|
|
ธรรมะกับชีวิตประจำวัน - ไม่มีอะไรเป็น ของฉัน มันก็ไม่ทุกข์
อากาศตอนนี้ญาติโยมก็บ่นว่าร้อนๆ ไปตามๆกัน ซึ่งความจริงมันก็ร้อนนั่นแหละ เหงื่อไหลไคลย้อยตลอดวัน แต่ว่าความร้อนนี่มันก็ไม่เที่ยง คือไม่เท่าใดก็หมดร้อน แล้วก็ถึงหน้าฝนต่อไป เพราะอันนี้มันเป็นเรื่องของธรรมชาติของดินฟ้าอากาศ เราจะไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราก็ต้องทนอยู่กันไปตามเรื่องตามราวจนกว่าจะหมดเรื่องนั้นไป การที่จะอยู่ได้ตามปกตินั้น จะต้องหมุนจิตใจของเราให้เข้ากับสิ่งที่เกิดอยู่เป็นอยู่ คือให้พอใจแค่นั้นเอง ถ้าพอใจแล้วมันก็ไม่มีอะไร ถ้าไม่พอ ใจแล้วก็เกิดความเดือดร้อน
เคยพบพระองค์หนึ่งนั่งอยู่ในห้อง เหงื่อท่วมตัว อาตมาก็ไปถามว่าไม่ร้อนหรือ ท่านก็บอกว่ามันเรื่องธรรมดา ท่านตอบว่าอย่างนั้น แล้วท่านนั่งทำงานไปตามปกติ ไม่รู้สึกว่ากระวนกระวาย จิตใจมันเป็นปกติ เหงื่อมันออกมาเป็น เรื่องของร่างกาย แต่ว่าใจนั้นไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง นั่งทำงานได้ปกติตลอดเวลา อันนี้แสดงว่าท่านผู้นั้นรู้จักหมุนจิตใจต้อนรับสถานการณ์นั้น แล้วก็ไม่เป็นทุกข์เพราะเรื่องนั้น
คนเราจะอยู่ที่ใดก็ตาม เราควรจะอยู่ให้เบาใจสบายใจ อย่าอยู่ให้มีความทุกข์ความหนักใจ เพราะเมื่อมีความหนักใจขึ้นเมื่อใดแล้ว เราก็ไม่สบายทั้งกายทั้งใจ ถ้าเราไม่มีความหนักใจ แม้ว่าร่างกายเราจะหนักเพราะการเปลี่ยนแปลง แต่ตัวเราก็ไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อนเพราะเรื่องอย่างนั้น อันนี้แหละเป็นเรื่องสำคัญ
คราวหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าถูกพระเทวทัตทุ่มหินลงมา แต่ว่าหินนั้นไม่ถูกพระองค์ เพราะไปชนต้นไม้ สะเก็ดนิดหนึ่งมากระทบถูกพระชงฆ์ คือหน้าแข้งของพระพุทธเจ้า เลือดไหลซิบๆ ออกมา หมอโกมารภัจจ์ก็ทำยาไปปะแผลให้ยาที่ปะนั้นเป็นยาร้อนก็คล้ายๆ กับทิงเจอร์ที่เราใช้กัน แต่ว่าใช้ใบไม้ประเภทหนึ่ง เอามาพอกไว้ แล้วหมอก็กลับบ้าน หมอก็นอนไม่หลับตลอดคืน มีความเป็นห่วง เพราะนึกในใจว่า ยาที่พอกนั้นเป็นยาที่ร้อน พระผู้มีพระภาคคงจะไม่ได้บรรทม เพราะความร้อนของยาที่ผิวหนัง ตื่นแต่เช้ามืดมาเฝ้าดูพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วก็ถามไปด้วยอาการร้อนรนกระวน กระวายใจว่า “เมื่อคืนนี้พระองค์บรรทมหลับเป็นปกติหรือเปล่า” พระผู้มีพระภาคกลับตอบว่า “เราบรรทมหลับเป็นปกติ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น” หมอก็บอกว่า “ข้าพระองค์นอนไม่หลับเมื่อคืนนี้ เพราะมีความกังวลที่ยาปะแผลของพระองค์ว่ามันร้อน” พระผู้มีพระภาคกลับตรัสตอบแก่หมอนั้นว่า “ความร้อนทั้งหลายเราได้ดับมันหมดแล้วที่ใต้ต้นโพธิ์ที่ตรัสรู้ เวลานี้ความร้อนเหล่านั้นไม่มี ท่านจึงไม่ต้องเป็นห่วง ไม่ต้องมีความทุกข์ในเรื่องเกี่ยวกับความร้อนต่อไป” อันนี้เป็นเครื่องแสดงถึงด้าน ความสงบเย็นของจิตใจของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระองค์ไม่มีความร้อน มีแต่ความสงบเย็น ความร้อนนั้นได้ดับไปตั้งแต่วันตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่ใต้ต้นโพธิ์แล้ว ต่อจากนั้นก็ไม่มีความร้อนอะไร จะนั่งอยู่ในที่ร้อนก็ไม่ร้อน จะนั่งอยู่ในที่เย็นก็ไม่เย็น จะอยู่ในที่ใดก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจของท่าน
อันนี้เป็นเรื่องพิเศษที่จะเกิดมีเฉพาะบุคคลที่มีจิตหลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง หรือพ้นแล้วจากการยึดมั่นถือมั่นในเรื่องตัวเรื่องตน ที่เราเรียกในภาษาธรรมะว่า “อัตตวาทุปาทาน” คือ การยึดมั่นถือมั่นในตัวฉันในของของฉัน ถ้ายังมีความยึดมั่นอยู่ตราบใด ความทุกข์ก็ยังมีอยู่ ความร้อนก็ยังมีอยู่ อะไรๆ ที่มันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ มันก็มีอยู่กับผู้นั้น แต่ว่าถ้าถอนความยึดมั่นถือมั่นได้เมื่อใด สิ่งเหล่านั้นมันก็ไม่มี มันมีของมันอยู่ตามธรรมชาติไม่ใช่ว่าไม่มี แต่ว่าจิตไม่ได้เป็นทุกข์เพราะเรื่องนั้น เช่น ว่าความร้อนทางกายก็มีอยู่ เจ็บปวดมันก็มีอยู่ แต่ว่าจิตไม่ปวดในเรื่องนั้น ไม่ได้เจ็บไปกับเรื่องนั้น ดูอาการมันเฉยๆ ไม่มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นในใจ อันนี้เป็นเรื่องของจิตใจล้วนๆ...
แต่ว่าจิตของพระอริยเจ้านั้น ท่านไม่มีเหมือนเรา จิตท่านแตกต่างจากเรา เพราะท่านปฏิเสธหมดแล้ว ไม่มีอะไรเป็นของท่าน อะไรๆ มันเกิดขึ้นท่านก็เฉยๆ คล้ายๆกับเรื่องอย่างนี้ เหมือนกับว่ามีอะไรของใครเขาหาย เราไม่ได้เป็นทุกข์กับเขา เช่นว่า คนหนึ่งเขามีของหายไป เรารู้เราก็เฉยๆ ที่เฉยๆ ก็เพราะว่าของนั้นมันมิใช่ของเรา บ้านคนอื่นถูกไฟไหม้อยู่ห่างไกลจากบ้านเรา เราก็ไม่ได้เป็นทุกข์ ไม่ได้เดือดร้อนใจ ที่ไม่ได้เป็นทุกข์ก็เพราะว่าเราไม่ได้นึกว่าเป็นบ้านของเราอยู่นั่นเอง แต่ถ้าว่าบ้านของเราถูกไฟไหม้ เราก็ร้อนอกร้อนใจมีความทุกข์ความเดือดร้อน ความทุกข์ความเดือดร้อนตัวนี้เกิดขึ้นเพราะจิตเข้าไปยึดถือว่าเป็นบ้านของฉัน เงินทองของฉัน อะไรๆ ของฉัน พอเอาคำว่า “ของฉัน” เข้าไปใส่ไว้ไม่ว่าในเรื่องอะไร ความทุกข์มันก็เกิดขึ้นทันที เพราะเรื่องเข้าไปยึดถือในสิ่งนั้น อันนี้แหละเป็นเรื่องที่มีอยู่ในจิตใจของ มนุษย์ทุกคนที่เราพอมองเห็นได้ คือมองเห็นได้ว่า ถ้าเมื่อใดใจเราปล่อยวางเสียได้ เราก็สบายใจ แต่เมื่อใดเรา เข้าไปยึดถือมันไว้ เราก็มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ
อันนี้สังเกตได้ง่าย ขอให้เราสังเกตคือการศึกษาธรรมะน่ะ เรารู้หลักทางหนังสือแล้วต่อไปก็ต้องเอามาค้นคว้าจากพฤติการณ์ของเราเอง จากความคิด จากการกระทำของเรา แล้วคอยสังเกตว่า เวลาที่เกิดทุกข์นี่มันทุกข์เพราะอะไร เวลาทุกข์ที่หายไป มันหายไปเพราะอะไร เพื่อจะค้นหาสมุฏฐานของความทุกข์ที่เกิดขึ้นภาย ในจิตใจของเรา ถ้าหากเราสังเกตจะพบว่า สิ่งที่ทำให้เราเกิดความทุกข์นั้น ก็คือการยึดมั่นถือนั่นเอง เราจึงเรียกว่า “อุปาทาน” ตามภาษาธรรมะ พอมีอุปาทานขึ้นมาเมื่อใด ใจมันก้ไปติดอยู่กับสิ่งนั้น ไปยึดอยู่กับสิ่งนั้น พอสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนใจไม่สมใจเราก็มีความทุกข์ขึ้นมาทันที
อันนี้เป็นเครื่องชี้อยู่ในตัวแล้วว่า เราเป็นทุกข์เพราะ มีความยึดมั่นถือมั่น ถ้าจะไม่ให้เกิดทุกข์ก็ต้องผ่อนคลาย ความยึดมั่นถือมั่นออกไปจากใจของเราเสียบ้าง
เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของปาฐกถาธรรม วันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๐)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 113 เมษายน 2553 โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)
|
Update : 19/7/2554
|
|