หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เที่ยวทั่วไทย-เมืองสามหมอก (๒)

    เมืองสามหมอก (๒)

               เมืองสามหมอก หรือแม่ฮ่องสอน ไปคราวนี้ได้เห็นป้ายตามวัด ชักชวนให้ไปไหว้พระ ๙ วัด ในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ผมเห็นป้ายช้าไป เลยไม่ได้ครบ ๙ วัด แถมตอนให้เลขา ฯ จด  จดไปจดมาหายไป ๑ วัด เหลือแค่ ๘ วัด ก็เลยขอเล่าฉบับย่อให้ทราบไว้ก่อน ท่านที่ไปไหว้พระที่วัดใด วัดหนึ่ง ใน ๘ วัด นี้ ก็จะทราบอีกวัดที่ผมทำหายไป เพราะขึ้นป้ายบอกไว้แทบจะทุกวัด และคิดว่าหากไม่ตายเสียก่อน จะขับรถไปอีกสักครั้งเป็นอย่างน้อย เพราะจะหาจังหวัดใดที่มีธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ยังสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ อากาศที่สดชื่น เท่าแม่ฮ่องสอนคงหายากเต็มที ตลอดการเดินทางจากฮอด เป็นต้นไป แม้ถนนจะวกวน คดเคี้ยว ไต่ไปตามเขาที่สูงชัน แต่จะขับรถด้วยความไม่เบื่อ ไม่เหนื่อย บางช่วงที่ชันมาก ๆ ก็เปิดกระจก ปิดแอร์ รับลมภูเขาที่เย็นชื่นใจ และรู้สึกได้กับความบริสุทธิ์ที่ได้รับ หากไปใหม่ คราวนี้ผมจะเปลี่ยนเส้นทาง เพราะตั้งแต่มีถนนสายเชียงใหม่ - ลำปาง สาย ๑๑ ซึ่งมาเริ่มสร้างดูเหมือนจะเป็นปี พ.ศ.๒๕๑๑ ปีที่ผมเป็นผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ ไปรบเวียดนาม กลับมาก็ไม่ได้รับราชการที่เชียงใหม่อีก และถนนสายใหม่ก็เสร็จแล้ว จึงไม่ต้องไปเชียงใหม่โดยเส้นเดิมคือ จากตาก มาถึง อ.เถิน ก็เลี้ยวซ้ายไป อ.ลี้ บ้านโฮ่ง ป่าซาง ลำพูน เชียงใหม่ ถนนสมัยนั้น ส่วนใหญ่ไม่ราดยางและจะหาปั๊มน้ำมันยากมาก ผมขับรถจิ๊บทหารไป ต้องเอารถพ่วงบรรทุกน้ำมันติดไปด้วย เมื่อ ๒ - ๓ ปีที่แล้ว ไปเส้นนี้อีกครั้ง ปรากฎว่าถนน ๒ เลน แต่ดีเยี่ยม ขึ้นเขาจากเถินไม่ทรมานและขับด้วยความเสี่ยงเหมือนสมัยก่อน ไปแม่ฮ่องสอนคราวใหม่ ผมจะไปทางผ่านเถิน พอถึงลี้ ก็เลี้ยวซ้ายไปออกดอยเต่า จ.เชียงใหม่ แล้วมาฮอด แม่สะเรียง แม่ลาน้อย ขุนยวม และแม่ฮ่องสอน ส่วนวันกลับก็จะกลับทางปางมะผ้า  ปาย แม่มาลัย (แม่แตง) แม่ริม เชียงใหม่ ถือโอกาสบอกเส้นทางไว้ให้ท่านนักขับรถลองไปดู

                   วัดพระธาตุดอยกองมู  ไปไหว้พระธาตุและชมทิวทัศน์ของตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ใครมาแม่ฮ่องสอนแล้ว ไม่ได้ขึ้นไปไหว้พระธาตุดอยกองมู ก็เหมือนไม่ได้มาเมืองนี้ เป็นวัดที่มีความสำคัญมากที่สุดวัดหนึ่ง เป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวเมือง ดอยกองมูสูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๓๐๐ เมตร พอจะเข้าเมืองแม่ฮ่องสอนก็จะพบสามแยก ที่ตั้งอนุสาวรีย์พญาสิงหนาทราชา แยกขวาจะเข้าถนนขุนลุมประพาส ให้แยกซ้ายจะพบทางขึ้นดอย พระธาตุทางซ้ายมือ ตรงข้ามทางขึ้นคือ วัดก้ำก่อ ติดกับทางขึ้นคือ วัดพระนอน ซึ่งทั้ง ๓ วัดนี้อยู่ใน ๙ วัด ที่จะ "ไหว้พระ ๙ วัด เมืองสวรรค์บนดอย"  วัดนี้เดิมชื่อว่า วัดปลายดอย ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อ มีพระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างโดยพ่อค้าชาวไทใหญ่ชื่อ จองต้องสู้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๓ ต่อมพญาสิงหนาทราชา ได้สร้างคู่กันอีกองค์หนึ่ง บรรจุพระธาตุของพระโมคคัลลานะ ที่นำมาจากพม่า โดยสร้างพระเจดีย์ทรงเครื่องแบบมอญ เช่นเดียวกับเจดีย์องค์ใหญ่ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๗
                   รอบพระเจดีย์ มีซุ้มประดิษฐานพระประจำวัดเกิด ไปบูชาดอกไม้ ธูปเทียน ที่วางบนคานไม้ นำไปบูชาตามช่องพระประจำวันเกิดของตัวเรา หากไปตอนเทศกาลลอยกระทง จะมีงานหลายวัน มีการปล่อยโคมสวรรค์ ให้ลอยขึ้นสู่ฟ้า ด้านริมจะมองเห็นตัวเมืองสวยมาก เห็นหนองน้ำจองคำ ถ้ากำลังดี ๆ เดินขึ้น - ลง บันไดมาก็ได้
                   วัดพระนอน  เมื่อลงจากดอยกองมู มาแล้วเลี้ยวขวาเข้ามาจอดรถ ในวัดพระนอน ซึ่งจอดรถแถววัดพระนอน ก็จะไปยังวัดก้ำก่อ ที่อยู่ตรงข้ามกันได้เลย
                       พระนอน  ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหาร ผู้ริเริ่มสร้างคือ เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก พญาสิงหนาทราชา สร้างด้วยเหตุที่ท่านเกิดวันอังคารและเพื่อเฉลิมฉลองที่แม่ฮ่องสอน ได้รับการยกฐานะเป็นเมือง แต่สร้างไม่สำเร็จ เจ้าแม่ นางเมี๊ยะ เจ้าเมืองคนต่อมา (เป็นชายาของท่านพญา ฯ ) ได้สร้างต่อ และเจ้าเมืองคนที่ ๔ พญาพิศาลฮ่องสอนบุรี ได้สร้างพระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมแบบพม่า ทรงจัตุรมุขหลังคามุงสังกะสี ลักษณะแบบ ๒ คอ ๓ ชาย หลังคามีฉัตร สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ เป็นอุโบสถหลังแรกของแม่ฮ่องสอน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว
                       กล่าวกันว่า องค์พระนอน ศักดิ์สิทธิ์มาก ไปบนขอบุตร ขอให้หมดทุกข์ หมดหนี้ หมดสิน กันมักได้รับความสำเร็จ มีพระสงฆ์นั่งรอรับสังฆทาน ทำบุญตามศรัทธาถวายสังฆทานท่านแล้ว ท่านได้มอบพระสิวลี แกะสลักจากงาช้างมาให้ผมองค์หนึ่ง ไม่ทราบว่าหมดหรือยัง ทำบุญแล้วก็อย่าลืมไปชมพิพิธภัณฑ์ของวัด อยู่ในวิหารนี้
                   วัดก้ำก่อ  สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ วัดนี้มีลักษณะสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นคือ มีหลังคาคลุมทางเดิน ตั้งแต่ซุ้มทางเข้าไปสู่ศาลา ข้างบนหลังคาตกแต่งเป็นยอดปราสาท ตามศิลปะแบบไทยใหญ่ ภายในศาลาที่อยู่สุดทางเดิน มีพระพุทธรูปประธานงามมากเป็นศิลปะสุโขทัย นอกจากนี้ ยังมีเจดีย์อยู่ข้างทางเดิน มีตำราภาษาไทยใหญ่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยใหญ่ กับเจ้าอโนรธามังช่อ กษัตริย์พม่า และทราบว่าแปลเป็นไทยแล้ว
                   วัดหัวเวียง หรือวัดกลางเวียง  หากไปตลาดเทศบาล หรือตลาดสายหยุด หาที่จอดรถไม่ได้ ก็จะเข้าไปจอดกันในบริเวณวัดหัวเวียง โดยวัดอยู่ริมถนนสิงหนาทบำรุง เมื่อเลยจากทางเข้าวัดไปประมาณสัก ๕๐ เมตร ก็คือ ตลาดสายหยุด (ด้านหลัง) ไปตลาดเสียก่อนแล้วมาไหว้พระก็ได้ แต่ชาวพุทธอย่าพลาดวัดนี้เป็นอันขาด
