หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    มองเป็นเห็นธรรม - ไปกันต่อนะโยม

     

     “คุณโต ทำไมวันนี้ดูเครียดจังเลย มีอะไรทำให้คิดมากรึ?” เสียงหลวงพ่อพุทธอังคีรส แว่วมาในสมาธิจิตภิกษุหนุ่มที่กำลังนั่งสมาธิบังคับจิตให้อยู่ในความสงบ อยู่บนอาสนสงฆ์ในพระอุโบสถวัดราชบพิธ
           
           “กำลังกังวลใจเกี่ยวกับเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองที่เพิ่งเกิดขึ้นขอรับ บก.ธรรมลีลาเขาขอให้เกล้าฯ เขียนธรรมที่จะเป็นแนวทางนำพาชีวิตให้ดำเนินต่อไปได้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนะขอรับ”
           
           “อ้อ คุณคงเขียนธรรมะที่เขาประสงค์ไม่ได้ล่ะซิ”
           
           “ขอรับ เกล้าฯ ยังไม่สามารถสรุปหลักธรรมที่จะนำมา เขียนได้เลยขอรับ”
           
           “เหตุการณ์นั้นเป็นเรื่องอะไรล่ะ ในความคิดของคุณ ?”
           
           “เป็นการวิวาททางความคิดทางการเมือง ที่มุ่งหวังจะเอาชัยชนะซึ่งกันและกันขอรับ”
           
           “อ้าวเมื่อเป็นเรื่องการวิวาท ทำไมคุณไม่เขียนถึงเวทนาปริคคหสูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงแก้ทิฏฐิของทีฆนขปริพาชก จนทำให้พระสารีบุตรได้ตรัสรู้ล่ะ”
           
           “คงจะลึกซึ้งเกินไปนะขอรับ”
           
           “เรื่องวิฑูฑภะละ”
           
           “รุนแรงเกินไปขอรับ นั่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เลยขอรับ”
           
           “ในใจคุณกำลังคิดถึงเรื่องวิวาทกาลไหนอยู่ล่ะ”
           
           “เกล้าฯ กำลังคิดถึงเรื่องพระวัดระฆังตีกันขอรับ”
           
           “ไหนลองเล่าให้ฟังหน่อยซิ”
           
           “เขาเล่ากันสืบมาว่า วันหนึ่งพระวัดระฆัง ๒ รูป เกิดทะเลาะกันรุนแรง ถึงขั้นลงไม้ลงมือตีกัน จนหัวแตก องค์ที่ถูกตีหัวแตก นำความมาฟ้องเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ให้ช่วยชำระคดีให้ เจ้าประคุณสมเด็จฯบอกกับพระรูปนั้นว่า “คุณตีเขาก่อนนี่”
           
           “กระผมไม่ได้ตี มีคนเป็นพยานได้” พระรูปนั้นเถียง
           
           เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ยังยืนยันว่า คุณตีเขาก่อน อยู่นั่นเอง
           
           พระรูปนั้นไม่พอใจ จึงไปฟ้องสมเด็จพระวันรัต วัดอรุณ ว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ โต ไม่ยอมให้ความเป็นธรรม ผมถูกตีก็บอกว่าผมตีเขาก่อน ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้ตีเลย มีพยานรู้เห็นด้วย
           
           สมเด็จพระวันรัตจึงถามเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านก็ยังยืนยันคำพูดเดิม สมเด็จพระวันรัตจึงถามว่า รู้ได้อย่างไรว่าพระองค์นี้ตีเขาก่อน
           
           เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ตอบว่า รู้ได้ตามพระพุทธภาษิตว่า “เวรไม่ระงับเพราะการจองเวร นี่เป็นเวรต่อเวรมันตอบแทนกัน” (หมายถึงองค์ที่ถูกตีนั้น เมื่อก่อน-ชาติก่อนเคยตีเขามาก่อนแล้ว)
           
           “ถ้าอย่างนั้น ท่านจงรับภาระช่วยระงับอธิกรณ์นี้ อย่าให้เป็นเวรกันเถอะ”
           
           เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงให้โอวาทพระคู่กรณีว่า ให้ตั้งอยู่ในสมณสัญญา มีหิริโอตตัปปะ และไม่พึงจองเวรอาฆาตมาดร้ายกันต่อไป แล้วท่านก็เอาเงินทำขวัญให้แก่พระที่ถูกตี ๑๒ บาท บอกว่า “ท่านทั้งสองไม่มีความผิด ฉันเป็นผู้ผิด เพราะฉันปกครองไม่ดี” มีเท่านี้นะขอรับ”
           
           “เออ เข้าใจคิดดีนะคุณนี่ แล้วจะเอาอะไรไปสอนโยมเขาล่ะ”
           
           “เกล้าฯ คิดว่าปัจจุบันนี้ คนไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเหมือนในอดีต ทำให้ไม่กลัวบาปกลัวกรรม มักจะทำอะไรไปตามกิเลสในใจตน ทำให้ชีวิตต้องตกไปตามอำนาจโลกธรรม คือเมื่อประสบสิ่งที่ชอบใจ ก็ยินดีปรีดาเต็มที่ เมื่อประสบสิ่งที่ไม่ชอบใจ ก็เศร้าใจตัดพ้อต่อว่าผู้อื่น ทำให้ไม่มีความเข้าใจในชีวิตที่ถูกต้องตามหลักศาสนาขอรับ”
           
           “พุทธศาสนิกชนเขามีศรัทธากันทุกคนไม่ใช่เหรอ เขาทำบุญใส่บาตรตามประเพณีอยู่เสมอ คุณก็เห็นอยู่นี่ จะว่าไม่มีศรัทธาอย่างไรเล่า”
           
           “ศรัทธาที่เขาเหล่านั้นมีอยู่ เป็นเพียงความเชื่อตามคำบอกกล่าวของพ่อแม่เท่านั้นนะขอรับ ไม่ใช่ศรัทธาที่แท้จริงนะขอรับ”
           
           “ศรัทธาที่แท้จริงคืออะไรล่ะ”
           
           “๑.เชื่อในพระธรรมคำสั่งสอนอันเป็นพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ๒. เชื่อในเหตุของกรรม ๓.เชื่อในผลของกรรม ๔.เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของของตน
           
           ถ้ามีความเชื่อในข้อ ๑ ก็จะทำให้เกิดความสนใจในการเรียนรู้พุทธศาสนธรรมที่ทรงสั่งสอนไว้ และนำธรรมนั้นไปเป็นหลักการดำเนินชีวิต ถ้าเชื่อในข้อ ๒ และ ข้อ ๓ ก็จะทำให้เขาสามารถดำเนินชีวิตของตนไปด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาท มีศีลมีธรรม ตรึกตรองเหตุและผลอยู่เสมอ ทำแต่ความดี เป็นบุญเป็นกุศล ที่นำสุขมาให้ ไม่ทำความชั่วที่เป็นบาปความเดือดร้อนใจที่นำมาแต่ความทุกข์ ถ้าเชื่อในข้อ ๔ ก็จะทำให้สามารถสงบใจได้เมื่อประสบสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ด้วยรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นผลของกรรมในอดีตที่ตนไม่รู้ สามารถทำใจให้เป็น กลาง วางความสุขทุกข์ได้อยู่เสมอ นี่เป็นศรัทธาที่เกล้าฯ คิดว่าพุทธศาสนิกชนควรจะมีในตน ขอรับ”

           
           “ถ้าเขามีศรัทธาเช่นนี้แล้ว มันจะเป็นผลดีแก่เขาอย่างไร?”
           
           “เขาก็จะมีความรู้สึกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นผลแห่งกรรมในอดีตที่ตนได้กระทำไว้ เขาก็จะสามารถที่จะมีความเข้มแข็งในการต่อสู้ชีวิตสืบไป ขอรับ”
           
           “แน่ใจหรือที่คิดน่ะ”
           
           “แน่ใจขอรับ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทำลายหลายสิ่งไปมากมายแล้ว จะไปนั่งระลึกให้เกิดประโยชน์อันใดล่ะขอรับ จะไปมัวโทษกันทำไมล่ะขอรับ ถ้าทำเช่นนั้นก็จะสร้างรอยอาฆาตเป็นเวรกรรมต่อกันไม่สิ้นสุด จะทำให้ชีวิตต้องดำเนินไปด้วยความหวาดระแวงอยู่เสมอนะขอรับ แล้วเดี๋ยวต้องมาขอให้พระเดชพระคุณหลวงพ่อช่วยอีกนะขอรับ”
           
           “ไม่จริงมั้ง คุณโต คนชนะเขาก็ยินดีอยู่นะ คนแพ้เขาก็ต้องอาฆาตเป็นธรรมดา เขาคงทำไม่ได้อย่างที่คุณคิดหรอก”
           
           “เหตุการณ์นี้ไม่มีคนชนะคนแพ้หรอกครับ มันเป็นวัฏจักรของกรรมนะครับ พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมอยู่เป็นทุกข์, ผู้สงบระงับ ละความชนะและความแพ้ได้แล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข ขอรับ”
           
           “แล้วจะให้โยมทำอย่างไรต่อไปเล่า”
           
           “ก็ต้องสอนให้ทำบุญซิขอรับ”
           
           “แน่ะ.. จะเอาทรัพย์โยมอีกล่ะซิ”
           
           “มิได้ขอรับ บุญที่จะให้โยมทำนั้น เกล้าฯ มุ่งหวังให้โยมได้ทำอภัยทานจริงๆ ขอรับ คือต้องรู้จักให้อภัยแก่ทุกคนในเหตุการณ์ ไม่ผูกใจเจ็บ ไม่อาฆาต อภัยทานนี่เป็นทานทางใจ เมื่อมีอภัยทานแล้ว ก็ต้องมีเมตตาทางใจ ก่อนขอรับ คือ ปรารถนาให้เพื่อนร่วมชาติมีความสุข ความสุขที่ปรารถนาให้ผู้อื่นมี ตนก็ต้องมีความสุขนั้นก่อน ความสุขนั้นต้องเป็นความสุขที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เมื่อให้เมตตาทางใจได้แล้ว ก็สามารถที่จะมีเมตตา ทางวาจาได้ คือกล่าวถ้อยคำที่เป็นความสุขแก่ผู้ฟัง ไม่กล่าวคำที่ระคายหู ไม่กล่าวคำที่เป็นความขัดแย้ง คือพูดแต่คำที่ดีก่อประโยชน์แก่สังคม เมื่อมีเมตตาทางวาจาได้แล้ว เมื่อสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วยกายคือให้ทรัพย์สินบ้าง ให้อาหารบ้าง ตามแต่โอกาส นี่ก็จะเป็นความสุข ตามลำดับ และเป็นบุญที่เกิดจากทานอย่างแท้จริง
           
           เมื่อสร้างบุญจากทานได้แล้ว ก็ต้องทำตนให้อยู่ในกรอบของศีล ๕ ธรรม ๕ เพราะศีลและธรรมจะช่วยให้ไม่เบียดเบียนกันทางกายและวาจา ที่สุดก็ช่วยให้ไม่ประมาท จนเกิดความคิดชั่วไปเบียดเบียนผู้อื่น ในเบื้องต้นนี้ต้องขอให้ถือศีลข้อ ๔ คือไม่กล่าวคำเท็จเป็นข้อแรก เพราะถ้ามัวแต่กล่าวคำพูดตามข่าวลือที่คิดว่าเป็นจริง ก็เป็นการกล่าวคำเท็จโดยไม่รู้ตัว ผิดศีลโดยไม่เจตนา สิ่งใดที่ควรพูดต้องพิจารณาให้รู้ว่าเป็นความจริง ถ้าเอาแต่คำพูดที่ว่าได้ยินมาว่า มาพูดต่อ ก็จะทำให้เกิดเชื้อแห่งการวิวาททางความคิดได้อีก การจะไม่พูดเท็จได้ ต้องมีธรรมข้อ ๔ คือมีความซื่อสัตย์ อันแสดงออกทางกายให้ทราบได้ด้วยการทำตนให้มีความประพฤติเป็นธรรมในกิจการอันเป็นที่หน้าที่ของตน ไม่ทำภารกิจด้วยอำนาจอคติ คือความชอบพอกัน ความเกลียดชังกัน ความหลงไม่รู้จักจริง และความกลัว, เป็นผู้ประพฤติซื่อตรงต่อมิตร ไม่คิดร้ายต่อมิตร, รู้จักสำนึกในอุปการะที่บุพการีได้ทำแล้วแก่ตน และมีความรู้สึกอยากจะทำการตอบแทนท่าน และเป็นผู้ประพฤติซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์ ประพฤติได้ดังนี้ ก็จะมีความสุข เห็นประโยชน์แห่งศีลและธรรม มีความสุขในการอยู่ในสังคม เพราะสามารถเห็นสังคมดำเนินไปด้วยความสวัสดี จัดว่าได้ทำตนเองให้มีบุญเพิ่มขึ้น
           
           เมื่อทำตนให้มีทานและศีลได้แล้ว ก็ต้องหมั่นตรึกตรองทบทวนความประพฤติของตนในทุกคืนก่อนนอน ถ้าคิดได้ถึงความสุขที่เกิดจากการทำบุญดังกล่าว ก็จะมีความสุขใจ สามารถตั้งความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขให้เกิดขึ้น แผ่เมตตาไปได้ในทันทีที่มีความสุข ถ้าเห็นว่ายังทำตนได้ไม่ดีพอเป็นบุญเป็นกุศล ก็จะได้ปรับปรุงตนแก้ไขตนเองให้สามารถประพฤติตนให้สร้างบุญกุศลเพิ่มขึ้นในวันต่อไป นี่เป็นส่วนของการภาวนา ซึ่งถ้าทำได้ทุกค่ำคืน ก็จะเป็นบุญอีกประการหนึ่ง
           
           คนที่ทำตนให้อยู่ในบุญในกุศลเช่นนี้ได้ ก็สามารถพยากรณ์ได้ว่าผู้นั้นกำลังดำเนินชีวิตของตนไปสู่ความสำเร็จในเป้าหมายที่ปรารถนา
    นี่ละครับบุญที่ประสงค์ให้โยมได้ประพฤติขอรับ”
           
           “แน่ใจนะว่าโยมจะทำได้ ”
           
           “แน่ใจขอรับ คนที่ทำบุญดังกล่าวนี้ ย่อมจะเป็นคนที่มีวินัยในการดำเนินชีวิต ทำชีวิตตนไม่ให้หลงไปในทางที่ชั่ว จิตใจของเขาย่อมมีแต่ความมุ่งหวังสร้างสรรค์ความเจริญ ความสำเร็จ ให้เกิดขึ้นในชีวิตตน สิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ที่ผ่านมา เป็นอุทาหรณ์ให้เขาได้ระมัดระวังในการดำเนินชีวิตของเขายิ่งขึ้น ขอรับ”
           
           “สิ่งที่คุณพูดนี่ เป็นสิ่งที่ต้องทำในปัจจุบัน เพื่อผลที่ดีเป็นความสุขในอนาคตล่ะซิ”
           
           “ขอรับ เป็นเช่นนั้น ถ้าโยมสามารถสัมผัสถึงสุขจากบุญที่เกล้าฯ พรรณนามานี้ เขาก็ย่อมปรารถนาในสุขที่พิเศษยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ เขาย่อมสะสมบุญไว้อยู่เสมอ เพราะบุญที่เขาสะสมนั้น จะนำความสุขมาให้เขาอยู่เสมอ ขอรับ”
           
           “แล้วพระสงฆ์ล่ะ จะให้ท่านปฏิบัติอย่างไร ณ กาลนี้
           
           “เกล้าฯ ไม่กล้าแนะนำหรอกขอรับ ตัวเกล้าฯ เอง ยังระลึกถึงบทสวดทำวัตรเช้าที่ต่อหน้าพระเดชพระคุณ ตอนหนึ่งความว่า
           
           “เราทั้งหลายอุทิศเฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น, ผู้ไกลจากกิเลส, ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง แม้ปรินิพพานนานแล้ว, เป็นผู้มีศรัทธาออกบวชจากเรือน ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว, ประพฤติอยู่ซึ่งพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น, ถึงพร้อมด้วยสิกขาและธรรมเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิตของภิกษุทั้งหลาย, ขอให้พรหมจรรย์ของเราทั้งหลายนั้น, จงเป็นไปเพื่อการทำที่สุด, แห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ เทอญ”... นี่เป็นกิจที่ต้องทำขอรับ”
           
           “ความตอนนี้ คุณพยายามจะบอกว่าพระไม่ควรจะยุ่งกับการเมืองหรือ?”
           
           “การเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์ มีแต่ความขัดแย้ง พระสงฆ์เป็นผู้สละแล้วซึ่งผลประโยชน์ทางโลก ออกจากเรือนมาบวชในธรรมวินัย ดังนั้นจึงไม่ควรจะไปยุ่งเกี่ยวด้วย พระพุทธองค์ไม่เคยนำพาปฏิบัติเลยนะขอรับ”
           
           “เออ..เข้าใจคิดนะคุณโต คุณคิดว่าญาติโยมเขาจะจำสิ่งที่คุณพรรณนามานี่ได้หรือ?”
           
           “เกล้าฯ ว่าคนไทยที่นับถือพุทธศาสนา ส่วนใหญ่จะมีพระห้อยคออยู่นะขอรับ จะเป็นรูปพระพุทธหรือพระสงฆ์ ยามเช้าขณะอาราธนาพระขึ้นคอ ก็ควรจะมีจิตระลึกถึงคุณความดีของพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรมที่ตนความน้อมนำมาประพฤติ เช่น บุญเป็นต้น และระลึกถึงปฏิปทาของพระสงฆ์ที่ตนนับถือ พยามยามดำเนินชีวิตของตนให้อยู่ในกรอบแห่งบุญ ไม่ทำตนให้เสื่อมเสียเกียรติคุณของพระรัตนตรัย เมื่อถูกพระที่ตนห้อยอยู่ ต้องสำเหนียกเสมอว่าต้องทำบุญกุศล ไม่ทำบาปชั่วร้าย เช่นนี้เขาก็จะดำเนินชีวิตให้อยู่ในกรอบของธรรมวินัยได้ ขอรับ”
           
           “ขออนุโมทนาด้วยนะที่คุณคิดออกแล้วว่าจะเขียนอะไรให้เหมาะกับโยม เหมาะกับกาล ขออำนวยพรให้ญาติโยมที่อ่านบทความนี้ของคุณ จงมีสุขสวัสดิผลในการดำเนินชีวิตในกรอบของบุญตามปรารภทุกประการ เอาล่ะแค่นี้นะวันนี้”
           
           “กราบขอบพระเดชพระคุณหลวงพ่อครับ ที่เมตตากรุณาโปรดให้เกล้าฯ ได้เขียนบทความให้โยมสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ขอรับ ขอบพระเดชพระคุณขอรับ”
           
           (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 115 มิถุนายน 2553 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)


    • Update : 17/7/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch