|
|
หลวงพ่อขาว วัดจันปะขาว กรุงเทพฯ
คอลัมน์ เดินสายไหว้พระพุทธ
"วัดจันทร์ประดิษฐาราม" ชื่อที่ชาวบ้านเรียกหรือชื่อเดิม "วัดจันปะขาว" สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ 27 ซอยเพชรเกษม 48 หมู่ที่ 2 แขวงบางด้วน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ
ตามประวัติของวัดทราบแต่เพียงว่า เมื่อราวรัตนโกสินทร์ศก 37 ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ได้มีนายจันปะขาวคฤหบดีผู้มั่งคั่ง ได้มอบที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของตนให้เป็นสมบัติของวัด จำนวน 2 โฉนด มีที่ดินทั้งสิ้น 46 ไร่เศษ ให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่วัดนี้ โดยมีโฉนดออกให้เป็นหลักฐาน เมื่อวันที่ 27 มกราคม รัตนโกสินทร์ศก 123
นายจันปะขาว เมื่อมอบที่ดินให้แก่วัดแล้วก็ได้นุ่งขาวห่มขาวจำศีลภาวนา อยู่ในวัดนี้จนตลอดชีวิต จึงเป็นสาเหตุให้ผู้สร้างวัดตั้งชื่อวัดนี้ว่า "วัดจันปะขาว" ต่อมาประชาชนมักเรียกชื่อวัดเพี้ยนไปหลายชื่อ เช่น วัดชีปะขาว วัดจันตาปะขาว เป็นต้น จนเป็นเหตุให้หน่วยงานราชการหลายแห่งใช้ชื่อวัดไม่เหมือนกัน
ต่อมาทางวัดจึงได้ทำเรื่องเสนอต่อทางการคณะสงฆ์ขอเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ ในที่สุดก็ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อวัด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2501 เป็น "วัดจันทร์ประดิษฐาราม" ซึ่งปรากฏตามแถลงการณ์คณะสงฆ์เล่มที่ 46 หน้าที่ 2,351 ประจำปี 2501
ที่วิหารวัดจันทร์ประดิษฐาราม เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของวัด สร้างประมาณ พ.ศ.2379 ในวิหารมีพระพุทธรูปปางต่างๆ จำนวนมาก ไม่ต่ำกว่า 140 องค์ ปัจจุบันมีพระพุทธรูปเหลืออยู่ในวิหารเพียง 85 องค์
พระพุทธรูปเหล่านี้ มีทั้งเนื้อโลหะ และเนื้อปูน มีขนาดตั้งแต่ 5 นิ้ว ไปจนถึง 50 นิ้ว พระพุทธรูปส่วนใหญ่เป็นพระสมัยรัตนโกสินทร์และสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
วิหารวัดจันทร์ประดิษฐาราม เป็นที่ประดิษฐาน "หลวงพ่อขาว" พระพุทธรูปสำคัญ มีพุทธลักษณะสวยงาม ชาวบ้านในเขตภาษีเจริญ ให้ความเลื่อมใสศรัทธา
หลวงพ่อขาว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย วัสดุปูนปั้นลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้าง 0.90 เมตร สูง 1.19 เมตร ศิลปะสมัยอยุธยา
พระพุทธรูปองค์นี้เดิมอยู่ในวิหารร้าง "วัดอังกุลา" อยู่ระหว่างคลองบางพรม เขตตลิ่งชัน เป็นพระพุทธรูปที่สร้างด้วยศิลาแลง เมื่อปี พ.ศ.2473 สามเณรทวี สมบัติพานิช พร้อมด้วยคณะภิกษุที่วัดจันปะขาว ได้ไปอาราธนามาจากวัดอังกุลา
เมื่อได้นำพระพุทธรูปองค์นี้มาประดิษฐานในวิหารวัดจันปะขาวแล้ว เมื่อถึงคราวเทศกาลสง กรานต์พระสงฆ์และพุทธบริษัท ได้อัญเชิญออกมา สรงน้ำทุกปี และขณะที่สรงน้ำหลวงพ่อขาวนั้นมักเกิดปาฏิหาริย์ต่างๆ เป็นประจำ อาทิ เกิดฝนตกทุกคราว ประชาชนเห็นเป็นสิ่งมหัศจรรย์ จึงพากันนำเครื่องสักการะไปบูชาแล้วขอโชคลาภ
จนกลายเป็นพระพุทธรูปที่มีประชาชนเคารพนับถือมากมาจนถึงปัจจุ บันนี้
ต่อมา ประชาชนเห็นความสำคัญของ "หลวงพ่อขาว" จึงต้องการให้เป็นพระพุทธรูปที่สำคัญของวัดจันปะขาว จึงพากันเรียกชื่อใหม่ว่า "หลวงพ่อขาว" ตามนามของวัด กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีประชาชนเคารพนับถือมาก มีผู้มาขอเสี่ยงโชคลาภ หรือมาบนบานศาลกล่าวด้วยประทัดและไข่ต้ม ขอพรขอโชคลาภและสิ่งที่ตนปรารถนา
จนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน
|
Update : 2/4/2554
|
|