หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เที่ยวทั่วไทย-เมืองสามหมอก (๑)
    เมืองสามหมอก (๑)

                เมืองสามหมอก เป็นสมญานามที่ตั้งให้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน เพราะแม่ฮ่องสอนมีความแตกต่างทางด้านภูมิอากาศ ทำให้เมืองนี้มีหมอกปกคลุมตลอดทั้งสามฤดู จนเป็นที่มาของสมญานามว่า "เมืองสามหมอก" ได้แก่ หมอกน้ำค้างในฤดูหนาว หมอกควันไฟป่าในฤดูร้อน และหมอกฝนในฤดูฝน ไปแม่ฮ่องสอนไม่ว่าในฤดูไหนเป็นพบหมอก จะมากหรือน้อยเท่านั้น
                แม่ฮ่องสอน ได้รับการบันทึกไว้ในหน้าของประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ ๑๐๐ กว่าปีมานี้เอง ขอเล่าเอาไว้เพื่อประดับความรู้
                แม่ฮ่องสอน เคยเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนมานานนับ "หมื่นปี" แต่ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่า เป็นชนกลุ่มใด นอกจากพบว่าน่าจะเคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาก่อน เช่น พบหลักฐานเกี่ยวกับเครื่องมือหิน มีการค้นพบ "โลงผีแมน" ในถ้ำที่ อ.ปางมะผ้า (ผมจะพาไปชม เตรียมกำลังไว้ให้ดี ๆ ) ซึ่งโลงผีแมนนี้มีอายุนับพันปีขึ้นไป
                เมื่อประมาณ ๑๗๐ ปี ที่ผ่านมา มีชาวไต (ไทยใหญ่) จากรัฐฉานประเทศพม่า อพยพเข้ามาปลูกสร้างบ้านเรือน และทำมาหากินอยู่ในบริเวณนี้เป็นหย่อม ๆ และต่อมาได้รวมกันจัดตั้งขึ้นเป็นหมู่บ้าน มีหัวหน้าปกครองเรียกว่า ก๊าง หรือผู้ใหญ่บ้านในปัจจุบัน จนถึง พ.ศ.๒๔๑๗ จึงได้รับการยกขึ้นเป็นเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นเมืองหน้าด่าน มีพ่อเมืองคนแรกชื่อ "พญาสิงหนาทราชา หรือ ชานกะเล" ชาวเมืองเรียก เจ้าฟ้า มีเจ้านางเมวดี เป็นชายา (ต่อมาขึ้นเป็นแม่เมืองแทน เมื่อพญาสิงหนาทราชาถึงแก่กรรม)
                เมื่อตั้งเป็นเมืองนั้น ได้มีเมืองขุนยวม และเมืองปาย เป็นเมืองรอง ต่อมาได้แยกการปกครองออกเป็น ๔ ส่วน เรียกว่า เมืองปาย เมืองแม่ฮ่องสอน เมืองขุนยวม และเมืองยวม ให้ขึ้นตรงต่อเจ้านครเชียงใหม่ พอมาถึงปี พ.ศ.๒๔๔๐ แยกท้องที่การปกครองเป็น ๔ แขวงคือ แขวงเมืองปาย เมืองแม่ฮ่องสอน เมืองขุนยวม และแขวงเมืองยวม (ต่อมาคือ แม่สะเรียง) รวมเรียก ๔ แขวงนี้ว่า "บริเวณเชียงใหม่ตะวันตก" มีแขวงเมืองขุนยวมเป็นที่ตั้ง "บริเวณ" พอมาถึง พ.ศ.๒๔๔๖ ก็ย้ายไปตั้งที่เมืองยวม