                    วัดหัวเวียง  สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๖ แต่เดิมไม่ได้อยู่กลางเวียง อยู่ตอนเหนือของเมือง จึงชื่อว่าวัดหัวเวียง พอเมืองขยายกว้างขวางออกไป วัดเลยมาอยู่กลางเวียง เมื่อเข้าไปในวัดแล้ว ให้ไปทางซ้ายเพื่อไปนมัสการพระพุทธรูปสำคัญ พระเจ้าพราละแข่ง เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ ลุงจองโพหญ่า เป็นพ่อค้าวัวต่าง ระหว่างเดินทางไปค้าขาย วันหนึ่ง พระบรมธาตุของพระพุทธองค์ (ผมขอยืนยันว่าเกิดได้ และสูญหายไปเองก็ได้) ได้เสด็จมาอยู่ในขันหมากของลุงจองโพหญ่า จำนวน ๑ องค์ ขนาดโตเท่าเมล็ดข้าวโพด ลุงจองโพหญ่า จึงได้ชักชวน ลุงจองหวุ่นนะ และคณะศรัทธา ไปสร้างพระพุทธรูปมหามุนี หรือ พราละแข่ง ที่นครมัณฑเลย์  สหภาพพม่า โดยสร้างแยกออกเป็น ๙ ชิ้น แล้วบรรทุกเรือมา นำมาแม่ฮ่องสอน โดยมาตามแม่น้ำสาละวิน (แม่น้ำคง) จนมาเข้าแม่น้ำปาย แล้วอัญเชิญขึ้นที่ท่าเรือ บ้านท่าโป่งแดง ตำบลผาบ่อง อ.เมือง แล้วนำมาประกอบใหม่ที่วัดพระนอน อัญเชิญมาประดิษฐานวัดหัวเวียง จำลองมาได้เหมือนและงดงามมาก เสียดายที่โจรมันมาก คงกลัวโจรตัดเศียร จึงต้องประดิษฐานอยู่ในห้องที่มีลูกกรงปิดกั้นด้านหน้าเอาไว้ จะถ่ายภาพต้องยื่นมือผ่านประตูเหล็กเข้าไป เจ้าพราละแข่ง องค์นี้ผมเคยไปกราบนมัสการองค์จริง ที่เมืองมัณฑเลย์มาแล้ว องค์จำลองงามเช่นเดียวกัน
                   วัดจองคำ และ วัดจองกลาง  ๒ วัดนี้อยู่ติดกัน ไม่มีรั้วกั้นระหว่างเขตวัด ไปวัดจองคำแล้วเดินต่อมายังวัดจองกลางได้เลย หน้าวัดคือ หนองจองคำ เป็นสวนสาธารณะ และหนองแห่งนี้กว้างใหญ่พอสมควร ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีตามประเพณีต่าง ๆ ในรอบปีด้วย เช่น เทศกาลลอยกระทง ริมหนอง ทั้งด้านหน้าวัด และฝั่งตรงข้าม (ร้านอาหารที่จะชิมมื้อนี้ อยู่ฝั่งตรงข้ามวัด) จะมีแผงขายของที่ระลึก เสื้อผ้า ของชาวเขาวางขาย บางแผงก็กำลังถัก กำลังทอกัน ริมถนนนี่แหละ
                    วัดจองคำ  มีอุโบสถหลังเล็ก ๆ รูปร่างแปลกคือ เป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่บานประตูหน้าโบสถ์ มักจะปิดเลยไม่เคยเข้าไปนมัสการข้างในสักที ความสำคัญของวัดนี้จะไปอยู่ที่วิหารคือ วิหารหลวงพ่อโต ซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อโต สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๙ โดยช่างชาวพม่า เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง ๔.๘๕ เมตร จำลองมาจากพระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต อัญเชิญมาจากสุโขทัย ในสมัย ร.๑ ) ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม
                    วิหารนี้ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบไทยใหญ่ ผสมฝรั่ง ประตูหน้าต่าง ตอนบนโค้ง ประดับลวดลายแบบฝรั่ง หลังคามุงสังกะสี เชิงชายมีลูกไม้ฉลุแบบขนมปังขิง  ขอแนะนำว่ามุมถ่ายภาพ ที่สวยมากใน อ.เมือง มุมหนึ่งคือ ถ่ายจากฝั่งริมน้ำตรงข้ามวัด
                   วัดจองกลาง  มีห้องพิพิธภัณฑ์จัดแสดงตุ๊ก
    ตาไม้แกะสลักเป็นรูปคนและสัตว์ เกี่ยวกับเรื่องพระเวสสันดรชาดก มีจำนวน ๓๓ ตัว นำมาจากพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๐๐ และยังมีพระพุทธรูปหินอ่อน องค์เล็กแต่งามมาก มีกระจกเขียนสี
                       วิหารเล็ก  มีหลังคาเรือนยอด ทรงปราสาทซ้อน ห้าชั้น ประดับยอดฉัตรทอง
                       วิหารใหญ่  เป็นอาคารอเนกประสงค์ ประดิษฐานพระพุทธรูป ความเด่นอยู่ที่การซ้อนชั้นของหลังคา ยกคอสอง ยกจั่วซ้อนบนคอสอง ตกแต่งชายคาด้วยลายฉลุ
                       ไปแม่ฮ่องสอนคราวนี้ พึ่งทราบภายหลังว่ามี "ไหว้พระ ๙ วัด เมืองสวรรค์บนดอย" ไม่ได้เตรียมตัวไปเลยไม่ทราบที่ตั้ง แถมยังจดหายไปอีก ๑ วัด ได้ความว่ามี วัดผาอ่าง และวัดดอนเจดีย์ อีก ๒ วัด แต่ไม่ทราบที่ตั้งว่าอยู่ตรงไหน และมีความสำคัญอย่างไร ขอผลัดเอาไว้ก่อน การหาสถานที่ต่าง ๆ ในแม่ฮ่องสอน นั้นหาไม่ยาก มีถนนไม่กี่สาย ถนนสายสำคัญก็คือ ถนนขุนลุมประพาส ตั้งใจขับรถตระเวนพักเดียวก็จะหาเจอหมด สำคัญว่าถนนค่อนข้างจะแคบ เมื่อก่อนวิ่งสบาย เดี๋ยวนี้รถค่อนข้างจะมาก โดยเฉพาะตอนเทศกาล ลอยกระทง ปีใหม่และสงกรานต์ รถตู้ที่พานักท่องเที่ยวไปจะมีมากที่สุด รถบัสใหญ่สำหรับพานักท่องเที่ยวไม่เห็น แต่มีรสบัสใหญ่จอดพักอยู่ที่วัดก้ำก่อ เดินระหว่างแม่ฮ่องสอน - กรุงเทพ ฯ ที่สะดวกคงต้องไปเครื่องบิน แต่ก็ต้องไปเช่ารถเที่ยวอยู่ดี ขอจบการชมวัดในตัว อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ไว้เท่านี้ ทีนี้พาไปชิม
                       ร้านอาหาร ถนนประดิษฐจองคำ บอกให้ง่ายคือ ถนนริมหนองจองคำ ฝั่งตรงข้ามกับวัดจองคำ - จองกลาง พอโผล่เข้าร้านก็เห็นป้ายคลีนฟู๊ด กู๊ด เทสท์ แขวนไว้ และคนแน่นเต็มไปทั้งร้าน ได้ความว่าทัวร์เข้า จึงแน่นอนไม่มีโต๊ะว่าง และผมก็ไม่ได้จองมา แต่ทางร้านก็ดีที่ช่วยจัดโต๊ะให้เป็นพิเศษ
                       ปลาทับทิมทอดแบบโบราณ ดูไม่ออกว่าทำไมจึงเรียกโบราณ รู้แต่ว่าเนื้อมาก
                       ผักกูดยำ กับน้ำพริกเผา ยำแบบไทย ใส่น้ำพริกเผา กะทิ น้ำส้ม ออกรสหวานนิด ๆ เคี้ยวสนุก จานนี้อย่าโดดข้ามไปเป็นอันขาด ไปหลายคนต้องสั่ง ๒ จาน จะได้ไม่แย่งกัน
                       หมูทอดตะไตร้ ตะไคร้หั่นฝอย ทอดแล้วคลุมมาบนหมูทอด โรยใบมะกรูด
                       แกงแคกุ้ง ยกมาร้อน ๆ น้ำแยะ ซดได้มีผักมาก ตำลึง ชะอม ดอกกล่ำ ถั่วพู ผักกูด มะเขือ ถั่วฝักยาว ผักชีฝรั่ง ซดแกง กินผักในแกง แทบไม่ต้องกินข้าว
                       ยำตำลึงกรอบ น้ำยำแยกมาต่างหาก ใส่กะทิ หมูสับ หอมแดง แครอท เผ็ดนิด ๆ ด้วยพริกขี้หนู
                       ยังไม่พอ เพราะราคาอาหารไม่แพง สั่งอีก "ผัดซาโยเต้" หรือฟักแม้ว น้ำผัดอร่อยนัก
                       ของหวาน ทางร้านไม่มี แต่เรามี ให้เขาเอาขนมที่ซื้อจากตลาดสายหยุด เมื่อตอนเช้าคือ ขนมอาละหว่า และขนมหม้อแกงถั่ว เอามาชิม อร่อยสมใจ แถมด้วยการขอให้ทางร้านช่วยปอกพุทราเมืองยักษ์ ลูกโตเกือบเท่าแอปเปิล ใส่จานมาให้ หวานกรอบ


    • Update : 23/7/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch