หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เที่ยวทั่วไทย-ไหว้พระธาตุ ๔ จอม

    ไหว้พระธาตุ ๔ จอม

                พระธาตุ ๔ จอม หมายถึงไปไหว้พระธาตุ ๔ แห่ง นามของพระธาตุขึ้นต้นด้วยคำว่า”จอม “ ประดิษฐานอยู่ในวัดที่นามวัดขึ้นต้นด้วยคำว่า”จอม “ ทุกวัดอยู่บนดอย แต่ไม่สูงนัก รถขึ้นถึงองค์พระธาตุทุกดอย วัดทั้งสี่วัดนี้รวมอยู่ในอำเภอแม่สะเรียง จังหวัด แม่ฮ่องสอน พระธาตุ ๔ องค์ คือ พระธาตุจอมกิตติ ( ชื่อเดียวกับพระธาตุจอมกิตติ ที่อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ) พระธาตุจอมมอญ พระธาตุจอมแจ้ง และ พระธาตุจอมทอง สี่พระธาตุแยกกันอยู่สี่มุมเมืองของแม่สะเรียง ไม่ได้สี่มุมแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า สี่มุมเยื้องๆกันหน่อย แต่ใครไปแม่สะเรียง อำเภอที่เหมือนเป็นเมืองหน้าด่านของแม่ฮ่องสอน ชาวพุทธควรหาโอกาสไปนมัสการองค์พระธาตุทั้งสี่องค์นี้ จะเป็นมงคลแก่ตัวเอง
               ก่อนที่จะเล่าถึงพระธาตุสี่จอม ผมขอเล่าถึงประวัติของแม่สะเรียงหรือเดิมทีเดียวชื่อ เมืองยวม ( แม่น้ำยวมไหลผ่าน )และเคยเป็นที่ตั้งของเมืองแม่ฮ่องสอนมาก่อน
               จังหวัดแม่ฮ่องสอน นั้นเดิมเรียกว่า “ บริเวณเชียงใหม่ – ตะวันตก “มีที่ตั้งแขวงอยู่ที่ เมืองยวม หรือ แม่สะเรียง ในปัจจุบัน จนพ.ศ. ๒๔๕๓ จึงได้ย้ายที่ตั้งแขวงจากเมืองยวมมายังแม่ฮ่องสอน และให้ชื่อว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีความเป็นมาดังนี้
               เมืองปาย เมืองหนึ่งของแม่ฮ่องสอน เดิมชื่อว่าบ้านดอน เพราะตั้งอยู่บนที่ดอนและมีแม่น้ำไหลผ่าน ๒ สาย คือแม่น้ำปาย และแม่น้ำ เมือง เป็นบริเวณที่ชาวพม่า ชื่อพะก่าซอ เคยมาตั้งทัพเพื่อหาโอกาสเข้าตีเอาเมืองเชียงใหม่ พะก่าซอได้พัฒนาบ้านเมืองจนเป็นปึกแผ่น ต่อมาจนถึงสมัยพระเจ้าไชยสงคราม ( ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ) คิดจะตีเอาเป็นเมืองขึ้นจึงนำทัพมาตีหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ จนถึงสมัยพระเจ้าติโลกราช เมื่อพ.ศ. ๒๐๕๔ ได้ให้แม่ทัพชื่อ ศรีใจยา นำทัพมาตีบ้านดอนได้สำเร็จ และแต่งตั้งให้ ศรีใจยาปกครองบ้านดอนต่อมา
               ส่วนเมืองยวมใต้ เป็นเมืองหน้าด่านของเชียงใหม่ คอยป้องกันการรุกรานของพม่า เมื่อพ.ศ. ๑๙๔๔ กษัตริย์เชียงใหม่คือ พระเจ้าสามฝั่งแกน ได้เนรเทศราชบุตรองค์ที่ ๖ คือ ท้าวลกราช ที่ถูกใส่ความไปครองเมืองพร้าววังหินซึ่งเป็นท้องถิ่นทุรกันดาร ต่อมาท้าวลกราชถูกใส่ความอีก จึงเนรเทศให้มาครองเมืองยวมใต้ จนถึงปีพ.ศ.๑๙๘๕ ได้กลับไปแย่งชิงราชสมบัติได้สำเร็จ สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์นามว่า พระเจ้าติโลกราช จากนั้นเมืองยวมใต้ก็เป็นเมืองหน้าด่านของเชียงใหม่ต่อมาอีกหลายสมัย ตราบจนกระทั่งพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ไม่สามารถมารุกรานเมืองไทยได้อีก
               ประมาณปีพ.ศ. ๒๓๗๔ ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาเชียงใหม่มหาวงศ์ ครองนครเชียงใหม่นาม พระเจ้ามโหตรประเทศราชาธิบดี ได้ให้ เจ้าแก้วเมืองมา ออกมาจับช้างป่าเพื่อนำไปใช้งาน เจ้าแก้วเมืองมาได้เดินทางมายังเมืองปาย โดยเลียบตามริมฝั่งแม่น้ำปายลงมาทางทิศใต้ จนพบที่ราบป่าโปร่งริมฝั่งแม่น้ำปายเป็นบริเวณที่หมูป่าออกมาหากินเป็นจำนวนมากเห็นว่าเป็นทำเลดีเหมาะสมที่จะตั้งเป็นบ้านเมือง จึงหยุดพักไพร่พลแล้วรวบรวมชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนไต ( ไทยใหญ่ ) ที่อยู่กระจัดกระจาย มาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน แต่งตั้งชาวไต ชื่อพะก่าหม่อง เป็นหัวหน้าปกครองหมู่บ้าน ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านโป่งหมู ต่อมาเพี้ยนเป็น ป๋างหมู หรือบ้านปางหมู อยู่ห่างจากตัวจังหวัดปัจจุบันไปทางทิศเหนือประมาณ ๖ กม.
               เมื่อจัดตั้งหมู่บ้านเสร็จแล้ว เจ้าแก้วเมืองมาได้เดินทางล่องลงมาทางใต้จนถึงลำห้วยแห่งหนึ่ง ซึ่งมีชาวไทยใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่ก่อนแล้ว จึงพักพลแล้วออกจับช้างในบริเวณนั้น เมื่อจับช้างป่ามาได้ก็ตั้งคอกฝึกสอนช้างป่ากันที่ริมห้วย และแต่งตั้งให้ แสนโกม บุตรเขยของพะก่าหม่อง เป็นหัวหน้าออกไปชักชวนชาวไทยใหญ่ที่ตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายกันอยู่ให้มาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน ให้แสนโกมเป็นผู้ปกครองหมู่บ้าน ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า แม่ฮ่องสอน ( แม่ คือ แม่น้ำ ฮ่อง ภาษาไทยใหญ่ คือ “ร่องน้ำ “ สอน คือ “เรียน “) ดังนั้นแม่ฮ่องสอนจึง หมายถึง ร่องน้ำอันเป็นสถานที่ฝึกสอนช้างป่า
               ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๓๙๙ สมัยพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ ได้เกิดการสู้รบกันในหมู่บ้านไทยใหญ่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำคง ( แม่น้ำสาละวิน ) ทำให้ชาวไทยใหญ่ในเขตพม่าพากันอพยพข้ามฝั่งแม่น้ำสาละวิน เข้ามาอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ เช่นบ้านปางหมู บ้านแม่ฮ่องสอน บ้านขุนยวม และ เมืองปาย ในการอพยพเข้ามาครั้งนี้มีชายหนุ่มชาวไทยใหญ่คนหนึ่ง ชื่อ ชานกะเล ตามตำนานคนไต ( ไทยใหญ่ ) กล่าวไว้ว่า ชานกะเล เป็นยอดทหารฝีมือเอกของเจ้าฟ้าโกหร่าน เจ้าฟ้าองค์นี้เป็นผู้ปกครองนครหมอกใหม่ ชานกะเลเป็นคนรักของเจ้านางเมวดี หลานของเจ้าฟ้าโกหร่าน ที่เจ้าฟ้าฯเลี้ยงเหมือนลูก เพราะเจ้าฟ้าไม่มีทั้งบุตรและธิดา
               เจ้าฟ้าโกหร่านเป็นผู้มีอาคมขลัง ดุร้าย บ้าอำนาจ ต้องการให้ชานกะเล ยกทัพไปตี เมืองแสนหวี เชียงรุ้งและเชียงของ หากชนะกลับมาจะแต่งตั้งให้เป็นมหาอุปราชและจัดการอภิเษกกับเจ้านางเมวดี แต่ชานกะเลเห็นว่าทั้ง ๓ เมืองเป็นชาวไทยใหญ่เลือดเดียวกัน ชานกะเลจึงหลบหนีออกจากเมืองหมอกใหม่โดยเจ้านางเมวดีให้การช่วยเหลือ
               ชานกะเล พร้อมด้วยคนสนิท คือ อ่องละ และ อ่องปาน ได้เดินทางมาถึงกลางป่า ได้หยุดพัก ขณะที่อ่องละ อ่องปานออกไปหาผลไม้ ชานกะเลนั่งพักอยู่ตามลำพัง ถูกเสือโคร่งตัวใหญ่ตะครุบจากด้านหลัง บังเอิญลูกสาวของพะก่าหม่องชื่อ นางคำใส ได้ช่วยไว้ทันแล้วพาไปอยู่อาศัยที่บ้านโป่งหมูของพะก่าหม่อง ต่อมาพะก่าหม่องเห็นชานกะเล เป็นคนดี ขยัน จึงยกนางคำใสให้เป็นภรรยา โดยไม่รู้ว่าชานกะเลมีคนรักอยู่แล้ว ( มีบุตรสาวด้วยกัน ๑ คน ) ชานกะเลได้พยายามส่งข่าวให้เจ้านางเมวดีทราบว่า ตนยังมั่นคงในความรักที่มีต่อเจ้านาง ความทราบถึงพะก่าหม่อง จึงจับตัว อ่องละ อ่องปาน ไปกักตัวไว้ที่ขุนยวม เพื่อตัดการติดต่อกับเจ้านางเมวดี
               พ.ศ. ๒๔๐๙ ได้เกิดการสู้รบกันระหว่างเจ้าฟ้าเมืองนาย กับเจ้าฟ้าโกหร่านแห่งเมืองหมอกใหม่ เจ้าฟ้าโกหร่านสู้ไม่ได้จึงพาเจ้านางเมวดีหนีมาอยู่ที่เมืองปาย และคบคิดกับอัศวินชาวเขาจะไปตีเชียงใหม่ หากชนะจะยกเจ้านางเมวดีให้ ชานกะเลทราบข่าวจึงรีบรุดไปเมืองปาย ขออาสาไปรบแทน แต่ขอประลองฝีมือตัวต่อตัวกับทหารเอกของเจ้าฟ้าโกหร่านก่อน ผลการประลองฝีมือชานกะเลฆ่าทหารเอกตายไปทีละคนสองคน แล้วจึงทูลคัดค้านไม่ให้เจ้าฟ้าโกหร่านยกทัพไปตีเชียงใหม่ เจ้าฟ้าโกหร่านรู้ว่าชานกะเลวางอุบายมาเพื่อฆ่าทหารเอกและห้ามทัพจึงโกรธแค้นมาก หาโอกาสลอบทำร้ายชานกะเล พอดีนางคำใสมาพบเข้า ตัดสินใจเอาตัวเข้าขวางจึงถูกมีดเหน็บของเจ้าฟ้าโกหร่านแทงตาย
               ชานกะเลซึ้งในน้ำใจของนางคำใส จึงไม่ปรารถนากลับไปยังเมืองหมอกใหม่ ได้พาเจ้านางเมวดีคืนสู่บ้านโป่งหมูแล้วอพยพครอบครัวพร้อมด้วย ปู่โทะ คนสนิทที่ติดตามมาพร้อมกับเจ้าฟ้าโกหร่านไปสร้างบ้านที่ขุนยวม โดยรวมชาวไทยใหญ่และกะเหรี่ยงมารวมกันตั้งหมู่บ้าน
               พ.ศ. ๒๔๑๖ เจ้าบุรีรัตน์ ได้ขึ้นปกครองเมืองเชียงใหม่แทนเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ที่ถึงแก่พิราลัย ได้รับพระราชทานนามว่า “ เจ้าอินทวิชยานนท์ “ ได้เรียกตัวชานกะเลมาเข้าเฝ้า แล้วแต่งตั้งให้เป็น “พญาสิงหนาท “ พ่อเมืองขุนยวมคนแรกในปีพ.ศ. ๒๔๑๗ นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่เมืองขุนยวม จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น” พญาสิงหนาทราชา” ให้มาปกครองเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งยกฐานะขึ้นเป็นเมืองหน้าด่าน มีเมืองขุนยวม เมืองปายเป็นเขตแดน เมืองยวมใต้เป็นเมืองรอง
               พ.ศ. ๒๔๒๗ พญาสิงหนาท ถึงแก่กรรม เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่จึงแต่งตั้งให้เจ้านางเมวดีขึ้นปกครองแทน ชาวแม่ฮ่องสอนเรียกเจ้านางว่า “ เจ้านางเมี๊ยะ “โดยให้ ปู่โทะ ( ต่อมาคือ พญาขันธเสมาราชานุรักษ์ ) เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน
               พ.ศ. ๒๔๓๔ เจ้านางเมี๊ยะถึงแก่กรรม เจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ปกครองนครเชียงใหม่ จึงแต่งตั้งปู่โทะหรือพญาเสมาราชานุรักษ์ เป็นพญาพิทักษ์สยามเขต ให้ปกครองเมืองแม่ฮ่องสอน จนถึงพ.ศ. ๒๔๓๓ ได้จัดระบบการปกครองใหม่เป็นการรวมเมืองแม่ฮ่องสอน เมืองขุนยวม เมืองปาย และเมืองยวม ( แม่สะเรียง ) เป็นหน่วยเดียวกัน เรียกว่า “ บริเวณเชียงใหม่ – ตะวันตก “ตั้งที่ว่าการแขวง(เทียบเท่าเมือง ) ที่เมืองขุนยวม มีนายโหมดเป็นนายแขวง และเชียงใหม่ได้แต่งตั้งขุนหลู่ บุตรของพญาพิทักษ์สยามเขตเป็น พญาพิศาลฮ่องสอนบุรี
               พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้ย้ายที่ทำการแขวงจากเมืองขุนยวม ไปตั้งที่เมืองยวม ( แม่สะเรียง )แล้ว เปลี่ยนชื่อเป็น บริเวณพายัพเหนือ จนถึงปีพ.ศ. ๒๔๕๐ พญาพิทักษ์สยามเขตถึงแก่กรรม ทางเมืองเชียงใหม่จึงแต่งตั้ง พญาพิศาลฮ่องสอนบุรี ขึ้นปกครองเมืองแทน
               พ.ศ. ๒๔๕๓ รัชกาลที่ ๕ ได้โปรดเกล้าฯ ตั้งเมืองจัตวาขึ้นกับมณฑลพายัพ ย้ายที่ทำการแขวงจากเมืองยวมมาตั้งที่ เมืองแม่ฮ่องสอน ให้ชื่อว่า “ จังหวัดแม่ฮ่องสอน “


               ความเป็นมาของแม่สะเรียง เหมือนเล่าประวัติของเมืองแม่ฮ่องสอนนั่นเอง
               ผมไปคราวนี้ ไปพักที่โรงแรมที่เปิดไม่นาน อยู่ริมแม่น้ำยวม บรรยากาศแจ่วแจ๋วแต่ราคาค่อนข้างสูงคือคืนละ ๑,๘๐๐ บาท พร้อมอาหารเช้า หากมาจาก แม่ลาน้อย หรือจากเชียงใหม่ พอถึงพิพิธภัณฑ์แม่สะเรียง ก็เลี้ยวขวา ( หรือซ้าย ) เข้าเมืองตรงเรื่อยไปจนสุดทางถึงสามแยก เลี้ยวขวาผ่านร้านอาหารไม้แดง ติดกันคือโรงแรม
               โรงแรมที่ราคาย่อมเยากว่านี้มักจะรวมกันอยู่ริมถนนแม่สะเรียง เวียงใหม่ แหล่งพานิช เช่น มิตรอารีย์ ๒ ริมถนนเวียงใหม่มีราคาตั้งแต่ ๑๒๐ บาทไปจนถึง ๑,๒๐๐ บาท
               วัดสำคัญ ที่เรียกว่าพระธาตุสี่จอมคือ
               วัดพระธาตุจอมกิติ วัดนี้ชื่อเดียวกับวัดพระธาตุจอมกิติ( ประดิษฐานเมื่อปีพ.ศ. ๑๔๘๓ )ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย แต่ความเก่าแก่น้อยกว่าหลายร้อยปี
               เส้นทางไปวัด ออกจากโรงแรมที่พักเลี้ยวขวา ผ่านตลาดไปจนสุดทางแล้วเลี้ยวขวาข้ามสะพานข้ามแม่น้ำยวม ผ่านวัดทุ่งแจ้ง แล้วถามชาวบ้านง่ายกว่าให้ผมบอก ทางขึ้นวัดอยู่ทางขวามือ มีถนนผ่านหมู่บ้าน วัดอยู่บนเขาตอนวิ่งขึ้นระวังพระขี่รถมอเตอร์ไซค์พุ่งลงมา ทางแคบ องค์พระธาตุอยู่บนยอดดอยที่สูงเด่น ส่วนวัดอยู่ใกล้กันอยู่อีกยอดหนึ่ง มีพระพุทธรูปยืน กลางแจ้งบนยอดเขา เป็นวัดเล็กๆ พระธาตุเป็นสถูปสีขาว ยอดสีทอง มองจากลานพระธาตุ จะเห็นตัวเมืองแม่สะเรียงอยู่ข้างล่าง เห็นแม่น้ำยวมไหลผ่าน สวยมาก องค์พระธาตุสวย สง่า
               วัดพระธาตุจอมมอญ กลับลงมาจากพระธาตุจอมกิติมาประมาณ ๑ กม. ถึงถนนเลียบคลองชลประทาน เลี้ยวขวาตามป้ายไปประมาณ ๕ กม.มีป้ายนำทางชัดเจน แล้วข้ามสะพานข้ามคลองชลประทาน วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ บริเวณวัดกว้างขวาง มีศาลเจ้าแม่กวนอิม พระสังฆจายน์ มีประวัติว่ามีการบูรณะวัดนี้เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๕
               ชาวเหนือนิยมสร้างเจดีย์ไว้บนยอดดอยรอบๆเมือง นอกจากความศรัทธาทางศาสนาแล้ว ยังเป็นจุดหมายเพื่อให้คนเดินทางได้รู้ว่าได้เข้าเขตเมืองใหญ่แล้ว แม่สะเรียงเป็นเมืองใหญ่มาแต่โบราณ จึงมีพระเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุบนยอดดอยถึง ๔ แห่ง และ ๑ ใน ๔ นั้นคือ พระธาตุจอมมอญ ชาวบ้านบอกว่าเห็นแสงสว่างวิ่งไป วิ่งมา ระหว่าง ๔ มุมเมือง
