|
|
เที่ยวทั่วไทย-วัดดอนแก้ว
วัดดอนแก้ว
วัดดอนแก้วอยู่หลังที่ว่าการอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ซึ่งจะต้องแยกไปทางอำเภอแม่สอดก่อน ที่จะข้ามสะพานกิตติขจร การเดินทางไปจึงจ้องไปอำเภอแม่สอดเสียก่อน จึงจะไปนมัสการพระพุทธรูปสำคัญ ที่สร้างด้วยหินอ่อนที่วัดดอนแก้วได้
ผมออกเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ไปอย่างสบาย ๆ ทำเวลาได้ดี เพราะตอนนี้ถนนตั้งแต่กรุงเทพ ฯ ไปจนนถึงเชียงใหม่ เป็นถนนขนาดสี่เลนเรียบร้อยแล้วทั้งสาย ระะยะทางจากกรุงเทพ ฯ จนถึงตากประมาณ ๕๐๐ กม. แต่จะต้องเลี้ยวไปยังแม่สอดอีก ประมาณ ๘๐ พอถึง กม.๑๘๕ ก่อนถึงนครสวรรค์อีกหลาย กม. ทางขวามีศูนย์บริการของทางหลวง ซึ่งจะมีสุขาชั้นดีเลิศ มีสินค้าโอท็อป (ค่อนข้างแพงวทุกศูนย์) อาหาร เครื่องดื่ม ปั๊ม ปตท.ที่ไม่รับบัตรเครดิต แต่ยกใให้ยอดเยี่ยมคือการบริการสุขา แวะปลดทุกข์ซื้อเครื่องดื่มแก้ง่วงได้
พอจะถึงอำเภอขลุง ก็ตกลงว่าต้องแวะกินอาหารกลางวันที่นี่ จะไม่ไปกินกลางวันที่กำแพงเพชร วิ่งไปจนถึง กม.๓๑๕ ก็กลับรถมาสักหน่อย แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอขลุง พอเลี้ยวเข้าไปสัก ๒ กม.ทางซ้ายจะมีร้าน เป็นร้านขนาดห้องเดียว (หากเข้าตลาดอำเภอต้องวิ่งตรงต่อไป) จัดร้านสะอาดสะอ้านมาก มากกว่าเดิมก่อนที่จะชวนชิม มีมารยาทในการต้อนรับลูกค้าดีเยี่ยม ร้านนี้มีอาหารกลักนคือ ก๋วยเตี๋ยว เกี๊ยว บะหมี่ พอเข้าร้านจะเห็นโต๊ะอยู่ทางซ้าย ตรงหน้าหม้อก๋วยเตี๋ยว วางเกี๊ยวกรอบเอาไว้ บจะคว้าไปเองหรือบบอกเขากว็ได้ จะได้กินเกี๊ยวกรอบจิ้มน้ำบ๊วยเจี่ยระหว่างที่รอก๋วยเตี๋ยว เกี๊ยว บะหมี่ ต้องสั่งคือ ก๋วยเตี๋ยวหรือเกาเหลาลูกชิ้นปลานครสวรรค์ ซึ่งลูกชิ้นปลานครสวรรค์นั้น มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร คือลูกเล็กนิดเดียวแต่เหนียวหนึบ จะสั่งเกาเหลาลูกชิ้นปลาแห้งหรือน้ำ หรือสั่งก๋วยเตี๋ยวดีทั้งนั้น และให้เริ่มต้นด้วยบะหมี่แห้งหมูแดง เกาเหลาเครื่องในหมู ก๋วยเตี๋ยวหรือเกาเหลาลูกชิ้นปลานครสวรรค์ ปิดท้ายด้วยไอศกรีมหรือจะสั่งโอเลี้ยงก็ชื่นใจ
