|
|
มองเห็นเป็นธรรม - รัก ที่แท้จริง
ความรัก.....คืออะไร? คำตอบมีมากมาย มีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดี คละกันไป ตามแต่จินตนาการของคนตอบจะสรรค์สร้างขึ้นจากประสบการณ์ชีวิตของตน ไม่มีคำตอบที่สมบูรณ์พร้อมสำหรับคนที่ถาม แต่น่าแปลกที่ยังมีคนแสวงหาความรักอยู่มากมาย และมีคนให้ความหมายความรักอีกมากมาย
ปรารภเรื่องความรักขึ้นมา ด้วยเหตุที่จะแสวงหาคำตอบว่า รักที่จริงแท้คืออะไร? มุ่งหวังให้คนที่กำลังแสวงหาความรักได้ตระหนักถึงความรักที่จริงแท้ อันจักก่อแต่สุขประโยชน์แก่ชีวิตของตนและคนที่ตนรัก และเพื่อสวัสดิผลอันงดงามของวัฒนธรรมประเพณีไทย ที่บรรพชนไทยได้ก่อกำเนิดไว้ ให้ดำรงอยู่สืบไปอย่างวัฒนาสถาพร
ความรัก เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป เป็นปฏิกิริยาพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ดีที่พึงมีต่อกัน เป็นปฏิกิริยาตรงข้ามกับความเกลียดชัง มนุษย์ทุกคนจึงสัมผัสความรักมาตั้งแต่ลืมตาขึ้นดูโลกใบนี้ เริ่มแต่ความรักอันบริสุทธิ์ที่พ่อแม่มอบให้แก่ลูกน้อย มาสู่ความรักในครอบครัวเช่นจากพี่น้องและวงศาคณาญาติ ความรักจากสังคม เช่น จากครู เพื่อน เจ้านาย พระมหากษัตริย์ ความรักจากอุดมคติ คือจากพระศาสดา ความรู้สึกถึงความรักเหล่านี้สามารถสัมผัสได้จากหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อกัน ตามนัยแห่งหน้าที่ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในสิงคาลกสูตร เรื่องทิศ ๖ ดังนี้
หน้าที่ของมารดาบิดา ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนสิงคาลกคฤหบดีบุตรว่า “ดูกรคฤหบดีบุตร มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า อันบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยตั้งใจไว้ว่าท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ ๑ จักรับทำกิจของท่าน ๑ จักดำรงวงศ์สกุล ๑ จักปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก ๑ ก็หรือเมื่อท่านละไปแล้ว ทำกาลกิริยาแล้ว จักตามเพิ่มให้ซึ่งทักษิณา ๑ ฯ มารดา บิดา ผู้เป็นทิศเบื้องหน้าอันบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕ คือ ห้ามจากความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑ ให้ศึกษาศิลปวิทยา ๑ หาภรรยาที่สมควรให้ ๑ มอบทรัพย์ให้ในสมัย ๑ ฯ มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าอันบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องหน้านั้น ชื่อว่าอันบุตรปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัยด้วยประการฉะนี้ ฯ”
หน้าที่ของครูอาจารย์ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนสิงคาลกคฤหบดีบุตรว่า “ดูกรคฤหบดีบุตร อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวาอันศิษย์พึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยลุกขึ้นยืนรับ ๑ ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้ ๑ ด้วยการเชื่อฟัง ๑ ด้วยการปรนนิบัติ ๑ ด้วยการเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ ๑ ฯ อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา อันศิษย์บำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยสถาน ๕ คือ แนะนำดี ๑ ให้เรียนดี ๑ บอก ศิษย์ด้วยดีในศิลปวิทยาทั้งหมด ๑ ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง ๑ ทำความป้อง กันในทิศทั้งหลาย ๑ ฯ อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวาอันศิษย์ บำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่า นี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วย สถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องขวานั้น ชื่อว่าอันศิษย์ ปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัยด้วยประการฉะนี้ฯ”
หน้าที่ของสามีภรรยา ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนสิงคาลกคฤหบดีบุตรว่า “ดูกรคฤหบดีบุตร ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลังอันสามีพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยยกย่องว่าเป็นภรรยา ๑ ด้วยไม่ดูหมิ่น ๑ ด้วยไม่ประพฤตินอกใจ ๑ ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้ ๑ ด้วยให้เครื่องแต่งตัว ๑ ฯ ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลังอันสามีบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕ คือ จัดการงานดี ๑ สงเคราะห์คน ข้างเคียงของ ผัวดี ๑ ไม่ประพฤตินอกใจผัว ๑ รักษาทรัพย์ที่ผัวหามา ได้ ๑ ขยัน ไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง ๑ ฯ ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลังอันสามีบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องหลังนั้น ชื่อว่า อันสามีปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัยด้วยประการฉะนี้ฯ”
หน้าที่ของมิตร ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนสิงคาลก คฤหบดีบุตรว่า “ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้ายอันกุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยการให้ปัน ๑ ด้วยเจรจาถ้อยคำเป็นที่รัก ๑ ด้วยประพฤติ ประโยชน์ ๑ ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอ ๑ ด้วยไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความ จริง ๑ ฯ มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้ายอันกุลบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๕ คือ รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว ๑ รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว ๑ เมื่อมิตรมีภัยเอาเป็นที่พึ่งพำนักได้ ๑ ไม่ละทิ้ง ในยามวิบัติ ๑ นับถือตลอดถึงวงศ์ของมิตร ๑ ฯ มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้ายอันกุลบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้น ชื่อว่า อันกุลบุตรปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัยด้วยประการฉะนี้ฯ”
หน้าที่ของนาย ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนสิงคาลกคฤหบดีบุตรว่า “ดูกรคฤหบดีบุตร ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศ เบื้องต่ำอันนายพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง ๑ ด้วยให้อาหารและรางวัล ๑ ด้วยรักษาในคราวเจ็บไข้ ๑ ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้กิน ๑ ด้วยปล่อยในสมัย ๑ ฯ ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำอันนายบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน ๕ คือ ลุกขึ้นทำการงานก่อนนาย ๑ เลิกการงานทีหลังนาย ๑ ถือเอาแต่ของที่นายให้ ๑ ทำการงานให้ดีขึ้น ๑ นำคุณของนายไปสรรเสริญ ๑ ฯ ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำอันนายบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องต่ำนั้น ชื่อว่า อันนายปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัย ด้วยประการฉะนั้นฯ”
หน้าที่ของสมณพราหมณ์ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนสิงคาลกคฤหบดีบุตรว่า “ดูกรคฤหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑ ด้วยวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑ ด้วยมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑ ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู ๑ ด้วยให้อามิสทานเนืองๆ ๑ ฯ สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ กุลบุตรด้วยสถาน ๖ คือ ห้ามไม่ให้ทำ ความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑ อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม ๑ ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑ ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง ๑ บอกทางสวรรค์ให้ ๑ ฯ สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ กุลบุตรด้วยสถาน ๖ เหล่านี้ ทิศเบื้องบนนั้น ชื่อว่าอันกุลบุตรปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัย ด้วยประการ ฉะนี้ฯ”
เมื่อทราบถึงหน้าที่ที่ควรปฏิบัติต่อกันตามฐานะแล้ว ลองย้อนพิจารณาตัวเราเองว่าได้ทำหน้าที่เหล่านี้ต่อบุคคล อื่นแล้วหรือไม่? แล้วถามตนเองต่อไปว่าเรามีความรักให้บุคคลเหล่านั้นแล้วหรือ? เมื่อพิจารณาถึงที่สุดจะพบว่าความรักที่ตนเองมีต่อพ่อแม่หรือลูก, ครูอาจารย์หรือศิษย์, สามีหรือภรรยา, มิตร, นายหรือบ่าว และสมณพราหมณ์หรือผู้ที่เคารพ เป็นอย่างไร การมีความรักและไม่มีความรักให้ผลต่างกันอย่างไร? คำตอบเหล่านี้จะสะท้อนถึงความรักที่เรามีต่อคนอื่น สุขหรือทุกข์จากความรัก จึงเป็นผลของการไม่ปฏิบัติตนตามหน้าที่ที่ควรทำนั่นเอง
ความรักที่เกิดจากการทำหน้าที่ของตน เป็นความรักที่จริงแท้ อำนวยผลเป็นสุขประโยชน์ให้แก่บุคคลผู้ทำหน้าที่ของตนเสมอ ทั้งยังก่อให้เกิดกระแสความรักที่ไหลหลั่งหมุนเวียนในจิตใจของบุคคลรอบข้างอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ยังสุขประโยชน์ให้เป็นไปในสังคมของตน ด้วยอำนาจแห่งสุขประโยชน์นั้น ก็จะทำให้เกิดความปรารถนา ให้ผู้อื่นได้รับสุขประโยชน์เช่นตนบ้าง จึงแนะนำและทำตนให้เป็นตัวอย่างแก่คนอื่นอยู่เสมอ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงความรักต่อเพื่อนมนุษย์ นำให้เกิดพระพุทธศาสนาสืบมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อทราบความหมายแห่งรักที่จริงแท้ดังนี้แล้ว ก็จะเข้าใจได้ว่าความรักที่ทุกคนแสวงหาในวัยหนุ่มวัยสาวนั้น ไม่ใช่ความรักที่จริงแท้ แต่เป็นความใคร่ ความปรารถนา ที่มุ่งหวังแต่สุขประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว ซึ่งเมื่อแต่ละคนประพฤติตนโดยมุ่งหวังสุขประโยชน์ของตนเช่นนี้ ก็ทำให้กล้าที่จะทำลายประเพณีที่ดีงามอันบรรพชนได้สร้างสรรค์ไว้ เพศสัมพันธ์จึงเป็นคำตอบสุดท้ายของคนกลุ่มนี้ นี่เป็นเหตุทำให้เขาเหล่านี้ มีพฤติกรรมที่ต่ำกว่าสัตว์ดิรัจฉาน เพราะเหตุว่าสัตว์จะมีเพศสัมพันธ์ตามเวลา เพื่อการดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ของมัน
เพราะตระหนักถึงภัยที่เกิดจากความใคร่อันจักก่อปัญหาขึ้นในสังคม ทำให้สังคมเต็มไปด้วยอบายมุข ไร้ซึ่ง ศีลธรรม และความดีงาม พระพุทธเจ้าจึงทรงกำหนดศีลข้อที่ ๓ ไว้ว่า กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ทรงบัญญัติศีลข้อนี้ด้วยหวังปลูกความสามัคคี สร้างความเป็นปึกแผ่น ป้องกันความแตกร้าวในหมู่มนุษย์ และทำให้วางใจกันและกัน ชายกับหญิงแม้ไม่ได้เป็นญาติกัน ก็ยังมีความรักใคร่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ด้วยอำนาจความปฏิพัทธ์ในทางกามสิกขาบทข้อนี้ แปลว่า เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย คำว่า “กามทั้งหลาย” ในที่นี้ได้แก่ กิริยาที่รักใคร่กันทางประเวณี หมายถึง เมถุน คือ การส้องเสพระหว่างชายหญิง
พระพุทธเจ้าทรงแสดงผลแห่งการผิดศีลข้อ ๓ นี้ของ พระองค์ไว้ มีบันทึกหนังสือสัมภารวิบาก (กว่าจักเป็นพระพุทธเจ้า) ว่า ณ กาลเมื่อปุณฑริกกัป ๑ บังเกิด ครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์ได้เสวยพระชาติกำเนิดในตระกูลช่างทอง เมื่อเจริญวัยใหญ่กล้าขึ้นแล้ว ก็เป็นช่างทองผู้ ฉลาด ทรงรูปสิริเลิศล้ำบุรุษ ณ กาลนั้นท่านได้ปลอมตัวเป็นขัตติยนารี แล้วใช้อุบายร่วมภิรมย์สังวาสกามรดีกับนางกาญจนวดี ธิดาของกรัณฑกะ มหาเศรษฐี ผู้เป็นภรรยาของบุตรชายแห่งวิสาลมหาเศรษฐี ด้วยอำนาจแห่งความปรารถนาของตน เมื่อตายจากชาตินั้น พระองค์ต้องไปตกนรกได้รับทุกขเวทนานานนับหมื่นปี เมื่อพ้นกรรมจากนรก ก็มาเกิดเป็นกระเทย ลา โค อย่างละ ๕๐๐ ชาติ จึงจะพ้นวิบากกรรมนั้น
พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสพระสัทธรรมสอนพุทธเวไนยนิกรว่า “สัตว์ทั้งหลายในโลกสันนิวาสนี้ ย่อมได้เสวย ทุกขเวทนาแสนสาหัสในอบายภูมิ ๔ เพราะเดือดร้อน ด้วยราคาทิกิเลส ผู้ไม่รู้พระสัทธรรมเป็นเหตุให้เจริญภพ เจริญชาติ ความก่อเกิดเป็นร่างกายเที่ยวเวียนว่ายอยู่ในโอฆสงสาร แม้จะกำหนดกำเนิดด้วยอนากโกฏิอสงไขยกัป นั้นนับมิได้ เมื่อเป็นพุทธบุคคลแล้วนั้นแล จึงจัดได้ชื่อว่าเป็นผู้พ้นจากจตุราบาย”
เหตุนี้ จึงพอสันนิษฐานได้ว่า กระเทย ทอม ดี้ ผู้มีความผิดปกติทางเพศ ย่อมเป็นผู้ได้เคยกระทำผิดศีลข้อ ๓ มาแต่อดีต ผลแห่งกรรมนั้นจึงทำให้มาดำรงสภาพเป็น กระเทย ทอม ดี้ ในชาตินี้ เพราะความปรารถนาที่ผิดปกติครอบงำ ทำให้เขาเหล่านั้นมีดวงตามืดบอดต่อความดีงามและจารีตประเพณี เกิดความคิดเห็นว่าสิ่งที่ตนทำ นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จึงเผยแพร่ความคิดที่วิปริตไปในสังคม ชักจูงให้เยาวชนผู้ไร้ความคิดดำเนินชีวิตแบบวิปริต ตามไปอีกมากมาย ทำให้ทราบว่าคนทำผิดศีลข้อ ๓ แต่อดีตกาลนั้นมีมากเพียงใด ผลที่ติดตามมาก็คือความเสื่อมสูญของจารีตประเพณีและพระพุทธศาสนา
แม้จะมีพระสงฆ์ที่มุ่งมั่นสอนแนวทางการดำเนินชีวิตไปตามหลักการแห่งรักที่จริงแท้ ตามพระบรมพุทโธวาท อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถนำวิถีสังคมไทยที่งดงามให้สามารถคงอยู่สืบไป เพราะคนไทยเสพความรักจอมปลอมจากสื่อสารมวลชนไปจนติดใจแล้ว สังเกตได้จากละครทีวีที่เป็นเรื่องราวประโลมโลกเป็นส่วนใหญ่ นี่ จึงเป็นสาเหตุนำให้เกิดปัญหาทางสังคมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ยากที่จะแก้ไขให้กลับมาได้ในสถานการณ์ทุนนิยมเช่นปัจจุบัน
การแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดจากความรัก จึงเป็นหน้าที่ ของคนในสังคมทุกคน ที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบตามฐานะ แห่งตน ด้วยการทำความรักที่จริงแท้ให้ปรากฎในครอบ ครัวของตน และผลแห่งความรักเช่นนี้ จะแพร่กระจายไปในสังคม ทำให้สังคมมีแต่สุขประโยชน์ตลอดไป
๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เป็นวันวาเลนไทน์และวันตรุษจีน ควรที่เยาวชนผู้ปรารถนาความรัก พึงแสดงความ รักที่จริงแท้แก่บุพการีชนของตน ให้เหมือนกับคนจีนที่รักษาพิธีการวันตรุษจีนไว้อย่างเหนียวแน่น พร้อมกับสอนนัยยะแห่งการดำเนินชีวิตผ่านพิธีการวันตรุษจีนแก่ลูกหลาน ซึ่งการณ์นั้นก็เป็นไปตามพระโอวาทปาฏิโมกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในวันมาฆบูชาว่า “การไม่ทำ บาปทั้งปวง การยังกุศลให้ถึงพร้อม และการทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว” นี่ล่ะคือสุขประโยชน์ที่แท้จริง
อย่าทำตนให้มีความรักที่เศร้าหมอง เหมือนคนที่ให้นิยามความรักไว้ว่า LOVE : L = Lake of tears (ทะเล สาบแห่งน้ำตา) O = Ocean of sorrow (มหาสมุทรแห่งความเสียใจ) V = Valley of death (หุบเขาของความตาย) E = End of life (จุดจบของชีวิต) แล
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 111 กุมภาพันธ์ 2553 โดยพระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)
|
Update : 23/7/2554
|
|