หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร (2)
    จะพัฒนาคนกันได้อย่างไร (2)

    พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


    แต่สิ่งที่เป็นแกนกลางร่วมกันของกรรมทั้ง 3 ประการนี้ก็คือเจตจำนง ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า "เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ" แปลความได้ว่า เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม เจตนาในความหมายว่า เจตจำนง ความตั้งจิตคิดหมาย การเลือกตัดสินใจ ว่าจะเอาอย่างไร ในการกระทำ ในการพูดจาสื่อสารและในความคิดทุกกรณีมีเจตจำนงอยู่ ที่แท้กรรมก็คือตัวเจตจำนงนี้เอง และโลกมนุษย์นั้นถือว่าเป็นโลกแห่งเจตจำนง

    ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นและเป็นไปในโลกมนุษย์ คือ ในสังคมนั้น เกิดจากและเป็นไปตามเจตจำนงของมนุษย์ทั้งสิ้น เจตจำนงเป็นปัจจัยในระบบของธรรมชาติส่วนที่มนุษย์เป็นเจ้าของเรื่อง หรือเป็นผู้รับผิดชอบ โลกมนุษย์ในระบบของกฎธรรมชาติ พุทธศาสนาถือว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกฎธรรมชาติ เรียกว่าความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และในระบบของความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นแยกได้เป็นกฎย่อยๆ เพื่อความสะดวกเป็น 5 กฎ ดังนี้

    1. อุตุนิยาม คือ กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับความเป็นไปของโลกวัตถุ สิ่งทั้งหลายในโลกของวัตถุเป็นไปตามเหตุปัจจัยด้านกายภาพนี้ เช่น ดิน ฟ้า อากาศ ฤดูกาล การเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ เช่น โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ หมุนไปเท่านั้นกำหนดเป็นวันหนึ่ง หมุนไปเท่านี้กำหนดเป็นปีหนึ่ง ความเป็นไปอย่างนี้ถือว่าเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่เป็นเหตุปัจจัยที่ไม่มีเจตนา ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยในโลกของวัตถุนี้จะมีความสม่ำเสมอค่อนข้างแน่นอน เช่น โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ หมุนเวียนไปตามกฎธรรมชาติค่อนข้างลงตัวและสม่ำเสมอ

    2. พีชนิยาม คือ กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับพืชพันธุ์ เช่น ความเจริญเติบโตของต้นไม้ ตั้งแต่มีเมล็ดพืชมาปลูกแล้วก็งอกงามกลายเป็นต้นพืช เมล็ดพืชอะไรก็ออกผลเป็นพืชชนิดนั้น แล้ว พืชชนิดนั้นก็จะมีความเป็นไปในชีวิตของมันอย่างนั้นๆ ตลอดจนเรื่องชีวิตของมนุษย์ การเกิดของมนุษย์ การแบ่งชาติพันธุ์ของมนุษย์

    3. จิตนิยาม คือ กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับการทำงานของจิต เช่นว่าจิตเป็นอย่างไร มีธรรมชาติเป็นอย่างไร มีการเกิดดับ มีการสืบต่ออย่างไร จิตที่มีคุณสมบัติอย่างนี้เข้ามาประ กอบแล้ว จะมีสภาพเป็นอย่างไร คุณสมบัติอย่างไหนเข้ากันได้และเข้ากันไม่ได้ในขณะจิตเดียวกัน ถ้าจิตมีคุณสมบัตินี้เกิดขึ้นจะมีคุณสมบัติอื่นอะไรเกิดขึ้นได้อีกบ้าง หรือถ้าอันนี้เกิดแล้วอันนั้นเกิดขึ้นด้วยไม่ได้เลย เป็นต้น

    4. กรรมนิยาม คือ กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์หรือพูดให้กว้างว่าของสัตว์ทั้งหลาย หมายถึงกฎเกณฑ์แห่งเจตจำนง หรือความเป็นเหตุเป็นผลในด้านพฤติกรรมมนุษย์ ที่เรียกว่ากฎแห่งกรรม พุทธศาสนาถือว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในระบบความสัมพันธ์ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ เพราะฉะนั้น การกระทำของมนุษย์ก็จึงเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการของธรรมชาติด้วย

    ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนาก็เป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นไปตามกฎข้อที่ 1 คือ อุตุนิยาม แต่ถ้าการกระทำหรือเคลื่อนไหวนั้นเกิดจากเจตนาก็เข้าในกฎข้อ 4 คือ กรรมนิยามนี้ พฤติกรรมที่ประกอบด้วยเจตนานี้เป็นเหตุปัจจัยส่วนที่มนุษย์เป็นเจ้าของเรื่อง และเป็นผู้รับผิดชอบอย่างเต็มที่ เพราะมนุษย์เป็นผู้ที่กำหนดเจตนาหรือกรรมของตนเองขึ้น แล้วเจต-จำนงหรือกรรมของตนเองก็มากำหนดชีวิตตลอดจนสังคมมนุษย์เองด้วย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตและสังคม

    เราตั้งจิตคิดหมาย มีเจตจำนงทำการอย่างไรแล้ว ตัวเจตจำนงหรือการกระทำต่างๆ นั้นก็ส่งผลกระทบต่อๆ กันออกไปในระบบความสัมพันธ์ของธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งในที่สุดผลเหล่านั้นทั้งหมดก็กระทบถึงตัวเราในฐานะที่อยู่ในระบบความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยนั้นด้วย โลกมนุษย์นี้เป็นโลกแห่งเจตจำนง ความเป็นไปในชีวิต การประดิษฐ์คิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ความเป็นไปในสังคม อารยธรรมของมนุษย์ ความเจริญและความเสื่อมต่างๆ เหล่านี้อยู่ในขอบข่ายของกฎแห่งกรรมที่มีลักษณะแตกต่างจากธรรมชาติ ส่วนอื่นๆ แต่ก็ถือว่าเป็นกฎธรรมชาติส่วนหนึ่ง



    • Update : 5/8/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch