หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เที่ยวทั่วไทย-วัดเกตการาม
    วัดเกตการาม

                ไปเชียงใหม่หากจะไปทางลัด ผมเขียนบอกไว้หลายครั้งมาแล้ว ซึ่งเดี๋ยวนี้กรมทาง ฯ ได้ปักป้ายบอกเอาไว้เลยว่าทางลัดไปเชียงใหม่ เมื่อใกล้จะถึงจังหวัดลำปาง จะต้องผ่านเขตอำเภอเกาะคา ก่อนถึงทางแยกเข้าอำเภอเกาะคา ก็จะมีป้ายบอกไว้ว่าทางลัดไปเชียงใหม่ เมื่อเลี้ยวซ้ายไปทางนี้ก็จะผ่านตัวตลาดของเกาะคา ผ่านโรงงานน้ำตาลเก่าแก่ และข้ามแม่น้ำไปก็จะไปพบสามแยก ที่สามแยกนี้หากเลี้ยวขวาจไปผ่านวัดพระธาตุลำปางหลวง ผ่านวัดปงยางคก แต่หากเลี้ยวซ้ายมา ๑๔ กิโลเมตร จะมาผ่านวัดพระธาตุจอมปิง และหากวิ่งเลยวัดพระธาตุจอมปิงไปอีกประมาณ ๑๖ กิโลเมตร ก็จะไปโผล่เอาที่ถนนสายมาจากกรุงเทพ ฯ ก่อนถึงอำเภอสบปราบประมาณหลักกิโลเมตรที่ ๕๖๔.๒๐๐ ดังนั้นหากไปจากกรุงเทพ ฯ เมื่อผ่าน อำเภอเถิน แล้วจะมาถึง อำเภอสบปราบ พอเลยมาแล้วหากประสงค์จะไปไหว้พระธาตุจอมปิง ถือโอกาสไปชมความแปลกประหลาดจะเรียกว่า ขั้นมหัศจรรย์ก็พอได้ ที่วัดพระธาตุจอมปิงด้วยแล้ว เราก็จะเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามป้ายไปยัง บ้านปู่ด้าย แต่จะไม่เข้าหมู่บ้านเลี้ยวขวาไปยังวัดพระธาตุจอมปิงเลย เจดีย์ในวัดพระธาตุจอมปิงนี้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งผู้สร้างพระธาตุคือ พระนางจามเทวี กษัตริย์แห่งหริภุญชัย (ลำพูน) ความแปลกประหลาดอยู่ในอุโบสถ เมื่อเข้าไปในอุโบสถแล้วปิดประตูเสียให้สนิท อย่าให้แสงสว่างลอดเข้ามาได้ หน้าต่างบานซ้ายสุดจะมีรูที่เล็กมากพอให้แสงเข้ามาได้ จะปรากฏเป็นภาพพระธาตุเจดีย์ที่พื้นของอุโบสถ ไม่ว่าจะเป็๋นเวลาใดก็ตาม และในอุโบสถมีไม้อัดวางไว้ให้ หากตั้งไม้อัดแผ่นนี้เป็นฉากรับแสง จะเกิดภาพพระเจดีย์เป็นภาพสีชัดเจนทีเดียว
                กลับไปเกาะคาตรงสามแยกใหม่โดยจะผ่านร้านข้าวแต๋นทวีพรรณ ที่จุดห่างจากวัด ๗ กิโลเมตร อยู่ตรงข้ามกับวัดสองแควใต้ มีข้าวแต๋นหรือที่ภาคกลางเรียกว่านางเล็ดจำหน่าย ซึ่งร้านนี้ชนะเลิศของการประกวดข้าวแต๋นใน ๑๗ จังหวัดภาคเหนือ โดยปกติข้าวแต๋นของลำปาง ก็เก่งกว่าจังหวัดอื่นอยู่แล้ว แต่ร้านนี้เก่งจนชนะเลิศในภาคเหนือ ยอมรับว่าของเขาอร่อยจริง
                ตรงสามแยก  ที่บอกว่าเลี้ยวขวาไปอำเภอห้างฉัตร หากวิ่งตรงไปตามเส้นทางนี้และดูป้ายไปด้วย จะมีทางแยกซ้ายไปยังวัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งวัดนี้เคยประดิษฐานพระแก้วมรกตก่อนที่จะนำไปยังวัดเจดีย์หลวงจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพระแก้วมรกตนี้ หากดูเส้นทางของพระพุทธรูปองค์นี้ เท่าที่จะบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ได้คือ ค้นพบที่จังหวัดเชียงราย นำมาเชียงใหม่แต่ปรากฏการณ์ทำให้ต้องพักประดิษฐานที่ลำปาง ที่วัดพระแก้วตอนเต้า และต่อมาก็ย้ายมาประดิษฐานที่วัดพระธาตุลำปางหลวง จากนั้นจึงไปประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ จนกระทั้งกษัตริย์ ๒ แผ่นดินคือ พระไชยเชษฐาโอรสของกษัตรย์ล้านช้าง หลานของกษัตริย์เชียงใหม่ (หลานตา) มาครองเชียงใหม่ได้ ๒ ปี ก็กลับไปครอบครองล้านช้าง หรือเชียงทองหรือหลวงพระบาง ตอนกลับไปนี่แหละนำพระแก้วมรกตกลับไปด้วย ต่อมาท่านได้สร้างนครเวียงจันทน์ และสร้างหอพระแก้วมรกต (นครเวียงจันทน์มีอยู่แล้ว แต่สร้างขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นเมืองหลวงแทนเชียงทอง) นำพระแก้วมรกตจากหลวงพระบาง มาไว้ยังหอพระแก้วในเวียงจันทน์ ส่วนพระบางคงไว้ที่หลวงพระบาง พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่หอพระแก้วในเวียงจันทน์ ร่วม ๒๐๐ ปี จนพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปตีลาว และเมื่อตีลาวทั้งประเทศไว้ในอำนาจได้แล้ว ตอนที่สมเด็จเจ้าพระยาจะยกทัพกลับมา ก็ได้นำพระแก้วมรกต และพระบาง กลับมายังกรุงธนบุรีด้วย ได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดอรุณราชวราราม ตราบจนกระทั่งปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ของกรุงรัตนโกสินทร์ สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นในพระบรมมหาราชวัง แล้วอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มาตราบเท่าทุกวันนี้ ส่วนพระบางนั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ได้ประทานกลับคืนให้แก่ลาวไป ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่เมืองหลวงพระบาง ซึ่งดัดแปลงมาจากวังของพระเจ้ามหาชีวิตเดิม
                ผ่านมายังวัดพระธาตุลำปางหลวง ผมเลยถือโอกาสเล่าเรื่องพระแก้วมรกตแทรกไว้ด้วย เพราะหากแกล้งไปถามคนเฝ้าหอพระแก้วที่เวียงจันทน์ว่าพระแก้ว ฯ ไปไหนล่ะมีแต่แท่นว่างเปล่า คนเฝ้าหอจะใส่ไฟไทยทันทีว่า ก็คนไทยยึดเอาไปน่ะซียังมาถามอีก ถามแล้วเขาตอบแล้วเราก็ต้องย้อนบอกว่าลาวเอาของไทยไปจากเชียงใหม่