กลับมาออกถนนพหลฌโยธินกันใหม่ แล้ววิ่งต่อไปผ่านกำแพงเพชร ซึ่งกำแพงเพชรนี้หากเราเดินทางรถยนต์จะไปเชียงใหม่ พอผ่านกำแพงเพชร ก็เหมือนมาได้ครึ่งทาง คือ ประมาณ ๓๕๐ กม.จากกรุงเทพ ฯ เลยกำแพงเพชรไปอีก ๖๕ กม. จะถึงจังหวัดตาก แต่เราจะเลี้ยวก่อนเพื่อไปทางอำเภอแม่สอด พอเหลือระยะทางอีกประมาณ ๖ กม. จะถึงตัวเมืองตาก ก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนน ๑๐๕ ไปแม่สอดไปอีก ๘๐ กม. วิ่งไปได้สัก ๑๒.๕ กม. จะถึงทางแยกซ้ายเข้าอุทยานแห่งชาติลานสาง
อุทยานแห่งชาติลานสาง อยู่ที่บ้านลานสาง ตำบลแม่ทับ มีพื้นที่ ๖๕,๐๐๐ ไร่ สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีลำธารน้ำไหลผ่านหลายสายเช่น ลำห้วยลานสาง ห้วยท่าเลย์ คลองห้วยทราย ห้วยอุมยอม ป่าไม้ในเขตอุทยานมีทั้งป่าดงดิบ ป่าสนเขา ป่าเต็ง ป่าเบญจพรรณ สัตว์ป่าที่พบได้แก่ หมูป่า เก้ง เต่า ปูลู เลียงผา ชะมด นกนานาชนิด เป็นต้น
มีตำนานเล่ากันมาถึงชื่อ "ลานสาง" ว่าเมื่อครั้งพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพไปตีเชียงใหม่ ครั้งที่ ๒ ได้ทรงหยุดพักพลที่บ้านระแหง แขวงเมืองตาก มีชฃาวมมอญเข้ามาสวามิภักดิ์ด้วยจำนวนมาก ทหารพม่าจึงติดตามเข้ามา พระเจ้าตากสินจึงเสด็จยกทัพไปขับไล่พม่าแต่พระองค์พลัดหลงกับกองทัพในเวลากลางคืน ภูมิประเทศรกทึบยากต่อการค้นหา กองทัพไทยจึงหยุดพักทัพ ขณะที่พักทับกันอยู่นั้นได้เกิดมีแสงสว่างพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าและได้ยินเสียงม้าศึกร้อง จึงหพากันติดตามค้นหาเข้าไปยังบจุดที่ได้ยินเสียงนั้น ก็พบสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชประทับม้าอยู่กลางลานหิน มีแสงสว่างออกมาจากพระวรกาย มีทหารพม่าคุกเข่าอยู่โดยรอบและขณะนั้นเป็นเวลาฟ้าสางพอดี จึงเรียกกันต่อมาว่า "ลานสาง" และสถานที่ที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธรบุรีประทับม้าอยู่นั้น คือ บริเวณน้ำตกลานสางในปัจจุบัน และที่ลานหินยังมีรอยเกือกม้าของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอยู่ด้วย
สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานได้แก่ น้ำตกผาลาด น้ำตกลานเลี้ยงม้า น้ำตกลานสาง เลยน้ำตกลานเลี้ยงม้าขึ้นไป ประมาณ ๒ กม.เป็นชั้นน้ำตกที่รถเข้าถึง เดินต่อไปนิดเดียว มีผู้คนไปเที่ยวกันมากทุกวัน โดยเฉพาะวันหยุด มีความสูงประมาณ ๔๐ เมตร ตกลงมาสามชั้นสู่ลานเลี้ยงม้า
ต่อไปเป็นน้ำตกที่รถไปไม่ถึงเช่น น้ำตกผาเงิน น้ำตกผาผึ้ง น้ำตกผาเท ซึ่งจะอยู่สูงขึ้นไปจากน้ำตกลานสาง ต้องเดินไต่ขึ้นไป ในอุทยานนี้มีที่พัก มีสถานที่ให้กางเต้นท์นอน ติดต่อ ๐ ๔๕๕๑ ๙๒๗๘ - ๙ หรือ ๐ ๒๕๗๙ ๗๒๒๓
อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ไปตามถนนสายไปแม่สอด เส้นทางเข้าอุทยานลานสางไปอีก ระหว่าง กม.๒๕ - ๒๖ จะมีทางแยกขวา ให้เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ ๑.๕ กม. จะถึงด่านเก็บเงิน รถคันละ ๓๐ บาท คนโดยสารคนละ ๒๐ บาท เมื่อผ่านประตูทางเข้าไปแล้ว ทางซ้ายมือบจะมีหมีเชื่อง ๆ อยู่ตัวหนึ่งชื่อ หมีธันวา ไต่ต้นไม้อยู่ติดกับที่เลี้ยงหมีธันวา คือ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ไม่ค่อยมีอะไรไว้บริการนอกจากมีสินค้าของที่ระลึกเช่น เสื้อ พวงกุญแจ เอาไว้บจำหน่าย มีแผนที่ของอุทยาน และมีข้อความบอกไว้ว่าในอุทยานแห่งนี้ ได้ค้นพบแหล่งโบราณคดี และมีโบราณวัตถุที่ขุดพบไม่กี่ชิ้นวางเอาไว้ และที่น่าสนใจคือ ได้บอกด้วยว่า พระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่า ที่ยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๒ และทรงบัญชาการยิงปืนใหญ่ เข้าไปในกรุงศรีอยุธยาด้วยตนเอง จุดชนวนด้วยพระองค์เองและคงบจะสั่งให้บรรจุดินปืนมากเกินไป เพื่อหวังผลให้ระยะยิงไกล กระบออกปืนใหญ่ทนไม่ไหวจึงระเบิด ต้องพระวรกายบาดเจ็บสาหัส ต้องสั่งเลิกทัพกลับกรุงอังวะ และจะยกทัพกลับทางด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จ.ตาก ในประวัติศาสตร์บอกแต่เพียงว่าสิ้นพระชนม์ก่อนถึงบจังหวัดตาก แต่ที่กระดานป้ายในศูนย์ ฯ นี้ ได้บอกว่าน่าจะสิ้นพระชนม์ในป่า บริเวณที่เป็นอุทยานตากสินมหาราชในเวลานี้ ผมเชื่อตามเหตุผลนี้ ไม่ทราบว่ากรมศิลปากร ยังติดตามค้นคว้าต่อไปหรือไม่ ว่าสิ้นพระชนม์บริเวณจุดใด โบราณวัตถุที่ขุดได้มีอีกไหม อยู่ตรงไหน ทำถนนให้รถวิ่งเข้าไปได้หรือไม่ น่าจะลองค้นคว้าดู โฮจิมินท์เข้ามาตั้งตัวอยู่ในเมืองไทยที่นครพนม ตั้ง ๗ ปี ยังค้นคว้ากันมาได้ว่ามาอยู่ตรงไหน ทำให้ชาวญวนแห่กันมาดูแหล่งที่วีรบุรุษของเขา มาหลบซ่อนตัวเพื่อเตรียมไปกู้เอกราช
จากทางเข้าอุทยานหากรถวิ่งต่อไปสัก ๔ กม.จะถึงเส้นทางที่จะเดินไปชม "ต้นกระบากใหญ่" ซึ่งค้นพบว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ลำต้นมีเส้นรอบวง ๑๖.๙ เมตร หากให้คบโอบต้อง ๑๔ คน สูงตรงขึ้นไป ๕๐ เมตร จากประตูอุทยานวิ่งไปตามถนน ผ่านภูมิประเทศที่งดงาม ปลายฝนต้นหนาวจะสวยมาก ป่าจะเขียวชอุ่ม ไปประมาณ ๔ กม. จะถึงลานให้จอดรถได้ แล้วเดินต่อไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ประมาณ ๔๐๐ เมตร จะถึงต้นกระบากใหญ่ เดิมอุทยานแห่งนี้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่
สะพานหินธรรมชาติ ลักษณะเหมือนแท่นหินขนาดใหญ่ ที่เชื่อมหน้าผาสองแห่งเข้าด้วยกัน มีความกว้าง และความสูงประมาณ ๒๕ เมตร เบื้องล่างมีลำธารน้ำไหลผ่าน การเดินทางไปต้องไปตามเส้นทางสาย ๑๐๕ จนถึงหลัก กม.๓๕ ให้แยกเข้าศูนย์เพาะชำกล้าไม้ตาก และตรงไปอีก ๖ กม. เดินต่อไปอีก ๒ กม. จะได้ชม
ในอุทยานแห่งนี้มีถ้ำตกหลายแห่ง ล้วนแต่รถเข้าไม่ถึงเช่น น้ำตกปางอ้าน้อย, น้ำตกแม่ย่าป้า น้ำตกสามหมื่นฟุต มีถ้ำรอดผาขาว ผาแดง ในอุทยานมีบ้านพัก มีเรือนนอนรวม นอนได้ถึง ๖๐ คน มีค่ายพักแรม ติดต่อ ๐ ๕๕๕๑ ๑๔๒๙ หรือ ๐ ๒๕๗๙ ๗๒๒๓
ตลาดริมทาง มี ๒ ตลาดใกล้ ๆ กัน คือที่ กม.๒๗ - ๒๘ เรียกว่า ตลาดดอยมูเซอ อยู่ทางฝั่งซ้ายมือ ส่วนอีกตลาดหนึ่งนั้นเปิดมาก่อน มีของขายแยะกว่าต้องเลยไปอีกประมาณ ๒ กม. ระหว่าง กม.๒๙ - ๓๐ เป็นตลาดใหญา มีผลิตภัณฑ์ของชาวเขา รวมทั้งชาวเขามาขายเองมากกว่าตลาดแรก ตลาดหลังนี้อยู่ทางฝั่งขวามือ มีที่จอดรถสะดวกสบาย เจ้าที่ขายอยู่ตอนกลาง ๆ มีเจ้าเดียวที่จะขายไก่ทอด หมูทอด ไส้อั่ว ข้าวนึ่ง เจ้านี้อร่อยน่าซื้อติดไม้ติดมือไป ส่วนพืชผักผลไม้นั้นมีมากมายราคาถูกมากด้วย เช่นฟักแม้ว พริกยักษ์ลูกโต ๆ สีสวย ๆ ราคาก็ถูกกว่าซื้อในกรุงสัก ๒ - ๓ เท่าตัว เห็ดหอม สตอร์เบอร์รี่ ผักเมืองหนาวมากมาย
เลยจุดตลาดดอยมูเซอไปจนถึง กม.๓๒ - ๓๓ คือ จุดชมทิวทัศน์ที่แสนจะงดงาม ถนนสายนี้ตั้งแต่ปากทางที่เลี้ยวเข้ามาในถนนสาย ๑๐๕ เกือบตลอดระยะทาง ๘๐ กม. ถนนจะคดโค้งไปตามไหล่เขาเป็นถนนสามเลนบ้าง สองเลนบ้าง ถนนดีวิ่งสบายเชื่อกฎจราจรจะปลอดภัย
เมื่อสมัยสัก ๔๕ ปี มาแล้ว ผมกับพรรคพวกเอารถทหารที่เรียกว่า รถจิ๊บกลาง ภาษาทหารเขาเรียก รถ ๓/๔ ตัน คือ รถที่มีขนาดบรรทุกได้ ๓/๔ ตัน วิ่งจากตากมายังแม่สอด สมัยนั้นรถจะวิ่งทางเดียวคือ วันคี่วิ่งไป วันคู่วิ่งกลับ เกิดวันของตัวฝนตกหนักทางปิดห้ามวิ่ง จะต้องกระโดดข้ามไปอีก ๒ วัน จึงจะมาได้ เช่นไปวันที่ ๑ พอวันที่ ๒ ทางปิด ห้ามรถวิ่ง ต้องรอวันที่ ๔ จึงจะกลับมาได้ วันใครวันมันว่างั้นเถอะ และตลอดระยะทางจะไม่มีถนนราดยางแม้แต่เมตรเดียว ไม่เหมือนสมัยนี้ ใช้เวลาชั่วโมงเศษ ๆ ก็จะถึงแม่สอดแล้ว
กม.๕๔ - ๕๕ จะมีทางแยกขวาไปยังด่านแม่ละเมา ที่เราจะได้ยินได้อ่านจากประวัติศาสตร์ว่า เป็นเส้นทางเดินทัพของพม่าที่ยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา เช่น บุเรงนอง กษัตริย์หงสาวดียกทัพเข้ามาถึงห้าแสนคน ก็เข้ามาทางด่านแม่ละเมานี้แหละ ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ก็เคยให้แม่ทัพยกทัพพม่าผ่านด่านแม่ละเมาออกไป จากทางแยกไปด่านแม่ละเมาระยะทาง ๘ กม. จึงจะถึงชายแดน แต่มองหาด่านที่จะตั้งเพื่อตรวจคนเข้าเมืองมองหาไม่เจอ ตลอดระยะทางที่เลี้ยวเข้าไป ๘ กม. นั้นจะผ่านหมู่บ้านใหญ่ ๆ ไปตลอดทาง ผ่านตำบลแม่ละเมาไปก่อน จากนั้นไปข้ามลำน้ำแม่ละเมาเข้าตำบลพะวอ ซึ่งเป็นตำบลสุดท้ายที่อยู่ชายแดน ระหว่างตากกับพม่า ถนนดี หมู่บ้านเจริญตลอดทาง ตำบลพะวอมีหมู่บ้านที่อยู่ชายแดนคือ บ้านแม่ละเมา ตำบลพะวอ ซึ่งที่บ้านนี้มีวัดที่สร้างใหม่ แต่ก็คงหลายปีเหมือนกันคือ วัดเชตะวันคีรี ส่วนวัดที่ใหญ่กว่าอยู่ทางตำบลแม่ละเมา วัดว่างอารมณ์
กลับออกมาจากด่านแม่ละเมา ซึ่งเป็นช่องด่านที่กว้างขวางมาก บุเรงนองจึงยกทัพพลห้าแสน ผ่านเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาได้ คนห้าแสนไม่ใช่น้อย ๆ เลย แสดงว่ากษัตริย์องค์นี้ต้องเก่งในการส่งกำลังบำรุงมาก มิฉะนั้นจะเอาทหารที่ไหนมาเลี้ยงคนตั้งห้าแสนคนได้ และยังมาล้อมกรงุศรีอยุธยาอยู่อีกหลายเดือนจึงจะตีได้
เลยทางแยกด่านแม่ละเมาแล้วก็เดินหน้าต่อไปจะถึง ศาลพะวอ ซึ่งท่านเคยเป็นนายด่านรักษาด่านนี้ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เลยศาลพะวอไปจะมีศาลขุนสามชน อดีตคือเจ้าเมืองฉอด ซึ่งสันนิษฐานกันว่า เมืองฉอดในอดีตสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์นั้นน่าจะเป็นเมืองแม่สอดในปัจจุบัน แต่ยังไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยัน ขุนสามชนมีชื่อติดประวัติศาสตร์เพราะเป็นเจ้าเมืองฉอด แต่ยกมาตีเมืองตาก กองทัพพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ จึงยกจากสุโขทัยมาสู้รบ และพ่อขุนรามาคำแหงราชโอรสได้เสด็จมาในกองทัพด้วย ในการชนช้างระหว่างพ่อขุนทั้งสอง พ่อขุนศรีอินทราทิตย์เสียที พ่อขุนรามคำแหงจึงขับช้างเข้าแก้ และฟันเอาพ่อขุนสามชนตาย มีชื่อเสียงก้องมาตั้งแต่ยังมีวัยหนุ่ม ศาลพ่อขุนสามชน มีผู้มาสร้างขึ้นภายหลัง ไม่เหมือนศาลพะวอ ที่มีมานานแล้ว ผมจำได้ว่าศาลดั้งเดิมอยู่ทางฝั่งซ้ายเวลาเข้าแม่สอด เป็นศาลเล็ก ๆ เก่าแก่ แต่ปัจจุบันอยู่ทางฝั่งขวา โอ่อ่างดงามทีเดียว เวลาผ่านให้บีบแตร
เลยศาลพ่อขุนสามชนไปแล้วก็ถึงวงเวียนที่จะสู่ประตูแม่สอด มีถนนแยกไปจากวงเวียน ๔ สาย สายที่วิ่งมาจากตากที่กำลังวิ่งมานี้หนึ่งสาย สายต่อไปแยกซ้ายไปยังอำเภอพบพระ ซึ่งมีน้ำตกพาเจริญ สูงถึง ๙๗ ชั้น รถวิ่งเข้าถึงลานน้ำตกเลยทีเดียว อยู่ในอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ หากวิ่งเลยไปอีกจะไปยังอำเภออุ้มผาง มีน้ำตกทีลอซู ตั้งใจว่าจะไปให้ได้ รีบไปก่อนที่อายุจะสูงจนกลายเป็นคนแก่ (คนแก่ตามความคิดของผม ถือว่าอายุไม่สำคัญ ตราบใดผมยังเดินทางได้ ขับรถได้ ชิมอาหารรู้รส ผมยังเป็นคนสูงอายุ) เส้นทางที่สองคือเส้นทางเข้าตัวอำเภอแม่สอด หรือเมืองสอด เลยไปอีกเส้นหนึ่งคือเส้นที่จะไปยัง วัดดอนแก้ว วงเวียนนี้มีถนนแยกไป ๔ สายก็จิรง แต่ละสายไม่อยู่ตรงกันข้ามพอดี อยู่เอียง ๆ กันจะต้องไล่กันทีละสาย
สายที่ไปอำเภอแม่ระมาดนั้นคือ สายที่ ๔ หากไม่เลี้ยวเข้าสายนี้ก็จะกลับมายังสายที่ไปตากอีก เข้าสายที่ ๔ ไปแล้วก็จะผ่านปั้มน้ำมัน ๒ ปั้ม ปั้มแรกนั้นต้องยกนิ้วให้ที่บริการดี สะอาดมาก สุขาเยี่ยม มีสุขาคนพิการและคนสูงอายุไว้ด้วย (ชักโครก) มีซุ้มอาหารขายอาหารเช้าเช่น ไข่กะทะ กาแฟ ชา และเครื่องดื่ม มีมินิมาร์ท จึงขอยกย่องในความเป็นมาตรฐานของปั้ม ปตท. แห่งนี้ ไม่ว่าปั้มของใครหากพบแล้ว มีมาตรฐานอย่างที่ผมอยากให้เป็น ผมจะนำมาเล่าไว้ บริการดี มีของแถม (เช่นน้ำ) รับบัตรเครดิต มีอาหารและมินิมาร์ท และมีสุขาที่เป็นสากล คือมาตรฐานที่ผมอยากเห็นปั้มน้ำมันเมืองไทยเป็นเช่นนี้ วิ่งเลยปั๊มไปแล้วก็จะผ่านโรงแรม อยู่ทางขวามือ เป็นโรงแรมที่ดีที่สุด
เลยโรงแรมไปแล้วก็จะไปถึงทางแยกขวา หัวมุมคือ ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เข้าถนนสาย ๑๐๕ ชื่อเดียวกับสายที่มาจากตาก สายนี้จะไปได้จนถึงแม่ฮ่องสอน โดยจะผ่านแม่ระมาด ท่าสองยาง สบเมย แม่สะเรียง ขุนยวม แม่ลาน้อย ไปจนถึงอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน แต่สาย ๑๐๕ น่าจะไปสิ้สสุดแค่แม่สะเรียง เลี้ยวขวาไปตามถนนสาย ๑๐๕ จะไปผ่านทางแยกขวาเข้าน้ำพุร้อนแม่กาษา เอาไว้ขากลับผมจะพามาแวะที่น้ำพุร้อนแห่งนี้ ตอนนี้เลยไปก่อน ๓๒ กม. จากทางแยก จะเห็นป้ายบอกว่าไปวัดดอนแก้ว ให้เลี้ยวซ้าย (เลี้ยวก่อนถึงแยกเข้าตัวตลาด) เข้าประตูเทศบาลแม่ระมาด วิ่งไปจนถึงสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายไปตามป้ายจะพบวัดดอนแก้ว
วัดดอนแก้ว เป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่บนดอยที่ไม่สูงนัก รถวิ่งเข้าไปจอดในวัดได้เลย อยู่ในตัวเทศบาล ตำบลแม่ระมาด เมื่อเข้าประตูวัดไปแล้ว จะเห็นศาลเล็ก ๆ อยู่ข้างวิหาร คือ ศาลากังหันรดน้ำพระ ซึ่งทุกปีในวันสงกรานต์ จึงจะมีพิธีสรงน้ำพระเทน้ำลงให้กังหันหมุนไปสรงน้ำพระ ใกล้กันมีศาลาไว้กลองสบัดไชย ศาลานี้อยู่ข้างวิหารพระพุทธรูปหินอ่อน ด้านหน้าวิหารมีรอยพระพุทธบาทจำลองหินอ่อน มีหอนาฬิกาและอุโบสถ ส่วนด้านหลังวิหารมีเจดีย์สีขาว ศาลเจ้าแม่กวนอิม และด้านข้างขวามีพระสังกัจจายน์ วัดสงบเงีบยร่มรื่นดี ทางขวาของประตูเข้าจะมีร้านขายเขียงไม้มะขาม ไม้แก่นราคาถูกน่าซื้อ มีผ้าซิ่นที่ทอโดยชาวบ้าน และผลิตภัณฑ์ชาวบ้านตั้งขายอยู่ในราคาย่อมเยาว์ น่าซื้อมาคือ เขียงไม้
ในวิหารซึ่งขนาดไม่ใหญ่โตนัก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เคยเสด็จมา และประทานพระพุทธรูปเอาไว้องค์หนึ่ง สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ก็เคยเสด็จมาที่วัดนี้เช่นกัน ทั้งสองพระองค์เสด็จมาเพื่อนมัสการพระพุทธรูปหินอ่อนสีขาว ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญของวิหารและวัดนี้
พระพุทธรูปหินอ่อนองค์นี้ มีสีขาวงดงามมาก มีขนาดหน้าตักกว้าง ๕๐ นิ้ว สูง ๖๓ นิ้ว พระพุทธรูปองค์นี้แกะสลักมาจากเมืองย่างกุ้งในประเทศพม่า แกะสลักพร้อมกัน เหมือนกัน ๓ องค์ องค์แรกอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่ประเทศอินเดีย องค์ที่สองอยู่ที่ประเทศปากีสถาน และองค์นี้เป็นองค์ที่ ๓ มาประดิษฐานที่วัดดอนแก้ว อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก
จากวัดดอนแก้ว กลับมาผ่านทางแยกซ้ายเข้าน้ำพุร้อนแม่กาษา ต้องเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก ๗ กม. เลี้ยวตรง กม.๑๓ ใกล้กันมีถ้ำแม่อุษา และมีน้ำตกแม่กาษา ตัวบ่อน้ำพุร้อนนั้นเป็นน้ำพุเล็ก ๆ พุขึ้นมาแต่ร้อนจัด มีไข่ขายเอาไว้ซื้อใส่ตะกร้อเอาไปต้มได้ รอบ ๆ เป็นร้านอาหารมีหลายร้าน มีห้องอาบน้ำพุร้อน หากจะเที่ยวถ้ำติดต่อที่ตรงขายไข่ไก่ เป็นศาลาประชาสัมพันธ์ เขามีตะเกียงคนพาชมคิด ๓๐๐ บาท
ทีนี้ไปชิมอาหารมื้อค่ำ กลางวันร้านนี้ไม่ขาย เขาขายแต่ตอนกลางคืนตั้งแต่เย็นไปจนดึกเพราะเป็นประเภทร้านข้าวต้ม มาตั้งต้นกันที่วงเวียนอีกที วิ่งเข้าเทศบาลแม่สอด ช่องเลี้ยวที่ ๒ (เลี้ยวแรกไป อ.พบพระ) วิ่งผ่านซุ้มเทศบาลไป เลยต่อไปอีกสัก ๕๐๐ เมตร จะผ่านร้าน มีอาหารขายเลยต่อไปอีกสัก ๕๐๐ เมตร มองทางขวาจะเห็นชัดที่ป้ายมีไฟสว่าง คนท้องถิ่นมาชิมอาหารกันแยะ
อาหารถูกมาก อร่อย บริการรวดเร็ว ขนาดไปวันธรรมดาคนพื้นบ้านยังมานั่งกันเต็ม วันหยุดคงจะแน่น แต่ร้านก็กว้างใหญ่ และบริการของเขามีมาก อย่าเผลอสั่งอาหารบนกระดานดำที่แขวนไว้ อาจจะเป็นอาหารจานโปรดของชาวแม่สอดก็ได้ ผมสั่งมาชิมแล้วเช่น หมูพันอ้อย ปรากฎว่าในกรุงมีขายตามซุปเปอร์มาเกต เช่น บิ๊กซี เขาขายกันเป็นถุง ร้านนี้เอามาขึ้นป้ายไว้เลย หมูพันอ้อย และไส้กรอกหมูกระเทียม
"สั่ง" กระเพาะหมูผัดเกี๊ยมฉ่าย ยกให้ผัดยอดเยี่ยม ผัดแล้วยังกรอบ จานนี้ ๔๐ บาท
คะน้าหมูกรอบและผัดผักต่าง ๆ จานละ ๒๐ บาท ขาหมูพะโล้ สั่งกันแทบทุกโต๊ะต้องสั่งบ้าง รวมทั้งจับฉ่ายเอามาพุ้ยกับข้าวต้ม หากคิดจะกินข้าวสวย ต้องสั่งอาหารปลาจากแม่น้ำเมย ถามเขาดูว่า วันนี้มีปลาอะไร ผมสั่ง "ปลาคังผัดฉ่า" ใส่กะทะร้อนร้องฉ่ามาแต่ไกลเลยทีเดียว คุณภาพคับแก้วเอาน้ำผัดคลุกข้าวกิน ยังไม่สะใจให้สั่งอะไรร้อน ๆ มาซด ต้มยำปลาแม่เมยก็ดี
กุ้งพม่านั้นราคาถูกกว่าฝั่งไทยมาก แต่รสจะสู้กุ้งไทยไม่ได้ สั่งข้าวผัดกุ้งมาชิมดู จานละ ๓๐ บาทเท่านั้นเอง
............................................................
|
Update : 3/8/2554
|
|