|
|
วัตถุมงคลรุ่นมหาราช สร้าง"ศาลพระนเรศวร"
|
จังหวัดพิษณุโลก เป็นแผ่นดินธรรมสถานที่ประดิษฐาน "พระพุทธชินราช" พระ พุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่มีพุทธลักษณะงดงามเป็นเอกอุในสยาม เป็นดินแดนประวัติศาสตร์ สถานที่พระราชสมภพของ "สมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ผู้ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย เมื่อพุทธศักราช 2098 ณ พระราชวังจันทน์ จ.พิษณุโลก
นอกจากนั้น ยังเป็นแผ่นดินที่มีพระบรมราชานุสาวรีย์ และพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มากที่สุดถึง 31 แห่ง และเป็นแผ่นดินแห่งตำนานพระกริ่งนเรศวร พ.ศ.2407 และพระบรมรูปและเหรียญพระนเรศวรมหาราช ที่มีความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ ยอดนิยมอันดับหนึ่งของวงการพระเครื่อง อันเป็นเรื่องของพุทธศิลป์ของเมืองไทย
"พระครูสุปุญญนิวิฐ" เจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์ ป้อมประตูเมืองพิษณุโลก กล่าวว่า ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วัดคูหาสวรรค์ ซึ่งประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช องค์ที่ 6 ของเมืองพิษณุโลก ซึ่งสร้างมาแต่พ.ศ.2514 เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป และจัดให้มีพิธีบวงสรวงสังเวย ในวันที่ 13 เมษายน และในวันที่ 25 เมษายน ซึ่งเป็นวันสวรรคตของทุกปี
ปัจจุบันศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วัดคูหาสวรรค์ ได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ทางวัดจึงดำริที่จะจัดสร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลังใหม่ขึ้น เพื่อให้สง่างามสมพระเกียรติคุณองค์มหาราชผู้ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย เป็นศาลทรงไทยจัตุรมุข หน้าบันทั้ง 4 เป็นประติมากรรมปูนปั้น เครื่องราชศาสตราวุธคู่พระกฤษดาภินิหาร ในองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประกอบด้วย พระมาลาเบี่ยง พระแสงดาบคาบค่าย พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง พระแสงของ้าว และพระแสงทวน พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ให้งดงามสืบไป ประกอบกับ กระเบื้องหลังคา เครื่องบน หางหงส์ ใบระกา พระอุโบสถวัดคูหาสวรรค์ ซึ่งใช้แรงงานพระเณรในการสร้างและมุงเกิดชำรุดแตกร้าว ทำให้ฝนรั่วซึมในพระอุโบสถต้องรีบบูรณะ
การนี้ จึงได้จัดสร้าง "วัตถุมงคลพระพุทธชินราช-สมเด็จพระนเรศวรมหาราช" เฉลิมพระนามว่า "รุ่นมหาราช" ขึ้น เพื่อหารายได้ในการบูรณะก่อสร้างดังกล่าว วัตถุมงคลประกอบด้วย ล็อกเกตพระพุทธชินราช-สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (แบบสองหน้า) บรรจุผงมวลสารศักดิ์สิทธิ์ อาทิ ผงทองคำเปลว ผงนพเกล้า และปูนจากองค์พระปรางค์ ผงไม้เครื่องบนพระวิหารพระพุทธชินราช ผ้าห่มพระพุทธชินราช ผงกระเบื้องหลังคา ไม้วงกบลูกกรงหน้าต่างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วังจันทน์ ในคราวบูรณะ เป็นต้น
เหรียญพระพุทธชินราช-สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พิมพ์สมเด็จ และเหรียญไตรภาคี (พระพุทธชินราช-พระพุทธชินสีห์-พระศรีศาสดา) หลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จำนวนพิมพ์ละ 10,000 เหรียญ ซึ่งจัดสร้างเป็นครั้งแรกของเมืองพิษณุโลก พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 3 พี่น้องในเหรียญเดียวกันโดยฝีมือ "ช่างธนยศ เศวตวิจิตร" หรือ "ช่างประดิษฐ์" ผู้มีผลงานในการแกะพิมพ์ เหรียญนเรศวร 100 ปี โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ปีพ.ศ.2542
ประกอบพิธีสังเวย-ปลุกเสก ณ 6 สถานที่สำคัญ 5 จังหวัด ในพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่ออัญเชิญพระกฤษดาภินิหาร คือ สถานที่พระราชสมภพ พระราชวังจันทน์ พ.ศ.2098 จ.พิษณุโลก สถานที่ครองราชย์ พ.ศ.2133 และถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ จ.พระนครศรี อยุธยา สถานที่ทรงชนะศึกยุทธหัตถี ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี พ.ศ.2135 สถานที่ทรงพักพระอิริยาบถทรงพระสำราญทรงเบ็ดตกปลาฉลามได้ วัดโตนดหลวง จ.เพชรบุรี พ.ศ. 2143 สถานที่ทรงพักทัพก่อนเสด็จสวรรคต เมืองงาย จ.เชียงใหม่ พ.ศ.2148 และที่พระ บรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช องค์แรกของเมืองพิษณุโลก ปั้นเมื่อ พ.ศ.2489 ปัจจุบันอัญเชิญไปประดิษฐานที่ค่าย ตชด. อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
กำหนดประกอบพิธีพุทธาภิเษก-มังคลาภิเษก ณ มณฑล ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วัดคูหาสวรรค์ เหนือมณฑลโรงพิธี เดินด้ายสายสิญจน์เป็นยันต์มหาจักรพรรดิตราธิราช และปูหญ้าคาและลาดด้วยผ้าขาวผ้าแดง ในวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2554 เวลา 08.19-17.49 น. โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดังรวมกว่า 50 รูป เท่าพระชนมายุของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นั่งบริกรรมปลุกเสกตลอดพิธี พร้อมเททองหล่อพระแสงดาบ ถวายพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งของเดิมชำรุดสูญหาย กำหนดเปิดสั่งจองในวันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา วันที่ 15-16 กรกฎาคมนี้
|
Update : 17/7/2554
|
|