                วัดพระธาตุลำปางหลวง นอกจากองค์พระบรมธาตุแล้วยังมี พระวิหารหลวง วิหารพระพุทธ หอพระพุทธบาท วิหารพระเจ้าศิลา อุโบสถ วิหารน้ำแต้ม กุฏิประดิษฐานพระแก้วมรกต (เป็นพิพิธภัณฑ์) ซึ่งปัจจุบันก็มีองค์เล็ก ๆ อยู่องค์หนึ่งคนละองค์ที่ประดิษฐานในปัจจุบัน มีประวัติเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คงจะต้องรอผมเล่าถึงตอนไปที่วัดพระธาตุลำปางหลวงอีกที จึงค่อยทราบความเป็นมา
                จากพระธาตุลำปางหลวง วิ่งต่อไปเพื่อไปออกถนนใหญ่ไปเชียงใหม่ จะผ่านทางแยกขวามีป้ายบอกว่าไปยังวัดปงยางคก เลี้ยวขวาเข้าไปหน่อยหนึ่งจะพบวัดปงยางคก ซึ่งมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เล่ากันว่าเมื่อพระนางจามเทวีมาพักพลอยู่ตรงนี้ไม่มีน้ำจะดื่ม ได้อธิษฐานขอให้หาน้ำเจอก็ขุดบ่อ ได้น้ำพุ่งขึ้นมาและบ่อนี้ยังอยู่จึงถือว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในวัดปงยางคก มีพระวิหารซึ่งพระนางจามเทวีทรงสร้างไว้เมื่อครั้งเสด็จไปถวายสักการะองค์พระธาตุลำปางหลวง ภายในวิหารมีมณฑป ศิลปะสมัยพระนางจามเทวีอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ ใกล้กับวิหารมีสถูป "กู่ช้าง" ของช้างทรงของพระนางจามเทวี
                จากวัดปงยางคก วิ่งมาอีกหน่อยเดียวก็จะมาโผล่ที่ถนนไปเชียงใหม่ ที่อำเภอห้างฉัตร (ไปอำเภอต้องตรงไปอีก) เลี้ยวซ้ายวิ่งไปผ่านศูนย์อนุรักษ์ช้าง มีการแสดงของช้าง ผ่านโรงพยาบาลช้าง และจะไปถึงศูนย์บริการข้อมูลทางหลวง ของกรมทางหลวง ซึ่งศูนย์แบบนี้ผมเห็นมี ๓ แห่ง ยังไม่ทราบว่าจะสร้างที่ไหนบ้าง ขอสนับสนุนให้สร้างมาก ๆ หลาย ๆ แห่ง ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ อย่างน้อยต้องมีภาคละ ๒ แห่งขึ้นไป ส่วนภาคตะวันออก และภาคตะวันตกมีอย่างน้อยภาคละ ๑ แห่ง เพราะที่เห็น ๓ แห่ง ก็สร้างหน้าตาเหมือนกัน มีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนกัน สร้างใหญ่โตสวยทีเดียว ผมเห็นที่ถนนมิตรภาพแถว ๆ ลำตะคอง ๑ แห่ง ที่ถนนพหลโยธินแถวชัยนาท ตรงหลักกิโลเมตร ๑๘๕ ทางขวา ๑ แห่ง และมาเห็นที่ขุนตาลนี้อีก ๑ แห่ง มีห้องสุขาที่ยอดเยี่ยมถูกใจอย่างยิ่ง มีให้กระทั่งห้องที่บริการคนพิการ ห้องอาหาร ห้องพิพิธภัณฑ์ ห้องละหมาด ห้องจำหน่ายสินค้าที่ระลึก ๑ ตำบล ๑ ผลิตภัณฑ์ ซึ่งเมื่อแวะเข้าไปในห้องนี้มีสินค้าจาก ๑๗ จังหวัดภาคเหนือตอนบน และจากจังหวัดอื่น ๆ ก็มีให้ชมเป็นของแถมที่สะดุดตาคือ "ไวน์แม่ปิง ไวน์ของเชียงใหม่" ซึ่งมีลักษณะต้องตา ยังไม่ต้องใจเพราะยังไม่ได้ชิมจึงซื้อติดมือมาอย่างละขวด นอกจากนั้นก็มีไวน์ท้องถิ่นอีกมากหลายยี่ห้อ "อุ" ยังมีไว้จำหน่าย ไวน์อีกยี่ห้อที่เชียร์มาตลอด และดังไปแล้วคือไวน์ตราม้ายืนผงาด ของเชียงรายไวน์เนอรี่ก็มีจำหน่าย แต่คราวนี้สนใจไวน์จากเชียงใหม่ ผมชิมแล้วจะเล่าให้ฟัง จากศูนย์ข้อมูล ฯ ไปต่อยังเชียงใหม่ ซึ่งผมพักยังที่พักของผมที่ชมดอยคอนโดเทล อยู่เยื้อง ๆ กับโรงแรมเชียงใหม่ภูคำ ทีนี้ไปเที่ยววัดเกตการามได้แล้ว
                วัดในเชียงใหม่นั้นมีมากมายหลายร้อยวัด ยังมีวัดที่งดงาม และมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานอยู่อีกมาก ซึ่งผมยังไปไม่หมด หรือยังค้นพบไม่หมด ทั้ง ๆ ที่เคยรับราชการอยู่เชียงใหม่หลายปี และทุกวันนี้ก็ไปเชียงใหม่อีกปีละหลายครั้ง เพราะเชียงใหม่เหมือนบ้านที่สองของผม เช่นวัดเชียงมั่นผมไม่รู้จักเลย จนมาอ่านพบเอาเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง จึงดั้นด้นไปเมื่อทราบว่าวัดเชียงมั่นคือวัดแรกของเชียงใหม่ ที่พระเจ้าเม็งรายโปรดให้สร้างขึ้น สร้างในพื้นที่ที่ทรงสร้างพลับพลาที่ประทับอยู่ตลอดเวลาที่ทำการก่อสร้างนครเชียงใหม่ เมื่อสร้างเวียงพิงค์เสร็จแล้วก็ถวายให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ทำการสร้างวัดเชียงมั่น วัดเชียงมั่นจึงมีอายุน้อยกว่านครเชียงใหม่ ๒ ปี ส่วนวัดเกตการาม (ใต้เกต ต้องไม่มีสระอุ) นั้นสร้างโดยพระเจ้าสามฝั่งแกน (พระราชบิดาของพระเจ้าติโลกราช) สร้างในปี พ.ศ.๑๙๗๑ นับถึงวันนี้ก็จะมีอายุ ๕๗๕ ปี (นับถึง พ.ศ.๒๕๔๖) เดิมชื่อวัดสระเกษ หรือวัดเกตุแก้ว วัดนี้มีพระบรมธาตุเจดีย์ เกษแก้วจุฬามณี ซึ่งถือว่าเป็นพระธาตุของคนเกิดปีจอ ปีที่มีสุนัขเป็นสัตว์ประจำวันเกิด เช่นคนเกิดปีมะแม ก็ถือว่าเกิดปีแพะ ปีขาลก็เกิดปีเสือ เป็นต้น และถือกันว่าหากใครเกิดในปีใด ถ้าได้มีโอกาสไปนมัสการพระธาตุประจำวันเกิดของตนสักครั้งเดียวในชีวิตก็จะเจริญรุ่งเรือง และยิ่งนำสัตว์ประจำปีเกิด หมายถึงรูปปั้นสัตว์เช่นปีจอ ก็นำสุนัขไปถวายด้วยแล้ว หากชีวิตตกต่ำก็จะไม่ลงไปมาก หรือเจ็บป่วยใหญ่ก็จะไม่ถึงสิ้นชีวิต เป็นต้น ดังนั้นหากใครไปสักการบูชาพระธาตุประจำปีเกิด ให้พยายามนำรูปสัตว์ไปถวายด้วย เกิดปีจอคงหาไม่ยาก ผมเกิดปีแพะพระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุดอยสุเทพซึ่งผมไปสักการบูชามาหลายสิบครั้งแล้ว แต่ยังไม่เคยนำแพะปั้นไปถวายสักที เพราะเกล็ดนำรูปปั้นสัตว์ประจำปีเกิดไปถวายนี้พึ่งมาทราบก่อนเขียนไม่กี่วันเลย จึงถือโอกาสนำมาเล่าให้ฟัง แต่พระธาตุประจำปีเกิดนั้นทราบมานานแล้ว และถือโอกาสอีกที เพราะท่านที่ไม่ทราบและไม่ได้เกิดปีจอ หรือปีมะแมจะว่าผมได้ว่าทำไมไม่บอกปีอื่นบ้างขอบอกไว้ดังนี้
                เกิดปีชวด พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ , ปีฉลู พระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง , คนเกิดปีขาล พระธาตุช่อแฮ อำเภอเมืองจังหวัดแพร่ ,คนเกิดปีเถาะ พระธาตุแช่แห้ง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน, คนเกิดปีมะโรง พระธาตุพระสิงห์ วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ , คนเกิดปีมะเส็ง พระธาตุเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย แต่ไกลไปคงไปกันลำบากผมว่าไปที่วัดอนาลโย จังหวัดพะเยาก็ได้ อยู่ที่อำเภอเมืองฯ จำลองไว้เหมือนกันเลยทีเดียว ,เกิดปีมะเมีย พระธาตุเจดีย์ชเวดากอง กรุงย่างกุ้งพม่าโน่น ไปที่วัดสุทนคีรี อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่คงพอได้ เพราะจำลองมาแต่เล็กกว่ากันมากนัก, คนเกิดปีมะแม พระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่ , คนเกิดปีวอก พระธาตุพนม อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครพนม, คนเกิดปีระกา พระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมือง ฯ จังหวัดลำพูน, คนเกิดปีจอ พระธาตุเกตุแก้วจุฬามณี วัดเกตการาม จังหวัดเชียงใหม่, คนเกิดปีกุน พระธาตุดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
                การเดินทางไปวัดเกตการาม ซึ่งอยู่ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ หากไปจากทางในเมืองข้ามสะพานนวรัตน์แล้วให้เลี้ยวซ้ายทันที จะวิ่งผ่านคริสตกจักรที่ ๑ โรงพยาบาลหมอจินดา ผ่านปั๊ม ปตท.จะเห็นป้ายอีซูซุอยู่เหนือชายคา ให้เลี้ยวขวาเข้าถนนตรงป้ายนี้ วิ่งไปชนสามแยกแล้วเลี้ยวซ้าย เลี้ยวซ้ายอีกทีเข้าประตูวัดได้เลย
                เมื่อเข้าไปในวัดแล้วก็จะเห็นพระเจดีย์เกตุแก้วจุฬามณี เห็นอุโบสถเก่าแก่ เห็นอาคารพิพิธภัณฑ์หอไตรแบบล้านนา และวัดนี้เมื่อพม่ามาครองเชียงใหม่ ซึ่งครองมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนองมหาราชนั้น พระเจ้าบุเรงนอง ฯ เห็นความสำคัญของวัดเกตมากถึงขั้นเสด็จมาบูรณะปฏิสังขรณ์ และนำสิ่งของมาถวายแก่วัด
                ด้านหลังของวัดติดถนนใหญ่ ซึ่งเป็นถนนเลียบริมแม่น้ำปิง เมื่อสมัยโบราณบอกว่าท่าน้ำหลังวัดคือ ท่าน้ำที่เรือจะนำสินค้ามาขึ้นเพื่อขายเชียงใหม่ แต่ตอนนี้มีแน่คือร้านขายข้าวเกรียบปากหม้อที่อร่อยนัก ของลุงจร ตั้งแผงขายที่หน้าบ้าน ตรงข้ามกับประตูหลังของวัด จะซื้อต้องใช้ความรวดเร็ว ฝ่ายคนขายเร็วอยู่แล้ว เช่นตอนเย็นรถติดไฟแดงก็โผล่หน้าออกไปซื้อตอนนี้ หรือตอนถนนว่างก็วิ่งไปซื้อได้ กล่องละ ๒๐ บาท ๒ คน ไม่พอกินเพราะอร่อย ด้านหลังของวัดหากผ่านด้วยการนั่งรถไม่สังเกตดี ๆ แล้วจะมองไม่เห็น ผมผ่านหลายเที่ยวจึงหาเจอด้วยการถามมอเตอร์ไซด์รับจ้าง

                พิพิธภัณฑ์ของวัดเกต ผู้ก่อตั้งคนสำคัญคือ อังเคิล แจ๊ค หรือคุณลุงแจ๊ค ชื่อไทยก็มี นามสกุล "เบน" ท่านอายุ ๘๓ ปีแล้ว แต่ยังว่องไว แข็งแรงมาก ผมไปกดกริ่งเพื่อขอเข้าชม อังเคิลแจ๊คอยู่พอดี เลยมาเปิดให้ ขออธิบายสั้น ๆ นิดเดียวว่าคุ้มค่าต่อการเข้าชม คุยกันถูกคอโดยที่คุณลุงแจ๊คก็ไม่ทราบว่าผมเป็นใคร ท่านบอกว่าท่านเป็นบุตรชาวอังกฤษ มารดาเป็นชาวเชียงใหม่ ทุกคนนับถือศาสนาพุทธ และบิดานั้นมาอยู่เชียงใหม่ เพราะเป็นพนักงานหรือผู้จัดการของบริษัทบอร์เนียว (อังกฤษ) ซึ่งได้สัมปทานทำไม้ในภาคเหนือเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว บิดาจึงมาซื้อที่ดินตั้งสำนักงาน และเป็นบ้านพักด้วย ซื้อที่ดินร้อยกว่าไร่ ตารางวาละ ๑ บาท (เมื้อร้อยกว่าปีมาแล้ว) ตอนสงครามบิดาถูกจับเป็นอาญากรสงคราม โดยญี่ปุ่น ถูกยึดทรัพย์ ยึดที่ดินและกิจการไปหมด เสร็จสงครามญี่ปุ่นต้องคืนให้แต่ไม่ได้ถามว่าได้ค่าปฏิกรรมสงครามหรือไม่ และที่ดินเหลือน้อยลง  ปัจจุบันยกที่ดินและบ้านที่สร้างไว้เมื่อร้อยปีก่อนให้ลูกหลานไปหมด เหลือตัวคนเดียวอยู่บ้านหลังเล็ก ๆ เพราะภริยาก็หนีขึ้นสวรรค์ไปนานแล้ว เช้าขึ้นมาก็มาวัดเกตคลุกอยู่กับวัดและพิพิธภัณฑ์ พอผมซึ่งก็สูงอายุเหมือนกันไปซักถาม จึงอธิบายให้ทราบด้วยความเต็มใจและยังใจดีพาไปชมบ้านโบราณซึ่งเป็นเรือนไม้สักทั้งหลัง

                หลังเก่าแก่ที่สุดคือหลังที่ฝรั่งเช่าอยู่ มีเสาไม้สักต้นโต ๆ ถึง ๓๓๗ ต้น ฝรั่งที่เช่าชอบต้นไม้มาก ห้ามตัดตกแต่งต้นไม้รอบบ้าน จึงดูครึ้มไปหมด ต้นไม้ที่มีอายุนานร่วมร้อยปีจึงมีอยู่รอบบ้านหลังนี้ ก็ขอขอบคุณลุงแจ๊คไว้ ณ โอกาสนี้ ท่านที่ไปวัดเกตหากเห็นประตูพิพิธภัณฑ์ปิดเขาบอกให้ลองดูคุณลุงแจ๊คอาจจะมาเปิดให้ ลองคุยกับอังเคิลแจ๊คให้ดี ๆ ก็แล้วกัน อาจจะได้ไปชมบ้านโบราณเมื่อร้อยกว่าปีที่มีเสาไม้สัก ๓๓๗ ต้น
                จากวัดเกตผมกลับมาวัดเจ็ดยอด ซึ่งเคยพาไปวัดเจ็ดยอดมาแล้ว วัดที่พระเจ้าติโลกราชสร้างวิหารเจ็ดยอดเอาไว้ โดยเลียนแบบจากวิหารโพธิที่พุทธคยา ยังคงความงดงามอยู่โดยเฉพาะความงามของปูนปั้นที่ตกแต่งวิหารเจ็ดยอด ชมลายเทวดาตกแต่ง ลายเทวดายืน นั่ง ลายช่อดอกไม้ ลายประจำยาม ก้ามปู ลายเปลวไข่มุก ลายอามาลกะ ชมเจดีย์ทรงปราสาทผังแปดเหลี่ยม ภาพลายเส้น ของอนิมิตเจดีย์ ลายเส้นกรอบ ซุ้มจระนำ อนิมิตเจดีย์ พระสถูปที่สร้างเพื่อบรรจุอัฐิของพระเจ้าติโลกราช ซึ่งได้ถวายพระเพลิง ณ วัดเจ็ดยอดนี้ และยังมีซุ้มประตูโขง ซึ่งมีการก่อโขงแบบสันโค้งเหลือไว้ให้ชม ขอให้ชมด้วยการพินิจพิจารณา
                ไปวัดเจ็ดยอดหากมาจากทางลำพูน ตามถนนไฮเวย์พอข้ามสะพานข้ามแม่น้ำปิงแล้ว ก็ตรงเรื่อยมาจนผ่านสี่แยกข่วงสิงห์ ตรงมาอีกจะเห็นวัดเจ็ดยอดอยู่ทางขวา ส่วนทางซ้ายจะผ่านปั๊มเอสโซ่ เลยปั๊มไปแล้วจะมีตึกแถว สุดตึกแถวคือถนนสิรินธร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายนี้ไปสัก ๓๐ เมตร ทางขวาคือ บ้านหรือร้านอาหารเรือนคำอิน ดูเหมือนผมจะเคยพามาชิมแล้ว หากพามาแล้วก็คงจะหลายปีแล้วเช่นกัน ตอนนี้เขามีอะไรใหม่ ๆ จึงขอพามาอีกที
                หากมาจากหน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่าที่มีราชานุสาวรีย์ของสามพ่อขุนประทับยืนอยู่ ถนนสายนี้ชื่อถนนช้างเผือก หากวิ่งมาตามสายนี้จะผ่านสถาบันราชภัฎ ผ่านสะพานลอยให้คนข้ามถนนแล้วจะมีซอยเจดีย์ปล่อง เลี้ยวเข้าซอยนี้ไปสัก ๓๐๐ เมตร ทางซ้ายคือ โรงงานผลิตไวน์ที่ผมซื้อมาจากศูนย์ข้อมูล ฯ ที่ขุนตาล เขาไม่ได้ผลิตแต่ไวน์ เดิมทีเดียวเขาเพาะเห็นโคนญี่ปุ่น "ซึ่งอร่อยมาก" ผมกินที่เขาดองไว้และที่ร้านเรือนคำอินเอามาทำอาหาร เขายังเพาะได้น้อยไม่มีขายทั่วไป ส่วนมากส่งเข้ากรุงเทพ ฯ หมด คงมีขายที่โรงงานที่ชื่อ "สหกรณ์ไวน์เชียงใหม่ จำกัด" และที่เรือนคำอิน ต่อมาถุงเพาะเห็ดที่ไม่ใช้เพาะแล้วเหลือมาก เข้าเลยคิดทำดินปลูกต้นไม้ขาย ผู้คิดเพาะเห็ด ทำดินปลูกต้นไม้ ทำไวน์เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระดับ "ดร." คนละท่านกับที่ทำไวน์ที่เชียงรายไวน์เนอรี่ ตกลงโรงงานนี้เพาะเห็ด ดองเห็ด ทำดินปลูกต้นไม้ ทำไวน์ขาย ไวน์ที่ผลิตที่นี่ดูแล้วได้มาตรฐานเว้นแต่โรงงานเล็กไป เพราะจำกัดด้วยพื้นที่ มีไวน์มหาชนก สีทอง ไวน์สตอเบอร์รี่ โรเช่ ไวน์มะยม ไวน์ขาว ไวน์มะเกี๋ยง ไวน์แดง ตัวนี้ขอยกย่องว่าอร่อยมากถูกปากถูกคออย่างยิ่ง อีกตัวหนึ่งที่ถูกใจคุณผู้หญิงคือ ป๊อปไวน์ (POP WINE ) ราคาถูกมากขวดเล็ก ๓๕ บาท ดีกรีต่ำคือ ๗ % ขวดยักษ์ ๒๖๐๐ ซีซี. ราคา ๒๗๐ บาทเท่านั้นเอง
                กลับมากินอาหารร้านเรือนคำอิน ที่ร้านนี้กลายเป็นผู้ร่วมก่อตั้งโรงงานไวน์มาตั้งแต่ต้น จึงมีไวน์ของโรงงานขายทุกยี่ห้อ เลยชิมกันเป็นการใหญ่เพราะราคาถูกขวดละ ๒๕๐ บาท เป็นส่วนใหญ่ อย่างสูงแค่ ๒๗๐ บาท ราคานี้คุณภาพอย่างนี้จะตีตลาดไวน์นอกได้ ไปกินทำไมไวน์เมืองนอกขวดละหมื่น ขวดละแสน "คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน" หันมาดื่มกินไวน์ที่ทำได้มาตรฐานของเมืองไทยดีกว่า ช่วยชาติและอร่อยด้วย ซึ่งเวลานี้มีหลายยี่ห้อแล้ว
                ร้านเรือนคำอินเดี๋ยวนี้มีสมุนไพรของโรงพยาบาลอภัยภูเบศร์ ปราจีนบุรี มาจำหน่ายในราคาพอ ๆ กับราคาที่โรงพยาบาล มียาลดความอ้วน ตาหมอเฉลิม วังพรม มีเห็ดโคนดอง ไวน์ผลไม้ จำหน่าย มีอาหารอร่อย ๆ ทั้งภาคเหนือเพิ่มภาคกลางมาอีก
                ผัดไทย ต้องยกให้ ผัดไทยกุ้งสดของเขาอร่อยนัก ไปสั่งผัดไทยกินอย่างเดียวก็ได้ ร้านโก้ เพราะดัดแปลงบ้านเป็นร้านอาหาร บ้านแบบล้านนา อย่าไปกลัวว่าราคาจะแพง "ไม่แพงอย่างที่คิด" เขาขายในบ้านขายราคาถูก เพราะค่าใช้จ่ายต่ำ
    มีอาหารใส่กล่องไปกรุงเทพ ฯ ก็ได้คือ "ไส้อั่วคุณนิจ" แกล้มไวน์วิเศษนัก
                ออเดิร์ฟเมือง มีไส้อั่ว แหนม หมูยอ แคบหมู น้ำพริกอ่องจัดผักมาสวยน่ากิน
                ปลาทับทิมนึ่งซี่อิ้ว รายการนี้เขาบอกว่าพอคนญี่ปุ่นมากินแล้วลืมชาติไปเลย ลืมไปว่ากินที่เมืองไทยไม่ได้นั่งกินที่ญี่ปุ่น เพราะนึ่งซี่อิ้วญี่ปุ่น ซดน้ำนึ่งร้อน ๆ ชื่นใจดีนัก
                ลาบเหนือ ลาบหมูแบบแพร่ ลาบสูตรเมืองแพร่จะหอมกลิ่นมะแกว่น เพราะจะใส่เมล็ดมะแกว่นลงไปด้วย ทำให้หอมตัดกลิ่นคาวต่าง ๆ ออกไปหมด จัดผักมาสวย
                แกงส้มกระเจี๊ยบปลาแดดเดียว ไปเอาปลาช่อนมาจากสิงห์บุรี เนื้อปลาแน่นเหนียวหนึบ
                ปิดท้ายด้วยลอดช่องน้ำกะทิ รสหวานมัน หอมเย็นชื่นใจ


    • Update : 3/8/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch