|
|
เที่ยวทั่วไทย-ศาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ
ศาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ
ก่อนที่ผมจะพาท่านไปยังศาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ซึ่งประดิษฐาน พระบวรราชานุสาวรีย์ของ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งศาลนี้อยู่ ณ หน้าวัดเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม และเมื่อไปแล้วก็ไม่ทราบเหตุผลใด จึงมาสร้างศาลของพระองค์ไว้ ณ อำเภอนี้เพราะอ่านจากพระราชประวัติแล้ว ก็ไม่มีตอนไหนที่บอกว่าเคยมาประทับ หรือเสด็จมาราชการที่พนมสารคามเลย เพราะต่างจังหวัดที่ไปประทับและสร้างวังเอาไว้มีแห่งเดียว ที่เรียกกันเป็นทางการว่า "พระบวรราชวังสีเทา" อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ก่อนอื่นอยากให้ทราบกันเสียก่อนว่า "ไทย" เคยมีพระมหากษัตริย์สองพระองค์ในเวลาเดียวกันถึงสองแผ่นดิน คือ
สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์สุโขทัย ที่ได้มาครองกรุงศรีอยุธยา ทรงอภิเษกสมรสกับพระวิสุทธิกษัตรี (ราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิกับสมเด็จพระสุริโยทัย) ทรงมีพระราชโอรส ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้โปรดให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก ตั้งแต่พระชันษาได้ ๑๖ ปี เพื่อบังคับบัญชาหัวเมืองเหนือทั้งปวง
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จจึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ก็ทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราช แต่ให้มีเกียรติยศเสมออย่างพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง
ครั้นมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๔ ก็ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช "เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์" ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช คือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่ให้ทรงพระเกียรติยศเสมออย่างพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เทียบอย่างสมเด็จพระเอกาทศรถ ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
การถวายพระนามนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้คิดถวายแก่พระเชษฐาธิราชและพระอนุชาและคิดถวายได้อย่างคล้องจองกับพระนามเดิมคือ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิมว่า "ทับ"
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิมว่า "มงกุฎ"
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิมว่า "จุฑา"
ผู้เขียนสำเร็จจากโรงเรียนนายร้อย จปร. ออกมารับราชการในเหล่าปืนใหญ่ ซึ่งการจะเลือกไปรับราชการเหล่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับลำดับที่สอบที่จะเอาคะแนนสอบ ๕ ปี มารวมกันแล้วเอา ๕ หาร (หลักสูตร ๕ ปี) ได้คะแนนเท่าใดจึงจะนำมาจัดลำดับที่สอบ แล้วก็เลือกเหล่าตามนั้น ผู้เขียนเลือกเหล่าทหารปืนใหญ่ได้เป็นคนแรก และตั้งใจอยากจะเป็นทหารปืนใหญ่มาตั้งแต่สอบเข้าเตรียมนายร้อยได้ทีเดียว เพราะเชื่อว่าต้องเลือกเหล่านี้ได้แน่ (สอบเข้าเตรียมนายร้อย ทหารบกได้ที่ ๒) นอกจากปีที่จะเป็นนายทหารเขามีโควตาเหล่าปืนใหญ่คนเดียว และเราสอบได้ที่ ๒ อีก อย่างนี้ก็ต้องไปเลือกเหล่าอื่น เพื่อนที่น่าสงสารที่สุดของแต่ละรุ่นคือ คนสอบได้ที่โหล่เหลือเหล่าใดก็แล้วแต่ เขาจะเรียกมาเซ็นชื่อรับทราบว่าต้องไปเป็นทหารเหล่า ....เลือกอะไรกับเขาไม่ได้ เมื่อมาเป็นทหารปืนใหญ่แล้ว นอกจากจะค้นคว้าในวิชาการของทหารปืนใหญ่ ก็ค้นคว้าหาเรื่องของทหารปืนใหญ่แล้ว เอามาเขียนเล่าไว้ในหนังสือทหารปืนใหญ่ ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๕ เขาจะนำลงให้ทุกเรื่องเพราะผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "บรรณาธิการ" ได้เขียนเรื่อง ตำนานปืนเอาไว้ และรวบรวมรายละเอียดของปืนใหญ่ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๗ กระบอกคือ ปืนนารายณ์สังหาร กระบอกนี้ใหญ่มาก มีกว้างปากลำกล้องถึง ๑๓ นิ้ว ยังมีปืนมารประไลยปืนไหวอรนพ ปืนพระพิรุณแสนห่า ปืนพลิกพะสุธาหงายปืนพระอิศวรปราบจักรวาลปืนพระกาลผลาญโลกย์ รวมแล้วจะมีปืนใหญ่ทั้งหมด ๒๗๗ กระบอก กระบอกสำหรับการทัพ และป้องกันพระนคร และพระราชทานนามปืนใหญ่เอาไว้ทั้ง ๒๗๗ กระบอก ชื่อคล้องจองกันดี เช่น ขอมดำดิน จีนสาวไส้ ไทยใหญ่แล่นหน้า ชวารำกฤช มุหงิดทะลวงฟัน มักสันแหกค่าย ฯ ในการค้นหาเรื่องเกี่ยวกับปืนใหญ่ตลอดจนการรบครั้งสำคัญ ๆ ของกองทัพที่จอมทัพ ใช้อำนาจการยิงของปืนใหญ่มีบทบาทสูง ก็จะค้นคว้าหามาเขียนเล่าไว้ในหนังสือทหาร ฯ ทำให้ผมได้มีโอกาสค้นพบว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ บิดาของเหล่าทหารปืนใหญ่ ได้แต่งตำราปืนใหญ่โดยแปลจากภาษาอังกฤษ สำเร็จเป็นตำราทหารปืนใหญ่ของไทย เมื่อ ๑๗ ธันวาคม ๒๓๘๔ ซึ่งทหารปืนใหญ่ในปัจจุบันนี้ถือว่าวันนี้ วันที่ ๑๗ ธันวาคม ของทุกปี จะเป็นวันทหารปืนใหญ่ จะมีงานที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ลพบุรี ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ "บิดา" ของเหล่าทหารปืนใหญ่
ในหนังสือ เจ้าฟ้าจุฑามณี เขียนโดย โสมทัต เทเวศร์ ได้เล่าไว้ว่า นับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรด ฯ ให้สถปานาเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์แล้ว ก็ได้ทรงรับหน้าที่ราชการสำคัญตลอดมา เป็นต้นว่า ทำป้อมพิฆาตข้าศึก ดังได้กล่าวมาแล้ว และยังต้องไปรักษาป้อมที่เมืองสมุทรปราการ อันเป็นด่านสำคัญ หน้าที่โดยตรงของพระองค์เกี่ยวกับการทหาร เพราะโปรด ฯ ให้บังคับบัญชาว่ากล่าวทหารปืนใหญ่ กรมทหารแม่นปืนหน้าปืนหลัง และญวนอาสารบ แขกอาสาจามซึ่งเป็นกองทหารที่สำคัญ และมีคนมาก แสดงว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้วางพระทัยเป็นอันมาก
โดยเหตุที่เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ โปรดการทหารปืนใหญ่มาแต่ต้น ดังได้กล่าวมาแล้ว เมื่ออุปราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่สอง พระองค์ก็ทรงดำเนินงานนี้ต่อไปปรากฎว่า ข้าในวังหน้าเป็นทหารปืนใหญ่กันจนหมด ......เมื่อราชฑูตอังกฤษ เซอร์ยอน เบาริง ไปเฝ้าที่พระราชวังบวร ได้บันทึกเรื่องราวตอนที่ได้แลเห็นไว้ว่า "การตั้งแถวปืนใหญ่ มีทหารปืนใหญ่ แต่งแบบอังกฤษ ซึ่งได้ฝึกหัดกันมาจนน่าจะมีวินัยดี" แสดงว่าทหารปืนใหญ่ครั้งนั้น นอกจากจะฝึกอย่างฝรั่งแล้วเครื่องแบบก็เป็นฝรั่งด้วย
นอกจากจะทรงเชี่ยวชาญในวิชาทหารปืนใหญ่แล้ว ยังทรงเชี่ยวชาญในวิชาทหารเรือด้วย ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ "ตำนานวัง" เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กับทหารเรือว่า "อนึ่งเมื่อในรัชกาลที่ ๓ นั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบังคับบัญชาทหารปืนใหญ่ จึงทรงศึกษาวิชาอย่างยุโรปแล้วเอาเป็นพระธุระฝึกหัดจัดการตลอดมา และอีกประการหนึ่ง โปรดวิชาต่อเรือกำปั่นรบ ได้ทรงศึกษาจากตำราเครื่องจักรกลกับมิชชันนารี จนสร้างเครื่องเรือกลไฟขึ้นได้ในเมืองไทยเป็นครั้งแรก จึงเป็นเหตุให้โปรดทั้งวิชาการทหารบก และทหารเรือ มาแต่ในรัชกาลที่ ๓ ครั้นเสด็จเฉลิมพระยศบวรราชาภิเษกแล้ว ก็ทรงจัดตั้งทหารวังหน้าขึ้นทั้งทหารบกทหารเรือ จ้างนายร้อยเอกน้อกซ์ นายทหารอังกฤษ ซึ่งภายหลังได้เป็นกงซุลเยเนราลอังกฤษในกรุงเทพ ฯ (สะกดตามในนิพนธ์) และเป็นเซอร์ธอมัสน้อกซ์ มาเป็นครูฝึกหัดตามแบบอังกฤษ ส่วนทหารเรือก็ให้พระเจ้าลูกเธอ เป็นนายทหารเรือหลายพระองค์ และทรงต่อเรือกลไฟ มีเรืออาสาวดีรส และเรือยงยศอโยณิยา เป็นต้น สะสมปืนใหญ่น้อยและเครื่องศัสตราวุธยุทธภัณฑ์ สำหรับการทหารนั้นมากมาย จึงต้องสร้างสถานเพิ่มเติมขึ้นในวังหน้า เช่น โรงปืนใหญ่.. ส่วนโรงทหารเรือนั้น จัดตั้งที่ริมแม่น้ำข้างใต้ตำหนักแพ..." และทรงเล่าต่อไปอีกว่า
"ตำหนักแพนี้มีพระที่นั่งอยู่ด้วยกัน ๔ หลัง ที่ตั้งถือตามปัจจุบันจะอยู่ในบริเวณของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะฉนั้นโรงทหารเรือก็ต้องอยู่ในบริเวณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยเช่นเดียวกัน
นี่คือ...ออฟพิศทหารเรือแห่งแรกของทหารเรือไทยสมัยใหม่ เพราะนับแต่นั้นมากิจการทหารเรือก็ได้มีสืบเนื่องติดต่อกันมาโดยมิได้ขาดตอนอีก"
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสระบุรี ผมอ่านจากหนังสือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้รับความเมตตาจากท่านพลเอกประมาณ อดิเรกสาร ได้กรุณามอบให้ ได้กล่าวไว้ว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงรู้จักภูมิประเทศบริเวณเมืองสระบุรีเมื่อใดและอย่างไร ไม่ปรากฎแน่ชัด แต่เชื่อกันว่าน่าจะทรงรู้จักเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้พระองค์เสด็จตรวจภูมิสถานแถบเมืองนครราชสีมา เพื่อยกระดับเป็นราชธานีที่ ๒ การเดินทางไปเมืองนครราชสีมาต้องผ่านเมืองสระบุรี เพื่อผ่านช่องเขาดงพระยาไฟขึ้นสู่ที่ราบสูงโคราช เพื่อเข้าไปยังเมืองนครราชสีมา ในกาลครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ คงทรงต้องพระหฤทัยบริเวณชุมชนลาวริมแม่น้ำป่าสัก ที่ตำบลบ้านสีทา อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และเล่ากันว่าในยามสุขหรือยามทุกข์ พระองค์พอพระราชหฤทัยที่จะเสด็จขึ้นไปประทับอยู่ ณ บ้านสีทา อยู่เสมอโดยไม่หวาดหวั่นต่อไข้ป่าที่ระบาดอยู่ในย่านดังกล่าวแต่ประการใด แม้แต่ในยามที่ประชววรหนัก ใกล้สวรรคต ก็ยังทรงเสด็จไปยังบ้านสีทาอีกเป็นครั้งสุดท้าย
สรุปได้ว่าเมืองสระบุรีบริเวณเขาคอก เป็นป้อมปราการที่มีพระประสงค์ไว้ต่อสู้ข้าศึกเพราะเป็นช่องแคบ เป็นห้องภูมิประเทศทางลึก ภูมิประเทศอำนวยให้แก่ฝ่ายตั้งรับ และโปรดปรานในพื้นที่นี้ จึงสร้างพระบวรราชวังในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวไว้ว่า "เมื่อพระองค์ยังมีพระชนม์อยู่ ได้สร้างแต่พระอารามน้อยที่บ้านสีทา และทำพลับพลาที่ประทับอย่างลาวไว้แห่ง ๑ "
ผมยังไม่เคยไปพระราชวังที่สีทา ท่านพลเอกประมาณ ฯ ท่านแนะนำให้ไป ไม่ได้ไปสักที
เมื่อได้เล่าพระราชประวัติโดยย่อที่เกี่ยวข้องกับทางทหารแล้วยังมีอีกมากเช่น บทพระราชนิพนธ์ก็มี "นิพนธ์ค่อน" ข้าราชการวังหน้าไว้ก็อ่านสนุก "เป็นนายทหารไม่รู้จักอะไร พระพิไชยสรเดช สูงเป็นเปรต คุณเทศอูฐ พูดอะไรไม่เหมือนพูด พระยาวิสูตรโกษา เข้าวังไม่เป็นเวลา พระยาภักดีภูธร กินแล้วนอน พระยาประเสริฐหมอ" เพลงยาวก็มี บทแอ่วนิทานก็ทรงไว้ ฯ
เส้นทางไปทาง.ศาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า อำเภอพนมสารคาม หากไปจากกรุงเทพ ฯ ไปตามถนนรามอินทราแล้วไปเลี้ยวซ้ายก่อนถึงมีนบุรีไปตามถนนสุวินท์วงค์ก่อนถึงตัวเมืองแปดริ้ว มีสะพานข้ามทางแยก ให้ขึ้นสะพานแล้วเลี้ยวขวาไปทางไปบางปะกงแล้วไปเลี้ยวซ้ายเข้าถนนบายพาสสาย ๓๑๔ ไม่ผ่านตัวเมืองตรงไป หากอ่านที่หัวเสาจะขึ้นทางหลวงสาย ๓๐๔ จะไปผ่านอำเภอบางคล้า ผ่านอำเภอพนมสารคาม (มีทางแยกขวาเข้าสาย ๓๒๔๕ ไปสนามชัยเขต ไปโป่งน้ำร้อน)
มุ่งหน้าต่อไปทางกบินทร์บุรี จนถึง กม.๕๑.๕๐๐ จะถึงศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน
กม.๕๒.๘๐๐ วัดเขาหินซ้อนนันทวัฒนาราม จะอยู่ทางขวามือ
พระบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่หน้าทางเข้าวัดหินซ้อนและอยู่ในสวนรุกขชาติสมเด็จพระปิ่นเกล้า
ประวัติการสร้าง สมาชิกสภาจังหวัด ข้าราชการ - ประชาชน อำเภอพนมสารคาม ศูนย์ส่งเสริมขยายพันธ์สัตว์ป่า กรป.กลาง พร้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ จึงพร้อมใจกันสร้างพระบวรราชานุสาวรีย์เพื่อเทิดพระเกียรติไว้ให้ปรากฎชั่วกาลนาน
ประกอบพิธีเปิด เมื่อวันพุธ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๒
ไม่ได้บอกเหตุผลอื่นว่าสร้างเพื่ออะไร นอกจากเตุผลเพื่อเทิดพระเกียรติ สร้างเป็นพระตำหนักที่กว้างขวางพอสมควร ทั่วบริเวณร่มรื่น มีลุงชราคนหนึ่ง คอยเฝ้าดูแลสถานที่ บอกว่าเทศบาลเขาหินซ้อนเขาจ้างไว้ดูแล วันหยุดคนจะมากราบไหว้บูชากันมากมีเซียมซีให้เสี่ยง ศาลนี้ต้องมีความศักดิ์สิทธิ์สูง ดูจากช้าง ม้า ที่เอามาถวายกัน
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชสมภพเมื่อ ๔ กันยายน ๒๓๕๓
สถาปนาให้ดำรงพระอิสริยยศเสมอพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อ ๒๕ พฤษภาคม ๒๑๓๙๔
สวรรคตเมื่อ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๐๘ ด้วยโรควัณโรค สิริพระชนมายุได้ ๕๗ พรรษาเศษ
ผมไปคราวนี้ตั้งใจเลยทีเดียวว่าจะไปศาลสมเด็จ ฯ ทราบแต่ว่ามีศาลสมเด็จ ฯ พระบิดาของทหารปืนใหญ่ ไม่เคยไปซักที ผ่านไปเวลาจะไปสระแก้ว อรัญประเทศ หากขับรถเร็วจะมองไม่เห็น เพราะต้นไม้ร่มรื่น จะบังสายตาถึงจะเป็นเที่ยวกลับก็ไม่ค่อยเห็น และเวลาผมไปอรัญประเทศ ผมชอบไปทางเส้นนี้แต่กลับทางปราจีนบุรี นครนายก ฯ ไม่ซ้ำเส้นกัน วันนี้ไปศาล ฯ แล้ววิ่งต่อไป เพื่อจะไปนอนที่โป่งน้ำร้อน จันทบุรี พอเลยตลาดเขาหินซ้อนไป กม.๕๔ มีทางแยกขวาเข้าถนนสาย ๓๕๙ สายนี้จะไปบรรจบกับถนนสายสระแก้ว - จันทบุรี ที่อำเภอวังน้ำเย็น หากไม่เลี้ยวขวาตรงไปก็จะไปยังวัฒนานคร ต่อไปยังอรัญประเทศเลยไปบุรีรัมย์ ไปเที่ยวปราสาทพนมรุ้งก็ได้ สาย ๓๕๙ เป็นถนน ๒ เลน เดี๋ยวนี้รถมากแล้ว และไม่ลอง ไม่รู้ สองฟากทางจะพบเต้นท์ ตั้งขายแอปเปิล สาลี่ มากมายนับสิบเต้นท์ ขายกันลังโต ๆ เลยทีเดียว สงสัยว่าเข้ามาจากทางไหน เลยต้องลงซื้อ สาลี่ ๓ กก. ๑๐๐ บาท ส่วนแอปเปิล ๔ กก. ๑๐๐ บาท ถามว่าแอปเปิลมาจากไหน เขาบอกว่ามีรถจากตลาดไทวิ่งมาส่งให้ทุกวัน สาลี่ แอปเปิล ตลาดไท ก็มาจากท่าเรือเชียงแสน มาจากจีนทางแม่น้ำโขง ซื้อแล้วก็หายข้องใจราคาพอ ๆ กับซื้อในกรุง ฯ
ที่ตลาดเทศบาลเขาหินซ้อน มองหาร้านอาหารถูกตาไม่พบเลย จนวิ่งมาเข้าสาย ๓๕๙ แล้วถึงทางแยกซ้ายเข้าตำบลกรอกสมบูรณ์ ระยะทางจากจุดแยก มาตามถนน ๓๕๙ ประมาณ ๑๕.๕ กม. ก็ถึงทางแยกเข้าตำบลกรอกสมบูรณ์ เลี้ยวซ้ายไปประมาณ ๕๐๐ เมตร ระหว่างซอยกรอกสมบูรณ์ ๘ - ๑๐ ฝั่งซ้ายมือ อยู่ในเขตอำเภอศรีมหาโพธิ์ ปราจีนบุรี ติดร้าน ส.การเกษตร เห็นยกป้าย คลีนฟู๊ด กู๊ด เทสท์ เอาไว้ด้วย มีชาวบ้านนั่งกันอยู่หลายโต๊ะ เห็นหนวดพ่อครัวกับการควงตะหลิวเดี่ยวอยู่หน้าเตา ก็เดาได้เลยว่า "อร่อย" และก็ไม่ผิดหวังจริง ๆ แต่ไปกัน ๒ คน ไม่สั่งมาก กลัวกินไม่หมด กลัวง่วงด้วยหากอิ่มเกินไป ขับรถทางไกลจะง่วง ร้านนี้ท่าทาง "ไส้ตัน " จะเก่งสุด ๆ เห็นสั่งกันแทบจะทุกโต๊ะ
ยำไส้ตัน ลวกเก่งมาก ไม่เคยเจอร้านไหนลวกไส้ตันได้เก่งขนาดนี้ กรอบ กรุบ
กระเพาะหมูผัดเกี๊ยมฉ่าย ลองลวกไส้ตันเก่ง ผัดกระเพาะหมูต้องเก่ง กรอบทั้งกระเพาะและเกี๊ยมฉ่าย มีน้ำผัดมากรสดี ซดน้ำเสียเลย
ผัดเผ็ดหมูแบบผัดใส่นมสด ใครกินนก กระต่ายก็มี ถ้วยน้ำปลาพริกจัดมาเสร็จไม่ต้องขอ สั่งได้แค่นี้ อยากสั่งต้มยำกุ้ง เห็นคนท้องถิ่นเขาสั่งกัน ปรากฎว่าเขาขายเป็นหม้อไฟ ชามเดี่ยว ๆ ไม่ขาย หากกินแล้วกลับบ้านเลย ถึงเหลือก็ใส่ถุงกลับบ้าน วันหลังจะไปใหม่ อีกโต๊ะนั่งใกล้ ๆ กัน คนท้องถิ่นแน่ เขาสั่งอาหารป่า เก้งผัดน้ำมันหอย แกงป่ากระต่าย แกงป่าปลาแดง ต้มยำกุ้ง อีกโต๊ะหนึ่งมา ๒ คน สั่งข้าวผัด ๓ จาน แกงจืด ๑ ชาม เห็นซดกันสนุก ราคาอาหารถูกมาก หรือมาก ๆ
อิ่มแล้วกลับมาขึ้นถนนสาย ๓๕๙ ใหม่ พอผ่าน กม.๔๒.๕ เห็นร้านสร้างเป็นศาลาชั้นเดียวเก๋ ๆ ขายเค้ก กาแฟสด กินข้าวหนวด แล้วเลยมากินเค้ก กาแฟ ร้านเบเกอร์นักวิชาการ
คืนนี้ผมจะไปพักที่รีสอร์ท ที่อำเภอโป่งน้ำร้อน ยังไม่เข้าตัวเมืองจันทบุรี อยากนอนในบรรยากาศในป่า ในสวนเขาว่าสงบเงียบ ดูม่านหมอกยามเช้า ฟังเสียงนก เสียงกา ให้เพลินดังนั้นพอวิ่งมาตามถนนสาย ๓๕๙ ถึงประมาณ กม.๖๑ สาย ๓๕๙ ก็จะบรรจบกับสาย ๓๑๗
เลี้ยวขวา (เลี้ยวซ้ายไปสระแก้ว) ไปผ่านอำเภอวังน้ำเย็น อำเภอเขาฉกรรจ์ ที่ กม.๑๓๑ มีป้ายบอกไป สวนรุกขชาติเขาฉกรรจ์ ถ้ำแก้วพลายชุมพล แหล่งยาสมุนไพร ไปผ่านอำเภอสอยดาว ที่ กม.๑๐๓ จะมีทางแยกขวาไปยัง อ.สนามไชยเขต พนมสารคามได้แต่ถนนยังไม่พัฒนา ทางแยกเข้าน้ำตกสอยดาว กม.๖๒.๕ ผมพักที่รีสอร์ท โป่งน้ำร้อน กม.๓๗ - ๓๘ หากมาจากตัวเมืองจันทบุรี จะอยู่ทางซ้ายมือ ตรงข้ามภูบาบุรีรีสอร์ท มีป้ายบอกที่ปากทางเลี้ยวเข้า พักบังกะโลหลังใหญ่ราคาถูก ที่พักดีมากเหมือนนอนในบ้านของตัวเอง เพราะกว้างขวางอยู่ท่ามกลางสวนแมกไม้ร่มรื่น เลยรีสอร์ทเข้าไป กม.เศษ ๆ คือ ศูนย์เพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ เข้าไปชมได้ ที่รีสอร์ทมีอาหารด้วยฝีมือแม่ครัวเอก คือ เจ้าของรีสอร์ททำเอง แถมตอนเช้ายังเดินมาเสริฟให้เองเสียอีก มีห้องพักกว่า ๒๐ ห้อง
ก่อนจะจบการไปศาลสมเด็จ ฯ ของผม ขอทบทวนร้านอาหารในกรุงเทพ ฯ ไว้ด้วยเคยเขียนไว้คงจะนานเกินกว่าปีแล้ว ฝีมือข้าวแช่นั้นไร้เทียมทานจริง ๆ ข้าวแช่นั้นมีต้นตระกูลมาจากมอญ ในเมืองไทยก็มาจากมอญเกาะเกร็ด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปพระราชทานผ้าพระกฐินที่วัดปรมัยยิกาวาส ชาวมอญเกาะเกร็ดคงจะทำข้าวแช่ถวาย ชาววังที่ตามเสด็จนั้นใช้วิชา "ครูพักลักจำ" นำมาประดิษฐประดอยกลายเป็นข้าวแช่ชาววัง ชนิดที่ยกมาตั้งคนมอญแทบจะไม่รู้จัก ร้านชาววังขนานแท้ บอกว่าต้องเลี้ยงคนที่อยู่กันมานานเกินสิบปีนับสิบคน เลยทำอาหารขายในบ้าน ร้านไม่ต้องเช่า คนบริการไม่เรียกร้องค่าแรง ภายในบริเวณบ้านมีที่จอดรถกว้างขวาง สะดวกสบายมาก ห้องแอร์นั่งเย็นสบาย บรรยากาศเป็นกันเอง ไปคราวหลังสังเกตดูประเภทผู้ใหญ่ที่ไม่อยากออกจากบ้านไปไหน อยากกินข้าวแช่ขนานแท้ ตำรับชาววัง (มอญแปลง) ก็ส่งคนขับรถมาซื้อใส่กล่องโฟมอย่างดีกลับไป ราคาชุดละ ๑๕๐ บาท กล่องโต ๓ คน ๒ กล่อง พุงธรรมดายังพอกิน ในกล่องจะมี ข้าวสวยขัดเม็ดขาว น้ำดอกมะลิ (ไปหาน้ำแข็งใส่เอาเอง) กับข้างแช่ก็มี หมูผัดหวาน หัวผักกาดผัด ลูกกะปิตัวหลัก ขาดไม่ได้ พริกหยวกยัดใส้ห่อไข่ พริกชี้ฟ้าแห้งยัดใส้ ชุปแป้งทอด (หากินที่ไหนไม่ได้) หอมใหญ่ชุบแป้งทอด ผักที่แนมมาเป็นเครื่องเคียง (กินที่ร้านจะจัดผักมาสวยมาก) มะม่วงสลักมาเป็นใบไม้ กระชายสลักมาเป็นดอกจำปี ต้นหอมงอใบเสียสวย อาหารที่ทราบว่าพึ่งมี และตั้งใจไปชิม มีหมี่กรอบที่ยากจะหาใครสู้ "โรตี แกงเผ็ดพริกขี้หนู" ขนมจีนแกง น้ำพริก น้ำยา ขาดไม่มีให้ทบทวนคือ ซาวน้ำที่อร่อยนัก สรุปว่าอร่อยทุกอย่าง หาที่ติไม่ได้
อาหารที่ชิมแล้วต้องรีบเอามาเล่าให้ฟัง แม้จะเป็นร้านเดิมที่เคยชวนชิมไปแล้วก็ตาม แต่เป็นอาหารโบราณที่นานไปคนไทยกำลังจะลืม นับวันจะหากินยาก เริ่มต้นด้วย
ปลาแห้ง - แตงโม เอาปลาแห้งอย่างดีมาผัดใส่ชามวางไว้ตรงกลางจาน ล้อมด้วยแตงโมสีแดง เย็น หวานฉ่ำ เลี้ยงพระ พระฉันเป็นอาหารคาวแล้ว ฉันแตงโมเป็นอาหารหวาน ไม่เคยกิน ลองชิมดูจะติดใจ แตงโมนั้นหวานเย็น ปลาแห้งผัดเค็มมีรสหวานนิด ๆ เข้ากันดีจริง ๆ อาหารฤดูร้อน
ม้าห้อ กินเล่น กินจริง อร่อยหมด เอาสัปปะรดรดหวานฉ่ำหั่นเป็นชิ้นพอคำ หมูผัด กับถั่วลิสง วางมาบนสัปปะรด กินพร้อมกัน จะเรียกว่า เป็นออเดริฟก็ได้ กับแกล้มก็ดี (ไม่ขายของมึนเมา)
" ต้มปลาสลิด กับใบมะขามอ่อน" อาหารคนโบราณ ไม่เคยพบที่ไหนมาก่อน ที่เมื่อแกงแล้วเนื้อปลาจะวิเศษอย่างนี้ เอาปลาสลิดแดดเดียวมาหั่นเป็นชิ้น เลาะก้างออกให้หมด เอาไปทอดพอสุก ความแน่นเหนียวของเนื้อปลายังอยู่ครบ ผมถึงบอกว่าไม่เคยเจอ แกงกับกะทิ เปรี้ยวด้วยใบมะขามอ่อน (ไม่แน่ใจว่าจะหาใบมะขามอ่อนมาแกงได้ตลอดปี) แกงแล้วเนื้อปลานุ่มแน่น ได้เคี้ยวซดแกงตอนร้อน ๆ วิเศษอย่าบอกใคร อย่าลืมเรื่องการใช้ช้อนกลาง ผมต้องช่วยกรมอนามัยรณณงค์การใช้ช้อนกลาง เพราะกรมอนามัยมาแต่งตั้งให้ผมเป็นทูตอาหารปลอดภัย
ผมเลยแนะว่า หากเกิดหาใบมะขามอ่อนไม่ได้ ลองแกง "แกงบวน " แกงโบราณได้ไหม บอกว่าแกงได้ แกงบวนยิ่งหาคนรู้จักน้อยเต็มที อร่อยอย่าบอกใครเชียว บ้านประชาชื่น แกงบวนสำเร็จเมื่อใด ผมจะไปชิม แล้วเอามาเล่าให้ฟัง เกือบลืมทบทวนเส้นทางไปบ้านประชาชื่น
เส้นทาง หากตั้งต้นจากปากทางลาดพร้าว ไปทางสี่แยกรัชโยธิน ถึงสี่แยกเลี้ยวซ้ายผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ ขึ้นสะพานลงแล้วอย่าขึ้นอีก พอถึงสี่แยกประชานุกูล เลี้ยวขวาเข้าถนนริมคลองประปา ซอยทางซ้ายนจะมีหมายเลขเรียงกันไปคือ ๓๐, ๓๑, ๓๒ พอถึงซอย ๓๓ เลี้ยวซ้ายนับเสาไฟฟ้าทางขวามือของซอย ต้นหมายเลข ๗ มีทางแยกเลี้ยวซ้ายวิ่งไปสัก ๕๐๐ เมตร ตรงเข้าประตูร้านไปเลย จอดรถในบ้านสะดวกมาก หรือจะจัดเลี้ยงก็ได้ มีห้องจัดได้สัก ๘๐ คน ๑๕ คน ก็รับจัดแล้ว บุฟเฟต์หัวละ ๒๐๐ บาท เท่านั้น เพราะห่วงเด็กสมัยใหม่ จะไปกินกันแต่อาหารที่ไร้คุณค่า ที่พี่หม่อมถนัดศรีเรียกว่า แดกด่วนนั้นแหละ
|
Update : 23/7/2554
|
|