                ปี พ.ศ.๒๔๔๗  ย้ายที่ทำการบริเวณมาตั้งที่แขวงเมืองแม่ฮ่องสอน เปลี่ยนชื่อเป็น "บริเวณพายัพเหนือ"  ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงชื่อจากแขวง มาเป็นเรียกว่า อำเภอ บริเวณเรียกว่า เมือง เปลี่ยนจากเมืองไปเป็นจังหวัด และในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดแม่ฮ่องสอน แบ่งการปกครองออกเป็น ๔ อำเภอคือ อำเภอเมือง อำเภอปาย อำเภอขุนยวม และอำเภอแม่สะเรียง มีพระยาศรสุรราช (เปลื้อง) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรก ปัจจุบันมี ๗ อำเภอคือ เพิ่มอำเภอสบเมย แม่ลาน้อย และปางมะผ้า
                จากอำเภอขุนยวม วิ่งต่อไปตามถนนสาย ๑๐๘ คดเคี้ยวไปตามไหล่เขา ไม่มีทางราบให้วิ่งจนกว่าจะถึงตัวอำเภอเมือง รวมระยะทางช่วงนี้ประมาณ ๖๗ กม. ก็จะถึงชานเมืองแม่ฮ่องสอน และจะเริ่มผ่านร้านค้า ชุมชนไปตลอดระยะทางร่วม ๒ - ๓ กม. ก็จะถึงอนุสาวรีย์พญาสิงหนาทราชา หรือ ชานกะเล พ่อเมืองคนแรก ผมไม่ได้ไปแม่ฮ่องสอนมาสัก ๓ - ๔ ปี ความเจริญเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย และไปคราวนี้ใกล้เทศกาลลอยกระทงด้วย โรงแรม ร้านอาหาร จึงแน่นขนัดไปหมด ผิดกับที่ผมไปแม่ฮ่องสอนครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ สมัยยังเป็นผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๗ อยู่ที่เชียงใหม่ ซึ่งเขตรับผิดชอบของกองพันกว้างขวางมากคือ คลุมพื้นที่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน เชียงราย (พะเยา ยังไม่ได้ตั้งเป็นจังหวัด)  เมื่อผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๔ ไปตรวจพื้นที่แม่ฮ่องสอน จึงต้องให้ผมไปด้วย ตอนไปผมไปเครื่องบิน แอล ๑๙  ซึ่งเป็นเครื่องบินตรวจการณ์ยิงปืนใหญ่ของกองพัน ผู้บัญชาการก็ไปเครื่องบินเช่นกัน รวมทั้งภริยาของท่านขอไปด้วย แต่ไม่ไปเปล่าเอาผู้ติดตามไปอีก และมีขบวนล่วงหน้าเพื่อบริการความสะดวกไปทางรถยนต์ โดยรถที่เรียกว่า ยี เอ็ม ซี หรือจะเรียกว่า สิบล้อ คงพออนุโลม พอวันกลับคนสนิทคุณนายไปอ้อนอีท่าไหนไม่ทราบ ผู้บัญชาการเลยให้ผมที่เป็นเจ้าของรถ แม้จะเป็นผู้บังคับกองพัน แต่ก็ยศต่ำที่สุดคือ ร้อยเอก เท่านั้น ให้คุมขบวนรถกลับไปเชียงใหม่ ถนนสาย ๑๐๘ เวลานั้นไม่ได้ราดยางแม้แต่เมตรเดียว ยิ่งพอเลยแม่สะเรียงไปแล้ว จะแคบมากจนรถสวนกันได้เฉพาะที่เท่านั้น เมื่อรถมาพบกันจะซื่อสัตย์ต่อกัน ใครถอยใกล้กว่า จะยอมถอยหลังไปตามทางที่แคบ และคดเคี้ยวจนพบทางที่กว้าง พอจะสวนกันได้ก็จอดให้สวนกัน แต่รถสมัยนั้น มีวิ่งตามเส้นทางนี้น้อยมาก จึงไม่ค่อยมีปัญหา ส่วนเส้นทางจากแม่ฮ่องสอน มาเชียงใหม่ทางปายนั้น มาไม่ได้เลย มีนายกรัฐมนตรีท่านเดียวที่เคยไปคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปเมื่อทางสาย ๑๐๙๕ สร้างเสร็จใหม่ ๆ ญี่ปุ่นอำนวยการสร้าง คนไทยเป็นแรงงาน ท่านจอมพล ไปแล้วพอกลับมาก็ให้ปิดเส้นทางไว้ก่อน เพราะเกรงจะเกิดอันตราย หากปล่อยให้รถเสี่ยงไปกัน พึ่งมาเปิดไม่กี่ปีมานี้เอง ปัจจุบันถนนทุกสายไปแม่ฮ่องสอน แม้ว่ารถจะวิ่งสวนกัน ถนน ๒ เลน แต่ก็กว้างและราดยางตลอดสาย รถบรรทุกหนัก ๆ ขึ้นเขาไม่ไหว โอกาสถนนพังเพราะรถที่บรรทุกน้ำหนักเกินจึงไม่เกิด ทางคดโค้ง คนขับไม่เมารถ แต่อย่าง่วงก็แล้วกัน แต่คนนั่งจะเมาแทน ยิ่งคนนั่งหลังยิ่งแย่ เตรียมยาแก้เมาติดไปบ้างก็ดี
                ๒ คืนแรก พักที่โรงแรม ถนนขุนลุมประพาส อยู่ตรงข้ามไปรษณีย์ ตอนกลางคืนถนนข้างไปรษณีย์เส้นไปหนองจองคำ บึงใหญ่กลางเมือง จะปิดถนนกลายเป็นตลาดกลางคืน หรือไนท์ บาร์ซาร์ สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อผ้า และงานฝีมือของชาวเขา ราคาถูก ส่วนโรงแรมพอพักได้ มีห้องอาหารพอชิม แต่หลัง ๓ ทุ่ม ห้องอาหารจะกลายเป็นผับ ที่ตะโกนเพลง เรียกว่า บรรยากาศเปลี่ยน ตอนเช้ามีอาหารเช้าให้ด้วย

                ตลาดสายหยุด  ก่อนไปไหว้พระ ไปเที่ยวตลาดเสียก่อน ตลาดนี้คือ ตลาดเทศบาล เรียกว่า ตลาดสายหยุด แต่ปัจจุบันสายแล้วก็ไม่หยุดขาย เพราะมีร้านค้าตั้งประจำทั้งตลาดแล้ว ที่เรียกว่า สายหยุดเพราะเมื่อก่อนพอแปดโมงเช้า แม่ค้าเป็นส่วนใหญ่จะแบกหาบขึ้นบ่า กลับบ้านทันที ยังกับหนีไฟไหม้ หลังแปดโมงไม่กี่นาที ตลาดจะเงียบ มีแต่คนงานเริ่มทำความสะอาดตลาด ต่อมาภาพสายหยุดเริ่มหายไป แต่พระที่ออกบิณฑบาตในยามเช้านั้น พอสายหน่อยจะมีรถเข็นของวัด เอารถมาจอดไว้ตามชุมชนทางเข้าตลาด ใครใส่บาตรตอนเช้าไม่ทัน ก็เอามาใส่ไว้ในรถเข็นได้ พอใกล้เพลคนของวัดก็จะมาเข็นรถรับอาหารกลับวัดไปให้พระฉันเพล ไปคราวนี้ไม่เห็น เห็นแต่ในวันศุกร์ สาวชาวเมืองเชื้อสายไทยใหญ่ จะแต่งกายแบบไทยใหญ่มาเดินจ่ายตลาด ลองถามดู ปรากฎว่าเป็นข้าราชการหญิง แต่งชุดไทยใหญ่ เลยได้ความรู้ว่าทุกวันศุกร์ จะแต่งกัน ส่วนรถเข็นวัดเลิกเข็นมารับอาหารแล้ว เพราะ "หาย"
