หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ธรรมะกับชีวิตประจำวัน - อย่าหลงสิ่งที่ เป็นมายา
    ในชีวิตประจำวันของเราแต่ละคนนั้น ย่อมมีความสับสนวุ่นวาย มีปัญหานานาประการเกิดขึ้นอยู่บ้าง เป็นบางครั้งบางคราว ไม่ใช่เกิดอยู่ตลอดเวลา คือเมื่อใดเราเผลอไป เราประมาทไป ความทุกข์ก็เกิดขึ้น แต่ถ้าเราไม่เผลอไม่ประมาท ความทุกข์ก็ไม่เกิด ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้น มันเกิดขึ้นในตัวของมันเอง แต่ว่าอาศัยสิ่งภายนอกมากระทบ สิ่งภายนอกที่มากระทบก็คืออารมณ์นั่นเอง 
           
           ที่เราเรียกว่าอารมณ์ประเภทต่างๆ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เป็นอารมณ์ที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเราเผลอไป ประมาทไป ไปยึดถือในสิ่งนั้น ปรุงแต่งสิ่งนั้นขึ้นในจิตใจของเรา ให้เป็นไปในรูปต่างๆ แล้วก็เกิดความอยากได้อยากมีในเรื่องอย่างนั้น เราก็พลอยเป็นทุกข์เป็นร้อนไป เพราะไม่สมหวังดังที่เราต้องการ ความไม่สมหวังนี่ล่ะมันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน
           
           ความไม่สมหวังนี่มันเกิดก็เพราะว่าเรามีความหวัง ถ้าเราไม่มีความหวัง ความไม่สมหวังมันก็ไม่มี ทำไมจึงได้เกิดมีความหวังขึ้น ก็เพราะเราไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องนั้นๆ ตามสภาพที่เป็นจริง เรานึกว่ามันดีมันวิเศษ มันจะให้ความเพลิดเพลินเจริญใจแก่เรา แล้วเราก็ไปยึดเอาสิ่งนั้นไว้ เลยเกิดความหวังขึ้นมา ครั้นเมื่อไม่สมปรารถนา ก็เป็นทุกข์
           
           ความทุกข์นั้นเกิดขึ้นจากความไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องนั้นๆตามสภาพที่เป็นจริง ซึ่งในภาษาธรรมะท่านเรียกว่า “อวิชชา” ก็คือความไม่รู้ ไม่เข้าใจในเรื่องนั้น ตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ แม้เราจะรู้จะเข้าใจ แต่ว่ารู้เพียงผิวเผิน รู้ในสิ่งที่เป็นมายา เป็นเครื่องปรุงแต่งฉาบทาภายนอก แต่เราไม่รู้ว่าเนื้อแท้มันเป็นอย่างไร คล้ายๆกับเราดูไปที่ฝาผนังอาคารบ้านเรือน ดูไปก็เจอสีเท่านั้นเอง สีที่เขาเอามาฉาบทาไว้ สีเขียว สีเหลือง สีชมพู สีแดง สุดแล้วแต่คนที่ทานั้นเขาชอบสีอะไร เรามองทีไรก็เจอสีทุกที แล้วก็ติดอยู่ในสีสันเหล่านั้น ว่าเป็นของอย่างนั้นเป็นของอย่างนี้ สวยงามไม่สวยงาม หรืออะไรต่างๆ อย่างนี้เรียกว่ามองไม่ลึก มองแต่เพียงตื้นๆ แล้วก็เห็นสิ่งที่ฉาบทาไว้
           
           สิ่งที่ฉาบทาไว้ภายนอกนั้น ภาษาธรรมะเขาเรียกว่า “มายา” หมายถึงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่ง เป็นไปในรูปต่างๆ นานา แล้วเราก็เห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหูก็มี สูดด้วยจมูกเป็นกลิ่นก็มี เป็นรสก็มี เป็นสิ่งที่ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างให้เราเห็นแล้วหลอกเราเล่นก็มี เรียกว่าเป็นสิ่งมายา
           
           สิ่งเป็นมายาทั้งหลายในโลกนี้ มันหลอกให้เราหลงด้วยประการต่างๆ เช่นเราหลงในสีของดอกไม้ เราดูดอกไม้เราก็เห็นเป็นสีขึ้นมา ว่าเป็นสีชมพู เป็นสีขาว เป็นสีเหลือง หรือว่าเป็นสีม่วง สีอะไรต่างๆ เราก็ไปชอบใจในสีเหล่านั้น ไปยึดติดอยู่ในสีนั้น ว่าเป็นของน่ารักน่าชม การที่เราไปหลงใหลในสีของดอกไม้นั้น ก็เรียกว่าเราหลงในสิ่งที่เป็นมายาเครื่องปรุงแต่ง ดอกไม้มันเป็นสีขึ้นได้เพราะอะไร ก็เพราะว่ามีแสงอาทิตย์ส่องลงมากระทบดอกไม้ เมื่อแสงอาทิตย์ส่องลงมากระทบดอกไม้ ดอกไม้มันก็คายสารบางชนิดออกมาแล้ว ก็กลายเป็นสีขึ้น ดอกไม้ที่คายสารบางชนิดออกมาไม่หมด มันก็เป็นสีต่างๆ เช่นเป็นสีเหลือง สีแดง สีอะไรต่างๆ ถ้ามันคายออกมาหมด ดอกไม้นั้นก็จะเป็นสีขาว เพราะฉะนั้นเราจึงนิยมว่าสีขาวเป็นสีสะอาด เช่น ดอกมะลิ เป็นตัวอย่าง
           
           สีนั้นก็เป็นมายาเครื่องปรุงแต่ง ไม่ใช่ของจริงแท้จีรังยั่งยืนอะไร แล้วตัวดอกไม้ก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเหี่ยวแห้งไป ร่วงโรยตกอยู่ที่โคนต้นไม้ อันนี้เป็นเรื่องธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ ในทางธรรมะถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นมายาทั้งนั้น
           
           คำว่า “เป็นมายา” หมายความว่า ไม่ใช่ของจริงแท้ และสิ่งที่เป็นมายานั้นไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความเปลี่ยนแปลงนั้นเราเรียกว่า “อนิจจัง” คือมันไม่เที่ยง ถ้ามันเที่ยงมันก็ต้องอยู่ในรูปเดียว ไม่เปลี่ยนสภาพไป แต่ว่าสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ มันหนีกฎธรรมดาไม่ได้ กฎธรรมดานั้นมีอยู่ว่า สรรพสิ่งทั้งหลาย มีความทุกข์โดยสภาพ สรรพสิ่งทั้งหลายมีความเป็น อนัตตา โดยสภาพคือไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเนื้อแท้ เพราะไม่เที่ยงจึงเป็นทุกข์ เพราะเป็นทุกข์จึงเป็นอนัตตา คือไม่มีเนื้อแท้ในตัวของมันเอง อันนี้เป็นสัจจะเป็นความจริง ภาษาธรรมะเรียกว่าธรรมสัจจะ คือความจริงของสิ่งทั้งหลายปรากฏอยู่ แต่เรามองไม่เห็นสิ่งที่เป็นความจริงนั้น เพราะเราไปติดสิ่งภายนอกของสิ่งเหล่านั้น ไม่ได้แทง ตลอดลงไป เพื่อให้เข้าใจในเรื่องอย่างนั้นถูกต้อง
           
           เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงสอนพวกเราทั้งหลายว่า ดูให้ลึก ดูให้เข้าใจ ดูเพื่อให้รู้ ว่าสิ่งนั้นมันคืออะไรอย่างถูกต้องแท้จริง ถ้าเราดูลงไปให้ลึก ดูให้เข้าใจในเรื่องนั้นแล้ว เราก็จะพบกับความจริงของสิ่งเหล่านั้น เมื่อใดเราพบความจริง จิตใจเราก็จะไม่ยึดมั่นในเรื่องนั้น เพราะเรารู้ว่ามันคืออะไร มันเป็นอยู่ในรูปอย่างไร มีอะไรน่าหลงใหลน่ามัวเมา น่าพอใจใฝ่ฝันบ้าง เราก็จะเกิดอารมณ์วางเฉยในสิ่งเหล่านั้น หรือว่าเราอยู่ด้วยปัญญาเพราะมองปั๊บก็รู้ทันที มองไปเห็นอะไรก็รู้ทันทีว่ามันคืออะไร
           
           จิตใจของพระอริยบุคคลท่านมองอย่างนั้น ท่านมองอะไรก็รู้ทันทีว่ามันคืออะไร ท่านรู้ตามสภาพที่เป็นจริง การรู้ตามสภาพที่เป็นจริงก็คือรู้ว่า ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ ไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นสุข ไม่มีอะไรที่เรียกว่าน่ายึดถือ ไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเนื้อแท้ในตัวของมันเอง มันอยู่ในสภาพที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจึงไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นว่าเป็นอะไรๆ ขึ้นมา ถ้าเราคิดอย่างนี้บ่อยๆ จิตใจก็จะปลอดโปร่ง พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน
           
           (เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของปาฐกถาธรรม วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๒)
           
           (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 114 พฤษภาคม 2553 โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)


    • Update : 18/7/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch