|
|
หลวงพ่อทุ่งคา วัดบูรพาราม
คอลัมน์ เดินสายไหว้พระ
"หลวงพ่อทุ่งคา" วัดบูรพาราม อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เป็นพระพุทธรูปโบราณปางมารวิชัย เป็นศิลปะสมัยเชียงแสนผสมอู่ทอง พุทธศตวรรษที่ 17 วัสดุหล่อด้วยทองสำริดขนาดหน้าตัก กว้าง 55 เซนติเมตร สูง 71 เซนติเมตร
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้ความเห็นว่า เป็นศิลปะอินเดียผสมเชียงแสน ด้วยพระเกตุมาลาเป็นต่อม พระกรรณยาว ขมวดพระเกศาเล็กละเอียด มีอุณาโลมเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองยะหริ่งมาร่วม 180 ปีเศษ
มีอภินิหารเป็นที่ประจักษ์ล่วงมาแล้วถึง 3 ช่วงอายุคน ในทางพุทธคุณเมตตามหานิยมคุ้มครองป้องกันภยันตรายทั้งปวงได้ แคล้วคลาดจากเหตุร้ายต่างๆ เป็นที่เคารพสักการะนับถือบูชา เป็นพระประจำบ้าน ก็จะเป็นเกราะคุ้มครองป้องกันให้ปราศจากภัยพิบัติต่างๆ อันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ อัคคีภัย วาตภัย ให้ความร่มเย็นเป็นสุขเสริมความเป็นสิริมงคล จำเริญพูนผลด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ แก่ทุกๆ คน
กล่าวกันว่า วัดบูรพาราม เป็นแหล่งที่ผู้คนมาพึ่งพิงหลวงพ่อทุ่งคา ทั้งชาวจีนอพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ ก่อนจะตั้งตัวได้ ชาวบ้านที่เป็นพุทธศาสนิกชน และชาวมุสลิมมักจะระลึกถึงหลวงพ่อทุ่งคาเมื่อมีความเดือดร้อนเสมอ วัดบูรพารามจึงเป็นศูนย์รวมที่หล่อหลอมให้เกิดวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน
มีประวัติกล่าวเป็นตำนานว่า พุทธศักราช 2302 หลวงพ่อทุ่งคาไหลมาตามกระแสน้ำที่ฝั่งแม่น้ำยามูตอนบน ในหมู่บ้านชาวมุสลิม ชาวมุสลิมพยายามลากขึ้นทุกวิถีทางก็ไม่อาจจะนำขึ้นมาจากน้ำได้ จึงได้บอกให้ชาวพุทธมานำขึ้น ชาวพุทธได้จุดธูปเทียนอธิษ ฐาน อัญเชิญขอด้วยความเคารพ ดึงขึ้นอย่างง่ายดาย เป็นที่อัศจรรย์ใจของชาวมุสลิม จึงได้พากันนับถือเลื่อมใสในความศักดิ์สิทธิ์ ของหลวงพ่อทุ่งคา
ต่อมาสร้างวัดถวายชื่อว่า วัดบูรพาราม หลวงพ่อทุ่งคาประดิษฐานอยู่ได้ 60 ปี พุทธศักราช 2306 อัญเชิญไปสู่วัดในเมืองยะหริ่งเก่า พุทธศักราช 2411 อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดบูรพาราม เมืองยะหริ่งใหม่
อภินิหารเกี่ยวกับหลวงพ่อทุ่งคามักจะแสดงให้ปรากฏอยู่เสมอๆ พุทธศักราช 2412 ทางราชการประสงค์จะอัญเชิญเข้ามาในกรุงเทพมหานคร ระหว่างอยู่ในเรือเดินทางจากปัตตานีมายังเมืองสงขลา ปรากฏว่าเกิดลมพายุรุนแรงเป็นที่น่าหวาดกลัวอย่างยิ่ง ผู้คนในเรือต่างวิงวอนมิให้เกิดอันตราย ลมจึงสงบ เมื่อเรือแล่นมาถึงเมืองสงขลา
สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงให้อัญเชิญกลับวัดบูรพารามเช่นเดิม กล่าวว่า เกิดอภินิหารด้วยเพราะเหตุที่หลวงพ่อทุ่งคาไม่ประสงค์จะย้ายถิ่น
|
Update : 2/4/2554
|
|