                ในตลาดสายหยุด มีร้านกลางตลาด แต่ที่นั่งในร้านไม่พอ ต้องมาเล่นเก้าอี้ดนตรีกันที่นอกร้าน ซึ่งพอมีที่ให้นั่งบ้าง ผมไปแม่ฮ่องสอนยอมสละอาหารเช้าโรงแรม ๑ มื้อ หรือกินน้อยหน่อย แล้วไปชิมโจ๊กต่อ อร่อยทั้งโจ๊ก ข้าวต้ม และเลือดหมู ตรงข้ามหน้าร้านโจ๊กสัก ๑๐ เมตร มีแผงขายขนมสำคัญ เจ้านี้อร่อยที่สุด หมุนเวียนทำมา ได้แก่ ขนมอาละหว่า ,เปงม้ง และส่วยทะมิน กับขนมหม้อแกงถั่ว อย่าลืมซื้อเป็นอันขาด เจ้าอื่นก็มีชาวเมืองบอกว่า อร่อยสู้เจ้านี้ไม่ได้ ส่วนขนมของฝากรวมทั้งเป็นเสบียงของเราด้วย (คอสุราชอบนัก) คือ ถั่วแปยี ถั่วแบ่หล่อ รสชาติคล้ายถั่วมัน ๆ ที่แขกแบกขาย และยังมีขนมหวานแห้ง ๆ อีกคือ ข้าวซอยตัด งาโบ๋ งาขาวน้ำผึ้งตะไคร้ และงาดำน้ำผึ้งข้าวกล้อง (เจ้าอร่อยต้องตราดอกงา มีขายทั่วไป)  เดินตลาดเห็นผักสดแล้วอยากกินอาหารผักกันทุกมื้อ เพราะสด น่ากินเหลือประมาณ
                ยังไม่ได้ไปวัด ไปเที่ยวกะเหรี่ยงคอยาว กันก่อน กะเหรี่ยงคอยาวไที่ไปชมกันนั้นมี ๓ จุด ไปยากกว่าเพื่อนคือ บ้านน้ำเพียงดิน ต้องนั่งเรือไปและอยู่ฝั่งพม่า "บ้านในสอย"  รถเข้าเกือบถึงต้องถ่ายรถไปต่อรถกระบะ แต่มีเส้นใหม่ยังไม่เคยไป อาจจะไม่ต้องถ่ายรถก็ได้ แต่กะเหรี่ยงคอยาว ที่อยู่ใกล้ ไปสะดวกที่สุดคือ ที่บ้านห้วยเสือเฒ่า เป็นหมู่บ้านใหม่ของกะเหรี่ยงคอยาว เส้นทางให้วิ่งกลับมาทางไป อ.ขุนยวม ประมาณ ๑.๕ กม. เลี้ยวขวาตรงซุ้มประตู ไปตามป้าย จนถึงสามแยกเลี้ยวไปประมาณ ๑๐ กม. จะข้ามสะพานข้ามแม่น้ำปาย สองฟากทางร่มรื่น ผ่านฝายกั้นน้ำหลายแห่ง รถข้ามได้ ผ่านค่ายพักแรม มีป้ายริมถนนบอกว่าให้ระวัง "หมู"  ระวังช้างเดินข้ามถนน ห้ามบีบแตร (คงกลัวช้างตกใจ) มีบ้านแม่ส่วยอู โครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ไม่ผ่านแต่ต้องเลยไปอีก ๑๐ กม.) ก่อนถึงหมู่บ้าน จะพบโรงเรียนใหญ่ ที่ดินเป็นที่ราชพัสดุเลยโรงเรียนก็เข้าถึงหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่า หมู่บ้านของชาวปาดอง
                ชายชาวปาดอง สวมกางเกงขายาว เสื้อตัวสั้น มีผ้าโพกศีรษะ หญิงสวมเสื้อทรงกระบอกสีขาว ยาวถึงสะโพก ซิ่นสีดำยาวถึงเข่า ไว้ผมหน้าม้า เกล้ามวย สวมห่วงทองเหลืองรอบคอ โดยจะเริ่มสวมตั้งแต่อายุ ๕ - ๙ ปี สวมครั้งแรกหนักไม่เกิน ๒.๕ กก. จะเปลี่ยนห่วงให้หนักขึ้นทุก ๕ ปี  ในชีวิตถ้าอายุยืนจะเปลี่ยนห่วงทั้งหมด ๙ ครั้ง ครั้งสุดท้ายไม่เปลี่ยนอีกใส่จนตาย หญิงที่สวมห่วงมากที่สุดนับได้ ๓๒ วง
                เมื่อลงไปยังหมู่บ้านไปตามทางเดิน สองข้างทางจะมีชาวบ้านนำสินค้ามาขายตัดหน้าชาวปาดอง ที่เราจะไปดู ผมเลยเรียกว่า พวกกะเหรี่ยงคอสั้น ขายเสื้อผ้า ของที่ระลึก อัญมณี ราคาไม่แพง เดินไปจนข้ามสะพานไม้ ก็จะถึงที่อยู่ ที่ขายสินค้าของกะเหรี่ยงคอยาว อย่าลืมอุดหนุนพวกเขาด้วย อย่าไปหลงกับสินค้ากะเหรี่ยงคอสั้น คอยาว ขายเสื้อผ้า เทปเพลงที่ทำได้ดี คนร้องก็ขายของอยู่ มีกีตาร์ให้ดีดแล้วร้องให้ฟังก็ได้ ขอถ่ายรูปร่วมก็ได้ ขายอัญมณี ขายห้องสุขา ราคา ๓ บาท หมู่บ้านนี้พึ่งมีไม่กี่ปีมานี้เอง มาจากพม่า
                วันนี้ผมยังไม่ได้พาไปไหว้พระเลย มาแม่ฮ่องสอนต้องเที่ยววัด ชมวัฒนธรรม ชมศิลปะไทยใหญ่ที่งดงาม ธรรมชาติที่ยังสวยสมบูรณ์ อากาศบริสุทธิ์ยิ่งกว่าแห่งใด
                ร้านอาหารที่ตั้งมานานร่วม ๓๐ ปี ฝีมืออาหารคงที่ แน่นทั้งฝรั่งและไทย หากไปหลายคนจองไปก็ดี เพราะกรุ๊ปทัวร์เข้าเต็ม ชั้นบนมีห้องจัดเลี้ยงได้ เส้นทางถนนอุดมซาวนิเวศน์ แม่ฮ่องสอนมีถนนสายหลักอยู่เส้นเดียวคือ ถนนขุนลุมประพาส จะหาร้าน หาโรงแรมก็ยึดสายนี้เอาไว้ หากผ่านไปรษณีย์ไปแล้ว ผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ไปอีกสัก ๕๐ เมตร จะมีถนนแยกขวาปากทางบอกไปร้าน เลี้ยวขวาไปแล้วจอดได้เลย ร้านอยู่ทางขวามือ
                ขาหมูยัดไส้ อาหารชวนชิม เป็นขาหมูส่วนหน้า ยัดไส้ด้วยกุ้ง หมูสับ  ไข่แดง และไส้กรอก นำไปทอดจนกรอบนอกนุ่มใน จิ้มน้ำซ๊อสซีอิ้วหวาน กินตอนยกมาร้อน ๆ
                ปลาแม่น้ำปาย ทอดกระเทียมพริกไทย หอมฟุ้งชวนชิมมาแต่ไกล แล่ปลามาเป็นชิ้น ๆ ช่วยให้กินสะดวก จิ้มซ๊อสพริก
                แกงป่า บุษบา ชวนชิม น้ำน้อย ผักมาก ปลาแม่น้ำปาย ราดข้าวอร่อยนัก
                ยำผักกูด ผักที่ขึ้นตามชายน้ำสะอาด ยำกับน้ำพริกเผา ผักกูดยำอร่อยกว่าเอามาผัด
                กบภูเขา หรือ เขียดแรว ทางฝั่งไทย หากินไม่ได้แล้ว มาจากฝั่งพม่า หรือมีอีกแห่งตัวคล้ายกันคือ ที่ อ.เบตง จ.ยะลา เป็นกบที่มีขนาดใหญ่มาก เนื้อจะมาก สับมาเป็นชิ้น แล้วทอดจนกรอบ กินได้หมดทั้งตัว แม้แต่กระดูกก็ไม่เหลือให้แมวกิน


    • Update : 23/7/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch