หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ธรรมะกับชีวิตประจำวัน - วางแผนชีวิต ต้องคิดไว้ล่วงหน้า
    พระธรรมในพระพุทธศาสนานั้น พูดได้ว่าเป็นคำตอบในเรื่องปัญหาของชีวิต ที่เรามีในทุกวันเวลา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาประเภทใด เมื่อเกิดขึ้นในจิตของเรา เราก็ต้องหาคำตอบในด้านธรรมะของพระพุทธเจ้า พระองค์มีคำตอบไว้ให้เราอย่างถูกต้องเรียบร้อย คล้ายๆ กับปทานุกรมมีไว้ให้เราค้นคำตอบอันถูกต้องในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาชีวิตของเรา แต่ว่าคนเราโดยทั่วไปนั้น ไม่ค่อยจะได้คิดถึงข้อนี้ ไม่ได้สนใจในสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่เราควรจะสนใจในชีวิตประจำวัน เพราะความไม่สนใจไม่ศึกษาไม่เข้าใจเรื่องธรรมะนี่เอง ทำให้เรามีปัญหาเพิ่มพูน ขึ้นทุกวันเวลา และไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร เมื่อแก้ไม่ได้ ก็ตกที่อับจน ผลที่สุดก็กลายเป็นเสียคน หรือว่าทำลาย ตนเองไปเสียก็มี
           
           เราอย่าหลงผิดเข้าใจผิดไปว่า ความเจริญในด้านวัตถุจะเป็นเครื่องช่วยทำให้เราเป็นสุข ความเจริญในด้านวัตถุนั้นเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกเท่านั้น ให้เราสะดวกในการกิน การใช้ การอยู่ การไป การมา การใช้สอยอะไรต่างๆ ดีขึ้นกว่าสมัยก่อน...
           
           เพราะฉะนั้นการที่เราอาจคิดไปว่า เดี๋ยวนี้โลกมันเจริญ มีอะไรต่างๆดีขึ้น มนุษย์เราก็สะดวกสบายดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นอะไรที่จะต้องหันเข้าหาธรรมะ หรือหันเข้าหาพระศาสนา อันเป็นสิ่งที่คนโบราณเขาถือกันว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะอะไรๆ มันก็สะดวกอยู่แล้ว นั่นแหละคือการเข้าใจผิด เลยละทิ้งสิ่งที่มีคุณค่าแก่ชีวิตเสีย ไม่ได้เอามาใช้ในชีวิตประจำวัน...
           
           แต่ถ้าเรามาศึกษาธรรมะไว้บ้าง อย่างน้อยๆก็พอจะได้เป็นแนวทาง เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจให้รู้จักใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือ เพื่อปลงความหนักอกหนักใจลงไปทิ้งเสียบ้าง การยกของมันต้องมีเครื่องมือ ยิ่งในสมัยนี้ของมันหนักๆ ที่เราใช้ มันต้องมีเครื่องทุ่นแรงเป็นเครื่องมือสำหรับที่จะยกจะวาง หรือจะเอาไปตั้งตรงนั้นตรงนี้ ธรรมะก็เป็นเหมือนกับเครื่องทุ่นแรงของจิตใจ ทำให้เราเอาไปใช้เป็นเครื่องแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่นมีเรื่องหนักใจขึ้นมา หนักอื่นมันไม่ร้ายเท่ากับหนักใจ หนักข้าวหนักของยกไม่ไหวก็ทิ้งไว้นั่นก็แล้วกัน แต่ว่าของที่หนักข้างในมันทิ้งไม่ได้ มันต้องแบกไปตลอดเวลา เป็นภาระที่เกาะจับอยู่กับตัวเรา อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจของเราก็เหมือนกัน มันเกาะจับอยู่ในจิตใจของเรา หนักอึ้งอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่มีเครื่องมือสำหรับที่จะปลดมันออก เราก็ต้องเป็นทุกข์เจียนตาย ได้รับทุกข์ขนาดหนัก
           
           เพราะชีวิตของคนเรานั้นไม่ใช่ว่าจะสะดวกสบายเสมอไป บางคราวก็มีความทุกข์ทางใจ มีความเดือดร้อน บางทีก็ไม่ใช่เรื่องของเราหรอก แต่เป็นเรื่องของคนอื่น เช่นความทุกข์เกี่ยวกับพี่ๆ น้องๆ เกี่ยวกับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือเกี่ยวกับบุคคลที่เรามีความสัมพันธ์ทางด้านจิตใจ เป็นมิตรสหาย เป็นผู้ร่วมงานของเรา เวลามีอะไร เกิดขึ้น เราก็พลอยทุกข์พลอยหม่นหมองไปกับบุคคลเหล่านั้น อันนี้เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นแก่เราได้ ถ้าเราไม่รู้จักปล่อยวางมันก็ลำบาก
           
           มีคนจำนวนไม่ใช่น้อยที่เขาได้ใช้หลักธรรมะเป็นเครื่อง ประเล้าประโลมใจอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น มีอะไรเกิด ขึ้นเขาก็จะวางใจเฉยๆ ไม่เสียใจเกินไป ไม่ดีใจเกินไป เพราะมองเห็นว่า มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ มีได้มีเสีย เขานึกถึงธรรมอันหนึ่งเรียกว่าโลกธรรม แปลว่า ธรรมสำหรับโลก คนอยู่ในโลกก็ต้องกระทบเป็นธรรมดา เหมือนเราเดินทางออกจากบ้านไปไหน ก็ต้องพบความสบายบ้าง ความไม่สบายบ้าง เป็นเรื่องธรรมดาฉันใด ในชีวิตของเราก็เหมือนกัน เราอยู่ในโลกก็ต้องพบปัญหาต่างๆ สุขบ้างทุกข์บ้าง ดีบ้างชั่วบ้าง ได้บ้างเสียบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา นี่เขาเรียกว่า โลกธรรม
           
           โลกธรรมนั้นแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ประเภทที่น่าพอใจ ภาษาธรรมะเรียกว่า “อิฏฐารมณ์” แปลว่า อารมณ์ที่น่าปรารถนา และประเภททีไม่น่าพอใจ เรียกว่า “อนิฏฐารมณ์” แปลว่า อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถน
           
           อิฏฐารมณ์ก็คือการได้ ได้ลาภได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้ความสุข เป็นสิ่งที่ใครๆ ต้องการ พอได้ลาภก็ดีใจ ได้ยศก็ดีใจ ได้สรรเสริญก็ดีใจ ใครมายอยิ้มแป้นไปตามๆ กัน ได้ความสุขก็สบายใจ นี่ด้านที่เราพอใจ ส่วนด้านไม่พอใจ มันตรงกันข้าม คือเสื่อมไปหมด เสื่อมลาภ บางทีก็ได้มามากมาย แต่บางทีเขาก็มาด่าเราบ้างเหมือนกัน มันก็เป็นอย่างนี้ มันมีได้มีเสียในเรื่องอย่างนี้ ทีนี้พระท่านสอนไว้อย่างไร ท่านว่าให้ระวังไว้ให้ดี อย่าดีใจเมื่อได้ อย่าเสียใจ เมื่อเสีย ลาภเกิดขึ้น ยศ สรรเสริญ สุขเกิดขึ้น อย่าไปดีอกดีใจ อย่าไปนึกว่าสิ่งนี้มันเกิดขึ้นกับเรา แล้วจะอยู่กับเราตลอดไป นึกอย่างนั้นเรียกว่านึกผิด วาดภาพไว้ผิดจะเกิดปัญหาต่อไป
           
           แต่เราควรจะนึกตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เช่นว่าเราได้ลาภ เราก็ว่าลาภมันเกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่ว่ามันไม่เที่ยงไม่ถาวร มันอาจจะอยู่กับเราไม่กี่วันมันอาจจะสูญหายไป ได้ยศก็ต้องมีความเสื่อมยศ เหมือนกับหัวโขนที่เขาสวมแสดง ใครจะสวมแสดงอยู่ตลอดชีวิต มันก็ไม่ได้ ต้องมีการปลดออก ในชีวิตเราก็เป็นเช่นนั้น มีอะไรเกิดขึ้นมันก็ไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามธรรมชาติ เราอย่าไปยึดถือว่าอันนี้เป็นของเราเป็นตัวเรา เพราะการเข้าไปยึดติดอย่างนั้นมันก่อให้เกิดปัญหาคือความทุกข์ความเดือดร้อนใจ
           
           มีบางเรื่องเราไม่เคยประสบ แต่มาประสบเข้าก็คิดไม่ทัน เพราะไม่ได้คิดไว้ล่วงหน้า พระพุทธเจ้าท่านจึงสอน ว่าให้คิดไว้ล่วงหน้า เมื่ออะไรเกิดขึ้นก็ให้คิดว่า วันหนึ่ง มันจะเปลี่ยนแปลง เช่น เราได้อะไรมา ยกขึ้นดู แล้วก็บอกด้วยว่ามันไม่ถาวรทั้งนั้น วันนี้มันอยู่กับเราพรุ่งนี้ไม่แน่ มันอาจจะเปลี่ยนแปลงไป เราบอกตัวเองไว้ให้รู้ล่วงหน้าไว้ก่อน ว่ามันจะเกิดจะเป็นขึ้นมา แล้วพอมันเป็นขึ้นมาเราก็ไม่ทุกข์เกินไป เราสบายใจเพราะเราได้บอกตัวเองไว้แล้ว อันนี้เขาเรียกว่าเป็นผู้ตื่นอยู่ ไม่ประมาทไม่มัวเมาในเรื่องนั้น คนอย่างนี้หาได้ยาก ส่วนมากไม่ค่อยได้คิดไว้ ล่วงหน้า มักจะถูกทุกข์โจมตีโดยไม่รู้ตัว ไม่ทันตั้งตัว เลยหนักทุกที เพราะไม่ได้เตรียมตัวไว้ก่อน
           
           คนที่ศึกษาธรรมะ ก็คือคนที่เตรียมตัวไว้ล่วงหน้าในการที่จะผจญกับปัญหาประเภทต่างๆ ที่มันจะเข้ามากลุ้ม รุมจิตใจของเรา โดยเราไม่เสียท่าสิ่งนั้น อันนี้เขาเรียกว่าได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราเรียนมา คือธรรมะที่จะได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อแก้ไขเรื่องนั้นเรื่องนี้ต่อไป 
           
           (เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของปาฐกถาธรรม วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒)
           
           (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 112 มีนาคม 2553 โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)


    • Update : 20/7/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch