|
|
เที่ยวทั่วไทย-แม่ฮ่องสอน (๑)
แม่ฮ่องสอน (๑)
แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดเดียวของประเทศไทย มีมีอดีตของยุคใหม่ยาวนานไม่เกิน ๒๐๐ ปี แต่ก่อนหน้านั้นแผ่นดินในลุ่มน้ำปาย ก็มีอดีตที่ดึกดำบรรพ์ยาวนานนับพันปี แต่ความเป็นมายังไม่สามารถค้นหาหลักฐานที่แน่นอนได้ นอกจากโบราณวัตถุที่ถูกค้นพบ เช่น โลงผีแมน ในอำเภอปางมะผ้า ซึ่งแสดงว่ามีชุมชนอยู่ในแผ่นดินนี้นานกว่า ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๔ เจ้าแก้วเมืองมา พระญาติของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้นำไพร่พลไปโพนช้าง และดูแลชาวไทยใหญ่ที่ไปตั้งหมู่บ้านอยู่ที่โป่งหมู ซึ่งต่อมาได้เรียกเลือนไปเป็น " บ้านปางหมู " อยู่ในเขตอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน ปางหมูจึงเป็นหมู่บ้านแห่งแรกของชุมชนแม่ฮ่องสอน จากนั้นเจ้าแก้วเมืองมา จึงได้นำไพร่พลไปตั้งคอกจับช้างอยู่ทางตอนใต้ของปางหมูบริเวณลำน้ำเล็ก ๆ คือลำน้ำ " แม่ร่องสอน " แต่ต่อมาจึงเป็น แม่ฮ่องสอน เพราะชาวเหนือเรียกเสียงตัว " ร " เป็นตัว " ฮ " หมด
บริเวณที่เจ้าแก้วเมืองมา โยกย้ายจากปางหมู มาตั้งเป็นที่โพนช้าง และฝึกสอนช้างให้ชักลากไม้ คือบริเวณที่เป็นตัวเมืองแม่ฮ่องสอนในปัจจุบันนี้เอง
เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรกคือ " ชานกาเล " ชาวไทยใหญ่ ซึ่งเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๑๗ ได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมือง มีบรรดาศักดิ์ว่า " พญาสิงหนาทราชา " ซึ่อก่อนเข้าสู่ชุมชนของเมืองจะมีอนุสาวรีย์ของท่านตั้งอยู่
เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๓ เป็นปีแรกที่จัดระเบียบการปกครองใหม่แบบมณฑล ร.๕ จึงโปรดให้รวมเมืองแม่ฮ่องสอน เมืองขุนยวม เมืองยวม (แม่สะเรียง) และเมืองปาย เป็น " บริเวณเชียงใหม่ตะวันตก " และเปลี่ยนเป็น " บริเวณพายัพเหนือ " ขึ้นตรงต่อมณฑลพายัพในปี พ.ศ.๒๔๕๓ จึงย้ายที่ทำการมณฑลพายัพเหนือมาตั้งที่เมืองแม่ฮ่องสอน ในรัชสมัย ร.๖ จึงเปลี่ยนเป็นเรียก จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขึ้นกับมณฑลพายัพเปลี่ยนเมืองยวมเป็น แม่สะเรียง
การปกครอง แม่ฮ่องสอน มี ๗ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอปางมะผ้า อำเภอปาย อำเภอสบเมย อำเภอแม่สะเรียง อำเภอแม่ลาน้อย และอำเภอขุนยวม
มีอาณาเขตติดต่อกับ รัฐฉานของเมียนม่า ติดต่อกับอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ติดต่อกับอำเภอแม่แจ่ม อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และยังติดต่อกับเมียนม่าอีกทางหนึ่งคือทางทิศตะวันตก
การเดินทาง
เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ เป็นการเดินทางครั้งแรกของผม ที่เดินทางไปแม่ฮ่องสอนทางรถยนต์ไปในหน้าที่ราชการ สมัยนั้นการเดินทางจะไปได้เฉพาะทางรถยนต์เท่านั้น ส่วนทางอากาศยังไม่มีเครื่องบินโดยสารมีแต่ของทางราชการ รถยนต์ที่จะเดินทางไปจากกรุงเทพ ฯ จะต้องไปผ่านจังหวัดเชียงใหม่ก่อนแล้วจึงต่อไปยังอำเภอหางดง อำเภอจอมทอง ต่อจากนั้นจึงเข้าเขตแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีเพียงอำเภอแม่สะเรียง อำเภอขุนยวม อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอปาย ถนนสายขุนยวม แม่ฮ่องสอนปาย - แม่มาลัยของเชียงใหม่ในปัจจุบันนี้ยังไม่ได้รับการปรับปรุงใหม่ ถนนเส้นนี้เป็นเส้นประวัติศาสตร์ เพราะญี่ปุ่นมาริเริ่มสร้างขึ้นไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ เพื่อลำเลียงกำลังพล และเส้นทางส่งกำลังบำรุงเข้าไปยังกองทัพญี่ปุ่นในพม่า ถนนสายนี้เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ จบสิ้นแล้ว การก่อสร้าง ปรับปรุงถนนก็จบตามไปด้วย ผมไปแม่ฮ่องสอนในสมัยนั้นจำได้ว่ารถเดินเพียงทางเดียว ไม่มีราดยางแม้แต่เมตรเดียว นับตั้งแต่ออกจากอำเภอหางดง ถนนบนเขาตั้งแต่ขุนยวมไปแล้วจะไม่สามารถหลีกกันได้ ต้องใช้วิธีถอยหลังเพื่อหาถนนที่กว้างพอจะหลีกกันได้ และทั้งสองฝ่ายจะซื่อสัตย์ต่อกันคือใครถอยน้อยกว่าคันนั้นจะถอยให้ นี่คือถนนไปแม่ฮ่องสอนเมื่อ ๓๘ ปีที่แล้ว
การเดินทางไปแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น
ทางอากาศ ไม่มีสายการบินที่บินตรง ต้องไปต่อเครื่องบินที่เชียงใหม่
ทางรถไฟ มีรถไฟมาได้ถึงเชียงใหม่ แล้วมาต่อทางรถยนต์ หรือทางเครื่องบิน
ทางรถยนต์ ในปัจจุบันมีเส้นทางรถยนต์ที่สะดวกมากน้อยต่างกัน แต่มาได้ทุกเส้นทางถึง ๔ เส้นทางด้วยกัน
เส้นทางแรก คือกรุงเทพ ฯ ตาก ลำปาง เชียงใหม่ ฮอด แม่สะเรียง ขุนยวม แม่ฮ่องสอน เส้นทางนี้ที่บอกว่านับโค้งได้ ๑๘๖๔ โค้ง (นับจากอำเภอฮอด ) เป็นเส้นทางที่นิยมไปกัน ซึ่งจะเป็นเส้นทางแรกที่จะไปผ่าน ดอยแม่อุคอ น้ำตกแม่สุริน แม่เหาะ ทุ่งบัวตอง ในเทศกาลบัวตองบานที่แม่สะเรียง และขุนยวม
เส้นทางที่ ๒ จากเชียงใหม่ ไปยังแม่มาลัย (อำเภอแม่แตง) แล้วเลี้ยวเข้าสู่ถนน ๑๐๙๕ ไปผ่านปาย ปางมะผ้า อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เส้นนี้ไม่มีใครทำสถิติโค้งเอาไว้ แต่ชาวปายเขาบอกว่าช่วงจากแม่ฮ่องสอนมาถึงปาย ๑๑๑ กิโลเมตรนี้มีโค้งมากกว่า ๑,๒๐๐ โค้ง และจากปายมายังแม่มาลัยอีก ๗๐๐ กว่าโค้ง ระยะทางเส้นนี้รวมแล้วจากเชียงใหม่ ๒๔๕ กิโลเมตร แต่สายไปผ่านแม่สะเรียง ๓๔๙ กิโลเมตร ความคดโค้งผมว่าใกล้เคียงกัน แต่ความสูงของภูเขาเส้นปายน่าจะสูงกว่า สูงเสียจนเรียกว่า ถนนลอยฟ้า เพราะอยู่ ๆ แหงนหน้ามองขึ้นไปจะเห็นรถอีกคันวิ่งอยู่สูงลิบเหนือเรา ความนิยมในการเดินทางจึงมักนิยมมากันทางสายนี้ ๑๐๙๕ มากกว่าสาย ๑๐๘ เว้นในเทศกาลดอกบัวตองบานประมาณเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงเดือนธันวาคมจะมากันสาย ๑๐๘ หรือมาสาย ๑๐๙๕ พักแม่ฮ่องสอนแล้วไปเที่ยวทุ่งบัวตองก็ได้
เส้นทางที่ ๓ กำลังเริ่มอยู่ในความนิยม เพราะยิ่งใกล้เข้ามาอีกคือ สายจากอำเภอฮอด แล้วแยกไปสาย ๑๐๘๘ ไปถึงอำเภอแม่แจ่ม จากแม่แจ่มแยกซ้ายไปตามสาย ๑๒๖๖ จะไปผ่านทุ่งบังตอง ที่แม่อุคอ ไปบรรจบกับสาย ๑๐๘ ที่มาจากแม่สะเรียงที่ อำเภอแม่ลาน้อย ระยะทางจะใกล้กว่าทุกเส้นทาง
เส้นทางที่ ๔ ปกติธรรมดาเขาจะไม่มากัน แต่ผมลองเดินทางมา ๒ ครั้งแล้ว ลำบากดี ท้าทายมือนักขับรถ แต่ก็ได้เที่ยวหลายแห่ง มีธรรมชาติที่งดงามไปอีกแบบหนึ่งคือ จากกรุงเทพ ฯ ไป จังหวัดตาก แล้วแยกไปอำเภอแม่สอด ซึ่งจะมีโอกาสแวะเที่ยวอุทยานแห่งชาติถึง ๒ แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติลานสางและอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช แล้วแวะเที่ยว แวะพักค้างคืนที่แม่สอดเสียคืนหนึ่ง รุ่งขึ้นออกเดินทางต่อไปยังอำเภอแม่ระมาด อำเภอท่าสองยาง เข้าเขตแม่ฮ่องสอน ที่สบเมย สวยสุดคือ แม่น้ำเงา ไปบรรจบกับสาย ๑๐๘ ที่อำเภอแม่สะเรียง เส้นทางจะลำบากแต่ก็ราดยางหรือคอนกรีต ระยะทางช่วงสบเมยถึงแม่สะเรียง ระยะทางพอ ๆ กับเส้นผ่านฮอดมาแม่สะเรียง
เส้นทางที่ ๕ น่าสนุก ผมยังไม่เคยทดลอง แต่ไปสังเกตการณ์ไว้แล้ว เมื่อคราวกลับจากเชียงใหม่ทาง " ลี้ " คือเส้นดั้งเดิมเมื่อจะมาเชียงใหม่ จากอำเภอเถิน แยกซ้ายมายังอำเภอลี้ แล้วจะมีถนนอย่างดีตัดไปสู่อำเภอฮอด แล้วไปบรรจบกับถนนสาย ๑๐๘ ทับเส้นทางแรกต่อไป ผมจะรีบไปทดลองไปดูในหนาวนี้แล้วมาเล่าให้ฟัง
แนวทางที่ค้นพบและสะดวก หรือบางเส้นก็ท้าทายนักขับรถ และผมเดินทางสำรวจมาหมดแล้วทุกเส้นทาง มี ๔ เส้นทางด้วยกัน คงเหลือเส้นทางที่ ๕ ยังไม่ได้สำรวจ ช่วงลี้ - ฮอด
สถานที่ท่องเที่ยว
..........................................................................
วัดจองคำ งดงามยิ่งนัก อยู่ริมหนองจองคำ หนองที่มีน้ำตามธรรมชาติตลอดปี เป็นจุดที่ถ่ายภาพได้สวยที่สุด ในเมื่อถ่ายจากฝั่งตรงข้ามกับวัดจองคำ และจองกลาง วัดจองคำเป็นวัดเก่าแก่สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๐ ฝีมือช่างชาวไทยใหญ่ หลังคาวัดเป็นรูปปราสาท เสาวัดประกอบด้วยทองคำเปลว และให้สังเกตอุโบสถ หลังเล็ก ๆ แต่ศิลปะแปลกกว่าอุโบสถอื่น ๆ
วัดจองกลาง อยู่ติดกับวัดจองคำ ภายในวิหารมีพระพุทธสิหิงค์จำลอง มีพิพิธภัณฑ์ มีตุ๊กตาแกะสลักด้วยไม้ฝีมือช่างชาวพม่า มีภาพวาดบนแผ่นกระจก
กะเหรี่ยงคอยาว หรือกะเหรี่ยงเผ่าปาดอง ซึ่งสาว ๆ ของชนเผ่านี้จะใส่ห่วงทองเหลืองประดับไว้ที่คอ ซึ่งเป็นความเชื่อของเผ่า และจะเริ่มใส่ห่วงเข้าไปที่คอตั้งแต่เด็กและเพิ่มน้ำหนักไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีครบ ๒๑ ห่วง (หรืออาจมากกว่า) น้ำหนักห่วงจะไปกดไหล่ เป็นผลให้คอยาวขึ้น และจะถอดออกก็ไม่ได้จะทำให้ " คอหัก " สาวกะเหรี่ยงเหล่านี้น่ารัก พูดจากดี พูดไทยได้ ที่หมู่บ้านของเขามีของที่ระลึกเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เขาทำเอง ไว้ขายราคาไม่แพง คิดไม่ออกก็ซื้อรูปโปสการ์ดราคาใบละ ๑๐ บาท อุดหนุนเขาไว้ก่อนขอถ่ายรูปได้ กะเหรี่ยงคอยาวในแม่ฮ่องสอนที่เป็นหมู่บ้านต้อนรับนักท่องเที่ยว และไปสะดวกมี ๓ หมู่บ้าน คือำเภอ -
บ้านน้ำเพียงดิน ต้องนั่งรถไปลงเรือ เป็นหมู่บ้านอยู่ชายแดนไทย - พม่า แล้วนั่งเรือไปตามลำน้ำปาย
บ้านห้วยเสือเฒ่า อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๒ กิโลเมตรรถเข้าถึงหมู่บ้าน
บ้านในสอย ผมแนะนำให้ไปที่บ้านนี้เพราะไปสะดวกกว่าแห่งอื่น ๆ และยังมีแหล่งท่องเที่ยวในเส้นทางเดียวกัน กะเหรี่ยงคอยาวบ้านนี้อพยพมาจากบ้านน้ำเพียงดินเป็นส่วนใหญ่ ไปสะดวก แต่เมื่อไปถึงปลายทางถนนดีแล้ว ไม่ควรเสี่ยงนำรถเข้าไปเอง ควรว่าจ้างรถท้องถิ่นราคาคันละ ๒๐๐ บาท ให้เขาพาไปจะปลอดภัยกว่าเพราะต้องข้ามลำน้ำ และผ่านถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อเข้าไปจนถึงหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว และหมู่บ้านกะเหรี่ยงอพยพ ซึ่งที่ศูนย์นี้มีจำนวนถึง ๒๐,๐๐๐ คน
เส้นทางไปบ้านในสอย ไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๕ เส้นเดียวกับที่จะไปถ้ำปลา ปางมะผ้า และปาย จากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนไปตามถนนสาย ๑๐๙๕ ระหว่างหลักกิโลเมตร ๑๙๘ - ๑๙๙ มีป้ายบอกไปบ้านรักไทย เลี้ยวซ้ายไปพบสามแยก ให้เลี้ยวซ้ายไปจะเป็นเส้นทางไปบ้านในสอย
ตรงสามแยก หากเลี้ยวขวาซึ่งถนนจะดีไปตลอดสาย จะไปยังน้ำตกผาเสื่อ ซึ่งอยู่ห่างจากถนนเพียง ๑๐๐ เมตร จะไปผ่านทางแยกเข้าพระตำหนักปาตอง ต่อจากนั้นก็จะไปสิ้นสุดที่บ้านรักไทย ซึ่งเป็นหมู่บ้านชายแดน หมู่บ้านสุดท้าย ซึ่งประชากรคือจีนฮ่อ หรือจีนจากกองพล ๙๓ ที่เข้ามาอยู่ในแดนไทยตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลก ครั้งที่ ๒ และกลายเป็นคนมีสัญชาติไทยไปหมดแล้ว รวมระยะทางจากตัวเมืองถึงหมู่บ้านแม่ออหรือรักไทย ๔๔ กิโลเมตรไปดูชีวิตและวัฒนธรรมของชาวจีนฮ่อ ไปดูบ้านที่สร้างด้วยดินผสมฟาง ไปชิมชา ไปกินอาหารยูนนาน
วันแรกที่ไปถึงผมพักที่เฟริน ริมธารรีสอร์ท ๐๕๓ ๖๘๖๑๑๐ - ๑ ผมไปแม่ฮ่องสอนทุกครั้ง ผมจะพักประจำที่รีสอร์ทแห่งนี้ เพราะนอกจากสถานที่จะแจ่มแจ๋ว บรรยากาศยอดเยี่ยมแล้ว ยังอยู่ใกล้น้ำตกและชิมอาหาร ไม่ต้องไปไหน ห้องอาหารของรีสอร์ท รสเลิศ แถมอาหารเช้าฟรีด้วย
หากไปจากทางอำเภอขุนยวม ก่อนจะถึงตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ๗ กิโลเมตร (ดูจากหลักกิโลเมตร) จะมีร้านลาบเป็ดอีสาน ขึ้นป้ายไว้ตัวโตทางซ้ายมือ ทางเข้ารีสอร์ทอยู่ตรงข้าม ป้ายเบียร์คาลเบริก์เลี้ยวขวาเข้าไป ๒ กิโลเมตรรีสอร์ท และห้องอาหารอยู่ขวามือ เขาแบ่งน้ำจากธารน้ำตกเข้ารีสอร์ท ทำให้น้ำตกไหลผ่านหน้าห้องพักทุกห้อง สวยงามเป็นธรรมชาติจริง ๆ
อาหารเช้าเขาเลี้ยงฟรี จะกินข้าวต้ม หรือฝรั่งเขาก็มีให้ รสดีทีเดียว
มื้อกลางวัน หรือมื้อเย็น ผมชิมของเขาอยู่ ๒ มื้อ สรุปได้ดังนี้.-
หมูกะทะ อุปกรณ์ของเขามีเตา มีกะทะ ผมไปกำลังหนาว อบอุ่นดีนัก จานใส่ผัก มีผักกาดขาว เซลารี่ ต้นหอม แครอท วุ้นเส้น ผักสด กรอบ หวาน ทำให้น้ำซุปยิ่งหวานตามไปด้วย ซดร้อน ๆ ชื่นใจ
ส่วนหมูเขาหมักมาจนรสเข้าเนื้อ ชิ้นใหญ่พอควร มีน้ำจิ้ม ๒ แบบ แจ่ว และสามรส
ไก่เมืองทอดตะไคร้ มีทั้งไก่ฉีก และไก่เป็นชิ้น ทอดแล้วมีรสในเนื้อไก่ มีผักสลัดเคียง
อุ๊บไก่ เป็นแกงพื้นเมืองของไทย แกงค่อนข้างแห้ง ไม่เผ็ด ใส่ข่า มะเขือเทศ ตะไคร้ ขมิ้น
ผักกูดไฟแดง จานนี้อย่าโดดข้ามไป และต้องกินตอนเขายกมาเสริฟร้อน ๆ จึงจะโอชะ
หมูแดดเดียว เขาปรุงรสดี นุ่ม เคี้ยวสนุก เป็นแกล้มดีนัก
ร้านใบเฟริน์ เจ้าของเดียวกัน อยู่ในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ถนนขุนลุมประพาส ไปแวะชิมเป็นมื้อกลางวันได้ แต่หากพักที่นี่ กินบรรยากาศที่ริมธารน้ำตกก็กินอาหารเสียที่ห้องอาหารรีสอร์ท
ในตัวอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน.-
อนุสาวรีย์พญาสิงหนาทราชา หรือ ชานกาเล ชาวไทยใหญ่ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองคนแรก และได้สร้างความเจริญให้แก่แม่ฮ่องสอนเป็นอันมาก
เที่ยวชมวัด ไม่ว่านับถือศาสนาใด มาแม่ฮ่องสอนจะต้องชมวัดสำคัญ ๆ ให้จงได้ เพราะวัดในแม่ฮ่องสอนเป็นศิลปะไทยใหญ่ผสมพม่า มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนวัดในภาคใดของไทย ลักษณะเด่นคือ หลังคาซ้อนชั้น และพระเจดีย์ทรงเครื่องแบบมอญประดับลายปูนปั้น
ตลาดเช้า ก่อนไปไหว้พระ ชมวัด ขอแนะนำว่าตื่นเช้าขึ้นมารีบไปตลาดเช้าเสียก่อน ตลาดสดกลางเมืองไปตามถนนขุนลุมประพาส พอผ่านธนาคารทหารไทยก็เลี้ยวซ้ายเข้าข้างตลาดไปจอดรถในวัดหัวเวียงได้ เมื่อก่อนยิ่งสมัยที่ผมมาครั้งแรกนั้น ตลาดนี้จะเป็นตลาด
" สายหยุด " คือพอแปดโมงเช้าแม่ค้า (ส่วนใหญ่)พ่อค้า จะแบกสินค้ากลับบ้านกันหมด แต่เดี๋ยวนี้จะเป็นตลาดสายไม่ถึงกับหยุดเพียงแต่จะน้อยลง เพราะมีตลาดถาวรจึงมีร้านค้าขายกันทั้งวัน ไปตอนเช้ายังมีโอกาสซื้ออาหารใส่บาตร และชาวเมืองแม่ฮ่องสอนยังมีโอกาสใส่บาตรแปลกกว่าเมืองอื่น ๆ คือจะมีรถเข็นของวัด เข็นโดยเด็กวัด (อายุครึ่งคน)เข็นรถมาจอดทิ้งไว้ ใครจะซื้ออาหารถวายพระก็ซื้อแล้วไปวางไว้ในรถเข็น พอใกล้เพลเด็กวัดก็จะมาเข็นรถกลับวัด ไม่มีการเข็นไปที่อื่น โอกาสทำบุญของคนตื่นสายโดยไม่ต้องไปถวายที่วัดก็ยังมี
วัดพระธาตุดอยกองมู ควรจะไปเป็นวัดแรก และควรไปในยามเช้า อากาศจะดีมากและอาจได้ชมหมอก เพราะแม่ฮ่องสอนได้ชื่อว่าเป็นเมือง " สามหมอก " มีหมอกทั้งฤดูฝน ฤดูหนาวและฤดูร้อน มีถนนขึ้นสู่ยอดดอยกองมู ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์ ๒ องค์ บรรจุพระอรหันต์ธาตุ วัดนี้เดิมชื่อว่าวัดปลายดอย ประกอบด้วยพระเจดีย์สำคัญ ๒ องค์ องค์ใหญ่สร้างโดย " จองต่องสู่ " เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๓ บรรจุพระธาตุของพระโมคคัลลานะเถระ โดยนำมาจากประเทศพม่า ส่วนพระธาตุเจดีย์องค์เล็ก สร้างโดยชานกาเล หรือพญาสิงหนาทราชา เจ้าเมืองคนแรก ขึ้นไปนมัสการพระธาตุบนดอยกองมูนี้ จะมองเห็นทิวทัศน์แทบทั่วเมืองแม่ฮ่องสอน และการนมัสการควรได้ซื้อดอกไม้ธูปเทียนของทางวัดที่ศาลาด้านข้างซึ่งขายเป็นชุด จะมีสะพานไม้และไม้ค้ำเล็ก ๆ ด้วย สะพานเดินข้าม อุปสรรคหรือไปสู่สวรรค์ ไม้ค้ำคือค้ำชีวิตของเราไว้ยามตกยาก และดอกไม้ธูปเทียน ซื้อแล้วนำไปไหว้ที่พระประจำวันเกิดของเรา ไหว้แล้วก็อธิษฐานขอพร ก่อนวางไหว้ ควรได้เดินทักษิณาวัตรเสียก่อน ๑ รอบก็ยังดี
บริเวณพระธาตุเดี๋ยวนี้พัฒนาไปมากและรวดเร็ว ไปครั้งหลังเห็นมีที่จอดรถ ร้านค้ามากขึ้น
วัดพระนอน วัดนี้อยู่เชิงทางขึ้นพระธาตุดอยกองมู จะไปวัดนี้ให้นำรถไปจอดไว้ที่วัดก้ำก่อเสียก่อน แล้วเดินข้ามมาวัดพระนอน ซึ่งมีพระนอนอยู่ในพระอุโบสถ วัดพระนอนสร้างโดยพระนางเมียะ ชายาของพญาสิงหนาทราชา สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๔ วัดนี้เป็นวัดประจำตระกูลของเจ้าเมืองแม่ฮ่องสอน
พระพุทธรูปปางไสยาสน์ในอุโบสถนั้น สร้างตามแบบศิลปะพม่า ก่ออิฐถือปูน และยังมีพิพิธภัณฑ์ที่แสดงพระพุทธรูปต่าง ๆ ที่พบในแม่ฮ่องสอน หนังสือธรรมภาษาไทยใหญ่ หรือ " ลีกไต "
วัดก้ำก่อ สถาปัตยกรรมไทยใหญ่ที่งดงามมาก วัดนี้อยู่ตรงข้ามกับวัดพระนอน ก้ำก่อ แปลว่า ดอกบุนนาค หลังคาคลุมทางเดินสู่อุโบสถ งดงามอย่างยิ่ง และเด่นพิเศษกว่าวัดอื่น ๆ เพราะหลังคาเล่นระดับลดหลั่นลงตามความลาดเอียงของพื้นที่
วัดหัวเวียง อยู่ถนนสีหนาทบำรุง ติดกับตลาดเช้า เข้าถนนหน้าวัดตรงหน้าธนาคารทหารไทย แล้วเลี้ยวเข้าวัด แต่หากไปเข้าแม่ค้าพ่อค้าจะแน่นวางขายของริมถนน แต่เมื่อเข้าไปแล้วจอดรถในวัดสะดวก มีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปพระเจ้าพาราแข่ง เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องประจำเมืองที่งดงามอย่างยิ่ง มีประวัติว่าหล่อมาจากพระมหามุนี ซึ่งเป็นพระเจ้าพาราแข่งองค์จริงที่ประดิษฐานอยู่ที่มัณฑเลย์ พระพุทธรูปองค์นี้สร้างเป็น ๙ ท่อน นำล่องมาตามลำน้ำปายแล้วนำมาประกอบที่วัดพระนอน แล้วจึงนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดหัวเวียง
|
Update : 22/7/2554
|
|