               ขึ้นพระธาตุจอมมอญ หากเดินขึ้นบันไดไประยะทาง ๑๒๐ เมตร แต่มีทางรถยนต์รถวิ่งขึ้นได้ระยะทางประมาณ ๖๐๐ เมตร วิ่งขึ้นจะผ่านสระบัว ปล่อนหอย ปล่อยปลาสะเดาะเคราะห์
               เมื่อพ.ศ. ๒๑๔๓ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ให้พระยาเกียรติ พระยาราม มาสร้างเจดีย์ถวายอุทิศพระราชกุศลให้กับสมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยา ส่วนองค์พระธาตุจอมมอญสร้างขึ้นโดยพระฤาษี( ไม่ทราบนาม )เมื่อ ๑,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว
               องค์พระสถูปมีหลวงพ่อทองคำ สี่ทิศ ทิศเหนือพระทองคำสุพรรณกัลยา ทิศตะวันตกพระทองคำสมเด็จพระนเรศวร ทิศตะวันออกพระทองคำพระเอกาทศรถและทิศใต้หลวงพ่อ ทองคำ องค์เจดีย์สีทอง ทำด้วยเซารามิค ใกล้กันมีรอยพระพุทธบาท
               วัดพระธาตุจอมแจ้ง กลับออกมายังถนนสาย ๑๐๘ แม่สะเรียง – เชียงใหม่ ข้ามถนนไปฝั่งตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ คือวัดจอมแจ้ง จอดรถไว้ข้างล่างแล้วเดินขึ้นบันไดไปยังองค์พระธาตุจอมแจ้งที่อยู่หลังอุโบสถ เป็นเจดีย์สององค์ ภายในวัดมีศิลปกรรมแบบล้านนา
               วัดพระธาตุจอมทอง อยู่ด้านหลังของวัดพระธาตุจอมแจ้ง ไปตามถนนสายข้างขวาของวัดพระธาตุจอมแจ้ง ถนนสายทุ่งพร้าว – ป่ากล้วย รถจอดหลังอุโบสถ มีพระเจดีย์ ๒ องค์ องค์ใหญ่ชาวไทยใหญ่สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๒๐๑ ส่วนองค์เล็กสร้างเมื่อพ.ศ. ๒๔๓๖ บนยอดเขามีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ หลวงพ่อโต จากลานพระพุทธรูปนี้สามารถชมทิวทัศน์อันสวยงามของแม่สะเรียงได้ โดยเฉพาะบรรยากาศยามพระอาทิตย์ตก
               นอกเหนือจากวัดพระธาตุสี่จอมนี้แล้ว ยังมีวัดสำคัญอีก เช่น
               รวัดกิตติวงศ์ ตั้งอยู่ในเขตสุขาภิบาลแม่สะเรียง ถนนวัยศึกษา เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่พระครูกิตตินำมาจากวัดศรีสุพรรณ จังหวัดเชียงใหม่ บานประตูและหน้าต่างโบสถ์เป็นลวดลายปูนปั้นงดงาม และยังมีคัมภีร์โบราณ ค้นพบในถ้ำผาแดงริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๑ จารึกความสัมพันธ์ระหว่างล้านนา กับ พม่า
               วัดจองสูง หรือวัด อุทยารมณ์ เป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่พ.ศ. ๒๓๘๑ ภายในวัดมีเจดีย์ทรงมอญอายุกว่า ๑๐๐ ปีอยู่ ๓ องค์ องค์กลางประดิษฐานพระธาตุ องค์ตะวันออกมี ๗ ยอด
               วัดศรีบุญเรือง ตั้งอยู่ใกล้กับวัดจองสูง มีสถาปัตย์กรรมที่งดงาม โดยเฉพาะอุโบสถและศาลาการเปรียญมีลวดลายฉลุแบบไทยใหญ่ และมีภาพพุทธประวัติตามแบบศิลปะพม่า
               ทุ่งบัวตองดอยแม่เหาะ มีขนาดเล็กกว่าทุ่งบัวตองดอยแม่อูคอ อยู่ริมถนนสาย ๑๐๘ หรือหากมาจากออบหลวงก็เลี้ยวขวาเข้าไปนิดหนึ่ง ตรงหลักกม. ๘๔
               อุทยานแห่งชาติสาละวิน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ซึ่งกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า ไปจากแม่สะเรียงตามถนนสาย ๑๑๙๔ ไปประมาณ ๔ กม.แล้วแยกขวาไปอีก ๔ กม.จะถึงที่ทำการอุทยาน มีบริการบ้านพัก ผมยังไม่เคยไปพัก ติดต่อขอรายละเอียดและจองที่พักได้ที่ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ๐ ๒๕๖๒ ๐๗๖๐ หรือที่ อุทยานฯ ๐๘ ๑๓๖๖ ๗๓๕๖
               ร้านอาหาร แม่สะเรียงมีร้านอร่อยหลายร้าน มื้อกลางวันผมชิมข้าวซอย หากมาตามถนนที่จะมาโรงแรมพอถึงสี่แยกมีไฟสัญญาณ เลี้ยวขวามานิดเดียวตรงข้ามปั๊มน้ำมัน ปตท. มีร้านข้าวซอย ผัดไทย อร่อย บริการดี มีขนมดอกจอกขายถุงละ ๕ บาท เคี้ยวสนุกไปเลย
               ร้าน แรกอยู่เลยอำเภอทางฝั่งซ้าย ใกล้สี่แยกไฟสัญญาณ ถนนเวียงใหม่ ร้านนี้คนแน่นแทบจะทั้งวัน ไปคราวนี้ไม่ได้ชิม กระเพาะปลาผัดแห้ง หมูผัดขี้เมา เป็นอาหารชวนชิม
               ร้านที่สอง ถนนแหล่งพาณิชย์ ปากทางเข้าตลาดสด เหมาะมื้อเช้า ข้าวหมกไก่ แกงกะหรี่เนื้อ ข้าวซอย
               ร้านที่สาม ถนนแหล่งพาณิชย์ ร้านใหญ่โต กว้างขวาง อยู่ติดกับโรงแรมริเวอร์เฮาส์ ผมไปชิมมื้อค่ำ ร้านนี้ลือชื่อทั้งอาหารไทยและอาหารฝรั่ง มีสเต็กที่อร่อย เช่น ที โบนสเต็ก เทอเดอรอย สเต็ก แต่วันนี้ไม่ได้ชิม ชิมอาหารไทยและอาหารพื้นเมือง ๒ คนสั่งมากไม่ได้กินไม่หมด อาหาร แนะนำของร้าน ต้มยำปลาแม่น้ำ กุ้งกระบอก ปอเปี๊ยะสมุนไพร แต่สั่งมาชิมคือ
               ต้มข่าไก่ น้ำแกงขาวเหมือนน้ำนมสด หอมฉุยมาแต่ไกล ร้อนชวนซด พอยกมาตั้ง ไม่ต้องคิดอะไรมาก ตักซดทันทีร้อนๆอร่อยนัก
               มื้อเย็น ผมกินมากไม่ได้ พุงจะโตอยู่เรื่อย สั่ง สลัดไข่ผักสด ผักหวานกรอบ
               แม่สะเรียงแม่น้ำผ่านถึง ๒ สาย คือแม่ยวมและแม่น้ำสาละวิน สั่ง ปลาแม่น้ำผัดคึ่นไช่

    • Update : 3/8/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch