรีรองเมือง เป็นวัดพม่าวัดแรกที่ผมไปชม ไปไหว้พระและก่อนจะไปถึงวัดต้องมาทราบศิลปะพม่า หรือศิลปะวัดพม่าไว้บ้าง ในตัวเมืองลำปางมีวัดศิลปพม่า เช่น วัดศรีชุมวัดจองคาวัดศรีรองเมือง วัดพระแก้วดอนเต้า วัดป่าฝาง ล้วนแต่เป็นวัดที่รูปแบบของสถาปัตยกรรมพม่าในสมัยราชวงศ์ดองบองตอนปลาย สกุลช่างมัณฑะเลย์ ที่แผ่อิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคนี้และลำปางนั้นขึ้นกับเชียงใหม่ แม้จะเป็นเมืองที่เกิดก่อนเชียงใหม่นานนับร้อยปีก็ตาม ส่วนเชียงใหม่ไปถูกพม่าปกครองอยู่เป็นเวลานานถึง ๒๐๐ ปีเศษ จนแผ่นดินพระเจ้าตากสินมหาราช เราจึงได้เชียงใหม่กลับมาขึ้นกับกรุงธนบุรี และต่อมาก็เป็นจังหวัดหนึ่งของราชอาณาจักรไทย ที่ใครจะมาแบ่งแยกออกไปไม่ได้อีกแล้ว สถาปัตยกรรมของพม่าจึงลงมายังลำปางด้วย เอกลักษณ์ส่วนใหญ่ของสถาปัตยกรรมพม่าจะเป็นวิหารไม้ หลังคาซ้อนกันหลายชั้น ที่เรียกว่า พญาธาตุ ในวิหารหลังหนึ่งนั้นจะทำหน้าที่ได้หลายอย่าง เป็นทั้งวิหาร กุฎิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ โรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นต้น บริเวณวิหารจะประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน ซึ่งจะเป็นจุดสำคัญที่สุด และจะยกพื้นจุดนี้เอาไว้ให้สูงกว่าจุดอื่น จำนวนชั้นของหลังคาจะซ้อนกันถึง ๗ ชั้น ยอดสูงสุดจะประดับด้วยฉัตรสีทอง ส่วนอื่น ๆ ของวิหารก็จะยกชั้นให้สูงลดหลั่นกันลงไป หลังคาก็จะซ้อนชั้นลดลงไปเช่นกัน นอกจากนี้จะมีการตกแต่งส่วนต่าง ๆ ของอาคาร เช่น หน้าบัน เชิงชายด้วยไม้ฉลุ หรือแผ่นโลหะสังกะสีผสมดีบุก ที่ฉลุลายอย่างละเอียดและประณีต
พระพุทธรูปที่ประดิษฐานในวัดพม่านั้น ก็จะเป็นพระพุทธรูปแบบมัณฑเลย์ ผ้าจีวรจะทำเป็นริ้วเห็นได้ชัดเจน พระพักตร์จะเอิบอิ่ม งดงาม นอกจากนี้ อาจจะมีภาพจิตรกรรมแบบพม่า ที่นิยมเชียนลงแผ่นผ้า นำไปติดตั้งไว้ระหว่างช่วงเสาในวิหาร หรือมีภาพจิตรกรรม หรือภาพจากการแกะสลักเอาไว้ที่เสา
ที่ผมบรรยายรูปแบบของสถาปัตยกรรมวัดพม่ามานี้ จะชมได้อย่างสมบูรณ์ที่วัดศรีรองเมือง และยังไม่เคยเห็นวัดใดที่มีความเป็นแบบพม่าสมบูรณ์เช่น วัดศรีรองเมืองเลย ผมเคยไปชมวัดที่เมืองอังวะ เมืองที่เคยเป็นเมืองหลวงของพม่า และกษัตริย์อังวะ เคยส่งทัพโจรมาตีกรุงศรีอยุธยาแตก เยี่ยงการกระทำของโจรเผาทำลาย ฆ่าผู้คน ขนทรัพย์สมบัติกลับไปเมืองพม่า เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ กรรมตามสนองพม่า ต้องย้ายเมืองหลวงบ่อยครั้ง (เช่นปี ๒๕๔๘ ก็เริ่มย้ายอีกแล้ว) และย้ายคราวใดก็มักจะไม่เหลียวแลเมืองเดิมที่เคยเป็นเมืองหลวงมาก่อน เมื่อย้ายจากอังวะก็ปล่อยทิ้ง ไม่เหลียวแล ไม่ทำนุบำรุงอะไรอีก จนกระทั่งวันที่ผมไป เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๕ อังวะกลายเป็นเมืองร้างที่แทบจะหาบ้านคนไม่ได้ มีแต่ทุ่งนาไม่มีรถยนต์วิ่ง มีแต่รถม้าและมี "วัด" "เหลืออยู่เพียงวัดเดียว" "ทั้งเมืองเหลือวัดเดียว" มีลักษณะดังที่ได้บรรยายมาแล้ว คือเป็นวัดไม้มีวิหารที่น่าจะเรียกว่าอเนกประสงค์ วัดศรีรองเมืองเข้าลักษณะตามที่บรรยายมานี้ จึงน่าจะเป็นวัดสถาปัตยกรรมพม่าในไทยที่สมบูรณ์
เส้นทาง หากเรามาตามถนนไฮเวย์จาก อ.เกาะคา แล้วมาแยกเข้าถนนพหลโยธินเก่ามายังสถานีรถไฟ จากสถานีรถไฟตรงเรื่อยมาจะพบทางแยกซ้าย (ยังไม่พบหอนาฬิกา) ให้เลี้ยวซ้ายไปจนถึงสามแยก แล้วเลี้ยวซ้ายไปไม่ไกล วัดศรีรองเมืองจะอยู่ทางขวามือ
เมื่อเลี้ยวรถเข้าไปจอดในวัดแล้ว ก็จะเห็นว่าวัดมีลักษณะครบถ้วยตามที่บรรยายมาแล้ว วัดนี้เป็นวัดใหม่เพราะประวัติเล่าไว้ว่า สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘ นี้เอง โดยคหบดีที่รับจ้างทำไม้ให้ฝรั่งชาติอังกฤษ ที่ได้สัมปทานการทำไม้จากรัฐบาลไทยแทบจะทั่วภาคเหนือ พ่อเฒ่าอินต๊ะ ศรีรองเมือง ทำไม้ให้อังกฤษจึงร่ำรวย และร่วมกับชาวบ้านบริจาคที่ดิน จัดหาวัตถุมาก่อสร้างจนแล้วเสร็จ วัดจึงตั้งชื่อตามนามสกุลของผู้ริเริ่มสร้างว่า ศรีรองเมือง (นามสกุลต้องมามีในรัชกาลที่ ๖ หลัง พ.ศ.๒๔๕๓ แล้ว) "วิหารจึงมีอายุร้อยปี เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘"
มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะพม่าแบบมัณฑะเลย์ จำนวน ๓ องค์ พระประธานองค์ใหญ่ห่มจีวรเฉียง ส่วนอีก ๒ องค์ ซ้ายขวานั้นห่มจีวรคลุมไหล่ องค์ที่ ๒ นับจากซ้ายประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้ว ศิลปะล้านนา ปางสมาธิ
ตัววิหารสร้างด้วยไม้สัก หลังคาซ้อนเป็นซุ้มเรือนยอด เป็นกลุ่มของชั้นหลังคา มีลายฉลุบนสังกะสี ใช้ประดับบนจั่ว และเชิงชายหลังคา เพิ่มความอ่อนช้อย และสง่างามให้วิหาร
เสาไม้ตกแต่งด้วยศิลปะการปั้นรักเป็นลวดลายเครือดอกไม้ ประดับด้วยกระจกสี เฉพาะเสาหน้าพระประธาน จะปั้นรักเป็นรูปเทพารักษ์ คน ยักษ์ วานรและสัตว์ป่าให้เหมือนในป่าหิมพานต์
พระบรมสาทิสลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่ที่เสาไม้ต้นด้านหน้า เมื่อเข้าประตูวิหารไปแล้วจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ ได้จารึกข้อความไว้ว่า
"พระราชทานให้ไว้ นายส่างโต แม่จันทร์ฟอง กับพวกที่ได้บริจาคทรัพย์ ๑๘,๑๘๗.บาท - สตางค์ สร้างอุโบสถ ปฏิสังขรณ์กุฏิ และเครื่องอุปกรณ์สงฆ์ วัดศรีรองเมือง (ท่าคะน้อย)ลำปาง พ.ศ.๒๔๗๕"
กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อ ๒๗ ต.ค.๒๕๒๔
หากแหงนหน้าขึ้นไปชมเพดานวิหาร ก็จะเห็นความงดงามที่ประดับด้วยกรอบลายเป็นช่อ ๆ เต็มเพดาน โดยปั้นเป็นเส้นรัก ประดับด้วยกระจกสี ลวดลายพันธุ์พฤกษา รูปสัตว์ เทพารักษ์ ภายในวัดยังมีพระบรมธาตุเจดีย์ที่สร้าง เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๕ สร้างก่อนที่จะสร้างวัด
วันที่ผมไปชม วัดกำลังจัดร้อยปีวิหารพอดี เลยมีรายละเอียดให้ทราบมาก และทางด้านซ้ายก่อนเข้าไปในวิหารยังมีห้องที่มีพระพุทธรูปแบบพม่า เพื่อขอพร เพื่อเสี่ยงทายไว้ด้วย
วัดศรีชุม เป็นวัดพม่าที่สร้างโดยคหบดีชาวพม่าและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชื่อวัดน่าจะมาจากภายในบริเวณวัดมีต้นศรีมหาโพธิ์ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ศรี ก็ศรีมหาโพธิ์ ชุม ก็ชุมนุม ต้นศรีมหาโพธิ์มาชุมนุมกันอยู่ที่วัดนี้เลยตั้งชื่อตามไปเลย กล่าวกันว่า วัดสถาปัตยกรรมพม่าทั้งประเทศไทย มีอยู่ด้วยกัน ๓๑ วัด วัดศรีชุมใหญ่ที่สุด มีชื่อเรียกเป็นภาษาพม่าว่า "หย่องไวย์จอง" หรือวัดต้นศรี หย่อง แปลว่า ศรี ไวย์ คือ ชุมนุม จอง คือ วัด
เส้นทาง มาตามถนนไฮเวย์ จากเกาะคา ตรงเรื่อยมาจนถึงสี่แยกไฟสัญญาณป้ายบอกว่าสี่แยกศรีชุม - แม่ทะ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนทิพย์วรรณ (หากเลี้ยวขวา ไปแม่ทะ) เลี้ยวไปนิดเดียว วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ หน้าวัดเป็นแผงขายผลไม้เต็มไปหมด ฝั่งตรงข้ามเป็นมัสยิดอัลฟาลาฮุ ทางด้านขวาติดกับมัสยิด อาหารอิสลามรสอร่อยคือ ร้านข้าวหมกไก่ยูซุป โรตี ท้อแท้ และมะตะบะ
ประวัติ วัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ ในรัชกาลที่ ๕ โดยคหบดีชาวพม่าชื่อ จองตะก่าอูโย ซึ่งเป็นพวกพม่าที่เข้ามาทำไม้กับชาวอังกฤษ สมทบทุนกับบุตรเขยคือพ่อเลี้ยงอู หม่อง ยี และวิหารที่เห็นอยู่ทุกวันนี้สร้างขึ้นใหม่เพราะวิหารหลังเดิมได้ถูกไฟไหม้ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ หลังจากที่วิหารหลังเดิม ได้รับการประกาศจากกรมศิลปากร ให้เป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๔
วิหาร เป็นอาคารสองชั้นครึ่งตึกครึ่งไม้ อยู่ทางขวามือเมื่อเลี้ยวเข้าประตูวัดมา สร้างแบบพม่ามีหลังคาหลายยอด ซ้อนลดหลั่นกันลงมา แม้จะสร้างใหม่ แต่ก็รักษารูปแบบเดิมเอาไว้ หลังคาลาดคลุมมาถึงบันไดทางขึ้น ชั้นล่างเป็นกุฏิพระ และที่เก็บข้าวของเครื่องใช้ ส่วนชั้นบนเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะพม่า กุฏิเจ้าอาวาส และกุฏิพระลูกวัด ทำเป็นพื้นต่างระดับตามความสำคัญ เช่นเดียวกับวัดศรีรองเมือง
อุโบสถ เล็กกะทัดรัดขนาด ๓ บานหน้าต่าง แต่งดงามและสร้างอย่างประณีต เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงจัตุรมุขย่อมุมไม้สิบสอง หลังคาซ้อนลดหลั่นหลายชั้น รวมแล้วซ้อนกัน ๗ ชั้น แต่ละยอดจะประดับด้วยฉัตรทอง ที่เชิงชายประดับด้วยแผ่นโลหะฉลุลาย ด้านหน้าอุโบสถมีราวบันไดเป็นนาค บานประตูทางเข้าสลักลายสวยมาก พระพุทธรูปในอุโบสถเป็นพระศิลปะพม่า
นอกจากนี้ภายในอุโบสถยังมีศาสนสถานที่สำคัญคือพระบรมธาตุ ซึ่งเป็นพระธาตุสีทองศิลปะผสมพม่าผสานมอญ รอบคอระฆังมีลวดลายปูนปั้นประดับงดงาม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากพม่าเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ แต่ไม่ได้บอกว่าส่วนใดของพระพุทธองค์
วัดจองคา หรือ วัดไชยมงคล วัดนี้มีพระพม่าจำพรรษาอยู่หรือบางทีเจ้าอาวาสก็เป็นพระพม่า ซึ่งสมัยผมอายุสัก ๑๒ ปี เป็นนักเรียนโรงเรียนบุญวาทวิทยาลัย โรงเรียนประจำจังหวัดชายสมัยนั้น เข้าไปวิ่งเล่นในวัดบ่อย ๆ เพราะวัดอยู่ไม่ไกลจากบ้านที่มารดาเช่าพักอยู่ และจำได้ว่าหลวงพ่อเจ้าอาวาสเป็นชาวพม่าชื่ออุยเม ผมขึ้นไปกราบท่านบ่อย ๆ
เส้นทาง หากมาตามถนนไฮเวย์ จากเกาะคา ตรงเรื่อยมาจนผ่านสี่แยกที่เลี้ยวไปวัดศรีชุม เลยมาอีกจนถึงสี่แยกที่บอกว่าสนามบินให้เลี้ยวซ้าย หรือเลี้ยวตามป้ายบอกว่าไปโรงพยาบาล เมื่อเลี้ยวซ้ายแล้ววัดจะอยู่ทางซ้ายมือ เยื้อง ๆ กันมีอีกวัดหนึ่งแต่เป็นวัดไทย
เมื่อเข้าประตูวัดไปทางซ้ายมือ จะมองเห็นเจดีย์ที่อยู่ติดกับอุโบสถ แต่ที่น่าสนใจคือวิหารที่เห็นเป็นตึกอยู่ทางขวามือ เป็นตึกสองชั้น สร้างด้วยศิลปะผสมผสานระหว่างศิลปะพม่ากับตะวันตก เป็นอาคารตึกทรงโคโลเนียล หลังคาเป็นไม้ซ้อนกันเป็นชั้น หน้าบันประดับด้วยกระจกสีรูปต่าง ๆ เช่น นกยูง กระต่าย และประดับด้วยลายไม้ฉลุ เสาไม้ด้านหน้าทางบันไดขึ้นประดับด้วยขดลวดสีทอง ถนนที่เข้ามาจะผ่านด้านหลังของวิหาร ต้องเดินอ้อมไปจึงจะเห็นลักษณะผสมผสานได้เด่นชัด แต่พออ้อมไปทางบันไดขึ้น ก็เป็นที่น่าเสียดายที่มีไม้ตีปิดกั้นเอาไว้ไม่ให้ขึ้นไปชมภายในวิหารได้ บอกว่าปิดรอการซ่อม จึงได้แต่ชมภายนอกแต่ก็คุ้มค่า ยิ่งสำหรับผมยิ่งคุ้มค่า เพราะเวลาผ่านมาหลายสิบปีแล้วได้กลับมาเห็นภาพในอดีต เห็นวิหารที่เป็นวิหารอเนกประสงค์ตามแบบวัดพม่าคือ เป็นกุฏิของพระของเจ้าอาวาสด้วย หลวงพ่ออุยเมท่านอยู่ข้างบนวิหารนี้
จบการชมศิลปะพม่าในเมืองลำปาง ส่วนวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม คราวนี้ไม่มีโอกาสไปเพราะเย็นมากแล้ว ต้องรีบไปควานหาร้านชวนชิมด้วย แต่เคยไปมาหลายครั้งแล้ว และได้เขียนไว้ในหนังสืออร่อยทั่วไทยไปกับ ปตท.รวมเล่มภาคเหนือ (หาซื้อตามปั๊ม ปตท.ไม่มีขายแล้วครับ) ความสำคัญสุดยอดของวัดนี้คือ เมื่อนำพระพุทธมณีรัตน์แก้วมรกตจากเชียงราย จะเอาไปประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่นั้น ช้างซึ่งประดิษฐานพระแก้วมรกต พอเดินมาถึงทางแยก ที่จะไปเชียงใหม่ ช้างไม่ยอมเดินต่อไป ต้องอัญเชิญพระแก้วมรกตลงจากหลังช้าง นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดนี้ ซึ่งในวัดนี้มีพระแก้วดอนเต้า มีอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ศาลเจ้าแม่สุชาดา วัดนี้เป็นฝีมือช่างพม่าที่ติดตามชาวอังกฤษที่เข้ามาทำไม้ พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่หลายปีจนถึงแผ่นดินพระเจ้าติโลกราช จึงอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวงที่เชียงใหม่ ไปวัดพระแก้ว ฯ ต้องข้ามสะพานข้ามแม่น้ำวังคือ สะพานรัชฎา เลี้ยวขวาตามป้ายไป
ไปชิมอาหาร นอนลำปางคืนนี้ผมนอนที่โรงแรม สร้างแบบล้านนา การบริการดีเยี่ยม ราคาพอสมควร แถมอาหารเช้าด้วย ผมไปกินอาหารค่ำที่ร้านริมแม่น้ำวัง
ตั้งชื่อได้เก๋ดี เพราะตั้งอยู่ริมแม่น้ำวัง หากไปก่อนพลบจะเห็นแม่น้ำวังไหลเอื่อยน่าชม น้ำไม่ไหลรุนแรง รวดเร็ว เพราะเหนือเมืองลำปางมีเขื่อนกิ่วลมกักน้ำเอาไว้
เส้นทาง หากเริ่มต้นจากสถานีรถไฟตรงเรื่อยมายังหอนาฬิกา หรือห้าแยกเชียงราย ก็ตรงต่อไปตามถนนฉัตรไชย จะผ่านโรงแรมเอเชียทางขวามือ (ติดกันคือ ร้านข้าวมันไก่ อร่อยนักขายตอนเช้า ไม่มีชื่อ) พอเลยโรงแรมเอเชียไปทางซ้ายคือ โรงแรมคิม ให้เลี้ยวซ้ายทันที เมื่อพ้นโรงแรมคิมผ่านไปตามถนนสวนดอกสัก ๕๐ เมตร จะพบสามแยก เห็นป้ายมุมซ้ายเฮือนชมวัง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนตลาดเก่าไปตามถนนแคบ ๆ สัก ๑๐๐ เมตร ร้านจะอยู่ทางขวามือ จอดรถริมถนนก็ได้หรือจอดที่จอดรถของร้านถึงก่อนเข้าซอยสัก ๒๐ เมตร คนลำปางเขาจอดกันริมถนนทางเข้าร้าน ส่วนคนกรุง ฯ จอดที่เขาจัดไว้ให้จอดเดินเอาหน่อยสัก ๓๐ เมตร ก็เลี้ยวขวาเข้าซอยนี้ บันไดไปบนศาลาของร้านที่อยู่ทางซ้ายมือ ร้านเป็นเรือนไม้ศาลาใหญ่กว้างขวางต่างระดับนั่งระเบียง ล่างนั่งกลางแจ้งรับลม อาบแสงจันทร์ ชมแม่วังถนัดตา แต่ฝนตกต้องวิ่งหลบฝนกัน
ต้องสั่งปลาช่อนโบราณ เอาปลาช่อนทั้งตัวมาทอดจนกรอบนอก นุ่มใน หอมชวนกิน ด้วยกลิ่นสมุนไพร ราดด้วยน้ำยำ อมรสเปรี้ยวนิด ๆ ด้วยรสเปรี้ยวของมะขาม มีเม็ดมะม่วงหิมพานต์คลุกปนมา เคี้ยวมันดีนัก รสของปลารสจัด ครบสามรส เปรี้ยวนำ กินกับข้าวนึ่งจึงจะดี
ลาบหมูคั่ว จานนี้แห้งไปนิด แต่อร่อย มาเหนือทุกทีต้องได้กิบลาบเมืองเหนือ
เห็ดหอมอบซีอิ้ว เสริฟมาในหม้อดิน ร้อนโฉ่ รองด้วยผักคะน้า เห็ดสดออกรสหวาน
น้ำพริกหนุ่ม ต้องตามด้วยแคบหมู และชิ้นแดงทอด กับผักสดเข้ากันกับข้างนึ่ง
|